วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/11 (2)


พระอาจารย์
13/11 (570221C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21 กุมภาพันธ์ 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 13/11 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ทำไปเรื่อยๆ เถอะ ลักษณะนี้จะเป็นทุกปัจจุบันเลย ...มันจะดับได้ทุกดวงจิตเลย ทุกการเคลื่อน การไหลของจิตทุกดวงเลย โดยเป็นอัตโนมัติเอง  

ทีนี้มันไม่นานๆ ครั้งแล้ว ...ถ้าถึงตรงจุดนั้นเมื่อไหร่ ไม่ได้หลับ ไม่มีเวลาหลับเลย จิตจะตื่นตลอดเลย ไม่ต้องหาเวลานอนแล้ว


โยม –  ชั่งมันเลยใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  เออ เอาชีวิตเข้าแลกน่ะ ...มันจะไม่หยุดทำงานเลย มรรคนี่จะไม่หยุดทำงาน ไม่มีเวลาพักผ่อนเลย  พระพุทธเจ้าท่านถึงเปรียบ...ถึงจุดนั้นท่านเรียกว่าเป็น รัตตัญญู 

คำว่ารัตตัญญู หมายความว่า เป็นผู้มีราตรีเดียวเป็นผู้ที่มีราตรีเดียว คือเป็นผู้ที่ไม่หลับ ไม่มีกลางวันกลางคืน


โยม –  มีบางครั้งกลางวันมันจะงีบหลับมันก็ไม่หลับ อะไรอย่างนั้น

พระอาจารย์ –  ให้มันทำงานไปอย่างนั้นแหละ ถ้ามันทำงานของมัน 


โยม –  ชั่งมัน

พระอาจารย์ –  ไอ้เรื่องหลับเรื่องนอนนี่...นอนมาเยอะแล้ว หลับมาหลายชาติแล้ว เฉพาะชาตินี้นับเป็นชั่วโมงก็กี่แสนชั่วโมงแล้ว ...มันนอนนานเกินไปแล้ว เข้าใจมั้ย 

อย่าไปกลัวไม่ได้นอน ...กลัวจะไม่ตื่น กลัวจิตจะไม่ตื่นมากกว่า เข้าใจมั้ย ...ไอ้เรื่องหลับเรื่องนอนนี่ โอ้ย มันนอนมาไม่รู้จะกี่ภพกี่ชาติแล้ว นับไม่ถ้วนแล้ว ...นอนหลับทับสิทธิ์ 

นอนหลับทับรู้นี่ นอนหลับทับกายนี่ มันหลับมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว ...อย่าไปเสียดายความง่วงเหงาหาวนอน อย่าไปเสียดายความว่าจะไม่ได้หลับแล้วจะไม่มีแรง จะทำงานอะไรไม่รู้เรื่อง

กลัวจิตมันไม่ตื่นมากกว่า กลัวจิตตื่นแล้วจะรักษาจิตตื่นไม่ได้ ...อันนี้น่ากลัวกว่า เพราะกว่าจะรักษาได้ กว่าจะเข้าถึงจิตรู้ จิตทำงานด้วยปัญญานี่...หลายภพหลายชาตินะ กว่าจะไปสะกิดให้มันตื่นขึ้นมาได้นี่ 

อย่าให้เหมือนกับพญานาคราชที่อยู่ใต้ก้นแม่น้ำเนรัญชรา


โยม –  อ้อ ...โอ้ หลับนานเลย

พระอาจารย์ –  ต้องรอให้พระพุทธเจ้ามาตรัสองค์นึง ...แล้วก็รออีก


โยม –  ต้องรอถึงพระศรีอาริยเมตไตรยถึงจะตื่น

พระอาจารย์ –  นี่ อุปมาอุปไมยอย่างนั้นนะ ...กว่าที่จิตมนุษย์จะตื่นรู้ตื่นเห็นขึ้นมา ...ไม่ใช่ง่ายๆ นะ  

มันจะต้องพร้อม ...ถึงพร้อมด้วยศีลสมาธิปัญญา ถึงพร้อมด้วยการอบรม ถึงพร้อมด้วยการได้ยินได้ฟัง ถึงพร้อมด้วยยุคที่ศาสนายังมีพระอริยะ

เห็นมั้ย มันมีหลายเหตุนะกว่าที่จิตดวงนี้มันจะตื่นขึ้นมา แล้วทำงานด้วยความรู้แจ้ง ความเห็นแจ้งในกองขันธ์ ในความเป็นไปของขันธ์ ในความเป็นไปของโลก 

รู้แจ้งเห็นจริงโดยที่ไม่เข้าไปแตะต้องเรื่องราวของขันธ์  รู้แจ้งเห็นจริงโดยที่ไม่เข้าไปแตะต้องเรื่องราวของกิเลสความปรุงแต่ง ...เนี่ย จิตตื่น คือมันตื่นรู้โดยที่ว่ารู้เฉยๆ โดยที่ว่าแล้วให้มันแสดงไปเอง 

ทุกขันธ์อยากแสดงอะไร...แสดง กิเลสทุกตัว...แสดง  โลกจะหมุนไปยังไง จะดั่งใจจะไม่ดั่งใจ...แสดง โดยที่ไม่เข้าไปขัดขวาง โต้แย้ง ผลักดัน สนับสนุน เอาเข้าข้าง เลือกข้าง แบ่ง กัน แก้...ไม่มีเลย

เนี่ยๆ จิตตัวนี้ ไม่ใช่สร้างขึ้นมาง่ายๆ นะ จิตดวงที่มันตื่นรู้ แล้วก็อยู่ด้วยตัวปัญญาที่ว่ามันจะสำเหนียกทุกอาการ โดยที่ว่าเขาแสดงยังไงก็ให้แสดงอย่างงั้น 

เขาแสดงความเป็นจริงยังไง ก็ให้แสดงความเป็นจริงเท่านั้นจริงๆ โดยที่ว่าจะช้าจะนาน จะดูเหมือนไม่ดับ หรือจะอยู่แบบข้ามภพข้ามชาติดูเหมือนไม่หาย ก็จะไม่ยุ่งกับมันเลย ...ให้มันแสดงไป

