วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 13/35


พระอาจารย์
13/35 (570405F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
5 เมษายน 2557


โยม –  พระอาจารย์คะ ถ้าเกิดมันมีสภาวธรรมเกิดขึ้นอย่างนี้ค่ะ แล้วมันเหมือนกับ มันจะมีความคิดที่เราคุยกับตัวเองน่ะ ว่าเออ ดูมันๆ ว่ามันเป็นยังไง อย่างนี้ค่ะ แล้วมันก็รู้นะว่า เดี๋ยวมันก็ดับไปอย่างนี้ค่ะ แต่ไอ้การที่เราบอกว่า ดูมันๆ เองอย่างนี้ มันใช่ความคิดของเรามั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  เราต้องออกจากความคิดตรงนี้มั้ย

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องออก


โยม –  แล้วเราต้องทำยังไงคะ

พระอาจารย์ –  เฉยๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับมัน


โยม –  อ๋อ ก็คือไม่ต้องต่อกับมัน

พระอาจารย์ –  อย่าไปฟังมันมาก แล้วก็อย่าไปใช้มันมาก


โยม –  ก็แค่ดูว่าอะไรมันเกิดขึ้น

พระอาจารย์ –  เออ อยากมีก็มี เราเรียกว่าไอ้ห้อยไอ้โหน


โยม –  อ๋อ ค่ะ หนูเคยงงกับมัน

พระอาจารย์ –  คือมันเป็นโดยสันดาน มนุษย์นี่ โดยสันดานนี่ มันจะต้องเอาอะไรมารองรับ มันจะต้องเอาภาษานี่มารองรับ มันจะต้องเอาคำพูดมาเป็นตัวชี้นำเสียก่อน ไม่งั้นมันไม่ทำ ไม่งั้นมันไม่เชื่อ

นี่ ติดโดยอนุสัยสันดาน มันจึงคอยมาพากย์ประกอบ ....ซาวด์แทร็ก เข้าใจคำว่าซาวด์แทร็กประกอบมั้ย ...แต่เสียงในฟิล์มจริงๆ น่ะไม่มีเสียง  รู้จักหนังเงียบมั้ย จริงๆ น่ะ มันเป็นหนังเงียบ 

ขันธ์ห้านี่ หรือความรู้จริงๆ ความเห็นจริงๆ นี่ คือนั่งดูหนังเงียบ ไม่มีบทพากย์ ไม่มีคำพากย์ ...แต่ทำไมมันถึงพากย์รู้ไหม เพราะกลัวดูหนังไม่รู้เรื่อง แค่นั้นเอง เข้าใจมั้ย  

มันต้องการดูหนังให้รู้เรื่องน่ะ ..เพราะนั้นถ้าไม่มีบทพากย์ ไม่มีภาษา  มันจะดูหนังแล้วมันออกจากโรงด้วยความรู้สึกว่า...มันเล่นอะไรของมันวะเนี่ย ไม่รู้เรื่องเลย

นั่นแหละ คือเนื้อหนังที่แท้จริง เนื้อขันธ์ที่แท้จริง คือมันไม่มีเรื่องราวอะไรสักอย่าง ...แต่ว่าเราไม่สามารถยอมรับได้ แล้วก็ว่า...กูจะมาเสียเงินดูหนังทำไม ถ้ากูดูแล้วไม่รู้เรื่อง ...นี่คือปัญหา 


โยม –  อ๋อ

พระอาจารย์ –  นี่คือสันดาน คือมันจะต้องดูแล้ว...มันต้องการอรรถรส ใช่มั้ย ...การปฏิบัติธรรมของพวกเราก็เหมือนกัน ต้องการอรรถรส ...นั่นแหละ มันจึงต้องมีเรื่องราวอะไรขึ้นมา

เพราะนั้นมันจะไม่มีเรื่องราวได้เลย ถ้าไม่มีภาษา...ในธรรม ...ตอนนี้ก็เป็นภาษาธรรม ไม่ใช่ภาษาโลกแล้วนะ ...มันก็ได้อรรถรสในธรรมใช่มั้ย มันต้องการอรรถรสนั้น แค่นั้นเอง

เดี๋ยวพอเราเข้าใจแง่มุมนี้ของมัน นี่คือจิตในแง่มุมหนึ่งนะ ...อ้อ ก็แค่นั้น เฉยๆ อยากพากย์อยากพ่นอะไรก็ว่าไป ฟังไปงั้นๆ น่ะ ...ก็มีเรา เหมือนกับมีเราอีกตัวหนึ่งที่ยินดีพอใจที่จะดูหนังเงียบ


