วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 13/28


พระอาจารย์
13/28 (570403B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
3 เมษายน 2557


พระอาจารย์ –  ในงานนี้ ท่านเรียกว่าเป็นงานในองค์มรรค ...คือมันเป็นงานที่ต้องทำกันเอาเอง เอาใครมาช่วยทำแทนกันไม่ได้ หรือไปขอร้องให้คนอื่นเขามาทำแทนก็ไม่ได้

มันเป็นงานจำเพาะ และก็ผลที่ได้ก็จะเป็นผลจำเพาะคนนั้น  จะไปแบ่งผลให้คนอื่นก็ไม่ได้ จะไปขอผลจากคนอื่นก็ไม่ได้ ...มันเป็นเรื่องของปัจจัตตังส่วนตัวของผู้ปฏิบัตินั้นๆ เอง

เพราะฉะนั้น ถ้าปล่อยให้อายุขัยชีวิตมันไหลเลื่อนเคลื่อนไปสู่ความตาย ...มันก็หมดไป เปล่าไป แบบไร้สาระ หมดประโยชน์...ในทางธรรม ในทางมรรค

แต่ถ้าไม่ปล่อยเวลา ทุกนาที ทุกขณะ ให้มันผ่านไปแบบไร้สติปัญญา ไร้ไตรสิกขา ไร้การดำเนินอยู่บนฐานของมรรค ฐานของกายใจแล้ว ...ภพและชาติ ทั้งภพและชาติในอนาคต มันก็จะหดสั้นลงไป 

การเกิดการตาย การตั้งภพการตั้งชาติรอด้วยอำนาจของจิต มันก็หดลงไป ...การเกิดการตายมันก็น้อยลง มันเริ่มน้อยลงตั้งแต่ปัจจุบันชาติ ปัจจุบันขันธ์ ปัจจุบันชีวิตที่มันดำรงอยู่นี่ 

จิตที่มันวนเวียนยืดยาว จิตที่มันไปแบบไม่มีหวนไม่มีกลับ มันก็จะหดสั้นลง ไปไม่ไกลจากกายนี้ ออกไปไม่ไกลเกินเอื้อมฝ่ามือนี้ ...นั่นก็คือเครื่องหมายแสดงว่า ภพและชาติในอนาคตน่ะมันน้อยลง

เพราะจิตมันไม่สามารถ ออกไปตั้งภพตั้งชาติรอ ตั้งอุปาทานขันธ์รอ ตั้งความมุ่งมั่นหมายมั่นรอ ตั้งสภาวธรรมขึ้นมารอ ตั้งสภาวะต่างๆ นานาขึ้นมารอ

จิตมันก็เกิดความสำรวม ระมัดระวัง อยู่ในฐาน...ในที่อันควร ...คือฐานกาย ฐานศีล ฐานสมาธิ ฐานใจรู้ใจเห็น ฐานดวงจิตผู้รู้ผู้เห็นอยู่ภายใน

นี่ ยังคงเหลือแค่ภพและชาติในปัจจุบัน ...ซึ่งภพและชาติในปัจจุบันนี่ คือที่ที่จะต้องเรียนรู้ทำความชัดเจน ทำความชัดแจ้ง ทำความรู้จริง ...ว่ามันเป็นใคร มันเป็นของใคร

ขันธ์นี้เป็นใคร  กายนี้เป็นใคร กายนี้เป็นของใคร  จิตนี้เป็นใคร จิตนี้เป็นของใคร  เวทนานี้เป็นใคร เวทนานี้เป็นของใคร  ธรรมารมณ์นี้เป็นใคร ธรรมารมณ์นี้เป็นของใคร

คือการเรียนรู้ที่ปัจจุบันภพปัจจุบันชาตินั่นเอง เรียกว่ามาทำความรู้แจ้งกับปัจจุบันธรรม ...ซึ่งปัจจุบันธรรมนี่ ทั้งหมดมันไม่เกินจากสติปัฏฐาน ๔ นี้หรอก

แต่ถ้ายังรวมจิตรวมกายเป็นหนึ่งในปัจจุบันไม่ได้ ...มันจะไม่เห็นสติปัฏฐานรวมลงในที่อันเดียวกัน ...มันก็สะเปะสะปะ วุ่นวี่วุ่นวาย สับสนอลหม่าน