จนกว่ามันจะเห็นด้วยตัว ด้วยใจ ที่ตื่นรู้ตื่นเห็นว่า...ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้ามันนี่ ไม่มีอะไรเกิดแล้วไม่ดับ  มันจะเห็น...โดยที่ไม่มีใคร ผู้ใด สิ่งใด ไปทำความดับกับสิ่งนั้นเลย

มันจะเห็นโดยตลอดเลยว่า...ทุกเรื่องราวในกองขันธ์ ทุกลักษณะอาการของขันธ์ห้า ...ไม่มีอะไรเกิดแล้วไม่ดับ 

แล้วมันดับไปเอง...โดยที่ไม่มีใคร หรือเรานี่ เข้าไปข้องแวะหรือไปกระทำด้วยเจตนาให้ดับ หรือให้อยู่ มันก็ดับไปเป็นธรรมดา ...นั่นแหละตัวจิตผู้รู้ ที่มันจะเห็นอย่างนั้น

เพราะนั้นตัวจิตผู้รู้ หรือจิตที่มันรู้เห็นเฉยๆ นี่ มันจะสร้างขึ้นมันจะอยู่ขึ้นเองไม่ได้ ...มันอยู่ได้ด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญา มันจึงจะเกิดสภาวะจิตผู้รู้ผู้ตื่น หรือว่าดวงจิตพุทธะพุทโธดวงนี้ขึ้นมา

แล้วมันไม่ไปเอาห้าเอาสิบกับเรื่องราวของขันธ์ กับเรื่องราวในโลก แต่ว่ามันรู้หมดมันเห็นหมด โดยไม่ใช่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือว่าไปมุดอยู่ในรูไหน แล้วก็ทำไม่รู้ไม่ชี้...ไม่ใช่

มันรู้เห็นหมด แต่ว่ามันไม่ยุ่งเลย ...เพราะทุกอย่างที่มันรู้เห็น ทุกเรื่องที่มันรู้และเห็นน่ะ มันมีบทสรุปที่เดียว คือ...มีความดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรเกิดแล้วไม่ดับ 

ไม่ว่าจะตั้งอยู่นาน จะตั้งอยู่เร็ว จะตั้งอยู่แป๊บนึง หรือจะตั้งเป็นหลายๆ ปี  ก็มีแต่ความดับไปเป็นธรรมดา...เป็นที่สุดไป ... นี่ เถียงไม่ได้เลย 

มันก็ค่อยๆ ยอมรับๆ ความเป็นจริงทั้งขันธ์และโลก ว่า...มันเป็นเช่นนั้นเอง ... เป็นอะไร...ไม่เป็นอะไรเลย  มีอะไร...ไม่มีอะไรเลย...ที่จะเป็นเรื่อง ที่จะให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ให้ไปเกิดเราของเรา ให้ไปครอบครอง 

ให้ไปดีใจเสียใจกับอะไรที่ไม่เป็นอะไร กับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง กับสิ่งที่ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นสิ่งอะไร ที่ไม่มีความหมายในตัวของมันเลย...มีแต่เกิด ตั้ง แล้วก็ดับ เป็นธรรมดา

เนี่ย กิเลสทั้งหลายทั้งปวงนี่ ถอนหมดเลย มันจะถอนออกจากใจหมดเลย ...ที่มันเคยชี้นิ้วว่า 'ไอ้นี่ดีนะ ต้องทำอย่างนี้นะ  ไอ้นี่ไม่ดีนะ จะต้องทำอย่างนั้นนะ' ...แล้วก็มี “เรา” เป็นเบ๊...ไปทำ

นี่ มันจะชี้นิ้วอย่างนี้เลย  คือถ้าเห็นการกระทำของคนนี้ปุ๊บนี่...ปึ้บเลย มันติ๊กไว้เลยว่า 'ไอ้นี่ทำไม่ดี'  ...แล้วมันมีติ๊กอีกเลยว่า 'จะให้ดีจะต้องทำอย่างนี้' 

แล้วมันจะมี "เรา" เป็นผู้สั่งการให้...ว่าต้องไปพูด เอากายเอาขันธ์นี่ไปพูดอย่างนี้ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงไอ้ที่ไม่ดีให้มันเป็นดี ...เห็นมั้ย เนี่ย คือกิเลสสั่งมาหมดเลย

แต่ถ้ารู้ปุ๊บนี่ ...มันก็จะเห็น “เรา” นี่ พยายามเสือกออกไป  แล้วก็จะเห็นมันเสือกมาตั้งแต่...คือมันจะเห็นทันตอนไหนขั้นไหนนี่ แล้วแต่ภูมิปัญญา  

มันอาจจะเห็นทันตอนที่ว่า...กำลังจะไปพูด ...อ่ะ ทันแล้วก็ไม่พูด อย่างนี้  หรือกำลังจะเดินไปหา นี่ ก็ไม่ไปซะ หยุด ...มันไปเห็นตรงนั้น

ทำไปเรื่อยๆ ...มันจะหดเข้า มันจะเห็นทันตั้งแต่มันเริ่มออกไปให้ค่าว่าถูกและผิด แค่นี้ เห็น “เรา” ตรงนี้...ปั๊บ ดับเลย ...ยังไม่ได้คิดจะไปพูด ยังไม่ได้คิดว่าจะไปทำยังไงแก้ยังไง 

มันเห็นตั้งแต่ออกไปให้ค่าว่า...ไอ้นี่ดี ไอ้นี่ไม่ดี  เสียงนี้ดี เสียงนี้ไม่ดี  อย่างนี้เรียกว่าชม อย่างนี้เรียกว่าด่า ...มันเห็นตั้งแต่นี้เลย มันก็ขาดตั้งแต่ตรงนี้ 

นี่ ปัญญานี่ไวขึ้น มันจะเห็นรายละเอียดขึ้น เห็นต้นตอ เห็นตั้งแต่ว่าจากศูนย์เป็นหนึ่ง ...แต่ในระดับต้นๆ นี่ ไปเห็นตอนที่เก้าสิบ...จะร้อยแล้ว 

