วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 13/34 (1)


พระอาจารย์
13/34 (570405E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
5 เมษายน 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  โยมรู้สึกว่าภาวนาในเมือง มันยาก ตรงที่มันจะมีอะไรให้รู้สึกว้อบแว้บตลอด

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  ถ้าไม่มีฐานรู้ไว้ที่กาย มันก็จะออกไป แล้วมันก็จะเกิดนิวรณ์ อย่างที่พระอาจารย์บอก

พระอาจารย์ –  ยากก็ต้องทำ ง่ายก็ต้องทำ รู้ตัวให้ได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะอยู่ในเหตุการณ์ไหน นิดหนึ่งก็เอา หน่อยหนึ่งก็เอา ...คือไม่ได้หวังผลเลิศว่าจะต้องรู้ตลอดในขณะที่กำลังโกรธแบบถึงขีดสุด

เข้าใจมั้ย คืออย่างน้อยให้กระหวัด...ท่ามกลางมรสุมอารมณ์ กิเลสนั้นๆ อย่างน้อยให้มาลงฐานกายตรงนั้น...ให้เกิดขึ้นให้ได้ ...นิดหนึ่งก็เอา หน่อยหนึ่งก็เอา


โยม –  โยมรู้สึกว่าทำตามที่พระอาจารย์บอก คือโกรธอยู่ก็ทิ้งมัน แล้วมาดูกาย สักครู่มันจะหายไปเร็วขึ้น

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ นั่นแหละคือฐานกาย คือฐานรู้ตัวนั่นแหละเป็นหลัก แล้วถ้าจับอยู่ได้ตลอด...เอาเลย ทรง...ทรงความรู้ตัวนั้นให้ได้

ท่ามกลางอารมณ์ ท่ามกลางสิ่งที่ทนได้ยาก เข้าใจมั้ย ...แค่กลับมารู้ตัว กลับมาอยู่กับกายในอารมณ์ที่มันกำลังทับถมนี่ ก็เรียกว่ายากแล้วนะ

แต่ถ้ากลับมาได้ สามารถต้านสภาวะ สามารถหยั่งถึงสภาวะศีล สภาวะกายในขณะนั้น แล้วยังสามารถทรงได้โดยตลอด นี่เรียกว่าเก่ง ...ไม่มีเฮงนะ ไม่มีทั้งเก่งและเฮงนะ มีแต่ฝึกกับฝึก

แรกๆ เลยสำหรับคนที่ไม่เคยฝึกเลยนี่ กว่าจะรู้ตัวได้ก็ต่อเมื่ออารมณ์นั้นได้จางไปแล้ว หรือได้ทำได้พูดอะไรที่ดีที่ร้ายออกไปแล้ว...อาจจะหลายชั่วโมง หรือเป็นวัน แล้วก็นึกกระหวัดถึง..เอ๊อะ ลืมว่าน่าจะรู้ตัวตรงนั้นให้ได้


โยม –  แต่แรกๆ มันจะไม่เห็นว่า มันจะต้องสู้กับแรงต้านที่เราไม่อยาก แล้วทำให้มากดอยู่ที่กาย แต่กว่ามันถึงจะทัน แล้วกลายเป็นรู้ กลับมารู้กายได้

พระอาจารย์ –  ฮื่อ แรกๆ นี่เขาเรียกว่าอะไร กิเลสพัดพา อารมณ์มันพัดพา มันมีกระแส เป็นกระแสไหล ส่งออกอย่างรุนแรง


โยม –  แล้วพอจะกลับ มันก็จะต้องใช้แรง

พระอาจารย์ –  เออ ทวนกลับ เหนื่อยนะ จะเหนื่อย แรกๆ จะเหนื่อย ...แต่พอมันทำไปเรื่อยๆ บ่อยๆ แล้ว คราวนี้มันมีกำลังภายในตัวของมันเอง

ถ้าระลึกขึ้นปุ๊บ..อยู่เลย  ระลึกขึ้นปุ๊บ กายปรากฏแล้ว ...พอกายปรากฏแล้ว ตอนนี้ ยื้อกันหน่อยล่ะ ต้องยื้อกันหน่อยแล้ว ...คล้ายๆ ต้องยื้อกันหน่อย

ซึ่งความคิดหนึ่งของเราน่ะ มันก็ว่า..เอาเหอะ ปล่อยมันเหอะ ช่างมันเหอะ เลยตามเลย ไม่ต้องยื้อ นี่ มันจะมีตัวนี้...ก็ไม่ต้องสนใจ อย่าไปฟังมัน ...ยื้อไว้

มันจะเสียหน้าเสียตา เสียเปรียบ เสียเหลี่ยม เสียรู้ความเป็นตัวเราของเรา...กับการกระทำคำพูดของไอ้นั่น อีนั่น กับเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ ...เสียไปเหอะ แลกกันนะ