โยม –  ค่ะ มันเหมือนมีสองคน

พระอาจารย์ –  เออ มันกำลังตีกัน มันตีกันเอง  แล้วไอ้ตัวอันธพาลนี่ใหญ่กว่านะ ...ไอ้ตัวที่เงียบๆ มันหงอยๆ หงิมๆ ก็พอกพูนเข้าไว้ให้มันตัวใหญ่ขึ้น ...เดี๋ยวไอ้ห้อยไอ้โหน ไอ้ตัวอันธพาลมันก็ค่อยๆ ละลาย

มันจะละลายพฤติกรรมของมันไปเอง ศีลสมาธิปัญญามันจะไปละลายพฤติกรรม ที่มันคุ้นเคย เคยกระทำมาแต่เก่าก่อน แต่อดีต เนิ่นนานกาเล นับภพนับชาติไม่ถ้วน

นี่ ท่านเรียกว่าอนุสัยที่มันหมักหมมอยู่ในขันธสันดาน ...มันไม่ได้หายกันง่ายๆ

แต่เมื่อไหร่ที่เราพอกพูน หรือว่าจดจ่อ หรือว่าจงใจที่จะรู้แบบเงียบๆ แบบโง่ๆ แบบไม่มีเรื่องมีราว ไม่เอาเรื่องเอาราวนี่ ...ตรงนี้มันจึงจะค่อยๆ หมดกำลัง อนุสัยนี่มันจะหมดกำลัง

ความคุ้นเคยที่เห็นอะไรได้ยินอะไร มันจะต้องเอาภาษาไปรองรับ มันจะต้องเอาความเห็นไปรองรับ มันจะต้องเอาถูก-ผิดไปรองรับ มันจะต้องเอาจริง-ไม่จริงไปรองรับ ...นี่คือสันดานเลย..ทุกคนจะมี

แล้วถ้าจริง..สุข  ถ้าไม่จริง..ทุกข์ ...เห็นมั้ย ทั้งหมดนี่ ใครที่เป็นผู้สร้างที่จะเข้าไปรองรับ แล้วเอาอะไรไปรองรับล่ะ ...ก็ “เรา” ...ก็คือจิตเรามันทำงาน

เอ้า แล้วมันมีจิตเราได้ยังไง มันมาจากไหน ...ก็บอกแล้วไง...มันมาจาก “กายเรา” เป็นรากเหง้าของมัน

เพราะนั้นเมื่อใดที่สต๊าฟจิตไว้ หรือว่าควบคุมสำรวมจิตไว้ ด้วยอำนาจของสมาธิ นี่เขาเรียกว่าสำรวมจิต ...มันก็ไม่สามารถจะเพ่นพ่านแผ่พังพานออกไปได้ไกล ออกไปได้นาน

ตรงนี้จึงจะเป็นเหตุที่จะละความเป็นเรา โดยที่มาเห็นความเป็นจริงในกาย ทีละเล็กทีละน้อย ทีละส่วนๆ ทีละลักษณะอาการของกายไป เป็นขณะๆ ไป ...มันก็จะสะสมปัญญาขึ้นมาเป็นขณะๆ ไป 

นี่เรียกว่าเป็นขณิกปัญญา เป็นขณิกสมาธิ ...แต่ถ้ามันสามารถอยู่กับเนื้อกับตัวได้ด้วยความต่อเนื่องเลยนี่ ...ก็เรียกว่ามันก็สะสมปัญญาเป็นกอบเป็นกำ สมาธิก็เป็นกอบเป็นกำ ผลก็เป็นกอบเป็นกำ

เห็นมั้ย ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันอยู่อย่างนี้เลยนะ  ...ไม่ใช่โชคมี วาสนามา ได้มาแบบฟลุ้คๆ บังเอิญ เกิดการละการวางได้แบบ "เฮ้ย อยู่ดีๆ กูก็หลุดไปเลยว่ะ" ...ไม่มีนะ 

ทุกอย่างต้องตอบตัวเองได้นะ มันต้องตอบตัวเองได้ ทุกอย่างมันมีตามขั้นตอน มีตามเหตุและปัจจัย ประกอบเหตุอย่างไร...ผลอย่างนั้น ไม่ประกอบเหตุอย่างไร...ผลไม่อย่างนั้น