แล้วก็ไอ้ที่เห็นตรงเก้าสิบแล้วก็ละนี่ ... แล้วไอ้ระยะจากศูนย์ถึงเก้าสิบล่ะ ยังเหลืออยู่ใช่มั้ย ...นั่นคืออารมณ์ที่ตกค้าง ความทะยานอยากที่มันบีบคั้นแบบ 'กูจะไปสิบให้ได้ๆ' นั่นน่ะเก้าสิบ ที่เหลือคือวิบาก


โยม –  แล้วมันก็จะไปยื้อกันอย่างนั้น อย่างว่า...ไม่ช่วยเขาเหรอ

พระอาจารย์ –  ยื้ออย่างนั้นแหละ มันก็จะตีกรอบอยู่ที่เก้าสิบน่ะ ความหนักก็อยู่เก้าสิบ เข้าใจมั้ย ...แต่ถ้าเรายืนอยู่บนฐานของศีลสมาธิปัญญา ไอ้ตัวเก้าสิบนี่ มันจะค่อยๆ ลดลงๆ ในตัวของมัน 

พอมันหมดไป ก็ทีนี้ก็ถอนใจ เฮ้อ สบายแล้ว ...อ่ะ สักเดี๋ยวมาใหม่อีกแล้วนะ แน่ะ ...แต่คราวนี้ว่าจะทันตอนไหน แปดสิบ เก้าสิบ หรือเก้าสิบแปด ...หรือว่าร้อยสิบ


โยม –  ขึ้นอยู่กับเหตุ

พระอาจารย์ –  เออ คือบางทีมันไม่ใช่แค่ร้อย ...มันร้อยสิบนะ


โยม –  บางทีก็ไม่ทันแล้ว

พระอาจารย์ –  ไอ้อย่างนั้นเรียกว่าทั้งด่าทั้งตบทั้งตี ...คือมันทำนิดเดียว แต่กูด่าล่อมันถึงโคตรเลย แล้วไปรู้ตัวตอนที่ด่าไปแล้ว อย่างนี้ ... ไอ้นี่เกินร้อยน่ะ

เพราะนั้นพอรู้ตัวตรงนั้นปุ๊บนี่ ...วิบากแรงนะ


โยม –  มันก็เหมือนศีลทะลุที่อาจารย์บอก ถ้าเราออกนอกจากกรอบนี้ มันก็...

พระอาจารย์ –  ไกลออกไปมากเท่าไหร่...ก็เกิดกรรมมากขึ้นเท่านั้น ... เมื่อรู้ทันตรงไหน ก็จะต้องเสวยวิบากกรรมเท่ากับที่ออกไป...ยาวหรือสั้น 

ทุกข์มากทุกข์น้อยอยู่ตรงนี้นะ ...คือทุกข์ของ “เรา” ...ไอ้นี่คือทุกข์ของเราทั้งหมดเลยนะ ไม่ใช่ทุกข์ตามความเป็นจริงนะ เป็นทุกข์ที่สร้างขึ้นจากความโง่ของ “เรา”

ทุกข์ตามความเป็นจริงคือ นั่งแล้วเมื่อย กระทบพื้นแล้วแข็ง โดนเย็นแล้วหนาว ...นี่คือทุกข์ตามความเป็นจริง มันมีอยู่อย่างนี้ แก้ไม่ได้เลย ทุกข์ธรรมชาติของขันธ์ของกายนี่มีอยู่แค่นี้ 

แต่ไอ้ตรงที่ออกไปนี่ ...ทุกข์จากความโง่ แล้วมันสร้าง “เรา” ออกไป ...เพราะนั้นคราวนี้ก็ว่าจะฉลาดเท่าทันแค่ไหนล่ะ 

ถ้าเป็นทุกข์ของพระอริยะนี่  ทุกข์ของ “เรา” นี่เหลือแค่ ศูนย์กับหนึ่งๆ ...จนถึงจุดนั้นนี่ นั่นน่ะพระอนาคามี จะเหลือแค่ขณะจิตนึง ปุ๊บ ทัน...ขาด ปั๊บ ทัน...ขาด ทัน...ร่วง อยู่ตลอดเวลาเลย 

เหลือแต่...กายหนึ่งจิตหนึ่งๆๆ ...จิตไม่ได้ออกคลาดเคลื่อนจากศีลเลย ไม่คลาดเคลื่อนออกจากกายแม้แต่ขณะจิตนึงเลย ...ตรงนี้ที่ท่านเรียกว่ามหาศีล

สติที่เท่าทันจิตหนึ่ง ไม่เป็นสอง ...นี่ ท่านเรียกว่ามหาสติ ... แล้วจิตที่มันอยู่ตรงนั้นได้ตลอดเวลาเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ...ท่านเรียกว่ามหาสมาธิ 

และอาการที่รู้เห็นเท่าทันทุกดวงจิตที่มันจะออกไปเป็นเรากับสิ่งใดก็ตาม ไม่ว่าขันธ์ ไม่ว่านอกขันธ์ ตรงนั้นเรียกว่าญาณทัสสนะหรือปัญญาญาณ ...นี่เรียกว่ามหาปัญญา

เพราะนั้นทุกข์ของท่านไม่มี มีแต่ทุกข์นี้...ทุกข์ในกาย กับทุกข์ปัจจุบันผัสสะ  แต่ว่าทุกข์ที่เนื่องด้วย “เรา” ไม่มี ...นี่พระอนาคานะ 

ต่ำกว่าพระอนาคายังมี ...เข้าใจไหมว่ามีระดับไหน...เจ็ด สาม ...คือจิตยังเคลื่อนออกไปได้ ระดับที่เจ็ดกับสาม อย่างนั้น ...จะมีลิมิทตายตัวเลย ไม่เกินเจ็ด ไม่เกินสาม