นี่ แลก “เรา” กับ “รู้” ...แลก “เรา” กับการทวนอยู่อย่างนี้ ...สละตัวตนของเราออก นี่คือการสละตัวตนโดยตรงเลย ...ตัวตนของ "เรา" นะ เนี่ย แลกกัน

แลกกับการที่จะถูกเขาล่วงเกิน ถูกเสียงล่วงเกิน ถูกการกระทำของบุคคลหรือเหตุการณ์ในโลกล่วงเกิน ถูกสิ่งที่ไม่ได้ปรารถนาล่วงเกิน ถูกสิ่งที่ไม่คาดฝันล่วงเกิน “เรา” ...แลกกัน

เมื่อมันล่วงเกินความเป็น “เรา” บ่อยๆ ...แล้วเราสละความเป็น “เรา” ความทรงไว้ซึ่งความถือตัว ถือความเป็นส่วนตัวส่วนเราไป ...ความเป็นเรา ความเห็นเป็นเรา ก็จะค่อยๆ ถูกลิดรอนไป นี่สำหรับภายนอกนะ

แล้วถ้ามันไม่ได้อยู่ในอารมณ์ หรือว่าไม่ได้อยู่ในมรสุมอารมณ์ หรือว่ามรสุมที่เป็นเหตุให้เกิดกิเลส ...การที่มันหยุดอยู่กับกายโดยอาจิณ หรือโดยนิจสิน หรือโดยปกติวิสัย หรือด้วยความสมดุลนี่

ตรงนี้เป็นเวลาที่มันกำลังทำความรู้เจาะลึกลงไปในกาย เข้าใจมั้ย ...เพื่อทำลายต้นตอของสักกาย คือความเห็นผิดว่า...ไอ้ความรู้สึกนี้หรือเป็นเรา ไอ้แข็งๆ หรืออ่อนๆ หยุ่นๆ นี่หรือเรา 

มันเป็นเราตรงไหนวะ ...มันเป็นหญิง มันเป็นชาย มันเป็นสวย มันเป็นงาม มันเป็นไม่สวยไม่งาม มันเป็นชื่อเสียงมีตระกูลตรงไหนวะ มันมีสถานะในสังคมตรงไหนวะ

มันมีสถานะสูงต่ำดำขาว ในความรู้สึกที่แน่นแข็งนี่ตรงไหนหือ ...นี่ เจาะ สำเหนียกลงในระหว่างที่ไม่ได้ไปข้องแวะกับอารมณ์ หรือต้องไปทวนกับอารมณ์ภายนอก

แต่เวลาเราทำงานนี่ เราจะมาเจาะจงอย่างนี้ไม่ได้ ไม่มีทางเลย ...แค่เอาล่อเอาเถิดกับรู้กับไม่รู้ กับอารมณ์นี่ ก็จะตายอยู่แล้ว ...เพราะมันมีเรื่องมาแบบเปลี่ยนไม่ซ้ำหน้า เข้าใจมั้ย มันจะทำให้ก่อเกิดอารมณ์ 

หรือถึงไม่มีเรื่อง...ก็เผลอเพลิน ลอย หาย ลืม หรือสนุกไปกับสิ่งที่ชอบ สิ่งที่คุ้น ...ซึ่งสมัยนี้ ในโลกนี่มีสิ่งที่ชอบสิ่งที่คุ้นเยอะ มีโลกส่วนตัวเยอะ ...แค่มีโทรศัพท์มือถืออันนึงนี่ กูมีโลกส่วนตัวแล้ว 

มันหาความรู้หาความเพลิดเพลินได้แบบลืมวันลืมเวลาเลย เห็นมั้ย มันหมดเวลาไปกับสิ่งเหล่านี้นี่อย่าว่าแต่บทเรียนนี่ยังไม่ได้เปิดบทนำเลย ...มันยังไม่ได้เปิดตำราด้วยซ้ำ

พอมาเริ่มเปิดตำรา ก็มาเจอบทนำอีก เอ้า กว่าจะข้ามลวกๆๆๆ บทนำ...ช่างหัวมันเถอะ ไม่ต้องอ่าน  แล้วมาลงว่า...บทที่ ๑ กายนี้ไม่ใช่เรา กายนี้ไม่ใช่ของเรา ...เออ นี่บทที่ ๑

แล้วทำยังไงถึงจะเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่เรา กายนี้ไม่ได้เป็นเรา...ก็ต้องมาเห็นกายนี้ตามความเป็นจริง ...แล้วกายตามความเป็นจริงมันอยู่ที่ไหน...มันก็อยู่ที่ปัจจุบัน

แล้วปัจจุบันตามความเป็นจริงคืออะไร ...คือปัจจุบันที่มันกำลังแสดงแบบตรงไปตรงมา นี่ คืออย่างที่มันกำลังแสดงอยู่เดี๋ยวนี้ แบบตรงไปตรงมา นี่แหละ

