วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 13/26 (2)


พระอาจารย์
13/26 (570308D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
8  มีนาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 13/26  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้น ในหลักของการอบรมจิตให้หยุด 

เราพูดว่า “หลัก” นะ ...เราไม่ใช้อุบาย เราไม่สอนอุบาย ...มันเยอะแยะ อยากใช้อุบาย ไปหาเอาตามเน็ท พระทันสมัยเยอะ เดี๋ยวนี้สำนักมีเป็นดอกเห็ด

เพราะนั้นเราไม่สอนเรื่องใช้อุบาย แต่สอนให้รู้จักหลักภาวนา ...ไม่เอาอุบายมาเป็นเครื่องกำหนด ไม่เอาท่าทางกายที่ฟิกซ์ (fix) ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งเป็นตัวกำหนด

ให้ใช้หลักกาย...เป็นตัวกำหนดแทนอุบายที่เคยใช้ถ้าใครเคยใช้พุทโธเป็นอุบายกำกับจิต ควบคุมจิต ก็ให้ลองเปลี่ยนมาใช้กายเป็นเครื่องกำหนดควบคุมจิต กำกับจิต

นี่หมายถึงกายที่ไม่จำเพาะลักษณะอาการใดอาการหนึ่ง หรือท่าทางใดท่าทางหนึ่ง ...คือกายปัจจุบันนั่นเอง ...เห็นมั้ย ทุกคนมีกาย...ถ้าไม่มีกายมันไม่มานั่งอยู่ตรงนี้ 

ทุกคนมีปัจจุบันกาย ...โดยที่ไม่ต้องไปสร้างขึ้นมาใหม่ โดยที่ไม่ต้องไปอ้อนวอนร้องขอ บำเพ็ญทุกขกิริยาในท่าทางใดท่าทางหนึ่งขึ้นมา ...มันมี มันเป็น มันปรากฏ มันแสดง...ตลอดเวลา ไม่มีข้อจำกัด

ไม่มีอะไรมาจำกัดความปรากฏขึ้นของกายนี้ได้ ...ยกเว้นตายจากกันไป  เมื่อนั้นความปรากฏของปัจจุบันกายจึงหมด หยุด จบขั้นตอนของกาย หรือการก่อเกิดของกาย หรือการปรากฏของกาย

เพราะฉะนั้น ถ้าเอากายนี้เป็นหลัก...แทนอุบาย แทนท่าทางใดท่าทางหนึ่ง คือท่าทางของการนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม ...ทีนี้ อย่าอ้างว่าทำไม่ได้ อย่าอ้างว่าไม่มีเวลา อย่าอ้างว่ายังไม่ถึงเวลาภาวนา

ก็ทำการภาวนากับกายนี้ ด้วยความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ...ซึ่งหมายความนัยยะคือ ให้จิตมันมาหยุดอยู่กับกายปัจจุบันนี้ ด้วยความสม่ำเสมอและต่อเนื่องเท่าที่จะทำได้ ...ไม่เลือกเวลา ไม่มีเวลา

เนี่ย เรียกว่าการประกอบเหตุของการภาวนา …ซึ่งถ้าสามารถ หรือมุ่งมั่น หรือตั้งใจอย่างนี้ เช่นนี้ ...ทุกคนมีสิทธิ์...รู้แจ้ง รู้จริง ...เห็นแจ้ง เห็นจริง...ในภพและชาตินี้ ไม่มีใครต่ำต้อยด้อยค่ากว่ากัน

ไอ้ที่มันไม่ไปไหน ไม่ได้อะไร ไม่รู้จักอะไร วางอะไรไม่ได้ ไม่เข้าถึงธรรม ไม่เข้าใจธรรม ...ก็เพราะว่ามันรั้งๆ รอๆ กันนั่นแหละ ...รอเวลาปฏิบัติ รอสถานที่ปฏิบัติ รอให้ได้แต่งชุดขาวบ้าง

ซึ่งเวลาอย่างนั้นก็หาได้ยาก เพราะมันตัวเป็นน็อตหัวเป็นเกลียวกับการทำมาหากิน และพูด และคุย เป็นอาจิณ จนไม่มีเวลาภาวนา ...นี่เป็นข้ออ้างของทุกคน ไม่ต้องเถียงนะ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ 

เพราะนั้นเมื่อรู้ว่ามันชอบอ้างกาลและเวลา ก็ต้องแก้ตรงนี้ ...นี่บอกวิธีแก้ให้แล้วนะ ...ไอ้ที่ว่ามันทำไม่ได้ ทำไม่ถึง ทำไม่มีกำลัง  ก็เพราะว่าจะให้นั่งทั้งวัน เดินจงกรมทั้งวันนี่ มันคงทำไม่ได้แน่ๆ

จะมากำหนดอุบายไหนก็ตาม จะสัมมาอรหัง จะพุทโธ หรือจะลมหายใจ...โดยทำต่อเนื่องตลอดเวลา ...นี่ก็คงเข้ากับหน้าที่การงานไม่ได้ ก็คงเข้ากับคนรอบข้างเขาไม่ได้

คงทำไม่ได้แน่ๆ ...ก็แน่ล่ะ  ก็ใช่ ...เพราะมันเป็นอุบาย  มันใช้ได้แค่บางครั้งบางคราว ชั่วครั้งชั่วคราว ...แล้วก็ต้องมีสถานที่จำเพาะ จำกัดด้วยนะ

อย่างโยมขับรถใช่มั้ย ไปลองท่องพุทโธตอนขับรถดูซิ มันก็บรรลัยใช่ไหม ...เอ๊ะ อย่างนี้ก็ภาวนาตลอดทุกลมหายใจเข้าออกไม่ได้สิ ...ก็ไม่ได้น่ะสิ ก็มันเป็นอุบาย มันไม่ใช่หลัก

นั่นเอาไว้ไปภาวนาในที่จำเพาะ คนเดียว อย่างในห้องส้วมน่ะได้ หรือก่อนนอนนั่งบนเตียงอย่างนี้ก็ได้ แล้วก็หลับไปเลย เงี้ย สบายดี ลืม ทิ้ง พอแล้ว