แต่ต่ำกว่านั้น จะอยู่ในระหว่าง เจ็ด ถึงร้อย หรือเกินร้อย และไม่ตายตัว เข้าใจมั้ย จิตยังสามารถไปได้ เคลื่อนได้โดยที่ไร้ขอบเขต ...ถึงสามารถควบคุมให้อยู่ในขอบเขตได้ แต่ว่ายังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ยังไม่ตายตัว

แต่ว่าพอทำไปเรื่อยๆ ปุ๊บ มันจะได้กรอบ ได้แค่เจ็ด ไม่เกินเจ็ด จะอยู่ ...แล้วก็เหลือแค่ว่า เจ็ดบ้าง สามบ้าง หนึ่งบ้าง ไม่ตายตัว...แต่ไม่เกินเจ็ด ...นี่เรียกว่าอริยะเบื้องต้น จิตจะเคลื่อนไปได้แค่นี้ 

ได้แค่เนี้ย ไม่ไปไกลกว่านี้ ...มันจะไม่ไปไกลกว่านี้ แล้วมันจะรู้ตัว ในตัวของมันเอง...เป็นอัตโนมัติ แล้วก็ทิ้งเลยๆ ...คือถ้าคิดก็หมายความว่า อาจจะไม่คิดเกินข้ามวัน เอ้า ไม่คิดถึงวันข้างหน้า อาทิตย์หน้า เดือนหน้า 

แต่ถ้าคนเราธรรมดานี่ ชาติหน้าเลยก็ยังคิดได้  มันคิดเผื่อไปถึงชาติโน้นเลย เข้าใจมั้ย กว่าจะรู้ตัว...เอ๊ะ กูคิดอะไรนักหนาวะ แล้วก็กลับ ...แต่เดี๋ยวๆ ก็เอาอีกแล้ว 

เรียกว่าความทะยานของจิตนี่ มันไม่อยู่ในอำนาจของศีลสมาธิปัญญาที่จะไปตีกรอบล้อมกรอบจิตได้เลย ...จนกว่าจะฝึกถึงขีดขั้น ถึงในระดับที่ว่ามีศีลเป็นเครื่องรักษาจิต อยู่ในกรอบ...เจ็ด ไม่เกินเจ็ด 

นี่เขาเรียกว่ามีศีลรักษาจิตแล้ว ...เพราะนั้นท่านจึงบอกว่าพระโสดาบันคือผู้ที่เข้าถึงศีลจริงๆ แล้วศีลจะรักษาจิต เรารักษาศีลเสร็จแล้วศีลก็มารักษาเรา...ไม่ให้เกินนี้ไป 

เพราะนั้นตัวพระโสดา ไม่ใช่ว่าหมดความเป็นเรานะ ...ไม่หมดนะ


โยม –   ต้องพระอนาคามี...

พระอาจารย์ –  อนาคาขึ้นไป  ...อนาคามีก็ยังไม่หมด ยังเหลือเราในสภาวะที่ไม่มีหน้ามีตา ไม่มีหน้าตาเป็นรูปลักษณ์เข้าใจมั้ย ...แต่มันจะเป็นความรู้สึกลอยๆ ที่ยังเป็นเจ้าของในสภาวธรรมหนึ่ง 

แต่จะไม่มี “เรา” เป็นหน้าตา พระอนาคามีก็ยังมีนะ  จะหมด “เรา” ก็ต่อเมื่อพระอรหันต์อย่างเดียว ...เพราะนั้น “เรา” ของพระอนาคามีก็คือ “เรารู้”


โยม –  มันทรงอยู่

พระอาจารย์ –  ทรงรู้ไว้ นั่นแหละคือความเป็นบุคคล เป็นความเป็นบุคคล...แต่ไม่มีหน้าตา ...แต่ถ้าเป็นปุถุชนต่ำกว่าอนาคา ยังมีหน้าตาของเราอยู่ โดยเป็นรูปทรงนี้ เป็นกรอบของหน้าตาเรา

รูปทรงของกายนี่ คือกรอบของหน้าตาเรา เป็นหน้าตา ...พอนึกถึงเรา มันจะนึกถึงทั้งตัวเลย มันรวมกับรูปของเราไว้ เนี่ย เรามีหน้ามีตาอยู่ ยังมีเราเป็นหน้าเป็นตาอยู่  

แต่ถ้าเป็นพระอนาคาขึ้นไปนี่ เป็นเราที่ไม่มีหน้าตา ...แต่มันมีความครอบครอง


โยม –  มันยึด

พระอาจารย์ –  มันยึดอยู่ แต่ไม่มีหน้าตาของผู้ยึด ...นี่ เข้าใจมั้ย เป็นเราที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังเป็นทุกข์ในตัวมันอยู่ แต่ว่าทุกข์...เทียบกับทุกข์ของเราที่เป็นหน้าตาตัวตนนี่ คนละเรื่อง มันคนละเรื่องกันเลย

เพราะนั้นการที่รู้ตัวรู้กายไปเรื่อยๆ นี่ กายมันก็จะค่อยๆ แตก แตกออก มีความรู้สึกตรงนั้นหย่อมนึง ตรงนี้หย่อมนึง เป็นความรู้สึกตรงนู้นหย่อมนึง หมุนไปวนมา เดี๋ยวก็ไปชัดตรงนั้น ก็เป็นหย่อมนึง


โยม –  อ๋อ ค่ะ หนูเคยรู้สึกแบบนี้ มันจะไปโผล่นู่นบ้างนี่บ้าง

พระอาจารย์ –  เออ แต่ไม่มีรูปประกบ มันจะไม่มีรูปทรงของกายประกบ เข้าใจมั้ย รูปที่เป็นแบบเรายืนมองหน้ากระจกแล้วก็เป็นรูปเรา รูปตัวน่ะ จะไม่มีรูปนั้นมาประกบ 

มันจะมีแต่ความรู้สึกตรงนั้นหย่อมนึง ว่างๆ แล้วก็หย่อมตรงนู้น แล้วก็ไปตรงนั้น หาตัวทรวดทรงไม่มี หาทรวดทรงของกายไม่มี