ประกอบเหตุในมรรค...ผลอย่างไร ประกอบเหตุในโลก...ผลอย่างไร ประกอบเหตุตามกิเลส มันจะต้องมีผลแตกต่างกันอย่างนั้น ...มันต้องชัดเจนมากเลย

เรียกว่าไม่สงสัยในธรรมที่ตัวเองได้ ธรรมที่ตัวเองเห็น และธรรมที่ตัวเองละ ...ไม่ใช่พอให้มาตอบนี่ เฮ้ย นั่งอยู่มันวาบ...กูหลุดพ้นแล้ว แล้วไปถามอาจารย์ อาจารย์ว่าใช่

ถ้าอย่างนั้นเรานี่ อาตมาหรือตัวกูนี่ สำเร็จไปไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ไอ้สำเร็จแบบเนี้ยนะ...แล้วสักพักหนึ่ง เฮ้ย ไม่ใช่แล้วโว้ยกู มีกูนี่ อารมณ์เกิดแล้ว ...เนี่ย มันตอบไม่ได้

ประเภทมาแบบฟลุ้ค แบบบังเอิญนี่ อย่าไปเชื่อมัน จิตมันหลอก ไม่มีที่มาที่ไป อยู่ดีๆ ก็ผุดขึ้นมาธรรมนี่ ..."แหม่ วาสนาดีจริงๆ กูนี่ ท่าจะบำเพ็ญมาเยอะในสมัยอดีต" มันว่า มันรับสมอ้างเลยนะ

ก็วางซะ ...วิธีวางก็คือ อย่าไปแยแส แล้วกลับมาจรดลงไว้ที่กาย นี่คือฐานเลย ...ลงฐานนี้รับรองไม่โกหก กายคือความเป็นจริง กายคือธรรมที่แสดงอยู่อย่างเป็นปัจจุบันทุกปัจจุบันและชัดเจน ไม่โกหก

จิตนี่ขี้จุ๊ สภาวะจิตนี่ขี้หลอกขี้ลวง มั่ว จับแพะชนแกะ มาแบบไม่มีต้นสายปลายเหตุ มาแบบไม่น่าเชื่อ มาแบบไม่คาดฝัน ...เนี่ย จิตหมด


โยม –  อย่างถ้าเกิดเป็นสภาวะที่มันหลอกอย่างนี้  ถ้าเกิดเราไปคิดต่อ ถ้าเกิดเราไปเชื่อคำพูด มันก็ต่อไปค่ะ  อย่างแม่ชีเคยบอกว่า ถ้ากลับมารู้สึกกายปุ๊บนี่ อย่าไปเสียดายตรงนั้น แล้วเราก็จะรู้กายไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดอะไรก็ทิ้งๆ แค่รู้ ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  อือ ...เล่นคอมเป็นใช่มั้ย นั่นแหละ อย่าไปดับเบิ้ลคลิกมัน


โยม –  ก็คือถ้ามีอะไรก็กลับมา

พระอาจารย์ –  คลิกเดียวก็ตายแล้ว


โยม –  หนูเคยต่อค่ะ ไปลองเล่น แล้วมันก็ยาว

พระอาจารย์ –  อือ รับรองซับโฟลเดอร์นี่ยาวเลย...ถ้าดับเบิ้ลคลิกๆ น่ะ โอ้โห โลกนี้สวยหรู โลกนี้มีอะไรที่น่ารู้อีกเยอะ ธรรมนี้มีอะไรมากมายมหาศาล

นั่นแหละดับเบิ้ลคลิกเข้าไป ซับโฟลเดอร์ในซับโฟลเดอร์ในซับโฟลเดอร์...ก็จะมาแบบ น่าตื่นตาตื่นใจเลย


โยม –  ทางออกก็คือกลับมารู้กาย

พระอาจารย์ –  ละซะ วางซะ สลัดทิ้ง...จาโค เข้าใจคำว่าจาโคมั้ย สละออก ...ไปอ่านดู ไปอ่านดูในธัมมจักกัปปวัตตนะสูตร ไปอ่านดูในกิจที่พึงกระทำต่อสมุทัยในอริยสัจ ๔