แล้วก็ว่า “วันนี้ทำได้ตั้งเยอะแล้ว ตั้ง ๕ นาที หูย มากมหาศาลเลย  นี่ถ้าเป็นคนทำงาน ก็ทำไม่ได้กันหรอก เราอุตส่าห์ทำได้ตั้ง ๕ นาที” เก่งตายล่ะ นี่มันนึกว่าตัวมันเองเก่งแล้วนะนั่นน่ะ

ถ้ากิเลสมันมีปาก มันก็ว่า...เนี่ย มึงทำอะไรกูเหรอ มึงมาทำอะไร  กูนึกว่าจะฆ่ากู ปั๊ดโธ่ ทำอะไรเนี่ย นี่เรียกว่าภาวนาให้กิเลสมันเหยียดและหยามหรือไง

อายไหมน่ะ อายกิเลสมันไหมน่ะ ดูสิ มันพอสมน้ำสมเนื้อกันมั้ย ...กับกิเลสที่เราสะสมมาเป็นอเนกชาติเนี่ยนะ...แล้วมานั่งแค่ ๕ นาที ...เก่งตายล่ะ

แล้วยังบอกว่า ดีกว่าคนอื่นตั้งเยอะแยะ เออ ถ้ามันนั่งได้ทุกวันไม่ขาดสาย ก็ยังพอได้พูดว่ายังดีกว่าคนอื่นบ้าง ไม่เปลืองข้าววัด ...แต่นี่ทำไปแล้วก็กลายเป็นว่า 

“เออ ๓ นาทีก็พอแล้วน่ะ วันนี้เหนื่อยทั้งวัน เจอแต่เรื่อง  เอาเหอะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยสิบนาที วันนี้นอนซะก่อน” ...อือ พอพรุ่งนี้เรื่องเยอะกว่าเดิมอีก มันก็หาเรื่องว่า “ไว้ก่อนๆๆ”

นี่คืออุบายนะ นี่คือการภาวนาตามอุบาย ...นอกจากนั้นไปก็ทิ้งเนื้อทิ้งตัว ปล่อยจิตล่องลอยเผลอเพลิน นั่งด่า ยืนก็ด่า เดินก็ด่า...ในใจนะ ปากอาจจะไม่ได้ด่า

ลมพัดก็ด่านะ..ด่ามั้ย แดดออกก็ด่าแดด..ด่ามั้ย  ฝนตกก็ด่าฝน..ด่ารึเปล่า ...ไม่ได้ด่าออกเสียงหรอก ด่าในใจ ด่าไปหมดน่ะ ไม่ด่าแต่ตัวเองยกเว้นไว้ แต่ด่าทุกสิ่งน่ะไม่ดีหมด ...นั่นแหละจิต..มันพาล

เพราะนั้นการที่ภาวนาโดยที่อาศัยกายนี้เป็นหลักยึด เป็นหลักให้จิตมันยึด...นี่รู้จักหลักไว้ก่อน ...เมื่อรู้จักว่าหลักยึดมันอยู่ที่ไหน แล้วสามารถเอามาใช้ได้ตลอดเวลา โดยไม่มีข้ออ้างและเงื่อนไข

เมื่อรู้จักว่าหลักมีอยู่แล้ว เอานี้เป็นหลัก แล้วก็ตั้งใจจะเอานี้เป็นหลัก ...เพราะว่ามันสามารถเอามาใช้ได้ในชีวิตปกติ ...จะถอดชุดขาวไปจากวัดแล้วก็ใช้ได้ กายก็ยังมีอยู่ ไม่ได้ถอดกายทิ้งไว้ที่วัดนะ

ทีนี้ก็อยู่ที่ความขวนขวาย หรือท่านเรียกว่าความพากเพียรนั่นเอง...ที่จะจับระวังจิต ควบคุม สำรวมจิต เท่าทันจิต...โดยอาศัยหลักกายหลักศีล

รักษาความระลึกจิตนี้ให้กำกับรู้ กำกับเห็นอยู่กับหลัก...คือกาย  ด้วยความพากเพียร ขวนขวาย ใส่ใจ มุ่งมั่น บากบั่น อดทน ไม่ท้อถอย ...อย่างไม่เลือกเวลา ไม่อ้างเวลา

ทีนี้การภาวนาของพวกเรานี่มันก็จะเข้าไปอยู่ในชีวิต โดยที่ว่าไม่มีพุทโธเลยสักคำก็ได้ ก็ถือว่าภาวนาอยู่ตรงที่...โต๊ะทำงาน บนถนน โต๊ะอาหาร ที่ชุมนุมพบปะเพื่อนฝูง...ได้หมด

นี่ ไม่มีข้อจำกัดแล้ว ไม่มีจิตตัวใดตัวหนึ่งมาหักห้าม มาหวงห้ามการภาวนาได้แล้ว

เพราะถ้ามันว่าพุทโธๆ มันก็ยังพอห้ามได้  เพราะมันไม่สามารถพุทโธได้ในขณะที่กำลังขับรถ ในขณะที่กำลังเดินถนน ในขณะที่พูดคุย ในขณะที่ทำหน้าที่การงาน กำลังคิดงาน อะไรอย่างนี้

เพราะถ้าอยู่ในลักษณะหน้าที่อย่างนั้นน่ะ ในลักษณะการงานตรงนั้นน่ะ จะให้มาพุทโธๆ หรือกำหนดลมหายใจหรืออะไร มันก็ทำงานไม่ได้ ...นี่ ดูเหมือนมันขัดแย้งกัน

แต่ถ้าเอาจิตมากำกับไว้อยู่กับกาย คอยรู้ คอยหยั่ง คอยรู้สึก คอยเห็น ลักษณะอาการ ลักษณะอิริยาบถ ลักษณะความเป็นไป การดำรงอยู่ของท่าทางตัวตนของกายนี้

