วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 13/37



พระอาจารย์
13/37 (570406A)
6 เมษายน 2557


พระอาจารย์ –   ตีสามทำวัตรรึเปล่านี่

โยม –  ไปช้า ไม่ได้ตื่นค่ะ


พระอาจารย์ –  ทุ่มนึงล่ะ

โยม –  ทำค่ะ


พระอาจารย์ –  ฟังเทศน์หลวงปู่ว่ายังไง เขาเปิดเรื่องอะไร

โยม –  พูดเรื่องความตายเจ้าค่ะ


พระอาจารย์ –  ตายใหญ่ ตายย่อย ...กาย อิริยาบถนี่แหละตาย ตายเป็นขณะไป ก็เรียกว่าขณิกะมรณะ ...การดูกายนี่ ก็จะเห็นกายเกิดดับเป็นขณะของมันไป ท่านเรียกว่าเป็นขณิกะมรณะ

การเกิดดับในแต่ละขณะของกาย มันก็เป็นไปด้วยความดับไปของขันธ์ เพราะนั้นการพิจารณากายมันก็คือการพิจารณาความตายอยู่ทุกขณะ เพราะกายมันตายอยู่ทุกขณะ...ตายเกิดๆ ทดแทนกัน

เมื่อใดที่มันหมดปัจยาการแห่งการเกิด คือกรรมและวิบาก ลมหายใจก็หยุด หัวใจก็หยุดเต้น ตาย ...อันนี้ตายใหญ่ตายจริง ตายแล้วก็ความสืบเนื่องในขันธ์ปัจจุบันก็ขาดสะบั้น ยังคงไว้แต่จิตกับใจ

จิตก็คือส่วนหนึ่งของอวิชชาที่มันคุมใจไว้ มันก็พาไปเกิดใหม่ หาขันธ์ใหม่มาเป็นที่อาศัย แสวงหาความสุข โดยอาศัยขันธ์น่ะเป็นเครื่องมือ แสวงหาสิ่งที่มันยังค้างคาข้องแวะ ผูกพันเกาะติด

ตราบใดที่ยังลบล้างอวิชชาที่มันครอบงำใจไม่ได้ ไม่หมด...ยังไงมันก็พาเกิด มันมีความปรารถนาในสุข โดยมี “เรา” น่ะ เป็นตัวแทนของอวิชชา ไขว่คว้า ค้นหา ส้องเสพ ไม่อิ่ม ไม่มีวันพอ ไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันหยุด

เพราะนั้นท่ามกลางการเกิดขึ้นมาใหม่น่ะ มันก็เกิดขึ้นมาท่ามกลางทุกข์น่ะ ทุกข์จากการพลัดพราก ทุกข์จากการประสบสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจหวัง

หรือว่าประสบสิ่งที่ได้ดังหวังแล้วก็อยู่ไม่ได้นานก็จากไป มันเป็นทุกข์ ท่ามกลางความทุกข์ ...แล้วมันก็ได้สุขมาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเล็กๆ น้อยๆ หลอกล่อต่อเนื่อง

ด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ที่จบ ไม่รู้ที่หยุด ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้ว่าจะหยุดได้ยังไง ไม่รู้ว่าจะหยุดตอนไหน วนเวียนซ้ำซากในการเกิดการตายอยู่อย่างนี้

อวิชชามันแทบจะปิดประตูตีแมว ปิดประตูตายเลย ...พอเกิดมามันก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวแล้ว เกิดใหม่มันลืมหมด มันลบ มันปิดบังสัญญาในอดีตชาติหมด

อย่างพวกเรานี่ไม่เชื่อหรอกว่าตายแล้วเกิดใหม่ ลึกๆ ไม่เชื่อ ...ไอ้ที่เชื่อนี่เพราะเขาบอกว่าน่าจะเกิดใหม่ ต้องเกิดใหม่ โดยเป็นธรรมเนียมชาวพุทธ  แต่ลึกๆ จริงๆ จิตไม่เชื่อ ไม่เชื่อในการเกิดตายใหม่

