วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 13/30



พระอาจารย์
13/30 (570405A)
5 เมษายน 2557



พระอาจารย์ –  หลวงปู่ท่านบอกว่า อยากรู้อะไรนี่ ให้ถามใจ ถามผู้รู้  ถามแล้วก็จะได้คำตอบ..ว่าไม่มีคำตอบ มีแต่รู้ แล้วก็จบตรงรู้นั่นแหละ

มันก็มาแทนที่ไอ้ความไม่รู้แล้วอยู่กับสงสัย นั่น ให้ถามผู้รู้เข้าไว้ ...มันก็ไม่ตอบมาเป็นภาษาอะไรหรอก ตอบแต่ลักษณะเดียว อาการเดียวคือ...รู้

สภาวะก็คือสภาวะ..ไม่มีอะไร ...สภาวะขันธ์ ท่านก็เรียกว่าสภาวะขันธ์ สภาวะโลกท่านก็เรียกว่าสภาวะโลก สภาวธรรมท่านก็เรียกสภาวธรรม สภาวะจิตท่านก็เรียกว่าสภาวะจิต ...ทั้งหมดก็คือสภาวะ

คำว่าสภาวะก็คือการประชุมกันขึ้นมา ...ความเป็นจริงมันไม่มีอะไร ก็เป็นการประชุมกันขึ้นมาชั่วคราวหนึ่งแค่นั้นเอง มันไม่มีจริง-ไม่มีเท็จอะไรในนั้นหรอก มันก็เป็นแค่สภาวะ 

ไม่ต้องไปสงสัย ไม่ต้องไปค้นไปหาสภาวะทั้งหลาย ...เพียงแค่รู้ ดู เห็น ตามสภาวะนั้นๆ  ก็จะเห็นความเป็นจริงของสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ล้วนแล้วแต่มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นธรรมดา แค่นั้นเอง

แต่ถ้าเข้าไป ถ้าเอาเราเข้าไป..สงสัยบ้าง อยากบ้าง ไม่อยากบ้าง..กับสภาวะนั้นน่ะ  มันจึงเกิดความต่อเนื่องในสภาวะ...ซึ่งในความต่อเนื่องของสภาวะนั้น มันจะมีแล้วมันก็จะเป็นเรา ของเรา...ทุกสภาวะ

เพราะนั้นถ้ามันไปต่อเนื่องกับสภาวะเมื่อไหร่นี่ เมื่อนั้นน่ะมันจะอยู่ใต้ร่มเงาของความเป็นตัวเราของเรา ....ท่านถึงบอกว่า การเรียนรู้สภาวะนี่ มันจะต้องเรียนรู้ด้วยจิตหรือใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

คือต้องเรียนรู้ด้วยสมาธิหรือว่าจิตตั้งมั่น มันจึงจะไม่เข้าไปเป็น ไม่เข้าไปมี ในสภาวะนั้นๆ แล้วมันจึงจะเกิดปัญญาที่เรียกว่าเห็นสภาวะตามความเป็นจริง

เพราะนั้นไอ้คำว่าเห็นสภาวะตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่ามันคืออะไร มันหมายความว่าอย่างไร มันดีอย่างไร มันร้ายอย่างไร มันถูกอย่างไร มันผิดอย่างไร

คำว่าเห็นสภาวะตามความเป็นจริง คือเห็นว่า...มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป..เป็นธรรมดา ...ไม่มีตัวไม่มีตนอะไรแน่นอนชัดเจน แค่นั้นเอง

แต่การเรียนรู้สภาวะนี่...ที่ว่ามันยากหรือว่าเป็นของยากก็เพราะว่า จิตนี่ มันส่าย มันแส่ ด้วยอำนาจของตัณหา ด้วยอำนาจของอุปาทาน คือความเป็นเราอยู่ตลอดเวลา

มันจึงไม่สามารถเรียนรู้สภาวะด้วยจิตที่เป็นกลางได้ จึงเกิดความเข้าไปสำคัญมั่นหมายในทุกสภาวธรรม รวมทั้งกาย จิต โลก ต่างๆ นานา

มันจึงเกิดความสับสน มันจึงเกิดความสุข มันจึงเกิดความทุกข์ ...เพราะว่าการเข้าไปเรียนรู้ มันไม่ได้เรียนรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง มันกลับเข้าไปในลักษณะ ค้น หา ควาน แล้วก็ถือครอง ครอบครอง