มันยังมีช่อง เปิดช่องให้ได้คิด ให้ได้นึก ให้พูดคุยได้ ...นี่ ถ้ามุ่งมั่นลองเอากายเป็นที่กำหนดระลึกรู้ไว้นี่ มันจะค่อยๆ เข้าใจว่ามันสามารถเอามาใช้ระหว่างหน้าที่การงานได้

แล้วก็...พวกเราต้องเปลี่ยนความเข้าใจใหม่อย่างหนึ่งที่ว่า...ภาวนาแล้วต้องได้อะไร ...ไม่เอา ไม่รู้จะได้อะไรไปทำอะไร เพราะไม่รู้จะไปใช้ที่ไหน

ก็ภาวนาแบบไม่ต้องเอาอะไร ไม่ต้องไปคาดหมายหวังผลอะไรกับมันหรอก ภาวนางั้นๆ ไป ...นึกไว้อย่างนั้นก่อน ไม่ได้มรรคไม่ได้ผล ไม่เอามรรคไม่เอาผลอะไรแล้ว

เอารู้ตัวนี่แหละ เอารู้ว่ากำลังทำอะไร เอารู้ว่ากายมันกำลังอยู่ในท่าทางไหนก่อน ให้ได้ตรงนี้ก่อน ให้มันได้แค่รู้ว่ากายกำลังอยู่ในท่าทางไหนก่อน...เป็นผล

เอาผลเบื้องหน้านี้ก่อน ไม่ต้องไปฝันหวาน ไม่ต้องไปหวังผลในอนาคต ไม่ต้องไปหวังผลตามตำรา ไม่ต้องไปหวังผลตามคำกล่าวอ้างของคนนั้นคนนี้

ทำไป หวังผลในปัจจุบันว่า เออ กายมันกำลังอยู่ในท่าทางไหน ด้วยความเข้มแข็งในการปฏิบัติ ที่จะไม่หวังผลใด หรือไปตามคนอื่นที่เขาว่าไปภาวนาแล้วอย่างนั้น อย่างงี้ อย่างงู้น

อย่าไปเป็นกระต่ายตื่นตูม เผลอ ลืม ไปคร่ำเคร่งจมแช่อยู่กับอารมณ์ ความคิด ...เมื่อรู้ได้ ระลึกได้ว่า เออ ลืมเนื้อลืมตัวไปอีกแล้ว ...เอาใหม่ รู้ใหม่ รู้ไป

ก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถ หรือว่ารีบกระวีกระวาดเข้าห้องน้ำไปอยู่คนเดียว ...ก็ตรงนั้นน่ะ เอาตรงนั้น ตรงที่มัน..เอ๊อะ กำลังคิดเรื่องอะไรอยู่วะ...นี่ รีบกลับเลย กายก็มีอยู่ตรงนั้นแล้ว

กลับมาดู กลับมาดูกาย...หยาบที่สุดก่อน คือท่าทางใหญ่ คืออิริยาบถ ๔  มันอยู่ท่าทางไหน ...มันต้องมีสักท่านึงล่ะ ตรงนั้นน่ะ ไม่นั่งก็ยืน ถ้าไม่ยืนก็เดิน แต่คงไม่ได้นอนหรอกระหว่างทำงานน่ะ

เพราะนั้นก็สร้างสติในการระลึกรู้กับกายปัจจุบัน อิริยาบถปัจจุบันนี่ ...จนเป็นนิสัย เป็นอุปนิสัย ในการดำรงชีวิตไป นะ


....................................




วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 13/26 (1)


พระอาจารย์
13/26 (570308D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
8  มีนาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  มาๆ ไปๆ ...ไปๆ มาๆ ...การภาวนาก็คือไม่ไปไม่มา ไม่มาและไม่ไป 

ทำยังไงถึงจะให้ไม่มาไม่ไป ...ไม่มีที่ไปและก็ไม่มีที่มา ...เมื่อไม่มีที่ไป ไม่มีที่มา...จนไม่มีที่ให้มันอยู่ นั่นน่ะ จบ สรุป 

แต่มันยากอีตอนที่ว่า...ทำยังไงถึงไม่ให้มันมีที่อยู่ ...เพราะที่ไหนๆ “เรา” มันก็อยู่ได้หมด  

ที่ไหนมีที่ให้ไป จิตมันไปกระหวัดถึงตรงไหนปุ๊บน่ะ ที่เกิดเลยนั่นน่ะ...มี area ส่วนตัวแล้ว ...ถ้ามันมี area หรือมันมีพื้นที่นี่  มันก็มีขอบเขต อาณาเขต ...นั่นแหละแดนเกิด...คือภพ 

แล้วทั้งวันน่ะ มันสร้าง area ส่วนตัวอยู่ตลอด...จิต...มันสันดานไม่ดี จิตสันดานไม่ดี ...แล้วก็ไปเพ้อฝัน เพ้อเจ้อ หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง อยู่ใน area นั้น 

ก็ใครล่ะ ...ใครมันหัวเราะ ร้องไห้อยู่ในนั้น ...ก็ “เรา” น่ะ ...ถ้ามันมี area เมื่อไหร่ หมายความว่าต้องมี “เรา” ไปหัวเราะและร้องไห้

หัวเราะคือสุข ร้องไห้คือทุกข์  หัวเราะคือยินดี ร้องไห้คือยินร้าย...ยินดีและยินร้าย ...เพราะนั้น อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มัชฌิมาปฏิปทา ...นี่ทาง ๓ เส้น

อะไรล่ะที่มันไปสร้าง area ที่เกิด แดนเกิด ...ก็จิต...พร้อมด้วย "เรา"  ...จิตนี่ ที่เรียกว่าจิตๆๆๆ นี่ ไม่ใช่จิตลอยๆ นะ แต่มันเป็นจิตที่พร้อมด้วยความเป็นเรา พร้อมความรู้สึกของเรา

มันไม่ได้มีแต่จิตเปล่าๆ ปลี้ๆ นะ  ในระดับขี้เท่อทั้งหลายนี่ ระดับปุถุชนนี่ ...ทุกความคิด ทุกดวงจิต มันเกิดขึ้นพร้อมความรู้สึกเป็นเรา...ของเรา

