วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 13/36


พระอาจารย์
13/36 (570405G)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
5 เมษายน 2557


โยม –  พระอาจารย์คะ เบื้องหลังผู้รู้ที่มันมีเจตนา มันก็มีผู้รู้เงียบๆ อยู่

พระอาจารย์ –  มี...มี “เรา” อยู่ ...ยังมี “เรา” แฝงอยู่ข้างใน


โยม –  มันยังมีแฝงอยู่ข้างในที่เราไม่เห็นอีก ระหว่างไอ้ข้างหลังที่เห็นว่ามีผู้เจตนารู้ แล้วก็พูดออกมานี่นะคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ มันยังไม่เป็นผู้รู้ที่บริสุทธิ์หรอก ...ต่อให้เป็นพระอริยะด้วย ต่อให้เกินโสดาบันขึ้นไปถึงอนาคาก็ตาม ต่อให้เป็นอรหัตมรรคด้วย...ก็ยังมี ...ยังมี “ผู้” อยู่เบื้องหลัง มีบุคคลอยู่เบื้องหลังอยู่


โยม –  คือตัวที่มันรู้เห็นทุกอย่าง

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ยังมีผู้ชักใยผู้รู้นั้นอยู่ ...ต่อเมื่ออรหัตมรรค-อรหัตผล ตรงนั้น หมดสิ้นซึ่งความหมายมั่นในความเป็นเราโดยสมบูรณ์จริงๆ

นี่ ไม่ใช่ว่าโสดาบันนี่ละสักกายได้ หมายความว่าไม่มี "เรา" หรือความรู้สึกเป็นเราเลยนะ


โยม –  แต่มันจะเห็นปรากฏเป็นแวบๆ

พระอาจารย์ –  เห็นได้...ดับได้


โยม –  แต่มันก็ยังมีเบื้องหลังของมันอีก

พระอาจารย์ –  มี ยังมี “เรา” ในส่วนละเอียดอีก มีเราในเรา..เราในเรา อยู่ในนั้นอีก

แต่ว่าไอ้ “เรา” ส่วนละเอียด ก็ทุกข์ละเอียด ไม่ใช่ทุกข์หยาบๆ เข้าใจมั้ย ทุกข์มันจะค่อยๆ น้อยลง ละเอียดขึ้น ก็คือไม่หนักเท่าเก่า


โยม –  ไม่ใช่ทุกข์แบบร้องห่มร้องไห้อะไร

พระอาจารย์ –  เออ ไม่ทุกข์แบบผีบ้า ไม่ทุกข์แบบหาทางออกไม่ได้ แล้วก็น้ำหูน้ำตาไหล หรือว่าจมแช่อยู่กับความคิดหรือการกระทำอาการภายนอกบ้าๆ บอๆ

ทุกข์มันจะละเอียดขึ้น แล้วก็ละได้ยากขึ้นไปเรื่อยๆ ...เพราะ “เรา” มันจะละยากขึ้นเรื่อยๆ  มันจะเป็น “เรา” ที่น่าหวงแหนขึ้นไปเรื่อยๆ ...เพราะพวกกิเลสหยาบๆ มันทันหมดแล้ว

นี่มันจะเป็นสภาวะที่ละเอียด ...สภาวะที่มันอยู่ในขันธ์ละเอียด ก็จะเป็นสภาวะอารมณ์ที่ละเอียด และเป็นสภาวะอารมณ์ที่ละเอียด...ที่ไม่อยากละ

หมายความว่า มันมีความสุขุมลุ่มลึกมากขึ้น น่าใคร่ขึ้น น่าเข้าไปนอนแช่กับมันมากขึ้น และเป็นที่ที่ดูเหมือนไม่มีกิเลส หรือกิเลสแผ้วพานน้อยลงอีกด้วย

การละจึงต้องใช้เวลาและความละเอียดยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จะต้องละเอียดสุขุมถี่ถ้วนขี้นเพราะนั้นการปฏิบัติตัวภายนอกนี่ มันก็ต้องเปลี่ยนไป มันจะเปลี่ยนไปเอง  

มันจะเดินไปพูดมา เจอคนวิสาสะพูดคุยไปทั่วไม่ได้แล้ว มันลำบากที่จะรักษาหรือรู้เห็น “เรา” ส่วนละเอียดกับขันธ์ส่วนละเอียดที่มันอยู่ นี่ ...มันก็เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของมันเองน่ะ

แต่ตอนนี้...คิดอะไรไม่ออก แก้อะไรไม่ถูก รู้ว่านั่ง..จบ จบตรงนี้เลย...จบ อย่าไปดันทุรัง อย่าไปหัวชนฝากับความคิด อย่าไปหัวชนฝากับอนาคตธรรม