มันก็เป็นธรรมนอก เป็นธรรมข้างหน้า เป็นธรรมข้างหลังกันไป ...ไร้จุดหมายปลายทาง ล่องลอยเคว้งคว้าง เหมือนอยู่ในอากาศ สุญญากาศ ไม่มีทิศ ไม่มีที่ ไม่มีแดน เคว้งคว้าง

เพราะว่าไม่ภาวนาอยู่บนฐานของศีลสมาธิปัญญา ไม่ภาวนาอยู่บนฐานของมรรค ...มันไปภาวนาแบบซำเหมา ร่อนเร่พเนจรไปกับอาการของจิต

ไปไล่จับ ไปไล่ค้น ไปไล่หากับอาการของจิต...ที่มันหลอก ที่มันล่อ ที่มันสร้างอะไรปรุงแต่งขึ้นมา แปลกๆ ใหม่ๆ ใต้ร่มเงาของ “เรา” อยู่ตลอดเวลา ...นี่ผู้ปฏิบัติก็เป็น "เราผู้ปฏิบัติ"

เพราะนั้นก็ทำจิตให้สั้น ทำจิตให้หยุด สำรวมจิตอยู่ในกาย สำรวมจิตอยู่ในปัจจุบัน ...ถ้าไม่รู้ว่าสำรวมจิตในปัจจุบันคืออะไร ก็ให้จิตมันมาหมุนวนอยู่ในกายปัจจุบัน 

นั่นน่ะ เขาเรียกว่าสำรวมจิตอยู่ในปัจจุบัน ...ไม่ให้มันไปวนเวียนอยู่กับอาการการกระทำคำพูดของสัตว์บุคคลอื่น ข้างหน้าข้างหลัง หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ก็ไม่ให้มันออกไปวนเวียนข้างนอก

ทั้งกับรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน จมูกที่ได้กลิ่น ก็ไม่ต้องสนใจรูปรสกลิ่นเสียงในปัจจุบัน ...ให้มันวนเวียนอยู่ภายในกาย สร้างฐานของศีล สร้างฐานของกาย สร้างฐานของรู้ปัจจุบัน 

ให้มันหนัก ให้มันมีน้ำหนัก ให้มันหนักแน่น มั่นคงกับปัจจุบัน...โดยมีกายเป็นจุดยึดโยง ...จิตใจมันก็จะหนักแน่นมั่นคง พร้อมๆ กันไปกับกายที่มันหนักแน่นขึ้น ชัดขึ้น

ความไม่หวั่นไหวไปตามรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส อดีต-อนาคตในจิต ความปรุงแต่ง สัญญาอารมณ์ มันก็จะเริ่มเกิดความไม่หวั่นไหวกับอาการไปมาของจิตนั้น

ก็อยู่ท่ามกลาง อยู่บนฐานกายกับใจสองอย่างเท่านั้น ...ทุกอย่างก็เริ่มเงียบลงไป น้ำหนักมันน้อยลงไป ความมีค่ามีความสำคัญก็น้อยลงไป รูปเสียงกลิ่นรสที่เคยมีค่ามีความสำคัญก็สำคัญน้อยลงไป

มันก็ไม่ค่อยเข้าไปยี่หระ ไม่ค่อยเข้าไปข้องแวะเกาะเกี่ยว ไม่ค่อยเข้าไปคิดต่อ คิดตาม คิดแต่ง คิดดีคิดร้าย คิดถูกคิดผิด คิดหาเหตุหาผล คิดเอาถูกเอาชอบกับอะไร

เพราะมันไม่มีสาระพอให้ออกไปคิด ออกไปหา ออกไปอยาก ออกไปไม่อยากกับมัน นี่ จิตใจก็เกิดความยินดีพึงพอใจอยู่กับกายอยู่กับรู้ อยู่กับนั่ง อยู่กับยืน อยู่กับเดิน อยู่กับหมุน อยู่กับหัน

มันก็อยู่กับอากัปกริยาน้อยใหญ่ภายในกาย ด้วยความมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา  เพียรอยู่ด้วยอิทธิบาท ๔ ภายในกาย ทั้งหมดเป็นองค์ธรรม องค์การปฏิบัติที่เป็นไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริง ที่ท่านเรียกว่าโพธิปักขิยธรรม