เพราะมันก็ไม่รู้ว่ามันเคยเกิดมายังไง มันจำไม่ได้  แล้วมันก็ไม่รู้ว่ามันตายแล้วจะได้เกิดใหม่อีกรึเปล่า มันก็ไม่เชื่อ ลึกๆ แล้วไม่เชื่อ ...เป็นธรรมดา กิเลสมันปิดบัง ความไม่รู้มันปิดบัง

แต่ที่เชื่อนี่เพราะว่าพระนี่พูด พระพุทธเจ้าท่านบอก เท่านั้นเอง ...แต่โดยความเป็นจริงก็ยังไม่เชื่อเต็มหัวใจหรอก ว่ามีการเกิดการตายจริง มีการเกิดใหม่ มีการตาย มีการวนเวียนในสังสารวัฏ

มันลบ มันปิด มันบัง...สัญญา ในการเกิดนี่ ลืมตามันก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรแล้ว แล้วค่อยมาฟื้นความจำในปัจจุบัน ภพชาติในอดีตก็ถูกกลบคลุมไป ...มันเป็นธรรมชาติของอวิชชา

จนกว่ามันจะมาศึกษาทำความเข้าใจโดยการภาวนา แล้วมันเกิดความรู้ความเข้าใจเป็นปัจจัตตังขึ้นมา

แล้วมันจะเห็นว่าในโลกในขันธ์นี่ ...ตราบใดที่ยังมีโลกมีขันธ์อยู่ มันไม่มีอะไรดับจริง มันไม่มีคำว่าสูญสิ้น ไม่มีอะไรหายไปไหน ...มันเป็นเพียงแค่หมุนวน ขันธ์นี่ก็หมุนวน

ไอ้ที่ตายๆๆ เรียกว่าตายแล้วหายไป ...คือมันไม่ได้หายไปไหน ขันธ์ก็ไม่ได้หายไปไหน  มันเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนคืนเป็นดิน เป็นสสาร เป็นอากาศ เป็นเถ้าธุลีตกอยู่ในโลกอย่างนี้

แล้วพอจิตวิญญาณมันเข้ามาปฏิสนธิ มันก็มารวมธาตุรวมขันธ์ขึ้นมาใหม่ ...ก็อาศัยธาตุขันธ์เก่านั่นแหละที่มันตกค้างอยู่ในโลก

เพราะนั้นสสารและพลังงานในโลกนี่มันไม่มีคำว่าดับสูญ มันเพียงแค่เปลี่ยนสภาพ ...นี่ที่เรียกว่าเป็นภาวะเหมือนวัฏจักรหมุนวนอยู่อย่างนั้น

เหมือนโลกทั้งโลก...สมมุติโลกนี้มันแตกไป มันก็ไม่ได้หายสาบสูญไปไหน มันก็คืนไปอยู่ในอวกาศ ...แล้วเดี๋ยวมันก็มีเหตุปัจจัยของธรรมชาติของจักรวาลมันก็ก่อรวมตัวขึ้นมา

โดยอาศัยธาตุทีละเล็กทีละน้อย จากดาว พระอาทิตย์ จากอะไรหลายอย่างเหตุปัจจัย มันก็หมุนวนกลับคืนเป็นโลกขึ้นมาใหม่ ...ในจักรวาลจึงเรียกว่ามันไม่มีอะไรดับจริง

มันเพียงแต่ว่าดับชั่วคราว แล้วก็เปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนรูปทรงแค่นั้นเอง  มันก็ก่อรูปทรงก่อรูปร่างขึ้นมาใหม่ ดูเหมือนเป็นของใหม่ขึ้นมา ...จริงๆ มันเป็นของเก่า มันวน มันไม่มีอะไรดับหายไปเลย 

เนี่ย ถ้ามันเข้าใจ...โดยการภาวนาด้วยตัวของมันเอง แล้วมันจะเข้าใจว่า เพราะเหตุนี้เองการเกิดการตายมันจึงไม่มีคำว่าจบจริง มันแค่เปลี่ยนสภาพไปมา มันไม่มีคำว่าตายว่าสูญ...เป็นไปไม่ได้ 

ไม่มีคำว่าสูญ จิตวิญญาณไม่มีคำว่าสูญคำว่าสิ้น ...แต่คราวนี้ คำว่าดับโดยสิ้นเชิงนี่ หรือว่านิโรธนี่ คือความดับโดยสิ้นเชิง ในทางพระพุทธศาสนา 