แม้แต่พระอรหันต์ท่านยังมีอุทธัจจะเลย แล้วจะละอุทธัจจะได้ก็ต้องเป็นอรหัตผลนั่นน่ะ ...เพราะนั้นคำว่าอัสมิมานะน่ะ คือใครล่ะ ...คือ “เรา” ใช่มั้ย

แล้วจะมาบอกว่าโสดาบันละ “เรา” ได้เด็ดขาด...เป็นไปไม่ได้นะ ...ถ้ามันละ “เรา” ได้เด็ดขาด ต้องไม่มีอัสมิมานะสิ ทำไมถึงไปละที่พระอรหันต์ล่ะ ...นั่นน่ะจบสิ้นที่พระอรหันต์

อัสมิมานะคือ “เรา” ขั้นละเอียด ความถือตัว ถือเรา ถือจิตเป็นเรา ถือผู้รู้เป็นเรา ถือขันธ์เป็นเรา ถือสิ่งที่มากระทบขันธ์เป็นเรา โอ่ย...มีให้ดู มีให้ละ ไปจนจบน่ะ

เพราะนั้นถึงบอกว่า ตราบใดที่ยังมี “เรา” หรือรู้สึกว่าเป็น “เรา” อยู่...หยุดไม่ได้นะ ยังหยุดการเจริญสติอยู่ในฐาน อยู่ในศีล อยู่ในกาย อยู่ในขันธ์ปัจจุบันไม่ได้เลยนะ


โยม –  เพราะถ้าขาดสติมันก็จะไพล่หาออกไปตลอด

พระอาจารย์ –  มันจะงอกงาม มันจะพอกพูน...กิเลส มันจะทำแต้มน่ะ

เพราะนั้นเวลาผู้ปฏิบัติปุ๊บนี่ ...เวลาที่มันปล่อยให้ล่วงเลย หรือว่าเผลอเพลิน หรือว่ารามือ หรือว่าเว้นว่าง หรือว่าพักผ่อนนี่...อู๋ย กิเลสน่ะ มันรีบขยันทำแต้มเลย  รีบทำแต้มเลย ควับๆๆๆ

เพราะว่ามันถูกกัดกร่อนมานาน...แต่เชื้อมันยังไม่ตายนะ เชื้อชั่วมันยังไม่ตายนะ ...ถึงบอกว่าภาวนานี่ จะต้องจนกว่าจะจบ ถึงจะหยุดตอนนั้น ศีลสมาธิปัญญาจึงจะหยุดตอนนั้น

ตราบใดที่เดินอยู่ ตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ นี่...จะวัดยังไงว่ากิเลสมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ...ก็ความรู้สึกที่เป็น “เรา” นั่นแหละ ยังมีอยู่ในขันธ์ ยังมีอยู่ในจิตเมื่อไหร่

ไม่ว่าจะเป็น “เรา” ขั้นหยาบ ขั้นละเอียด ขั้นสุดละเอียด ขั้นสุดประณีตจนแทบจะมองไม่เห็น ...แต่ถ้ามันตงิด หรือว่ายังเห็นว่าเป็นเรา แปลว่ายังไม่ใช่ ยังไม่ถึงที่สุด

ทำไปเหอะ ดูไป มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆๆๆ เข้าไป ...เพราะในรายละเอียดที่ละเอียดเข้าไปในขันธ์มากขึ้นไปเรื่อยๆ นี่ มันจะไม่เห็นกาย มันจะไม่เอากายเป็นที่ตั้งเป็นหลักแล้ว ...แต่คือทุกสิ่งที่เกิดอยู่เบื้องหน้ามัน


โยม –  มันจะไปตั้งอยู่ที่รู้แทน

พระอาจารย์ –  แล้วมันก็จะไปตั้งอยู่ที่ฐานรู้ ...เพราะนั้นตัวมรรคขั้นละเอียด มรรคส่วนละเอียดนี่...ใจคือมรรค ...ขั้นต้นขั้นกลางขั้นหยาบ กาย-ใจเป็นมรรค

แต่ตอนนี้ สำหรับผู้ขั้นต้นนี่ มันจะไม่ถือกายใจเป็นมรรคอย่างเดียว มันยังถือสิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วย ความคิดด้วย การกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ด้วย เป็นมรรค ...นี่เขาเรียกว่ายังติด ยังติด accessory สิ่งแวดล้อม