โยม –  แต่มันจะเหมือนกับว่า มันก็มีขอบๆ อยู่บางๆ น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  นั่นเขาเรียกว่า มันยังมีกรอบบางๆ ยังมีกรอบรูปบางๆ อยู่ ...เดี๋ยวกรอบนี้แตก กรอบรูปนี่จะแตก 

พอกรอบรูปนี่แตก มันจะเหลือแต่ความรู้สึกล้วนๆ เลยในกาย...ที่ไม่มีกรอบ ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีสัณฐาน จะถึงกายที่ไม่มีสัณฐานไม่มีที่ตั้ง เป็นกายธาตุ เป็นกายความรู้สึกลอยๆ อยู่อย่างนั้น ...นั่นแหละ ไปเรื่อยๆ

แต่ว่าถ้ายังไม่ถึงจุดนั้น เดี๋ยวมันก็จะรวมรูปขึ้นมาอีก มาประกบกายไว้ ...เพราะไอ้รูปนี่ที่มันมาประกบกายนี่ มันเกิดจากจิตที่เป็นสัญญานิมิต 

มันจำ มันจำรูป แล้วมันเอามาทาบ มาทับกาย  มาครอบ เอารูปนี่มาครอบกายไว้ ...แล้วมันก็ไปหมายรูปที่มันครอบว่าเป็นรูปของเรา


(ต่อแทร็ก 13/12)  



วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/11 (1)


พระอาจารย์
13/11 (570221C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21 กุมภาพันธ์ 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กค่อนข้างยาว แบ่งโพสต์เป็น 2 ช่วงบทความค่ะ)

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นการที่กลับมารู้ตัวนี่ เราถึงบอกว่า กายนี่...เป็นเราตรงไหน ...นี่ ดูตรงนี้ ความเป็นเรานี่ก็จะค่อยๆ เจือจางลง โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าเรามันเจือจางยังไง บอกให้เลย

แต่ให้สังเกตดู ...การที่รู้ตัวไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ไปสีสากับความคิด การกระทำคำพูดของคนอื่นนี่ ...เหมือนกับปล่อย ช่างหัวมัน  

ต่อไปนี่ให้สังเกตเลยว่า ความเข้มข้นของอารมณ์ ทั้งยินดี ทั้งยินร้ายนี่...ในการเห็น ในการได้ยิน  จะน้อยลง จะไม่ค่อยเข้มข้นเหมือนเดิม

คือถ้าเห็นอย่างนี้...แต่ก่อนปกตินี่จะต้องมีอารมณ์ประมาณ ๘๐  แต่ต่อไปเห็นลักษณะแบบเดิมนี่ ต่อไปจะเหลือสัก ๔๐ โดยที่ไม่รู้เลยทำไม แบบ... เอ๊ะ มันน่าจะโกรธมากกว่านี้ ทำไมมันไม่โกรธเท่าเดิม


โยม –  มันจางลง

พระอาจารย์ –  เออ คล้ายๆ กับมันจางลง มันไม่เข้มข้น concentrate เท่าเดิม ...แล้วมันสามารถที่จะปล่อยผ่านได้ง่าย คือไม่เก็บมาครุ่นคิด ไม่เก็บมาหาถูกหาผิด


โยม –  จะมีเหมือน...นิดนึง แล้วก็ “อื้อ” เนี่ยค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ สลัดทิ้ง สามารถสลัดทิ้งได้โดยที่ไม่อาลัยอาวรณ์ ที่จะต้องไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ หรือไปวิพากษ์วิจารณ์เพื่อจะหาว่า...มันใช่หรือไม่ใช่ มันถูกหรือมันผิด 

การไปหาเหตุหาผลว่า 'แล้วมันจะให้ผลดีกับเราไปข้างหน้ามั้ย จะให้ผลร้ายกับเราข้างหน้าต่อไปมั้ย' มันจะไม่มี มันจะน้อยลงๆ บางลงไปเรื่อยๆ ...เนี่ย คือผลของการที่กลับมาอยู่ในหลักของศีลสมาธิปัญญา


โยม –  มันเหมือนว่า งานตรงนี้สำคัญกว่าค่ะอาจารย์  เหมือนว่าอันนั้นสาระมันน้อยกว่าข้างใน เพราะตรงนี้มันเหมือนยังไม่เสร็จงาน

พระอาจารย์ –  อือ ไอ้นอกจากนี้ไปน่ะคือกะโหลกกะลา ไม่มีสาระ มันเริ่มมองเห็นเป็นของต่ำ ของไร้ค่าไปเรื่อยๆ  ...อันนี้เฉพาะเรื่องทั่วไปนะ ยกเว้นคนที่ใกล้ชิด ยังติดอยู่


โยม –  ยังต้องมีภาระ

พระอาจารย์ –  เออ อันนี้ยังขาดไม่ได้เลย ...มันก็รู้สึกว่าหนัก เป็นภาระอยู่ แล้วมันไม่กล้าวาง และมันไม่ยอมวาง เข้าใจมั้ย นี่คือวิบากที่เราสร้างขึ้นมาเองโดยเจตนา 

อยู่คนเดียว อยู่ดีๆ มาหาเรื่องแต่งงานใช่มั้ย  แต่งงานแล้วอยู่ดีๆ อยากมีลูกอีก ...มันเจตนาใช่มั้ย เป็นการประกอบกรรมใช่มั้ย ด้วยเจตนาใช่มั้ย


โยม –  ใช่ ค่ะ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้น วิบาก...รับผล  ...ทีนี้จะวางก็วางไม่ได้แล้ว มันเหมือนพันธนาการเลย  

เราก็จะต้องอยู่จนกว่า เนี่ย จนหมดวาระวิบากของกรรม ... เพราะนั้นพันธนาการของลูกนี่ จนกว่ามันจะเรียนจบ ทำงานน่ะ ถึงจะวางมือได้ในระดับนึง

ถ้ามีปัญญามันก็จะวางเร็ว แต่ถ้ายังไม่มีปัญญา ยังห่วงไปถึง มันจะแต่งงานกับใคร มันจะทำงานได้เงิน มันจะเลี้ยงตัวได้มั้ย ไอ้นี่เขาเรียกไม่มีปัญญา มันสมควรวางได้ก็วางเลย