เพราะอะไร ...เพราะมันเข้าไปในลักษณะที่ส่ายแส่ ไปในลักษณะที่มีเรา..เป็นเราอยู่ตลอดเวลา เป็นรากเหง้า เป็นรากฐานของอวิชชา ...ซึ่งมันมีทุกคน มันเป็นทุกคน

เพราะฉะนั้น การที่จะเรียนรู้สภาวธรรมจนกว่ามันจะเข้าใจสภาวะตามความเป็นจริงนี่ ...มันจะต้องฝึกจิตเป็นอันดับแรก ให้เกิดสัมมาสมาธิคือจิตตั้งมั่นและเป็นกลางให้ได้ซะก่อน

ถ้าไม่ตั้งมั่น ถ้าไม่เป็นกลางปุ๊บ จิตส่าย จิตไหว จิตเคลื่อนออกไปเมื่อไหร่นี่ ...มันออกไปพร้อมกับความเป็นเราตลอดเวลา มันพร้อมที่จะไปถือครอง หมายมั่น ยึดถือ เกาะเกี่ยว คาด หวัง หมาย

ไปตามประสาความไม่รู้ ไปตามประสาอนุสัย ความเคยชิน มันเคยชินมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว  ไม่ต้องสอน ไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องเรียนใหม่  มันเป็นไปโดยปกติของกิเลสที่มีมาทุกผู้ทุกคน

เพราะว่าที่มันเกิดมาเป็นมนุษย์นี่ มันไม่ใช่ว่าเกิดมาพร้อมกับความไม่มีกิเลสนะ มันเกิดมาพร้อมกับกิเลส...ไม่งั้นก็ไม่เกิดสิ ก็เป็นพระอริยะ พระอรหันต์ไปแล้ว

ไอ้ที่มาเกิดนี่ มันเกิดมาด้วยความเคยชินของอนุสัย ที่จะมาควาน ค้น หา สุข-ทุกข์ ความเป็นจริง...ที่มันยังไม่ได้ ไม่มี แล้วยังไม่ได้เป็น เมื่อชาติเมื่อภพที่แล้ว

แล้วมันถูกตัดรอนด้วยอายุขันธ์อายุขัย มันตาย มันดับ...ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นเทวดา อินทร์ พรหม เป็นยม เป็นยักษ์ เป็นเปรต สัตว์นรก อสุรกาย

มันก็มาทำความค้นหาต่อเมื่อมันได้ขันธ์ใหม่...ด้วยความไม่อิ่ม ไม่เต็ม ไม่พอ ไม่เข้าใจว่าความเป็นจริงมันอยู่ที่ไหน ...ด้วยความไม่รู้นี่ มันก็เข้าใจว่าความเป็นจริงมันอยู่ในสภาวะต่างๆ นานานี่แหละ

เพราะนั้น การอบรมเบื้องต้นเบื้องแรกเลยนี่คือต้องควบคุมจิตให้ได้..ให้เป็น ...การควบคุมจิตนี่ หรือท่านเรียกว่าเป็นการอบรมจิต ให้หยุด ให้อยู่ ให้คิดนึกน้อยลง ให้ปรุงแต่งน้อยลง

ให้แม้กระทั่งเรียกว่าที่สุดก็คือว่า...ให้เท่าทันทุกดวงจิตเลย นั่นน่ะ ขั้นละเอียดน่ะ  มันจะต้องเรียกว่า เท่าทันทุกดวงจิต ไม่มีได้แตกกระสานซ่านกระเซ็นออกไป แม้แต่อณูหนึ่งเลย

ถ้าในระดับนี้ท่านจะเรียกว่ามหาสมาธิ ...เมื่อมันเข้าถึงได้ถึงมหาสมาธิ คือจิตหยุดอยู่โดยไม่เคลื่อนไม่ไหว ไม่ปรุง ไม่แต่ง ...ปัญญาที่ได้ การรู้การเห็นที่ได้ ท่านเรียกว่ามหาปัญญา

เพราะนั้นในลักษณะของมหาสมาธิ มหาปัญญา ...มันจะเรียนรู้ทุกสภาวะตามความเป็นจริงเลย แล้วมันจึงจะค่อยๆ สำเหนียก เข้าใจ แล้วยอมรับสภาพทุกสภาพ

ว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดานั่นเอง ...และมันเป็นการเรียนรู้ในลักษณะที่...จิตหนึ่ง จิตรู้ จิตเห็น