แต่เมื่อใดที่มันลงหลักปักแน่น เรียกว่าสัมมาทิฏฐิขั้นสูงในองค์มรรคเกิดขึ้น ...ขั้นสูงคือขั้นที่เข้าสู่มรรคโดยสมบูรณ์นี่...กายใจเป็นมรรคล้วนๆ 

หมายความว่าไม่ออกนอกกายใจนี้เลย...ด้วยความยินยอม ไม่บังคับ ด้วยความที่เห็นพ้องต้องกัน 

นั่นแหละที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น ที่เห็นมรรค ที่เห็นกาย ที่เห็นศีล ที่เห็นสมาธิ ที่เห็นสัมมาศีล ที่เห็นสัมมาทิฏฐิ ที่เห็นสัมมามรรค ที่เห็นวิถีแห่งมรรคโดยสมบูรณ์ โดยชัดเจน 

รับรอง ถึงตรงนั้นปุ๊บนี่ ...มันจะไม่ไปหมายในที่อื่นว่าเป็นทางเดินเลย จะไม่หมาย จะไม่สำคัญ จะไม่สงสัยด้วย เรียกว่ามั่นคงดั่งหินผา...ไม่หวั่นไหว

เพราะนั้น หูกับตานี่..เหมือนกับหินน่ะ แล้วสิ่งที่มากระทบ..เหมือนไข่  หูตาจมูกกายจิต..เหมือนหน้าผา  ...นั่น เสียงรูปกลิ่นรสที่มากระทบหน้าผา เป็นยังไง..เหมือนไข่ แตกหมด หน้าผาไม่แตก

เนี่ย ถ้าได้หลัก ถ้าได้หลักมรรค หรือว่าถ้าได้หลักของศีลสมาธิปัญญานี่ มันจะไม่หวั่นไหว หรือไปจริงจัง ...อย่างมากแค่กระเพื่อม อย่างมากแค่กระเทือน แต่ไม่แตก เข้าใจมั้ย

เมื่อมันกระเพื่อม เมื่อมันไม่แตก เดี๋ยวมันก็หยุด แล้วก็อยู่...หยุดแล้วก็อยู่ อยู่ๆ นี่ ...แต่ไม่แตก แรกๆ อย่างนี้


โยม – มันไม่หยุด (หัวเราะ)

พระอาจารย์ –  อือ เข้าใจมั้ย ...แต่ถ้าในลักษณะที่ยังไม่ได้หลักอะไรเลย ศีลสมาธิไม่รู้เลยนี่ มันไม่มีทิศทางเลย ไม่รู้จะหยุดตรงไหน ไม่รู้จะอยู่ตรงไหน ไม่มีที่มั่นที่หมายที่แท้จริงเลย

เพราะนั้น กว่าที่จะอย่างนี้แล้วมาอยู่ตรงนี้  ถึงจะนานขนาดไหน แต่ไม่ออกนอกอย่างนี้นะ เดี๋ยวมันจะค่อยๆ ซาลงแล้วก็หยุด ...แล้วจากนี้ไอ้ช่วงเวลาตรงนี้จะสั้นลงๆ จะสั้นลงจนอยู่ตรงนี้อย่างนี้

นี่เขาเรียกว่ามั่นคงเหมือนภูผาแล้ว ...มหาสมาธิเท่านั้นถึงจะอยู่ในจุดนี้ได้  หมายความว่าถ้าถึงมหาสมาธิขนาดนี้นะ ความตายก็ไม่กลัว ต่อให้ความตายมาปรากฏอยู่เบื้องหน้าก็ไม่กลัว


โยม –  พระอาจารย์คะ ที่พระอาจารย์บอกให้หมายกายไว้ ถ้าเราตายมันก็มาเกิดเป็นมนุษย์ ตอนนี้ที่เราจะมาหมายกาย ถ้าเกิดมันเป็นเวทนามากๆ ล่ะคะ

พระอาจารย์ –  เหมือนกัน เวทนาในกายก็คือเวทนาในกาย ก็คือกายอันนึง


โยม –  ก็คือเราก็ไปรู้เวทนาตัวนั้น

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  แต่มัน เวลาเราปวด ยังไม่ถึงขั้นตาย ปวดธรรมดานี่เรายังแบบ...เหมือนกับการรู้ของเรามันยังกลืนเข้าไปหมดน่ะ พระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร กลืนก็กลืน ยึดก็ยึด


โยม –  เราก็รู้อย่างนั้นหรือคะ

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  แม้แต่กำลังจะตาย เราก็รู้อย่างนั้นหรือคะ