มันอบอ้าว ใช่มั้ย รู้สึกมั้ย เนี่ย มันแสดงอยู่แล้ว ตึง แน่น หนัก เป็นก้อนกองเขละอยู่อย่างนี้  ความรู้สึกเป็นกองๆ กองอยู่ตรงนี้ หนักๆ นี่ ...พวกนี้คือกายที่เขาแสดงจริงๆ เท่านี้

การที่มาเห็นกายเท่าที่เขาแสดงจริงๆ เท่านี้ จึงเรียกว่าเป็นการสำเหนียกกายตามความเป็นจริง ...ซึ่งแรกๆ มันจะทำเป็นหูหนวกตาบอด แกล้งทำเป็นไม่สนใจ แกล้งทำเป็นว่าไม่เชื่อ ...อย่าไปฟังมัน

หรือมันจะไปหากายคนอื่น หรือเอากายคนอื่นมาทดแทน หรือเอากายที่มันอยู่ในความคิด หรือกายอยู่ในอดีตอนาคตมาทดแทน ...นั่นแหละคือกายปรุงแต่ง นั่นแหละคือกายสังขาร

นั่นแหละคือกายที่เกิดมาจากจิตสร้างขึ้นมาใหม่...ไม่เอา ...เอาแต่กายที่มันแสดงนี่ อ้าวๆ นี่ ไม่มีอะไรหรอก ไม่มีความจริงอะไรยิ่งกว่าอ้าว แค่นี้ รู้แค่นี้พอแล้ว

นี่เขาเรียกว่าจรดไว้ จ่อไว้ ...แล้วในความอบความอ้าว ความแข็งนี่ มันเป็นเราตรงไหน หือ ...ชื่อมันยังไม่มีเลย มันมีเครื่องเพศไหมว่าเป็นชายเป็นหญิงหือ อ้าวนี่ 

แล้วมันหาความสวยความงามอะไรได้มั้ยในอ้าวนี่ หือ แข็งนี่ ตึงนี่...หาความสวยได้มั้ย ...นี่ ดู วนดู เวียนดู ซ้ำดู ซ้ำซากอย่างนี้ ...นี่ เขาเรียกว่าจรดไว้ที่กาย

ระหว่างตรงนี้มันก็จะเป็นการที่ว่าสร้างภูมิปัญญาทีละเล็กทีละน้อย ให้ยอมรับสภาพกายตามความเป็นจริง ว่ามันเป็นอย่างนี้ มันเป็นแค่นี้จริงๆ นะ ...ไอ้นอกจากนี้ไปน่ะไม่ใช่

ตรงนี้ต่างหากที่มันจะละเลิกเพิกถอน จางคลายจากสักกายทิฏฐิ หรือความยึดมั่นถือมั่น ความเห็นผิดว่ากายนี้เป็นตัวเราของเรา 

แต่ว่าถ้าเวลาเราไปข้องแวะปฏิสัมพันธ์ ไปเรียนหนังสือหรือไปทำงาน มันจะต้องมีการปฏิสัมพันธ์ภายนอก ซึ่งมันเป็นวิถีบังคับด้วยอำนาจของกรรม...เลี่ยงไม่ได้

เพราะนั้นในระหว่างนี้ มันจะมาทำงานละเอียด อย่างที่มานั่งจ่อดูที่กายที่เดียวโดยที่ไม่เคลื่อนไปที่อื่นเลย..ไม่ได้ ...มันก็ต้องอยู่ในลักษณะที่เอาล่อเอาเถิดกับกิเลส

คือก็ต้องคอยน้อมคอยดึง คอยน้อมคอยยันไว้ คอยไม่ให้มันออกไปมาก ออกไปไกล ลืมไปนาน ...ให้มันอยู่ในฐานกรอบกาย ฐานปัจจุบันกายไว้

แค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว...ผ่านมาหนึ่งวัน ผ่านมาได้แต่ละวันนี่ เหมือนกับเข้าสมรภูมิรบน่ะ เหนื่อย ...บางทีก็เลือดโทรมเต็มกายเลย คือหลุดมากกว่ารู้ แล้วเอาไม่อยู่จริงๆ

ก็สำนึกเสียใจบ้าง ท้อแท้บ้าง สำนึกว่าไม่ไหวบ้าง แล้วก็...ช่างหัวมัน ...พอมาอยู่ในที่ที่ว่าห่างจากกิเลสภายนอก ห่างจากบุคคล ห่างจากคนที่รักคนที่ชัง ห่างจากคนที่ห่วงหาอาวรณ์แล้วนี่

เวลานี้ถือเป็นส่วนตัวแล้ว เป็นเวลาอันควร...ทีนี้รีบเร่ง สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างภูมิปัญญาขึ้นในระหว่างนี้


(ต่อแทร็ก 13/34  ช่วง 2)


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น