ซึ่งธรรมชาติของจิต หรือก็คือธรรมชาติของเรา โดยรวมก็เรียกว่าธรรมชาติของจิตเรา...มันไม่เคยหยุดนิ่ง แม้แต่ขณะหนึ่งด้วยตัวมันเอง ...นี้เรียกว่า Fact เลยนะ...ความจริง

เราต้องยอมรับความจริงตัวนี้ เพราะเราอยู่กับจิตดวงนี้มาตั้งแต่เกิด และตั้งแต่ก่อนเกิด ...มันคุ้นเคยอย่างยิ่ง  ท่านเรียกว่า...อนุสัยสันดาน ที่มันคุ้นเคยอยู่ในกมลสันดาน

กมลนี่เรียกว่าใจ สันดานนี่เรียกว่าอาสวะ...มันครอบอยู่จนไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ...เพราะนั้นมันจึงจะเกิดมาพร้อมกับจิตปรุงแต่งนี้แหละ หรือว่าจิตคิดนึก

ที่มันไปสร้างสถานที่ ไปสร้างโอกาส ไปสร้างสัตว์สร้างบุคคล ไปจำลองสภาวะอารมณ์ข้างหน้าข้างหลัง...ตลอดเวลา ไม่มีว่างเว้น ไม่มีหยุดหย่อน ไม่มีพักผ่อน

ไอ้ที่ไปนี่ก็จิตสั่ง ไอ้ที่มาหาเรานี่ก็จิตบอก เพราะกายมันเดินเองไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตสั่งการบงการ แต่ก็เรียกว่ามาดี มาในสิ่งที่ดี นี่มาเป็นกุศล มาเป็นบุญ 

นี่ จิตพาให้เกิดบุญก็ได้ จิตพาให้เกิดบาปก็มี แล้วแต่ว่าไอ้กูหรือเราน่ะจะมักฝ่ายไหนเท่านั้นเอง หรือว่าคุ้นเคยกับการที่กมลสันดานมันไปฝ่ายกุศลหรืออกุศลธรรม เห็นมั้ย บุญน้อมนำจิตกุศล

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า บุญนี่ต้องทำ บาปไม่ทำ ...แล้วอาศัยบุญตัวนี้ที่จิตมันน้อมนำบุญให้มา...ในที่ที่ควรมา ฟัง...ในที่ที่ควรฟัง ได้ยิน...ในสิ่งที่ควรจะได้ยิน

นี่เป็นบุญ นี่เรียกว่าประกอบเหตุแห่งบุญ ด้วยอำนาจของจิตก็ตามแต่ถ้าไม่ประกอบเหตุแห่งบุญตัวนี้ มันจะไม่ได้ฟัง ได้เห็น ได้ยิน สิ่งที่ดี...ที่จะพัฒนาจิตเข้าสู่ความไม่ไปไม่มาของจิต

ถ้าไม่ได้ฟัง ถ้าไม่ได้มาฟัง  ถ้าไม่ได้ยิน ถ้าไม่เคยได้ยิน ...จิตนี้โดยธรรมชาติ โดยสันดาน มันไม่เคยพัฒนาตัวมันเองได้เลย  เรียกว่าอยู่ในภาวะที่ว่า...โง่ดักดานและซ้ำซาก

เพราะนั้นการฟัง การได้ยินธรรม เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติ ...คือการปฏิบัติเป็นไปเพื่อการอบรมจิต อบรมสันดานที่ไม่ดีของจิตโดยธรรมชาติของจิต ...ให้มันหยุดเสียบ้าง

คือยังไม่ต้องหยุดเสียทีเดียวเลย เพราะคงทำไม่ได้ แต่ให้หยุดเสียบ้าง  แล้วให้ค่อยๆ หยุดให้มากกว่าขึ้นไป แล้วให้หยุดแล้วก็ให้อยู่ให้นานขึ้น 

นี่ เบื้องต้นต้องอบรมจิต ...ไอ้ที่มาทนนั่งขัดสมาธิเพชรสองชั้นสามชั้น หลับหูหลับตานี่  ก็เพื่ออบรมให้จิตมันหยุด...ด้วยอุบาย ...นี่คือด้วยอุบาย

พุทโธเป็นอุบาย ลมหายใจเป็นอุบาย ...แต่ละสำนักก็มีแต่อุบาย  สัมมาอรหังก็เป็นอุบาย ดวงแก้วก็เป็นอุบาย ฐานที่เจ็ดก็เป็นอุบาย นะมะพะทะก็เป็นอุบาย

แล้วเราถามว่า...เมื่อพวกเราน้อมนำเอาธรรมอุบายนี้มาทำ เรียกว่าเป็นการอบรมจิตด้วยอุบาย ...แล้วในวันหนึ่งๆ ทำอุบายแห่งการอบรมจิตนี้ได้กี่ชั่วโมง กี่นาที กี่วินาที

ต้องเรียกเป็นวินาที ใช่มั้ย  ถ้านั่งครึ่งชั่วโมงนี่จะหยุดได้กี่วินาที ...ไม่ใช่หมายเอาเวลาในการนั่งนะ แต่หมายถึงเวลาที่อบรมให้จิตมันหยุดอยู่ได้นี่

แล้วพอเลิกประกอบอุบายแห่งการอบรมจิต...คือการนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมก็แล้วแต่ ...จากนั้นไป ก็ปล่อยให้จิตนี่ตกระกำลำบาก ระเหเร่ร่อนไปและมา ใช่มั้ย

ทั้งๆ ที่ว่ากายยังไม่ได้ไปไหนหรอก แต่ว่าจิตมันระเหเร่ร่อนไปที่โน้นที่นี้ ไปถึงเมืองนอกก็ไปนะ ทั้งๆ ที่ตัวมันยังล้างชามอยู่บนวัด นี่ ไปแล้ว...แบบไม่มีห่วงหาอาวรณ์อาลัยในกายในขันธ์เลย