พระอาจารย์ –  รู้อย่างนั้น


โยม –  อ๋อ มันก็เป็นกายเหมือนกันใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ ยึดก็ยึด เป็นเราก็เป็นเรา ไม่เป็นเราก็ไม่เป็นเรา ...ถ้าเป็นเราก็เป็นเรา...ขอให้เป็นเรากับกายปัจจุบัน เข้าใจมั้ย ยังไงก็มีการเกิดเป็นคน...เป็นเบื้องหน้า

แต่ถ้ามันสามารถแจ้งตรงนั้นได้ หลุดจากความเป็นกายเราได้ตรงนั้น ก็ไปดีกว่านั้น ...ไปถึงโสดาก็ได้

เอ้า เอาเท่านี้ก่อน พอแล้ว ฟังเข้าใจมั้ย นี่มาใหม่


โยม –  พอเข้าใจบ้างค่ะ

พระอาจารย์ – นั่นแหละ เข้าใจบ้างน่ะดีแล้ว อย่าไปเข้าใจมาก ถ้าเข้าใจมากเดี๋ยวมันจะเกิน

เพราะนั้นเวลามันจะหาอะไรมาเป็นเครื่องรู้นี่ ให้หวนไว้ว่า เมื่อจิตมันจะหาอะไรมาเป็นเครื่องรู้นี่ ที่มันนอกเหนือจากกาย...ไม่เอา ใจแข็งหน่อย ใจเด็ดหน่อย ...ตายเป็นตาย

ตาย...เป็นตาย  ฝากผีฝากไข้ ฝากเป็นฝากตายอยู่กับกายเป็นหลัก จะมีใครว่ายังไง ใครว่าอะไรดีกว่า ใครว่าอะไรก็ตาม ฝากผีฝากไข้ไว้กับศีล ฝากเป็นฝากตายไว้กับสมาธิปัญญา

คือพวกเรายังไม่รู้จักหรอกสมาธิปัญญาคืออยู่ตรงไหน...ในระดับที่ชัดเจนตรงนี้น่ะ ...แต่กายนี่รู้แน่ๆ ในระดับปุถุจิตนี่ กายนี่เป็นเรื่องตายตัว เข้าใจมั้ย

มันไม่ต้องเหมือนกับฟังเพลงซิมโฟนี่ ฟังไม่รู้เรื่อง เข้าใจมั้ย ...ถ้าปุถุจิตนี่ เรื่องของกาย แล้วเราอธิบายว่า ศีลเรียกว่าปกติกายปัจจุบัน แค่พูดนี่ แล้วเอาจินตาลงไปหยั่งพิจารณา ก็เข้าใจ พอเห็นลางๆ ได้แล้ว

แต่ถ้าพูดถึงสมาธิปัญญา มันเริ่มเหมือนกับฟังเพลงซิมโฟนี่แล้ว ...เอ กูเคยฟังแต่เพลงลูกทุ่ง แล้วลูกทุ่งกูก็ยังร้องไม่เป็นเลย  เอ๊ะ มาฟังซิมโฟนี่ นี่ ชักยังไงอยู่นะ

มันจะนึกภาพไม่ออก  มันก็นึกว่าเป็นความสงบ...เอ๊ะที่กูเคยสงบอย่างนั้นรึเปล่า ไอ้อย่างนี้รึเปล่า ...นั่น ให้รู้ไว้เลย...ไม่ใช่ๆ ทั้งหมดน่ะไม่ใช่หมดเลย

เมื่อไม่ใช่แล้วยังไง ...ก็อย่าไปดันทุรัง อย่าไปหา อย่าไปจำลอง อย่าไปนึกภาพ อย่าไปมโนภาพ อย่าไปเพ้อเจ้อปรุงแต่งกับมัน ...ไอ้ที่พอรู้พอหยั่งถึงนี่ ก็เรียกว่ากาย

นี่คือวิสัยของปุถุจิตเลย สามารถรู้ได้ในอันดับแรกคือศีลก่อน ...แล้วทำยังไงถึงจะทำศีลนี้ให้แจ้ง ทำยังไงถึงจะอยู่กับศีลนี้ให้ได้...สติ ผูกไว้ มัดไว้กับกาย...ที่พอหยั่งได้ พอรู้จัก

ถึงบอกว่าศีลนี่เป็นสมบัติสาธารณะส่วนทุกคนเลย ไม่เว้นแม้แต่คนไม่นับถือศาสนาพุทธ หรือคนไม่มีศาสนาเลยก็ตาม หรือแม้แต่กระทั่งเด็กรู้เดียงสาขึ้นมานี่

พอพูดเรื่องกาย พูดถึงความรู้สึก ยังสามารถรู้เลยว่า เดี๋ยวนี้ร้อนรึเปล่า หนาวไหม นี่ ทุกคนจะตอบได้หมด รู้ได้หมด ...เพราะมันเป็นธรรมพื้นฐาน ศีลนี่เป็นธรรมพื้นฐานเลย