แต่ตอนนี้ยังวางไม่ได้ เหมือนกับเป็นภาระ ยังเรียนก็ไม่จบ ยังไม่รู้จะออกหัวออกก้อย นี่ ชีวิตข้างหน้าจะเป็นยังไง ...เราจะต้องผูกคิดผูกกังวลอยู่อย่างนี้  

นี่คือผลของการที่เราสร้างมันมา เราสร้างภาระขึ้นมาเองด้วยความโง่ นึกว่าจะสุข นึกว่าอยู่คนเดียวเหงา อยู่คนเดียวแล้วจะลำบาก ก็เลยหาผัวซะหน่อย...เป็นเพื่อน

ความคุ้นเคยๆ มันรู้สึกสบายใจมีความสุข ได้เห็นได้เจอ นี่ มันก็เลยไปผูกสมัครกันขึ้น ...ทีนี้มันเป็นพันธจิตแล้ว จะทิ้งก็ไม่ได้ กูทิ้งมันไม่ทิ้งกูก็ได้ หรือมันทิ้งกูกูก็เสียดายมัน ก็อีก เห็นมั้ย 

พอตอนนี้เราเริ่มปฏิบัติ เราจะทิ้งมัน มันไม่ยอมทิ้ง ก็ยุ่งอีก  เห็นมั้ย มันติดอีรุงตุงนังเลยนี่ ...คราวนี้ก็ต้องทนอย่างเดียว ก็ต้องภาวนาโดยภาวะที่ว่า...เออ ยอมๆ กันไป อยู่กันไป เท่าที่จะทำได้ดีที่สุด  

แต่ว่าจะไม่เข้าไปแนบแน่น อย่างเก่าอย่างเดิม ไม่ต้องไปอธิษฐานชาติหน้าขอให้เจอกันใหม่นะ ...ก็อยู่กันไปตามวาระ ถือว่าชดใช้กันไป


โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ได้ปฏิเสธ แล้วก็ไม่ได้แสดงความผูกพันมั่นแน่นขึ้น ...กลางๆ ไว้ กลางๆ ไว้ แล้วทุกอย่างมันก็จะค่อยๆ คลี่คลาย โดยที่ไม่ต้องไปทำอะไรให้มันเป็นกิจจะลักษณะอะไร 

ก็อยู่ไปๆ ค่อยตลบ ต่างคนต่างจะหมดกันไป มันก็ไม่ผูก มันก็คลายออก ค่อยๆ คลายออก ...จิตเนี่ย มันคลายเมื่อไหร่ มันก็คลายออก ทีนี้ก็มุ่งมั่นอยู่ภายใน มากขึ้นๆ มันก็ไม่เอามาเป็นธุระจนเกินไป  

แต่ไม่ใช่ว่าสลัดทิ้งเลยนะ เหมือนไม่เอาธุระเลย ก็ไม่ได้ ... เหมือนกับแม่นี่ จะสลัดทิ้งเลยก็...จะได้ยังไง จะไม่ดูดำดูดียังไง มันไม่ได้น่ะ มันผิดธรรมเนียมโลก

แต่ว่าไม่จริงจังจนเกินไปแค่นั้นเอง ไม่ถึงขั้นคร่ำครวญตีโพยตีพาย ปริเทวนา คับแค้น อุปายาสอะไรถึงขนาดนั้น ก็ตามเหตุปัจจัยอันควร แต่ว่าไม่ใช่ไม่ดูดำดูดีหรืออยู่ในภาวะที่นิ่งดูดายเลย  มันก็ทำไปตามหน้าที่  

แต่ว่าตรงนี้มันจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้น...คือการรู้ตัว ทุกอย่างจะทำด้วยความรู้ตัวหมดเลย  เพราะนั้นดี-ร้าย ถูก-ผิด ชั่ว-ไม่ชั่ว ชอบ-ไม่ชอบ ดั่งใจ-ไม่ดั่งใจใคร ...รู้ตัวเข้าไว้ แล้วก็ทำไปเถอะ ไม่เป็นไร

เพราะอะไรก็ตามที่มันทำอยู่ด้วยความรู้ตัว มีศีลสมาธิปัญญาอยู่ภายในนี่  มันไม่เป็นการกระทำพูดคิดที่เป็นไปด้วยความผูกและติด เหมือนที่เราเคยทำพูดคิดโดยที่ไม่มีศีลสมาธิปัญญาอยู่ภายใน

ไอ้นั่นน่ะยิ่งกว่ากาวตราช้างอีก...ติดปุ๊บแป๊ะเลย เหมือนโซ่ เหมือนขอ เหมือนเบ็ดเกาะเลย ...แต่ตอนนี้เราก็ไม่ต้องไปทำเป็นไม่พูดไม่ทำไม่ข้องแวะอะไรเลย ก็ทำเหมือนเดิมเหมือนปกติ 

แต่ทำทุกอย่างด้วยความรู้ตัวเอง ตรงนั้นแหละมันจะคลายออก มันเป็นการทำเพื่อคลายออก โดยที่ว่าไม่ต้องไปคลายด้วยการ... 'เออ หนีไปบวชดีกว่ามั้ย' 

หรือว่าไปหาที่อยู่คนเดียวเลยแล้วก็ไม่ต้องเจอหน้าผู้คน ...ไม่ต้องทำอย่างนั้น เข้าใจมั้ย อยู่เหมือนเดิมนี่ ไม่ต้องคิดด้วย ...แต่ว่าทุกอย่างให้ทำด้วยความรู้ตัว

จะยืน จะเดิน จะพูด จะคุย จะมีความสัมพันธ์กันข้องแวะกัน รู้ตัวเข้าไว้ ...ไม่ต้องกลัวว่ามันจะติดหรือว่าเกิดความเอิบอาบซาบซ่านในสุขเวทนาที่ได้ แล้วก็ติดข้องในสุขเวทนาในการเห็นในการได้ยิน...ไม่มี  