การภาวนาอยู่ในศีลสมาธิปัญญาก็จะไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปไหน ...การรู้ผล การได้ผล การเกิดผล การบังเกิดผลในการปฏิบัติ ก็จะเหมือนกัน...ในทุกผู้ทุกคนที่ปฏิบัติอยู่ในองค์มรรค

มันจะได้ผลอย่างเดียวกัน เหมือนกัน  ไม่มีใครได้ดีกว่ากัน ไม่มีใครได้แปลกแตกต่างจากกัน ..ก็จะได้ผลอันเดียวกัน คือละวางจางคลายจากความยึดมั่นถือมั่น

ทำไมมันถึงละวางจางคลายได้ ทำไมถึงละความยึดมั่นถือมั่นได้ ...เพราะความเป็นเรานั่นมันน้อยลง เพราะความหมายมั่น เพราะความรู้สึกในตัวเราของเรา มันน้อยลงนั่นเอง

เพราะนั้นไอ้ความรู้สึกเป็นตัวเราของเรา ความหมายมั่นว่านี้เป็นเรา นี้เป็นของเรานี่ ...มันเป็นต้นเหตุ มันเป็นสมุทัย ...มันเป็นเหตุที่เกิดก่อนความอยากและไม่อยาก เกิดก่อนกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาด้วยซ้ำ

เมื่อมรรคมันเจาะจงลงไปที่ “เรา” ทำลายความเป็น “เรา”  ทำความจางคลายลงไปที่ “เรา ...ศีลสมาธิปัญญามันเป็นการปฏิบัติเพื่อเข้าไปถึงต้นตอต้นเหตุของ “เรา” ...แล้วก็ทำลายล้าง

เมื่อ “เรา” น้อยลง เมื่อความรู้สึกเป็น “เรา” มันไม่สามารถจะเกิดขึ้นมา  เพราะมีความรู้เท่าทันอยู่ตลอดเวลา เพราะมีความเห็นตามความเป็นจริง ตามสภาพของกายของขันธ์อยู่ตลอดเวลาว่ามันไม่ใช่ “เรา”

เหล่านี้ มันจึงจะเป็นเหตุให้ความอยากและความไม่อยากที่เนื่องด้วย “เรา” นี่ มันไม่มี หรือน้อยลง อย่างนี้...ความทะยานของจิตก็จะหยุด หรือว่าน้อยลง หดลง

จิตที่มันมีอำนาจ มีพลัง ไปได้ไกล ไปได้ไม่มีหยุดหย่อน ไปได้ไม่มีที่จบและสิ้น เพราะอำนาจของตัณหามันแรง ...เหมือนกับเป็นน้ำมันที่เติมใส่รถ จะวิ่งไปรอบโลกก็วิ่งได้ เพราะมันมีน้ำมันเติมตลอด

ตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี่แหละมันเป็นเชื้อเพลิง ทำให้จิตนี่มันแตกกระสานซ่านกระเซ็น ข้ามโลกข้ามแดน ข้ามอดีตข้ามอนาคต ไปในอดีต ไปในอนาคต ไปในที่ที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนมันก็ไปได้

ถ้าไม่ได้มาลงที่เหตุ ถ้าไม่ได้แก้ที่เหตุ ถ้าไม่ได้กลับมาที่ต้นตอ ถ้าไม่ได้กลับมาเห็นต้นตอแล้วก็เข้าไปละที่ต้นตอต้นเหตุแล้ว...ไม่มีทางหรอกที่จะเท่าทันจิต ไม่มีทางหรอกที่จะละตัณหา ความทะยานอยาก

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ต้องละสังโยชน์เบื้องต้น...ซึ่งมีสักกายทิฏฐิเป็นตัวฐานของสังโยชน์ ...ต้องมาเห็นความเป็นสังโยชน์เบื้องต้น คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส 

แล้วก็เพียรที่จะเข้าไปละสังโยชน์เบื้องต้นก่อน ...เพราะมันเป็นเหตุของจิต ที่มันไปสร้างภพสร้างชาติ ดักภพดักชาติรอ เหมือนขุดบ่อล่อปลาอยู่ข้างหน้าข้างหลังตลอดเวลา