คำว่าจิตหนึ่ง จิตรู้ จิตเห็น  คือจิตที่ปราศจากความนึกคิดปรุงแต่ง ภาษา บัญญัติ สมมุติ ...ลักษณะจิตที่มันเรียนรู้โดยลักษณะอาการนี้ จึงเรียกว่ามหาปัญญา ที่เรียกว่าญาณทัสสนะ

แล้วก็ด้วยญาณทัสสนะนั่นเอง มันก็เข้าใจไตรลักษณ์แบบไม่มีภาษา  มันก็ยอมรับสภาวะต่างๆ เป็นไตรลักษณ์ โดยที่ไม่อ้างอิงภาษาว่านี้คือไตรลักษณ์

ไม่มีแม้กระทั่งคำว่าเกิดและดับ ไม่มีแม้กระทั่งว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ...ไม่มีคำพูดใดๆ

ถ้ามันยังมีก็แปลว่า ยังมีจิตเล็ดลอดปรุงแต่งสัญญาภาษา อ้างอิงตำรา อ้างอิงสัญญาที่ได้ยินได้ฟังมา ...นี่คือมันยังไม่เชื่อในสภาพธรรมตามความเป็นจริงแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ไม่ต้องกลัวหรอก ถ้ามันอยู่ในแวดวงที่ดำรงคงอยู่ในการรักษาจิตให้เป็นหนึ่งไว้นี่ ...อาการวิพากษ์วิจารณ์เป็นภาษาธรรมนี่ มันก็จะค่อยๆ เงียบไป ไม่มีภาษา

มันก็เป็นความรู้ความเห็นแบบเงียบๆ  เป็นความรู้ความเห็นที่เข้าใจลึกๆ อยู่ภายใน  ยอมรับลึกๆ อยู่ภายใน...โดยไม่มีบัญญัติภาษามาเป็นตัวกำกับเลย

แต่เบื้องต้นเบื้องแรก มันยังต้องใช้ภาษาหรือถ้าไม่ค่อยมีภาษาขึ้นมามันจะไม่ค่อยยอมรับ ...เพราะนั้น เมื่อใดเวลาใดที่เราฝึกให้จิตมันหยุดอยู่ แล้วมันสามารถหยุดอยู่กับกายนี่

คือการหยุดอยู่ การทำให้จิตหยุดอยู่ ที่เรียกว่าการอบรมจิต มันจะหยุดอยู่เองไม่ได้ มันต้องฝึก ...แล้วทำยังไงถึงจะให้มันหยุดอยู่ ...มันไม่มีวิธีการอื่นนอกจากว่า ต้องมาหยุดอยู่กับปัจจุบันกายเป็นหลัก

เข้าใจว่าหยุดอยู่กับกายเป็นหลักไหม คือมันหยุดอยู่กับจิตก็ได้ หยุดอยู่กับฐานใดฐานหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ ก็ได้ ...แต่มันจะหยุดอยู่ได้จริงๆ ต้องอาศัยกายเป็นหลักๆ

เมื่อมันหยุดอยู่ได้นี่  ...สมมุติว่าทุกคนนี่ที่ได้เคยได้ยินได้ฟังเราสอนนี่ เราจะเน้นเรื่องกายเป็นหลัก  แล้วเอาไปกำกับระลึกอยู่กับกาย จนบางครั้งบางช่วงรู้สึกว่ามันไม่มีคำพูด ไม่มีความเห็น

มันจะรู้สึกไม่มีความรู้ใดๆ เกิดขึ้นตรงนั้นเลย ...อย่าตกใจ อย่ากังวล อย่าทุรนทุรายในการควานค้นหาภาษาบัญญัติมารองรับธรรม หรือสภาวธรรมใดที่มันกำลังปรากฏเงียบๆ นั้น

ใจเย็นๆ แล้วก็อยู่กับรู้ แล้วก็อยู่กับเห็น แล้วก็อยู่กับกายไปเงียบๆ ...ไม่ต้องกลัวหรอกว่าจะโง่ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่รู้ ถ้าไม่มีภาษาขึ้นมาแล้วมันจะวางอะไรไม่ได้ มันจะเข้าใจอะไรไม่ถึง ไม่เข้าใจในธรรม

การเข้าใจในธรรม การลึกซึ้งในธรรม เป็นการเข้าใจโดยไม่มีภาษา เป็นการเข้าใจที่แท้จริง เป็นการเข้าถึงธรรมที่แท้จริง ...แต่มันต้องใช้เวลา..ใช้เวลาพอสมควร