กิจที่พึงกระทำต่อสมุทัย ข้อแรกข้อต้นเลยคือ จาโค ...แค่ข้อแรกนี่ก็จะตายแล้ว การละในระดับหยาบที่สุดท่านเรียกว่า จาโค...สละ ...ในขั้นต่อไป ปฏินิสสัคโค...ปล่อยวาง

มุตติ...รู้ตรงไหน เห็นตรงไหน ดับตรงนั้น ...นี่เรียกว่ามุตตินะ ปัญญาขั้นสูงแล้วนะถึงจะเข้าสู่ความเป็นมุตติได้ ...รู้นะว่าคิด รู้นะว่ามีอารมณ์ ไม่ดับนะ ยังอยู่นะ ยังตกค้างอยู่ตรงนั้น

มุตติแล้วยังมีอยู่ในสัญญา มุตติแล้วยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ ยังไม่มุตติ ยังไม่สิ้นสุดจริง ...ที่สุดจริงคือ อนาลโย...ไม่หวนคืน หมายความว่าการดับครั้งนั้นน่ะ เรียกว่าดับแบบเบ็ดเสร็จ

มันดับหมด ทั้งปัจจุบัน ทั้งสัญญาอดีต ทั้งอนาคตสังขาร ดับรวดๆๆ ...ตรงเนี้ย ที่เรียกว่านิโรธ ที่สุดของนิโรธ จะดับในลักษณะที่...ดับตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน อนาคต

เพราะนั้นในนิโรธในขั้นต้นนี่...ก็ได้นิโรธแค่จาโค แค่สละ แค่ละ แค่ไม่ไปแยแส ...แต่ทุกข์ยังมีอยู่นะ เพียงแต่ทุกข์ไม่มากขึ้นน่ะ ...นี่ ตามขั้นตอนเลยนะ

เพราะนั้นถ้าศึกษาสำเหนียกดูในอริยมรรค ในอริยสัจ ๔ แล้วจะเข้าใจว่า...มันผิดมาตั้งแต่ปฏิบัติเลยน่ะ ทุกข์ กิจที่พึงกระทำต่อทุกข์..กูก็จะละ กูก็จะดับทุกข์นี่แหละ ไม่ยอมให้ทุกข์เกิดเลย ..นี่ก็ผิดแล้ว

ทั้งๆ ที่ทุกข์นี่ ท่านบอกว่า..พึงกำหนดรู้  สมุทัย...อย่างที่บอก จาโค ปฏินิสสัคโค มุตติ อนาลโย  ท่านบอกให้ละให้วางให้ดับ ไม่ต้องไปข้องแวะหรือไปต่อเติมกับมัน

นักปฏิบัติมันก็ไปเจริญสมุทัยอย่างยิ่ง...เมื่อไหร่กูจะสงบ เมื่อไหร่กูจะเห็นธรรม เมื่อไหร่กูจะได้ อยาก พิจารณา หยิบยกมาพิจารณากันแบบหัวไม่วางหางไม่เว้น ...แล้วมันยังนึกว่านี่คือมรรค

แต่มันเป็นความอยากได้ อยากเห็น อยากรู้ในธรรม เข้าใจมั้ย มันเป็นสมุทัย ...แต่มันเอาชื่อว่าธรรม มาทับ มาอ้าง มันก็หลิ่วตาแล้วก็บอกว่านี่คือมรรค ...นี่โดนจิตหลอกแล้ว เห็นมั้ย มันเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวไปหมด

มรรค...ท่านบอกว่าให้เจริญ ...ไอ้ตัวมรรคที่ต้องเจริญคือสติ ศีล สมาธิ ปัญญา  ตัวนี้ต้องเจริญมากๆ ...ศีลคืออะไร คือกาย กายคือทุกข์ ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือสิ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ขันธ์

เนี่ย คือสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สิ่งที่ต้องเจริญมากๆ ด้วยสติ ...ถ้าทำอย่างนี้เรียกว่ามรรค เจริญมรรค ไม่ใช่เจริญสมุทัย เพราะอาศัยการเจริญมรรค มันจึงเกิดการเรียนรู้ทุกข์ ด้วยการกำหนดรู้

แล้วทุกข์ตัวนี้คือทุกข์ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกข์อุปาทาน ...ถ้าทุกข์อุปาทานนั่นต้องไปอยู่ในสมุทัย แต่ถ้าทุกข์ในขันธ์นี่ จะอยู่ในกาย...ที่ว่าทุกข์พึงกำหนดรู้ เพราะนั้นทุกข์ตัวนี้จึงเรียกว่าเป็นทุกขสัจ