ถ้ามันไม่มี “เรา” หรือ “เรา” มันน้อยลงเมื่อไหร่ สักกายมันน้อยลง มันหมดไป ...จิตที่มันจะไปขุดบ่อล่อปลาข้างหน้าข้างหลัง เพื่อให้ “เรา” เข้าไปเสพสุขเสพทุกข์ข้างหน้าข้างหลัง ...มันจะไม่มี

แล้วมันก็จะน้อยลงไปตามความเข้มข้นของเรา ที่มันจางคลายลง...เป็นปฏิสัมพันธ์กัน

การเพียรเพ่งลงในกายเดียวที่เดียวนี่แหละ เหมือนกับสร้างฐาน สร้างหลุมหลบภัย สร้างเซฟเฮาส์ เป็นที่ปลอดภัยจากกิเลสน้อยใหญ่ ด้วยอำนาจของสมาธิให้ได้ก่อน

ใครจะว่าติด ใครจะว่าเป็นสมถะ ใครจะว่าไปไม่รอด ไปไม่เกิดปัญญา อย่าไปเชื่อ ...เราต้องการให้กายกับใจนี่มันแนบแน่นจนเป็นที่เรียกว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นสิ่งที่ไม่พรากจากกันเลย สว่างกายสว่างใจอยู่

แล้วนอกนั้นไม่เอาอะไร ไม่หาอะไร ไม่อยากกับอะไร ไม่ให้จิตมันไปเกิดกับอะไร ไม่ให้จิตมันไปแตะต้องข้องแวะกับอะไร ...ใครว่าจะเป็นสมถะ จะติดเป็นว่าโง่เง่า ไม่รู้ไม่มีปัญญา อย่าไปเชื่อ

สัมมาสมาธิ ความหมายของสมาธิก็บอกอยู่เต็มๆ ว่า ระงับซึ่งกายสังขาร ระงับซึ่งจิตสังขาร ระงับซึ่งวจีสังขาร ...มันเงียบเลย มันไม่มีจิตออกไปเพ่นพ่าน หรือว่าสร้างสภาวะใดสภาวะหนึ่งขึ้นมา

เพราะขนาดว่าเป็นสมาธิที่มีอารมณ์ ที่เรียกว่าปีติ สุข ...ก็ยังไม่ได้เรียกว่าเป็นสมาธิที่แท้จริงเลย ท่านยังเรียกว่าเป็นมิจฉาสมาธิ ...ยังมีจิตที่มันสร้างอารมณ์ได้อยู่

แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิแล้วนี่ มันจะไม่มี ...มีแต่รู้มีแต่เห็น ...ซึ่งในการรู้การเห็นนั้นน่ะ มันจะไม่มีเรารู้เราเห็น ไม่มีเราเป็นผู้รับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

จึงไม่มีเราผู้สร้างอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ในระหว่างอยู่ในสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิจริงๆ …มันเป็นกลางๆ เป็นรู้เห็นกลางๆ เป็นรู้เห็นเงียบๆ เป็นรู้เห็นแบบเฉยๆ ไม่มีอารมณ์ในนั้น

มันว่างจากอารมณ์ในนั้น ว่างจากความนึกคิดปรุงแต่ง ว่างจากสัญญาอดีตอนาคต ว่างจากเรา ว่างจากทุกสิ่ง ...มีแต่รู้ กับกายเป็นสิ่งที่ถูกรู้จริงๆ เท่านั้น  นั่นน่ะถึงจะเรียกว่าสัมมาสมาธิ

เพราะนั้น ถ้าไม่เอาปัจจุบันกายหรือศีลนี่ เป็นฐานของสมาธิแล้วนี่ ...มันจะเข้าสู่สัมมาสมาธิที่แท้จริงไม่ได้ ...มันจะแอบมีเราอยู่ตลอดเวลา เป็นอีแอบอยู่ข้างหลังโดยที่แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกันอยู่ตลอดเวลา

นั่นจึงไม่เรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิ ซึ่งระงับกายสังขาร ...เพราะว่าไอ้ตัวกายสังขารนั่นน่ะก็คือ “ตัวเรา” นั่นแหละ กายปรุงแต่งนั่นแหละ คือกายสังขาร