ก็อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ธรรมขึ้นมา หรือไปวิตกวิจารในธรรมใดธรรมหนึ่งขึ้นมาเป็นภาษา ...เงียบเข้าไว้ รู้เฉยๆ กับกายเงียบๆ ...ถ้ามันอยู่กับกายได้เงียบๆ แล้วนี่ บทเรียนขั้นต่อไปคือ...เท่าทันจิต

จิตมันจะวอบ จะแวบ จะไปจะมา จะขึ้นจะลง จะดีจะร้าย จะหาจะค้น จะอยากจะไม่อยาก ...ละซะ วางซะ สลัดทิ้งออกไปซะ อย่าไปสนใจ อย่าไปแยแสมัน ...ให้เท่าทันจิตทุกดวง

 ดีก็ไม่เอา ร้ายก็ไม่เอา ถูกก็ไม่เอา ผิดก็ไม่เอา ปัญญาเป็นภาษาก็ไม่เอา ปัญญาเป็นคำพูด ปัญญาเป็นความจำก็ไม่เอา จะไปเอาความจำมาเทียบเคียงกับตำรา ที่มันเคยอ่านที่มันเคยได้ยิน...ก็ไม่เอา

เงียบเข้าไว้ ตั้งมั่นไว้ ...รักษาจิตหนึ่งไว้ รักษากายหนึ่งไว้ ให้มันต่อเนื่อง ให้มันตายจากความคิดนึกปรุงแต่งซะบ้าง..ให้มันตาย ...ซึ่งมันยังตายไม่สนิทหรอก มันจะตายสนิทเมื่อเป็นพระอรหันต์ 

มันก็แค่ตายชั่วคราว นี่...ก็ฝึกอยู่กับจิตที่มันตายจากความคิดนึกปรุงแต่ง ตายจากอารมณ์ ตายจากกิเลสชั่วคราวก่อน ...แล้วไม่ต้องไปหาอะไรมาเป็นเครื่องเติมต่อให้มัน มันไม่มีอะไรก็ดีแล้ว 

จะไปหาอะไร ไปให้จิตมันหาอะไรขึ้นมา หาอะไรที่ไม่มีสาระให้เป็นสาระเหรอ...ไม่มี  จิตมันหลอก มันก็ว่าอย่างนั้นดี อย่างนี้ใช่ ว่าอย่างนั้นมีประโยชน์ มีความสลักสำคัญต่อการปฏิบัติ ...อย่าไปเชื่อมัน

มันหลอกๆ จิตหลอก จิตเป็นของหลอก ...ให้เท่าทันจิต ไม่ต้องไปดูมัน...ละเลย วางเลย  ไม่ผิดกติกา ไม่ผิดสติปัฏฐาน ๔  เห็นจิตละจิต เห็นกิเลสละกิเลส เห็นอารมณ์ละอารมณ์ เห็นธรรมารมณ์ละธรรมารมณ์

แต่เห็นกาย...เอาไว้ อยู่ไว้ รักษากายไว้ รักษาความรู้กับกายไว้ ...ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะ สมาธิมันจะง่อนแง่น คลอนแคลน ...มันจะถูกเซาะให้ล้มอยู่ตลอดเวลา

มันจะถูกเซาะให้กร่อนด้วยอำนาจของจิตคิดนึกปรุงแต่ง ด้วยอำนาจของเรา...ที่มันควานค้นไปในอดีต ไปในอนาคต...โดยอาศัยจิตเป็นเครื่องนำพาออกไป

จิตนี่...มันเป็นเหมือนพวกโลจิสติกน่ะ ระบบขนส่ง  มันจะออกอยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยอยู่ ...แล้วพวกเราก็คุ้นเคยกับการที่จิตออก หรือว่าจิตไปค้นหาอะไรมา...ให้ได้ ให้มี ให้เสพของเรา

แล้วก็ไปติดในสิ่งที่จิตมันไปหามา ได้มา ไปเสพมา ไปปรุง ไปสร้าง ไปจำลอง ไปสร้างโมเดลใดโมเดลหนึ่งขึ้นมา ...แล้วก็ลุ่มหลงเข้าไป เกิดความลุ่มหลงมัวเมากับมันขึ้นมา

มันล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์อุปาทานทั้งสิ้น ...ไม่ใช่ทุกข์ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกข์ในกองขันธ์ด้วย ไม่ใช่กายที่เป็นทุกข์ด้วย ...แต่เป็นทุกข์อุปาทาน...ละซะ วางซะ