ในทางพระพุทธเจ้าพูด ท่านเรียกภาวะดับโดยสิ้นเชิงนี่ ท่านเรียกว่านิพพาน ...แล้วทำไมมันถึงดับสิ้นเชิง ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมันเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นถึงความดับไปที่เหตุนั้น 

ทุกอย่างน่ะ ในการเกิด ในการดับ ในการตั้งอยู่ ในการแปรปรวน ในการเปลี่ยนแปลงนี่ มันมีเหตุ ...การภาวนานี่ มันเข้าไปถึงเหตุ มันเข้าไปเห็นที่เหตุ 

ต้นเหตุ...เหตุแห่งการเกิดของสรรพสิ่ง ว่าเหตุมันอยู่ที่ไหน ...แล้วก็เข้าไปดับ เข้าไปละ เข้าไปทำลายเหตุ ที่เป็นที่ตั้งหรือว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเกิด

ถ้าเหตุตัวนี้ถูกดับถูกทำลายด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญาแล้วนี่ หมายความว่า การเกิด การสืบเนื่องแห่งการเกิด มันขาดตอน ขาด ปัจยาการแห่งการเกิดมันไม่สามารถมีปัจยาการขึ้นมาได้ ...ตอนนั้นน่ะจึงเรียกว่าดับโดยสิ้นเชิง 

ซึ่งเมื่อมันดับโดยสิ้นเชิงนี่ มันจะต้องออกจากระบบ ออกจากระบบวัฏสงสาร ระบบจักรวาล ระบบอนันตาจักรวาล เพราะตราบใดถ้ามันยังอยู่ในระบบ มันก็จะต้องอยู่ใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์ เกิดตั้งดับๆๆ 

เพราะนั้นสภาวะที่ดับโดยสิ้นเชิง หรือว่านิพพาน เป็นสภาวะที่เหนือโลก เหนือสรรพสิ่ง เหนือธรรมชาติ เหนือวัฏสงสารทั้งมวล ไม่กลับมากลืมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับโลก กับสามโลกได้ 

เพราะสภาวะนิพพานเป็นสภาวะที่เรียกว่าเป็นวิสังขาร หรือว่าเป็นอสังขตะ อสังขตธาตุ มันเป็นอสังขตธาตุ อสังขตธรรม  

คำว่าอสังขตะ คือเป็นธรรมหรือเป็นธาตุที่ไม่ปรุงแต่ง...แล้วก็ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งกับมันได้ แล้วตัวมันก็ไม่เข้าไปปรุงแต่งกับอะไรได้ ...เนี่ย ที่เรียกว่าเป็นอสังขตะ

เพราะนั้นตัวนิพพาน สภาวะนิพพาน มันจึงเป็นสภาวะที่มันมีอยู่ในขันธ์นี่...อยู่ในใจ อยู่ที่ใจนั่นแหละ ...แต่เราไม่สามารถเข้าถึงสภาวะนิพพานได้

เพราะใจดวงนี้มันถูกห่อหุ้ม มันถูกห่อหุ้มด้วยความไม่รู้หรืออวิชชา...เหมือนเป็นเปลือก มันหุ้มไว้ ทำให้สัตว์บุคคลนี่ไม่สามารถเข้าถึงใจได้

มันก็เข้าได้แค่ไปติด...เข้าไม่ถึงใจ ก็ติดอยู่ที่อวิชชา หรือติดอยู่ที่เปลือกที่มันห่อหุ้มใจ เข้าไม่ถึง ...นิพพานมันก็ไม่บังเกิดขึ้น

เพราะนั้นการจะทำให้เข้าถึงนิพพาน หรือเข้าถึงใจที่เป็นหนึ่ง วิสุทธิใจ หรือวิสุทธิจิต วิสุทธิธาตุ มันก็ต้องทำการอบรม ขัดเกลาความหนาแน่นของกิเลสอวิชชาความไม่รู้นี่ 

ให้มันเกิดความเจือจางเบาบางไปทีละเล็กทีละน้อย ...มันก็จะค่อยๆ เห็นสภาวะที่แท้จริงของใจภายในขึ้นมา