นี่มันจะเป็นตัวที่ชะลอ แล้วก็เป็นไปเพื่อให้เกิดปัญญาหมด ...เพราะนั้นศีลสมาธิปัญญาเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต...จะต้องเอามาใช้ในชีวิตให้ได้ 

โดยไม่มีข้ออ้าง โดยไม่มีสถานที่ โดยไม่มีเวลา โดยไม่มีว่าขณะนี้กำลังมีอารมณ์...ไม่เอาอ่ะ ขอทำตามอารมณ์ไปก่อน ...อย่างนี้ไม่ได้ 

ขณะนี้กำลังเจอเหตุที่มันต้องคิดต้องอะไรอย่างมากนี่ แล้วก็บอกว่ารู้ตัวไว้ทีหลัง ...ไม่ได้ จะต้องสอดแทรกความรู้ตัวตรงนั้นให้ได้ โดยไม่มีข้ออ้าง

แล้วทุกอย่างนี่ มันจะเกิดปัญญาขึ้นจากการกระทบนั่นแหละ จากเหตุภายนอกนั่นแหละที่มันกำลังมีเรื่อง ที่กำลังเป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้างก็ตาม

สุดท้ายมันจะกระทบมาเจอที่เดียว...“เรา” นี่แหละๆ ปัญหา ...เขาไม่ใช่ปัญหาน่ะ คนนั้นคนนี้เรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ใช่ปัญหา ... “เรา” นี่แหละปัญหา  สุดท้ายมันจะพ้องเห็นตรงนี้เลย มันมีอยู่เหตุเดียวเท่านั้น

พอมันเห็นตรงนี้ปุ๊บ มันก็จับเลย จับที่ “เรา” เลย แล้วมันก็จ่อลงที่ “เรา” เลย ...ไม่ไปจ่อที่เหตุภายนอกแล้ว ไม่ไปจ่อที่เรื่องราวแล้ว 

มันจะมีก็มีไป จะตั้งอยู่ก็ตั้งไป มันจะไม่เลิกพูดก็พูดไป มันยังพูดซ้ำๆ อย่างนี้ก็ปล่อยมันไป ...แต่มันจ้องจรดอยู่ที่เหตุคือ "เรา" ...คือกายคือรู้ แล้วมันมี “เรา”

ให้สังเกตเลย เมื่อใดที่มีความเป็น “เรา” ขึ้นมา แรงขึ้นมาเมื่อไหร่ อารมณ์ตรงนี้ก็จะแรง ความโกรธก็จะแรง ความชอบก็จะแรง เนี่ย  

แต่พอ “เรา” ตรงนี้มันหายไป เหลือแต่รู้ชัดๆ กับกายชัดๆ ...ไอ้อาการนั่นจะหายไป เหมือนไม่มีอะไรเลย


โยม –  บางทีมัน พุ้บ มันกลับมาอัตโนมัติ

พระอาจารย์ –  เออ ให้มันเป็นอัตโนมัติยิ่งดี


โยม –  มันก็เหมือนมันจาง แล้วสวิทช์มันตัด แต่ก็รู้ๆ รู้ไว้ก่อนอย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะลงฐานนี้ไว้ แล้วต่อไปมันจะกลับมาแก้ที่เราหมดเลย ไม่ไปแก้ที่คนอื่น 

ไม่ไปแก้ด้วยการกระทำ พูด คิด ใดๆ เลย...เพื่อให้คนอื่นเขารับรู้ด้วยว่า “เออ มึงทำผิดนะ อย่าทำอย่างนี้นะ ต้องเปลี่ยนใหม่นะ” 

มันไม่ไปทำอย่างนั้นเลย ปล่อยเลย ปล่อยไปตามเรื่องของมันเลย ไม่เอามาเป็นเรื่องเลยแต่ตรงนี้ เป็นเรื่องของเราเลย


โยม –  ต้องรีบกลับมา

พระอาจารย์ –  กลับมาตรงนี้ เนี่ย รักษากายใจอยู่อย่างนี้ ...แล้วก็คอยสังเกตว่า ความเป็นเรานี่มันเข้มขึ้นมั้ย มันโผล่หน้าขึ้นมามั้ย มันมีความรู้สึกเป็นเราปรากฏชัดเจนขึ้นมามั้ย 

ถ้ามีความรู้สึกเป็นเราชัดเจนขึ้นมาเมื่อไหร่ อารมณ์มันจะชัดหมดเลย จะแรงตามเลย ...เหมือนกับเป็นปฏิภาคซึ่งกันและกันเลย


โยม –  ค่ะ มันจะอย่างงี้ๆ กันเลย  ถ้าเรารู้ตัวชัด เราก็จะเห็นกายชัดด้วยนะคะอาจารย์

พระอาจารย์ –  ใช่ รู้ตัวชัด...“เรา” น้อย อารมณ์น้อย ... นี่ มันตรงข้ามกัน  

เพราะนั้น จำไว้ให้ดี จดจำไว้ว่าหลักนี่ แก้ได้ทุกเรื่อง แก้กิเลสได้ทุกตัว โดยที่ไม่ต้องไปหกคะเมนตีลังกาหาวิธีการอะไรเลย เข้าใจมั้ย 

ยังไงก็เหมือนเดิมน่ะ ก็แก้ที่เดิม ก็แก้แบบเดิมน่ะ โดยที่...ตรงนี้ที่เดียว แก้ได้หมด เหมือนกับเขาเรียกว่าเป็นยาแบบ...กินกะไดทากะได


โยม –  อ๋อ ได้ทุกโรค

พระอาจารย์ –  เออ ได้ทุกโรค เข้าใจมั้ย นี่คือธรรมโอสถ


โยม –  หนูก็ว่า ถ้าไม่ได้ตรงนี้ หนูคงแย่

พระอาจารย์ –  อือ มันหลายเรื่อง


โยม –  เพราะว่าได้ตรงนี้ค่ะ ดีที่แบบได้อาจารย์

พระอาจารย์ –  เนี่ย แล้วให้เชื่อ เกิดความเชื่อมั่นในศีลสมาธิปัญญา มากขึ้น  จนศีลสมาธิปัญญาเป็นหลัก  แล้วก็ใช้หลัก แล้วก็อยู่กับหลักนี้ จนมันได้หลัก จนไม่ปล่อยจากหลักนี้เลย