ก็หักลบกลบล้างดู ...ที่อบรมจิตด้วยอุบายได้ประมาณสิบนาทีในหนึ่งวัน ...นอกนั้นมีแต่ไปกับมา แล้วก็มากับไป  หรือไม่ไปไม่มาก็คือหายไปไหนก็ไม่รู้...ตลอด เป็นรูทีน เป็นอาจิณ

แล้วมาถามอาจารย์ว่า “ทำไมหนูภาวนาแล้วไม่เห็นผลเลยคะ”  อาจารย์ก็จะงงว่า...มึงมาถามกูทำไม ทำไมมึงไม่ถามตัวมึงเอง...ว่ามันทำอะไรกันอยู่ ว่ามันประกอบเหตุสมควรแก่ผลหรือเปล่า

อาจารย์ก็จะตอบว่า รู้จักใช้ปัญญาซะบ้าง ...มันก็เอาไปคิดใหญ่ “ทำยังไงให้เกิดปัญญา” ไปหาตำรามาอ่านก็ไม่มีปัญญา จะได้เข้าใจว่า เอ๊ะ อาจารย์สอนอะไร

ก็กูสอนไปแล้ว ว่าคิดเองเป็นมั้ย  ...ให้น้อมกลับ พิจารณาทบทวน...ตามเหตุตามปัจจัยน่ะ  

ถ้ามันกลับไปน้อมนำด้วยปัญญาแบบพื้นๆ ฐานๆ ...มันก็จะเห็นว่า มันประกอบเหตุไม่สมควรแก่ธรรม มันเข้าไปประกอบเหตุไม่สมควรแก่ผล ...นี่ ปัญญาเกิดขึ้นแว้บๆ นึงก่อน...ด้วยตัวเอง 

ทีนี้มันก็จะมาตันตรงไหนอีก ...ก็คือถ้ามันประกอบเหตุไม่สมควร คือมันได้แค่วันละ ๕ นาที ๑๐ นาที ที่ว่าจิตมันหยุดนี่ ...มันก็จะว่า “โอ้โห งี้กูก็ต้องนั่งทั้งวันน่ะสิ”

นี่ ติดอีกแล้ว มาคามาตันตรงรูปแบบของการใช้อุบายอีก เห็นมั้ย มันมีขีดจำกัดนะ ...แล้วไอ้พวกเรานี่ มันมีขีดจำกัดเยอะ ข้อจำกัดก็แยะ

เพราะว่าใจมันปลาซิว มันไม่เหมือนแผ่นดิน ...มันเหมือนปลาซิว ความเพียรนี่เท่าปลาซิว หรือจะว่าเท่าหัวเข็มหมุดก็ไม่ใช่ ...มันแค่ปลายเข็มหมุดน่ะ 

พอมันคิดถึงว่า “อย่างนี้กูก็ต้องนั่งสมาธิเดินจงกรมทั้งวันล่ะสิ”  มันก็ตันแล้วว่า “ไม่ไหว” ...นี่ เกิดปัญญาแล้ว...แต่ทำไม่ได้

แล้วยิ่งไปอ่านเรื่องครูบาอาจารย์ ปฏิปทาพระกัมมัฏฐาน ประวัติครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น “โอ้โห ท่านอย่างนี้เลยเหรอ ...ไม่ไหวๆ เดินจงกรมทั้งวัน นั่งสมาธิจนก้นแตก”

ก็เลยเกิดสภาวะว่า “ช่างมันเถอะ ได้แค่นี้เอง วาสนาเราน้อย ก็ทำๆ ไปพอเป็นพิธี” นี่ ...แต่ลึกๆ ก็ยังอยากสำเร็จอยู่นะ อยากได้มรรคผลไวๆ

เกิดความกระเหี้ยนกระหือรือเวลาได้ยินได้ฟังคำพูดธรรมะ ตาหูนี่เบิกโพลง หรือไปอ่านข้ออรรถข้อธรรมตรงนั้นตรงนี้ เกิดความกระสันอยากจะสำเร็จว่า “คงจะสบายดีเนอะ”

แต่พอมานึกถึงปฏิปทา...ไม่ใช่ของพระกัมมัฏฐานหรอก แต่ปฏิปทาของ “กู” หรือของ "เรา" น่ะ ...ก็คือว่า “ไม่ไหว ...คงไม่ได้” แล้วก็นั่งฝันหวานรอ

แล้วดันไปรอตอนนั่งสมาธิอีกนะ ...มันฝันตอนระหว่างออกนอกอุบายยังไม่พอ ระหว่างนั่งสมาธิกัน...ก็ยังไปว่า “เมื่อไหร่จิตจะสงบ”

เนี่ย ปัญหาซ้ำซากโลกแตกของเกือบทุกคน สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับ ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง พระบ้านนอกสอน มันไปฟังพระในตำราสอน

นี่ พระบ้านนอกก็สอนว่า อุบายคืออุบาย...หลักคือหลัก ...ถ้าเอาท่าทางของการภาวนาไปขึ้นกับนั่งสมาธิเดินจงกรม...ชาตินี้รับรองไม่สำเร็จแน่ๆ ตายกับกองกระดูนี้ เผาไปเหอะ

แต่กิเลสมันไม่ได้ถูกเผาไปพร้อมกับกระดูกนะ ...แล้วกิเลสก็จะไปก่อตัวรวมตัวสร้างกระดูกกับเนื้อมาหุ้มใหม่...ชัวร์ป้าด บอกให้ ไม่ต้องมีญาณด้วย


(ต่อแทร็ก 13/26  ช่วง 2)



แทร็ก 13/25 (2)


พระอาจารย์
13/25 (570308C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
8  มีนาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 13/25  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  จิตพระอรหันต์นี่เป็นหนึ่งในอจินไตย ...อย่าคิด อย่านึกน้อม อย่าประเมิน อย่าคาดคะเน อย่าเอาอะไรมาเป็นสารานุกรมเทียบเคียง

พระพุทธเจ้าท่านบอก...อจินไตย เป็นอจินไตย  คือไม่สามารถ...ด้วยจิตปุถุ ในระดับปุถุนะ...จะไม่สามารถเทียบเคียงได้เลย ด้วยการคิดนึกน้อม