เงียบๆ รู้ตัวเงียบๆ รู้ตัวง่ายๆ ธรรมดา ...แล้วทรงไว้ พยายามทรงไว้ ทรงไว้ด้วยความสม่ำเสมอ ทรงไว้ด้วยความเหนียวแน่น  แล้วมันจะค่อยๆ มั่นคง แข็งแกร่งในความเหนียวแน่นขึ้นมา

แล้วสมาธินี่จะเป็นสมาธิที่ยืดหยุ่น ...คือสัมมาสมาธินี่ มันจะเป็นสมาธิที่ยืดหยุ่น คือเหนียว ยืดหยุ่น โค้งงอได้ ไม่หัก ไม่เปราะง่ายๆ ...มันไม่แตกหักง่ายเหมือนความสงบที่ได้จากการข่มจิตด้วยอำนาจของสมถะ

เพราะนั้นการที่จะให้สมาธินี่มันตั้งมั่นโดยที่ยืดหยุ่นโค้งงอได้นี่ คือเราจะต้องฝึกให้จิตนี่ มันมารู้อยู่กับกายในหลายรูปแบบ ...ซึ่งคำว่ากายในรูปแบบคือ ปกติหรือปัจจุบันกายที่มันมีหลายรูปแบบ

คือ รูปแบบนั่ง รูปแบบยืน รูปแบบเดิน รูปแบบนอน นี่เฉพาะรูปแบบใหญ่ๆ ...แล้วในรูปแบบใหญ่มันก็ยังมีความรู้สึกที่แล่นไปมาในกาย เรียกว่าความรู้สึกย่อยๆ พวกนี้

เราไม่ได้กำหนดอย่างที่เขาบอกว่ากำหนดลมเป็นอารมณ์ถ่ายเดียว  ถ้ากำหนดลมเป็นอารมณ์ถ่ายเดียวนี่ ลักษณะนี้มันจะหัก สมาธิมันจะหัก จะเปราะ ...คือมันจะรักษาด้วยความต่อเนื่องได้ยาก หรือไม่ได้

แต่ถ้าสติมาระลึกโดยทั่วในกาย หมายความว่าตรงไหนก็ได้ที่มันเป็นความรู้สึก เช่นตรงนี้...ตรงที่นั่งนี่ มันมีความรู้สึกในรูปทรงนั่งตรงไหน ก็รู้ตรงนั้น มันชัดตรงไหนก็รู้ตรงนั้น 

จุดตกกระทบนี่ ตอนนี้มันจะชัดตรงจุดกระทบ หรือว่าเวลาลมพัดมา มันก็มารู้ที่ลมวูบหนึ่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเดือดเนื้อร้อนใจ เมื่อมันย้ายที่รู้จากจุดตกกระทบที่ก้นที่ขามาเป็นที่ลม นี่ให้มันย้ายไปย้ายมาอยู่ในกายนี้

ลักษณะนี้จิตมันจะตั้งมั่นโดยที่ยืดหยุ่นได้ ...หมายความว่า กายผิดรูปไป กายเปลี่ยนรูปร่างไป กายเปลี่ยนรู้สึกภายในไป...มันก็สามารถจะรู้ต่อเนื่องกับลักษณะอาการของกายได้โดยตลอด โดยทั่ว

โดยไม่เลือก โดยไม่เลือกธรรม ไม่เลือกธรรมที่เรียกว่ากายที่มันจะย้ายไปย้ายมา ตามความเปลี่ยนแปลงไปของสภาวะกายที่อิริยาบถ แล้วสภาพแวดล้อมกับกาย มันเป็นผัสสะทางเวทนาในกาย

ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปจมแช่อยู่ที่ใดที่หนึ่ง แล้วก็เมื่อมันหายหรือว่ามันไม่เห็นลักษณะที่มันเด่นชัดตรงนั้น ก็เดือดเนื้อร้อนใจ หรือว่าทุรนทุรายจะสร้างสภาวะกายที่มันจมแช่อยู่ตรงนั้นขึ้นมา

เนี่ย เรียนรู้กับการตั้งรู้ตั้งเห็นอยู่กับกาย ไม่ใช่ไปเอาจุดใดจุดหนึ่งตายตัวเลยทีเดียว แต่ขอให้เป็นกายปกติ ขอให้เป็นกายปัจจุบัน ...สัมปชัญญะมันจะเกิดขึ้น 

ความต่อเนื่องมันจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในกาย ความรู้ในกายก็จะเกิดขึ้น ...เมื่อความรู้ในกายหรือความรู้กับกายมันต่อเนื่องขึ้น นี่แหละคือเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตนี่ตั้งมั่นอย่างแข็งแกร่ง ด้วยความต่อเนื่อง