ถ้าดูแล้วอยู่กับทุกขสัจนี้โดยไม่คลาดเคลื่อนไม่เปลี่ยนแปลงเลย ทุกขสัจนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ ...ส่วนนิโรธนั่นก็เป็นผลจากการที่ละสมุทัย ...ซึ่งไม่ได้สุขเป็นผลตอบแทน

นิโรธนี่ไม่ได้สุขเป็นผลตอบแทนนะ ...แต่มีความดับไปเป็นธรรมดา ทรงอยู่ด้วยสภาวะสังขารุเบกขาญาณ คือเรียบง่ายเป็นกลาง ธรรมดา เฉยๆ ...นั่นแหละ นิโรธ

ไม่ใช่สุข ...เพราะนั้นภาวนาแล้วจะไม่ได้สุข ภาวนาในมรรคแล้วจะไม่เจอสุข ...เพราะไม่มีเราเป็นสุข เพราะไม่มีเราไปหาสุข เพราะไม่มีเราไปเกิดในสุข

มีแต่สังขารุเบกขา เฉยๆ ทื่อๆ กลางๆ ดูเหมือนไม่รู้เรื่องรู้ราว ดูเหมือนไม่มีอารมณ์ใดๆ ดูเหมือนไม่รู้ไม่เห็นอะไร ...เพราะมันไม่มีเราอยู่ในนั้น ก็ไม่มีเราผู้ทรงความรู้ความเห็นใดอยู่ในนั้น ในขันธ์ 

นั่นแหละนิโรธ ...แล้วก็เรียนรู้นิโรธไปเรื่อยๆ แล้วจึงจะเข้าใจว่า...อ้อ ที่เรียกว่าสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ...
คือที่ที่ไม่มีเราปรากฏนั่นเอง 

เพราะอะไร ...เพราะเมื่อใด ที่ไหน เวลาใด...ที่ไม่มีเรา  ที่นั้นไม่มีทั้งสุขและทุกข์ ไม่มีสุขที่เกิดๆ ดับๆ ไม่มีทุกข์ที่เกิดๆ ดับๆ อยู่ในนั้น ...นั่นแหละนิโรธที่แท้จริง

ถ้าเริ่มมีอารมณ์ขึ้นมา ให้รู้ไว้เลยว่า...อารมณ์มันอยู่ดีๆ มันขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้นะ ...มันจะต้องมีผู้สร้างและผู้เสวย นั่นแหละที่เรียกว่า ยินดีและยินร้าย

นั่นแหละที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ...เพราะธรรมชาติของปุถุจิตนี่ มันจะไพล่ไปอยู่ในสองอาการนี้...เพราะมันจะมีเราอยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้าเดินอยู่ท่ามกลางองค์มรรคนี่ ไอ้การที่ไพล่ไปในสองอย่างนี่ มันจะค่อยๆ ไม่เข้มข้น แล้วก็สั้นลง ...ไม่ใช่ไม่มีนะ...มี มีตลอดทางเลย แต่มันจะรู้สึกว่าเจือจางๆๆ เจือจางลงไป

จนถึงบางครั้ง อยู่ในจุดที่มันหยุดสนิท แล้วก็จะเห็นว่า...อ้อ ตรงนี้เอง ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา อยู่ท่ามกลางกายใจ ...ไม่ใช่อยู่ท่ามกลางเรา แต่มันอยู่ท่ามกลางกายใจ

ตรงนั้นน่ะมัน...อ้อ มรรคมีองค์แปดก็รวมลงที่นี่ ศีลสมาธิปัญญาก็รวมลงที่นี้ ปัจจุบันก็รวมอยู่ที่นี้ ขันธ์ทั้งห้าก็รวมอยู่ที่นี้ จนถึงที่สุด...อนันตาสรรพสิ่งก็รวมอยู่ที่นี้

แต่ตอนนี้พวกเรายังไม่เห็นหรอก ยังไม่ถึงหรอก แค่รวมกายรวมจิตก็เหนื่อยจะแย่แล้ว ...รวมขันธ์ห้าทั้งหมดมาอยู่ในที่เดียวคือมัชฌิมาปฏิปทานี่ก็...ในขั้นตอนต่อไป


(ต่อแทร็ก 13/36)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น