แต่ถ้าเป็นระดับอริยะจิตขึ้นไป...สามารถหยั่งถึง เข้าไปหยั่งสภาวะนั้นได้...ด้วยญาณ ...ไม่ใช่ด้วยเราคิด เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นท่านจึงว่า...ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนี่ เรียกว่าได้กระแสหรือตกกระแสนิพพาน  จะหยั่งถึงสภาวะนั้นด้วยความเข้าใจบ้าง..พอเข้าใจบ้าง...ด้วยญาณนะ ไม่ใช่ด้วยเราอ่านหรือคิดพิจารณาเอา 

เพราะนั้น ถ้าเราสรุปได้ว่า “กูยังมีกิเลส” ก็ไม่ต้องคิดเลย ...ก็รู้ว่าเรากำลังมีกิเลส แล้วก็กลับมารู้ว่าเรากำลังนั่ง ...นี่คือหน้าที่การงานปัจจุบัน ...แค่นั้นเอง 

ไม่ต้องไปละเมิดธรรมอื่น ไม่ไปล่วงเกินในธรรมผู้อื่น ...ธรรมพระอรหันต์นี่ก็ธรรมผู้อื่นนะ กิเลสของคนก็เป็นธรรมผู้อื่นนะ ...ก็ไม่ละเมิดธรรมอื่น ไม่ล่วงเกินธรรมอื่นด้วยความคิด ทั้งในแง่ดี ทั้งในแง่ชั่ว

ก็มายุ่งขิงกับกิเลสตัวเอง ทำความแจ้งกับกิเลสตัวเจ้าของ...อันไหนเป็นกิเลส อันไหนไม่ใช่กิเลส ...และอยู่ยังไงที่ว่าอยู่แบบไม่มีกิเลส แล้วอยู่ยังไงเรียกว่าอยู่กับกิเลสบ้าง

แล้วอยู่ยังไงที่อยู่กับกิเลสแล้วมันทำท่าจะมีกิเลสมาก แล้วอยู่ยังไงมันอยู่กับกิเลสแล้วกิเลสทำท่าจะน้อยลง ...อย่างนี้เรียกว่าอยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยมรรค อยู่ด้วยศีล ...มันจะเห็นตัวเองอย่างนี้

ถ้ามันเห็นอย่างนี้ปุ๊บ มันจะไม่ยอมหรอกที่จะอยู่ยังไงให้กิเลสมันมากขึ้น ทุกข์มากขึ้นพร้อมกิเลส ...คำว่าปัญญาก็คือปัญญา คือมันไม่โง่หรอก ที่มันจะไปอยู่แล้วก็อยู่ด้วยการสร้างหรือพอกพูนกิเลส

นี่คือสันดานใหม่ของพระอริยะ จะเกิดสันดานนี้ ...จะอยู่กับกิเลสไม่ได้ จะไม่เป็นไปเพื่อความเป็นทุกข์มากขึ้น ...จะอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเป็นไปเพื่อกิเลสน้อยลง ทุกข์น้อยลง

และเพื่อความเป็นเราน้อยลงไปตามลำดับ ...นี่คือสันดานใหม่ที่เรียกว่า นิสยะ นิสัย หรือธรรมเนียม หรืออริยจิตที่เริ่มต้น ...นี่เขาเรียกว่าเปลี่ยนโคตร

เพราะนั้นพื้นฐานความคิด..เปลี่ยน  พื้นฐานความเห็น..เปลี่ยน  พื้นฐานอารมณ์..เปลี่ยน ...นี่เปลี่ยนแบบเปลี่ยนนามสกุลใหม่ ท่านเรียกว่าโคตรภูญาณ ข้ามโคตรปุถุชน

พวกเรานี่โคตรแซ่ปุถุชน แซ่กิเลส...วงเล็บด้วยนะ ราคะเป็นใหญ่ โทสะเป็นใหญ่ ...แต่ละคนนี่ วงเล็บไม่เท่ากันไม่เหมือนกัน แต่แซ่เดียวกันคือแซ่กิเลส ปุถุ ...โคตรเดียวกัน

เพราะนั้นไอ้ตัวปุถุโคตรนี่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ยังเป็นโคตรที่ต่ำ ...ทำไมถึงต่ำ ...เพราะมันวนเวียนอยู่ในโลกสาม

ซึ่งโลกสามนี่ทำไมถึงเรียกว่าโลกสามต่ำ ...เพราะมันมีสิทธิ์สลับ สลับขึ้นสลับลงไปมาได้ ยังไงก็ต่ำ จะให้มันว่ามันสูง เดี๋ยวก็ต่ำ ...ท่านเรียกว่ายังเป็นโคตรต่ำ

เพราะนั้นการภาวนาก็พยายามที่จะยกระดับโคตรนี่ให้สูง ...พอข้ามโคตรนี้ได้นี่ หมายความว่าไม่ตกต่ำ ไม่วนเวียน จะไม่วนเวียนอยู่ในสามภพ

นิสัยก็จะเปลี่ยน  พื้นฐานเดิม พื้นฐานของการดำรงชีวิต...ไม่เป็นไปเพื่อการพอกพูนสะสมกิเลส จะเป็นไปเพื่อความพอกพูนสะสมศีลสมาธิปัญญา เติมเต็มซึ่งศีลสมาธิปัญญาขึ้นไปเรื่อยๆ

ทีนี้มันก็ชัดเจนไปในทางที่ว่า ศีลอยู่ไหน..จะเติมยังไงให้ศีลเต็ม  สมาธิอยู่ไหน..จะเติมยังไงให้สมาธิเต็ม  ปัญญาอยู่ไหน..จะเติมยังไงให้ปัญญาเต็ม ...นี่ ท่านรู้