นั่นแหละ แล้วทุกอย่างก็เรียกว่า มันก็จะเป็นไปตามครรลองของมรรค ความรู้ความเข้าใจ ที่มาที่ไปของกิเลส ที่มาที่ไปของเรื่องราว อะไรเป็นต้นสาย อะไรเป็นปลายเหตุ มันรู้หมด มันจะเข้าใจในตัวของมันเอง

แล้วมันจะเห็นเลยว่า แต่ก่อนเรานี่โง่มากๆ โง่จริงๆ เดี๋ยวนี้ไม่โง่แล้ว ไม่โง่เหมือนเดิมแล้ว ...แต่ก็ไม่ไปเทียบใครนะว่ามันฉลาดกว่าใคร แต่มันจะเทียบกับตัวเองว่า กูฉลาดกว่าเดิมโว้ย


โยม –  เข้มแข็งขึ้นด้วยค่ะอาจารย์

พระอาจารย์ –  เออ ถ้าเป็นแต่ก่อนนี่ ...กูจะแก้แบบนี้ แล้วกูก็ร้องไห้ทุกครั้งน่ะ แล้วกูก็เสียใจทุกครั้งเลย ...แต่ครั้งนี้กูไม่แก้อย่างนั้น 'เอ๊ะ ฉลาดขึ้น แล้วมันแก้ได้ด้วย' 

เออ แล้วก็ดูเหมือนแก้ได้ง่ายๆ ไม่ได้ลำบากยากเข็ญอะไรเลย ...เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย แค่กลับมารู้อยู่ที่นี้ที่เดียว พอรู้อยู่ที่เดียว มันก็มีจิตเดียว มันก็จะไม่มีจิตสองที่เป็น "เรา" ขึ้นมา

ถ้ามันเป็นจิตหนึ่งก็มีแต่รู้ ถ้าเป็นสอง ตัวแรกที่เป็นสองก็คือ “เรา” ...นี่ กายสังขาร จิตสังขารก็ขึ้นมาเป็น “เรา” ขึ้นมา ...ถ้ามันเคลื่อนออกมาเมื่อไหร่ จิตมันออกมาพร้อมกับ “เรา” เลย 

ความรู้สึกจะเป็น “เรา” อันดับแรกเลย ...แล้ว “เรา” ตัวนั้นน่ะ จะเป็นตัวบ่งบอก ชี้นำ ให้ทำพูดคิดเพื่อให้ได้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งมาเป็นที่เสวย คือ เวทนาในเรา

เมื่อมีความรู้สึกเป็นเราปรากฏขึ้นเมื่อไหร่ มันจะหา...เหมือนมันเป็นเด็กน้อยผู้หิวโหย มันจะต้องมีอารมณ์เป็นที่ส้องเสพ ...หรือไม่มีมันก็สร้างขึ้นมาเอง สามารถสร้างอารมณ์ขึ้นมาเองด้วยนะ...เรานี่ 

อยู่ดีๆ ก็ขุ่นขึ้นมาแบบไม่มีต้นสายปลายเหตุ อยู่ดีๆ ก็เศร้า อยู่ดีๆ มันก็หมองขึ้นมาอย่างนี้...โดยที่ไม่มีใครทำอะไรให้นะ มันมายังไง เนี่ย


โยม –  บางทีก็สบายอะไรก็ไม่รู้

พระอาจารย์ –  เออ พวกนี้ คือความปรุงแต่งของจิตของเราทั้งนั้นเลย 

แต่เราไม่เห็นหน้าค่าตามัน เข้าใจมั้ย เราจะไม่เห็นหน้าค่าตาของเราอยู่ตรงไหนวะ เหมือนมันมาของมันเองลอยๆ มาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยอย่างเนี้ย 

ทุกอย่างมีต้นสายปลายเหตุนะ ...แต่ว่าปัญญาของเรามันไม่เห็น มันไม่ถึง ไม่ถึงเหตุที่เป็นต้นตอของสภาวะจิต สภาวะธรรมารมณ์นี้

เพราะนั้นเมื่อไม่เห็นเหตุไม่ต้องสาว แล้วก็ไม่ต้องสงสัย ...ช่างหัวมัน รู้ตัวๆๆ รู้ตัวเข้าไว้ ตั้งมั่นอยู่ที่รู้ ตั้งมันอยู่ที่กายไว้ 

ทีนี้พอสมาธิมันมากขึ้นเรื่อยๆ ปุ๊บ มันจะเห็นเลย ความเนืองนองของอารมณ์ มันออกมายังไง ...มันเคลื่อน มันขยับ  

แค่เคลื่อน แค่ขยับจากรู้นี่ มันเห็นเลยว่าความเป็นเราเกิดขึ้นพร้อมกับอารมณ์เลย มันจะเห็น ...พอมันเห็นปุ๊บ...ดับปั๊บเลยตรงนั้น ... เขาเรียกว่าดับ ณ ที่เกิดเหตุ...ดับ ณ ที่เกิดเหตุตรงนั้นเลย 

แต่ถ้ารู้อย่างพวกเรา ในระดับเด็กๆ นี่ ...


โยม –  มันต้องทิ้งช่วง

พระอาจารย์ –  นานๆ จะเห็นสักครั้ง เข้าใจมั้ย

โยม –  ค่ะ


พระอาจารย์ – แล้วก็ได้แบบฟลุ้คๆ เหมือนกับ...เอ๊อะ มันได้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจเลย  มันก็เห็นทัน แล้วก็ดับ วับ  แล้วก็รู้สึกว่าอยากให้มันเป็นนานๆ อยากให้มันเป็นทุกครั้ง ...แต่ก็ไม่เห็นนะ


(ต่อแทร็ก 13/11 ช่วง 2)