แต่ถ้าเป็นกายมหาภูตรูปนี่...ไม่ใช่กายสังขาร ...เป็นกายตามความเป็นจริง เป็นกายที่เกิดจากอำนาจของวิบากมันปรุงแต่งเอง ไม่ได้อาศัยจิตปรุงแต่ง ไม่ได้อาศัยจิตปัจจุบันปรุงแต่งขึ้นมา

เช่น ความรู้สึกที่มันตึง ที่มันแน่น ที่มันแข็งอ่อนร้อนหนาวนี่...มันไม่ต้องคิด ไม่ต้องนึก มันไม่ต้องสร้างด้วยจิต มันก็มี ...นี่ก็เรียกว่าไม่ใช่กายสังขาร แต่เป็นกายจริงๆ

และกายจริงๆ นี่แหละ มันจึงจะเป็นรากเหง้าของสมาธิที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ...มันก็เป็นธรรมที่เนื่องกันน่ะ ศีลกับสมาธิ ...แล้วเมื่อมีสัมมาสมาธิแล้ว ทีนี้มันก็คอยระวังเท่าทันไม่ให้เกิดกายสังขารขึ้นมา

ในขณะที่มันเรียนรู้ สอดส่อง เห็นอาการของกายสังขารมันไม่เกิดหรือมันเกิดได้อย่างไรแล้ว ...มันก็เข้าใจว่ากายสังขารคืออะไร เกิดขึ้นมาได้ยังไง ...ก็เกิดขึ้นมาจากจิตปรุงแต่งนั่นเอง หรือว่าจิตสังขาร 

เมื่อมันเข้าใจทั้งกายสังขารและกายตามความเป็นจริงคืออะไร ...นั่นก็เรียกว่าปัญญา มันเป็นปัญญาที่ไม่ได้มาจากตำรับตำรา แต่มันเห็นเองรู้เองอยู่ภายใน เป็นสันทิฏฐิโก

นั่น มันก็พากเพียรที่จะเรียนรู้แค่กายตามความเป็นจริง ส่วนไอ้กายสังขารมันก็ไม่เรียนรู้ ...ก็ละ ละความเป็น ความมี ของกายสังขาร จิตสังขารที่มันขึ้นมา

มันก็เกิดความสงบขึ้นมา เรียกว่าสงบ กายสังขารสงบ จิตสังขารสงบ วจีสังขารสงบ พวกนี้คือความสงบ เกิดความที่สงบจากการปรุงแต่ง สัมมาสมาธิจึงเป็นความสงบจากความปรุงแต่ง

ไม่ใช่อารมณ์สงบ ไม่ใช่ความสงบที่เป็นอารมณ์ แต่เป็นการสงบจากความปรุงแต่ง เพราะการสงบจากความปรุงแต่งนี่ มันจึงจะเห็นความเป็นจริงของกายแท้ๆ

นี่ถึงว่าสมาธิมันเป็นเหตุให้เกิดปัญญาได้อย่างไร ...สัมมาสมาธิเท่านั้นจึงจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ...ความสงบไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดปัญญา อารมณ์สงบไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดปัญญา

นี่ ศีล-สมาธิ-ปัญญา จึงเป็นธรรมที่เนื่องกัน เอื้อกัน เป็นสังขตะ...เป็นสังขตธรรม เป็นธรรมที่เกื้อกูลกัน ...จะขาดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้เลย

และขณะของศีลสมาธิปัญญาที่มันสมดุลพอดีกัน ท่านจึงเปรียบเสมือนเป็นธรรมจักร มันหมุนวนอยู่ในศีลสมาธิปัญญาอยู่อย่างนี้ ท่านเรียกว่าอยู่ในธรรมจักร เป็นธรรมจักร

เมื่ออยู่ในธรรมจักรนี้ รักษาความหมุนวนพอดีกันระหว่างศีลสมาธิปัญญา...สอดคล้องกัน สอดผสานกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่หยุดไม่หย่อน

มันก็จะเกิดธรรมจักษุ คือตาญาณ จักขุง อุทปาทิ ญาณัง ก็จะเกิดขึ้น  อาโลโก ความสว่างในขันธ์ ในความแจ้ง ในความจริงของขันธ์ ก็ปรากฏชัดเจนชัดแจ้งขึ้นมา


(ต่อแทร็ก 13/29)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น