แล้วถามว่าพวกเรารู้รึยัง หรือรู้บ้างแบบงูๆ ปลาๆ  เชื่อบ้าง..ไม่เชื่อบ้าง ...นี่ นี่คือสันดานที่ยังต่ำอยู่ โคตรยังต่ำอยู่  ความเห็นยังผีเข้าผีออก เข้าทางด้านนี้..เปลี่ยน เข้าทางด้านนั้น..เปลี่ยน ฟังอาจารย์องค์นั้น..เปลี่ยน ฟังอาจารย์องค์นี้..เปลี่ยน

นี่ เขาเรียกว่าเป็นพวกจับจด เป็นพวกคนจรหมอนหมิ่น ยังไม่มีบ้านเรือนเป็นหลักเป็นฐาน ร่อนเร่พเนจรไปมา เหมือนขอทานผู้ยากไร้ ขอเขากิน

กินอิ่มแล้วหมดไป หาใหม่ ...แล้วก็เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนคนให้น่ะ ยังหากินเองไม่ได้ ก็เลยสร้างบ้านเรือนของตัวเองไม่ได้ ...แค่พอกินกูก็จะตายอยู่แล้ว ไม่พอกินบ้าง พอกินบ้าง นี่ขอทาน

แต่ถ้าพอเริ่มสร้างบ้านได้ คราวนี้ก็สะสมทรัพย์ เรียกว่าเป็นเศรษฐี เริ่มเป็นผู้มีอันจะกิน ...นี่ เริ่มมีวิธีหาทรัพย์โดยที่ว่าไม่ต้องไปขวนขวายภายนอก

นี่เป็นผู้ลากมากดีขึ้นหน่อย เป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทองที่หาได้เอง โดยที่ไม่ต้องชี้นิ้วบงการ โดยที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวไปทำงานภายนอก อยู่เฉยๆ ก็รวยขึ้นได้  แล้วมันดูเหมือนเป็นวิธีการลึกลับเฉพาะตน

ไอ้คนนอกเหรอ “ก็อยากเป็นน่ะเศรษฐี เห็นเขาไม่ได้ไปไหน แล้วทำไมรวยเอ๊ารวยเอาวะ” ...ไปถาม ท่านก็บอก แต่บอกยังไงก็ไม่เข้าใจ ...ก็ไม่รู้ไม่ได้ทำอะไร มันมีของมันเองน่ะ

เนี่ย มันเป็นเรื่องเฉพาะตน...ศีลสมาธิปัญญา ...รู้แล้วว่าเติมศีลยังไง เติมสมาธิยังไง โดยที่ว่าไม่ต้องไปไหน  อย่าว่าแต่ไปทำมาหากินหน้าที่การงานเลย ไม่แม้แต่กระทั่งนั่งสมาธิเดินจงกรมน่ะ


โยม –  ไม่นั่งสมาธิ ไม่เดินจงกรม

พระอาจารย์ –  เออ ทรัพย์ก็เพิ่มเอ๊าเพิ่มเอา ...ไอ้นี่ยิ่งงงหนักเลย ไอ้คนนอกนี่ ไอ้พวกขอทานที่มายืนมารับทานอยู่หน้าบ้านเรานี่ ...ก็รอให้เศรษฐีแจก อ่ะเอาไปๆๆๆ

แล้วก็ถาม “ท่านเอาที่ไหนมาแจกกันนักกันหนา”  ท่านก็จะบอกว่า...ทำไม มีอะไร กูมีไม่อั้น มีไม่จำกัด ไม่มีวันหมดน่ะ อัปปมาโน ธัมโม อัปปมาโนสังโฆ  ... มันมีของมันเอง

นี่ก็บอกว่า ทำยังไงมันถึงจะกลายเป็นเศรษฐีอย่างนี้ได้ ...ถ้าเป็นภาษาหลวงตาก็ต้องเรียกว่าเศรษฐีธรรม ใช่มั้ย 

เพราะนั้นไม่ใช่ว่าไปเรียนวิชาการแขนงใดแขนงหนึ่งจนจบปริญญาเอก แล้วก็ได้งานดีๆ ถึงจะรวย...ไม่ใช่ ...อันนี้เป็นวิชาที่เรียนทางพุทธศาสนา หรือวิชาของธรรมะ

ก็คือวิชาศีลสมาธิปัญญานั้นเรียกว่าวิชชา  เข้าใจคำว่า วิชชา ๓ มั้ย นี่ วิชชาจรณะ สัมปันโน วิชชาคือ ความรู้ ...ทำยังไงถึงจะทำให้เกิดวิชชานี้ขึ้นมา ก็คือศีลสมาธิปัญญา...มันเกิดวิชชา

เมื่อมันมีวิชชา มันมีความรู้ มันก็หาทรัพย์ภายในขึ้นมาเองได้ ...ศีลสมาธิปัญญานั่นแหละคือทรัพย์ และก็รู้ด้วยว่า...ทำยังไงถึงจะเรียกว่าไม่อับไม่จน หาได้ในทุกที่ ทุกสถาน ทุกกาล และทุกเมื่อ

ทั้งหลายทั้งปวงนี่คือที่ตั้งแห่งธรรม  ทั้งหลายทั้งปวงนี่คือที่ตั้งของทรัพย์ ...มันจะไปอดจนยังไง มันจะไปอับจนปัญญา อับจนศีล อับจนสมาธิยังไง...พอถึงขั้นนั้นน่ะ

มันล้วนแล้วแต่ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งทรัพย์ทั้งสิ้น ล้วนแล้วแต่เป็นที่ตั้งแห่งศีลสมาธิปัญญาทั้งสิ้น ...นี่เข้าถึงมหาสติ มหาสมาธิ มหาปัญญา ทุกอย่างนี่ใช่หมดเลย เป็นของร่ำรวยในธรรมทั้งสิ้นเลย

แต่ถ้ายังไม่ถึงวิชชา หรือยังไม่ได้เรียนจนแตกแขนง จนแตกฉานในวิชชา ...ด้วยจิตที่ต่ำและทราม ยังหยาบ มันจะเกิดการคัด แบ่งสรรธรรม...นี่ใช่-นี่ไม่ใช่  นี่ดี-นี่ไม่ดี