ถ้ามันตั้งมั่นด้วยความแข็งแกร่ง ด้วยความต่อเนื่องแล้วนี่ ...กายก็จะชัดตามสภาพ ใจก็ชัดตามสภาพ..มาแทนที่จิต …นี่ เราใช้คำว่า "จิต" กับ "ใจ" นี่คนละความหมายกันนะ

จิตเมื่อมันหยุด มันก็จะเหลือแต่สภาวะคล้ายกับใจ ซึ่งไม่มีการนึกคิดปรุงแต่ง แต่มันมีสภาวะรู้และเห็นเฉยๆ ...ตัวนี้มันก็จะเด่นชัดขึ้นมา ด้วยอำนาจของสมาธิ มันจะทำให้ใจผู้รู้นี่เด่นชัดขึ้นมา 

เมื่อมันเด่นชัดขึ้นมา ศีลคือกาย สมาธิคือจิตผู้รู้ตั้งมั่นเป็นกลาง ...จึงเป็นเหตุให้เกิดญาณหรือว่าปัญญา

ความชัดของกายตามสภาพ...อย่างที่ปรากฏ เท่าที่ปรากฏ อย่างที่มี เท่าที่มี ...การรู้การเห็นโดยที่ไม่ต่อเติม ไม่แต่งแต้ม ไม่เพิ่มไม่ลด โดยจิตที่มันเข้าไปปรุงกับกายก็ไม่มี มันหยุด..เหลือแต่รู้และเห็น

ตรงนี้กายตามสภาพที่แท้จริง มันจะชัดเจนขึ้นๆ จิตตามสภาพที่แท้จริงก็จะชัดเจนขึ้น กลายเป็นใจผู้รู้ผู้เห็น ...นั่นแหละคือเหตุของจิต ต้นเหตุของจิต ...มันก็อยู่ที่เหตุ ใกล้เคียงเหตุที่แท้จริงคือใจที่สุดแล้ว 

ตรงนี้จึงเป็นลักษณะที่เรียกว่า สมควรแก่เหตุของปัญญา ...ศีลสมาธิขณะนี้ จึงเรียกว่าเป็นที่ที่สมควรแก่เหตุให้เกิดปัญญา คือความรู้แจ้ง คือความเห็นจริง ตามสภาพที่แท้จริง

โดยสิ่งที่มันจะต้องเห็น สิ่งที่มันจะต้องเรียนรู้อันดับแรก ก็คือกาย ...ไม่ใช่อันดับสอง อันดับสาม อันดับรองโหล่ อันดับโหล่ ...แต่ว่ามันต้องเป็นอันดับแรก

เพราะว่าสภาวะกิเลสที่เกิดขึ้น ตัวแรกตัวใหญ่เลยนี่ ...ตัวที่ปิดบังความเป็นจริงอย่างยิ่ง ตัวที่ปิดบังธรรมชาติที่แท้จริงอย่างยิ่งของขันธ์และโลกนี่

กิเลสตัวใหญ่ตัวแรกก็คือ...ตัวเรา ความรู้สึกของเรา ความรู้สึกเป็นเรา ตัวนี้ตัวใหญ่เลย ...นี่ พวกเราใช้ชีวิตอยู่ใต้ร่มเงาของเราตลอดเวลา แม้แต่กระทั่งมาปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ยังอยู่ใต้ร่มเงาของเรา

เพราะนั้น จะได้ธรรมะสูงส่งขนาดไหน...โดยที่ไม่พิจารณากายเห็นกายตามความเป็นจริง มันก็ยังเป็นสภาวธรรมที่ได้ใต้ร่มเงาของเรา..เป็นเราผู้ได้ธรรม เป็นเราผู้ปฏิบัติดี-ไม่ดี เป็นเราผู้ที่จะได้ธรรมในอนาคตต่อไป 

เห็นมั้ยว่าลึกๆ นี่มันจะอยู่ใต้ร่มเงาของเราตลอดเวลา แต่ทำเป็นแกล้งไม่เห็น ทำเป็นแกล้งไม่รู้ ทำเป็นแกล้งว่า เดี๋ยวมันก็จะละได้เองเมื่อได้ธรรมขั้นสูงงงงง ...สูงไหนก็ไม่รู้ ที่ว่าสูงก็ไม่รู้อยู่ไหน ใช่มั้ย


(ต่อแทร็ก 13/31)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น