แต่ที่เราเข้าไม่ถึงธรรมที่ไม่ใช่พื้นฐานหรือขั้นกลางขั้นสูงต่อไป ...เพราะเราละเลยพื้นฐาน ละเลยธรรมพื้นฐาน  ซึ่งเราไปมองข้าม มองแบบปรามาส มองแบบดูถูกว่า ใครก็รู้ใครก็ทำได้ง่ายๆ

เอาดิ ง่ายจริงป่าว รู้กายปกติ รู้กายธรรมดา รู้กายอย่างนี้ให้ได้ตลอดวัน ทำได้มั้ย ...แล้วจะรู้ว่าไม่ใช่ง่ายนะ เพราะจิตหรือเราน่ะ มันมีอะไรที่น่ารู้กว่านี้เยอะ มีอะไรที่อยากรู้กว่านี้เยอะ มันมีอะไรที่ดูดีกว่านี้เยอะ

แล้วมันจะไปจมแช่ค้นควาน ไขว่คว้า แล้วก็ไปสร้างมโนขึ้นมาอย่างนั้น ...จนกินวันกินเวลานาทีไป...เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายปี เป็นจนหมดอายุขัย อายุขันธ์

ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านว่าลักษณะที่ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ การเกิดมาครั้งนี้เรียกว่าเป็นโมฆะ เหมือนเป็นโมฆะไปเลยน่ะ น่าเสียดาย ...ถึงบอกว่าน่าเสียดาย ชีวิตขัยที่ผ่าน

แม้ตลอดที่ผ่านมาจะรวยมหาศาลขนาดไหน ก็ถือว่าเป็นโมฆะในธรรม คือศีลสมาธิปัญญา ...อย่าอยู่ใช้ชีวิตอย่างไม่มีศีลสมาธิปัญญาเป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องรองรับขันธ์ เป็นเครื่องรองรับธรรม


โยม –  เหมือน...ก็อยู่ในอริยสัจ ๔ คือไม่กระเพื่อมไปตามความอยาก

พระอาจารย์ –  อือ ด้วยความเป็นกลาง ไม่แก้ไม่หนี แค่นั้นแหละ ไม่หมายในธรรมที่ยังไม่ถึง ไม่หมายในธรรมล่วงลับไปแล้ว ...เพราะนั้นมันมีที่หมายอยู่ที่เดียวคือ...ไม่มีที่หมายเลย ...เพราะจิตมันจะหาที่หมายไปเรื่อย


โยม –  ถ้างั้นดูจิตตอนแรกก็ยังไม่ได้

พระอาจารย์ –  ไม่ได้ ...เข้าใจมั้ย ละอย่างเดียว ...เมื่อใดที่จิตตั้งมั่นอยู่กับกายดีแล้ว มันจึงจะเห็นจิต ในฐานะที่ไม่ใช่สัตว์บุคคล เข้าใจมั้ย  

มันเป็นอะไรของมันก็ไม่รู้ ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญแต่ประการใดเลย ...นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเห็นจิตในจิตตานุสติปัฏฐานที่แท้จริง


โยม –  แต่ถ้าไม่ตั้ง มันเห็นแบบคิดๆ

พระอาจารย์ –  เห็นแบบมีเจตนาแฝงอยู่ในการเห็นครั้งนั้น ในการเห็นแบบนั้น ...ไอ้การเห็นเจตนาที่แฝงอยู่คือเรา แล้วเราเป็นเราตัวหยาบด้วย เราสักกายตัวใหญ่ด้วย

แล้วมันเข้าใจว่าดูไปเรื่อยแล้วเราตัวนี้จะหมดไปเอง ...มันจะหมดไปยังไง เป็นไปไม่ได้ๆ หัวเด็ดตีนขาด ยืนยัน นั่งยัน นอนยันเลย...เป็นไปไม่ได้

เพราะนั้นผู้ที่จะละกายได้จริงๆ น่ะ มีแต่พระอนาคามี เป็นต้นไป ละกายสมมุติ ละกายบัญญัติ ละกายรูป ละกายเราในบัญญัติ ละกายเราในสมมุติ ...ไม่ใช่เราในลักษณะที่ละเอียดกว่านั้นนะ

เอ้าไป ไปนั่งดูเรา จับเรา จับให้ทัน แล้วก็ละมันทุกตัวไป...แค่นั้นแหละหน้าที่การงาน อันควร อันชอบ อันถูก อันตรง อันใช่ อันมิผิดพลาดคลาดเคลื่อน


...................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น