แล้วมันหาธรรมที่มันว่าใช่ ว่าดี ไม่ค่อยเจอ  นานๆ จะเจอสักที แล้วก็หายไป แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาค้นหาใหม่ เลือกธรรม เฟ้นธรรมกันไปมา

แต่ถ้าได้วิชชา แตกฉานในวิชชาแล้ว ท่านจะไม่เลือก ท่านจะไม่เฟ้นธรรม ...ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นที่สร้างขุมทรัพย์ 

เป็นที่เกิด บ่อเกิดแห่งขุมทรัพย์  เป็นที่บ่อเกิดแห่งความรู้เห็นในธรรม เป็นบ่อเกิดแห่งศีลสมาธิปัญญา ...ทุกอย่างเลย ไม่มีเว้นเลย

เพราะนั้น แม้แต่นั่งเฉยๆ อยู่เฉยๆ ทรัพย์ก็เกิดขึ้นเอาๆๆ ...ตามี หูมี จมูกมี กายมี ขันธ์มี ทุกอย่างนี่เป็นที่ตั้งของทรัพย์หมดเลย ...ไม่ใช่เป็นที่ตั้งของทุกข์แล้ว

ยิ่งอยู่นาน ทรัพย์ก็มากขึ้นๆ ...เวลาตายก็ทิ้งไว้ ตกค้างไว้ในโลก เอาไว้เจือจานแจกจ่าย  ใครดีใครได้ ใครเข้าถึงก็หยิบจับใช้สอยได้ไป เป็นของดีสำหรับจิตนั้นๆ ไป

เพราะนั้นการฟังธรรม ก็เพื่อมาเรียนวิชาการภายใน วิชาศีลสมาธิปัญญา เพื่อให้แจ้งในวิชชาทั้ง ๓

เพราะนั้นในวิชชาทั้ง ๓ นี่ วิชชาที่สำคัญที่สุดคือ อาสวักขยญาณ เพื่อเข้าไปเห็นกิเลสตัวสุดท้าย ...ญาณที่เข้าไปเห็นกิเลสตัวสุดท้าย ท่านเรียกว่า ขยญาณ ...ไม่ใช่ขยะ ...ขยญาณ

เพราะนั้นตัวที่เข้าไปถึงกิเลสตัวสุดท้ายท่านเรียกว่า อาสวักขยญาณ เพื่อเข้าไปเห็น "ขย" ตัวสุดท้ายที่มันห่อหุ้มใจ ถ้าอาสวักขยญาณเกิด..ขยก็ดับ ขย...อาสวะตัวสุดท้ายมันก็ดับ การดับไปด้วยอำนาจของปัญญา ท่านเรียกว่าขยญาณ

ในญาณมันมีหลายอย่าง ...ญาณที่เห็นความเกิดดับ ญาณที่เห็นนามรูป ญาณที่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ญาณที่จะเห็นความน่าเบื่อหน่าย ญาณที่เห็นแต่ทุกข์ ญาณที่เห็นแต่ความดับไป

ญาณที่เห็นแต่ความไม่แน่นอน ญาณที่เกิดการทบทวน ญาณที่เห็นแต่ความแจ้งความจริง ความสว่าง ในการไม่มีไม่เป็น...พวกนี้คือญาณ ...แต่ญาณสุดท้ายคือ ขยญาณ ...นี่ ก็ไล่ลำดับไป

อภิธรรมเขาก็สอนเรื่องญาณ ๑๖ แต่หน้าที่ของพวกเราไม่ต้องไปไล่หรอก ...ไล่ความรู้สึกในกายตัวเดียว ญาณมันรวมอยู่ที่นี่แหละ  ดูไปดูมาเดี๋ยวก็เบื่อ ดูไปดูมาเดี๋ยวก็ไม่เห็นมีอะไร มีแต่เกิดดับ

ดูไปดูมามันก็หาอารมณ์ไม่ได้ ว่างจากอารมณ์  ดูไปดูมา เอ๊ะ ความเป็นเราอยู่ตรงไหน ไม่เห็นมี  นั่น เห็นความดับไปของเรา  ดูไปดูมา ไม่มีอะไรสักอย่าง เป็นอนัตตา เห็นความดับไปของทุกสิ่ง

สลับไปสลับมาอยู่ในกาย ในกองกายนี่ แต่ว่ายังไม่ถึงขยญาณ ...แต่ว่าญาณเล็กน้อยก็เห็นหมด อยู่ที่กายนั่นแหละ ไม่ต้องไปไล่ดูที่อื่น ตามรู้ดูเห็นอยู่ในนี้ ภายในกองกายกองธาตุนี่แหละ

จะมาเห็นกายนี้เป็นทุกข์อย่างไร การเกิดขึ้นเป็นทุกข์อย่างไร การตั้งอยู่เป็นทุกข์อย่างไร ...ทุกการเกิดของกายคืออาการทุกข์ทั้งสิ้น

เมื่อมีการเกิดก็ย่อมมีการตั้งอยู่  เมื่อมีการตั้งอยู่...จะถือมันก็ตาม..ก็ทุกข์  จะไม่ถือมันก็ตาม...ก็เป็นทุกข์ ...จะครอบครองก็เป็นทุกข์ จะไม่ครอบครองก็เป็นทุกข์ 

เพราะมันมีความดับไป ไม่สามารถคงอยู่ได้เป็นธรรมดา ...การปรากฏขึ้นทุกอาการ ทุกลักษณะของกาย ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น ไม่มีสุขปรากฏขึ้นเลย

ดูไปเหอะแล้วมันจะเห็นเอง มันจะเป็นญาณที่รู้จักว่าสุข-ทุกข์ที่แท้จริงคืออะไร ก็จะเห็นทุกขสัจตามความเป็นจริง ก็จะเห็นว่าทั้งหลายทั้งปวงในกายนี้มีแต่ทุกข์ หาสุข..ไม่เจอ ไม่ได้ ไม่มี

ไอ้สุขๆ ...สุขๆ ที่มันว่ากันไป  มันเป็นสุขแบบฉาบฉวย หรือว่าสุขปลอมๆ


(ต่อแทร็ก 13/26)