เพราะนั้นธรรมชาติของใจนี่ ที่มันอยู่ในขันธ์ อยู่กับโลกนี่ มันจะมีธรรมชาติเฉพาะในตัวของมัน มีคุณลักษณะในตัวของมัน...คือเป็นความสว่าง บริสุทธิ์

เมื่อมาอยู่กับขันธ์ หรือว่าสสาร หรือว่าวัฏสงสาร หรือว่าอยู่ในจักรวาล ...เมื่อมันมาปนอยู่ในอนันตาจักรวาล มันจะมีคุณลักษณะโดดเด่นเป็นลักษณะพิเศษ คือมีความสะอาด สว่าง บริสุทธิ์

เมื่อเข้าไปขัดเกลากิเลส สิ่งที่มันห่อหุ้มใจ เปลือกนอกที่มันบดบังใจออกไป ทีละเล็กทีละน้อย ...คุณลักษณะของใจก็ปรากฏให้เห็นเป็นความสว่าง ค่อยๆ สว่างขึ้น

เพราะนั้นความสว่างของใจนี่ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบ ท่านเรียกว่าปัญญา นัตถิ ปัญญา สมาอาภา เคยได้ยินมั้ย ไม่มีความสว่างใดเสมอเท่าปัญญา นั่นน่ะคือตัวความสว่างของใจ

เพราะนั้นเมื่อมันสว่าง มันสว่างขึ้นมา ใจมันสว่างขึ้นมา  สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในรัศมีของใจ รัศมีความสว่างของใจ มันก็จะสว่าง ไม่มืด  

เมื่อมันสว่าง มันไม่มืด มันจึงเกิดการรู้การเห็นตามความเป็นจริง ในสิ่งที่มันเคยอยู่ภายใต้ความมืด

อะไรที่มันอยู่ในความมืด แล้วเราเสพ แล้วเราใช้ แล้วเราข้องอยู่กับมัน เราแตะต้องมันอยู่ ...มันเป็นลักษณะที่ว่าไม่รู้จริง แล้วก็คะเน คาดเดา หรือท่านเรียกว่าสมมุติขึ้น สมมุติขึ้น ติ๊งต่างขึ้น

แต่ไอ้ความสมมุติขึ้นมา จากในความมืดนี่ มันไม่ตรง มันไม่ตรงกับสภาพที่แท้จริง ...แต่ว่าโดยที่มันลูบๆ คลำๆ จับต้องใช้สอยกับมัน โดยมีผู้ร่วมใช้สอยด้วยกันในโลก

แล้วก็มาเทียบเคียงสมมุติกันในโลก แล้วมันเห็นพ้องต้องกันว่า มันเป็นอันเดียวอย่างนี้ มันเป็นอย่างที่สมมุติขึ้นมาจริงๆ ...นี่ เลยเกิดความเชื่อตามสมมุตินั้นๆ

ทั้งๆ ที่ว่าไอ้ของที่มันสมมุติขึ้นมานี่ มันเป็นของที่มันอยู่ในความมืด มันไม่ตรงตามสภาพที่แท้จริงหรอก

แต่ถ้าความสว่างนี่มันสาดส่องไป จากที่มันเคยสมมุติเคยติ๊งต่างเอา มันก็จะเกิดอาการเห็นชัดเจนกว่าเก่า ตามเนื้อแท้ สภาพที่แท้จริง ซึ่งมันจะแตกต่างกับการที่เข้าไปหยิบจับโดยที่หลับหูหลับตา หรือว่าอยู่ในความมืด

เมื่อมันเห็น ในท่ามกลางที่มันค่อยๆ จากสลัวๆ แล้วก็ค่อยๆ สว่างขึ้นมา ...มันก็เริ่มชัดเจนตามสภาพที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ

ซึ่งมันจะเห็นเลยว่า มันแตกต่างจากที่เคยเชื่อว่า หรือคนในโลกเขาเชื่อว่า หรือตัวเองเคยเชื่อว่า สมมุติอย่างนี้ๆๆ  มันคนละขั้วกันเลย ...ตรงนี้ท่านเรียกว่าเห็นสภาพตามความเป็นจริงด้วยปัญญา


(ต่อแทร็ก 13/38)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น