วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/9 (2)


พระอาจารย์
13/9 (570221A)

21 กุมภาพันธ์ 2557
(ช่วง 2)



(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 13/9 ช่วง 1
http://ngankhamsorn13.blogspot.com/2015/06/138.html )


โยม –  เดี๋ยวไปเจอตันอีก มันก็...

พระอาจารย์ –  ก็แก้วิธีเดิม คือทน มีอย่างเดียวคือทน  ...แล้วทีนี้ว่ากำลังของศีลสมาธินี่ มันก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ  มันก็สามารถตั้งรู้ตั้งเห็น แล้วก็เฉยๆ กับมัน

สักแต่ว่าคิดก็คิดไป อยากคิดก็คิดไป มันก็สักแต่ว่าคิด ...ก็ไม่ได้เอาห้าเอาสิบกับมัน ไม่เดือดร้อนด้วยที่มันกำลังคิดไม่จบ แล้วก็ไม่ได้ว่าเอาเป็นสาระด้วย  

คือเขาเรียกว่ามันก็จะตั้งมั่น...ด้วยการเห็นความคิดสักแต่ว่าความคิด มันก็รู้เฉยๆ มันรู้เฉยๆ

เพราะนั้นทีนี้ก็เหมือนกับว่า มันมาแหย่หรือมันมาทำความต่อเนื่องให้เกิดความเกลือกกลั้วมัวเมาไม่ได้ ...นี่ มันก็จะค่อยๆ หมด สลายไปๆ เร็วขึ้น  

ทีนี้ ไอ้ที่อุดตันแบบหนักหน่วงหลายวัน หลายเดือนนี่ มันก็ไม่ค่อยมี  อย่างมากก็แค่ขณะนึง ช่วงห้านาทีสิบนาที แล้วก็ลุล่วงๆ ผ่าน ...มันก็ปล่อยผ่าน หมดไป ไม่มีกำลัง มันก็หมดกำลังไปเอง

เพราะนั้นสมาธิมันก็กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็มันก็เข้มแข็งขึ้น จิตมันก็ตั้งมั่นเข้มแข็งขึ้นอยู่ภายใน ...ทีนี้มันก็ไม่หวั่น ไม่ประหวั่น มันก็เกิดความมั่นใจ มีความมั่นใจในตัวของมันเอง

ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงแม้กระทั่งความคิด ความยึด ความติดอยู่ในอดีตเรื่องราว มันก็ไม่กลัว แม้กระทั่งที่ว่าขณะนั้นมันไม่มี แล้วต่อไปมันจะมามากกว่านี้ ...มันก็ไม่กลัว 

มันรู้สึกว่ามันมีความอาจหาญอยู่ภายในขึ้น ด้วยอำนาจกำลังของสมาธิ ...ในขณะเดียวกัน การที่กลับมารู้ตัวนี่ มันก็ไม่ได้มารู้แบบโง่ๆ หรือว่ารู้ไปตามประสาหรือว่าตามตำรา 

แต่ว่าการที่มันกลับมารู้ตัว รู้อยู่กับกาย รู้อยู่กับลม รู้อยู่กับอะไรที่มันเป็นเรื่องของกายในปัจจุบันนี่ ในขณะที่มันตั้งมั่นอยู่กับกาย รู้ตัวอยู่ในทุกปัจจุบัน 

มันไม่ได้รู้ตัวแบบ มาต่อต้านจิต เพื่อมาต่อสู้กับจิต ไม่ได้สู้กับอารมณ์ถ่ายเดียวหรอก ...มันทำให้เกิดปัญญา มันทำให้เกิดปัญญาเห็นกายตามความเป็นจริง 

ว่ากายนี้ มันไม่ใช่เรา กายคือกาย กายก็สักแต่ว่ากาย กายก็สักแต่ว่าธาตุ กายก็สักแต่ว่าก้อนอาการหนึ่ง กายก็สักแต่ว่าก้อนอะไรอย่างหนึ่งก็ไม่รู้ 

มันจะเห็น ...ให้เห็น ให้น้อมลงไปให้เห็นกายในแง่นี้  ให้มันเกิดปัญญา ให้มันเกิดปัญญาเห็นกายตามความเป็นจริง

เมื่อเห็นกายตามความเป็นจริงด้วยอำนาจของสมาธิ และปัญญานี่...ในขณะที่มันไม่มีเรื่องราวของจิตที่มันตกค้าง เหมือนกับในช่วงขณะที่ท่อมันถูกลอกออกไปในช่วงนึงนี่ 

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องทำปัญญากับกายให้เกิด ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา กายเป็นแค่ก้อนอาการ ...ตรงนี้มันจะทำให้กิเลสความยึดมั่นถือมั่นในตัวเราของเรานี่ ที่อยู่ภายใน อนุสัยภายในสันดานนี่ มันจางคลาย 

มันจางคลายจากความเป็นตัวเราของเรา เป็นเรื่องของเรา เป็นอารมณ์ของเรา เป็นความคิดของเรา เป็นอะไรที่เป็นเราๆๆๆ ไอ้ตัวเราๆๆๆ นี่ มันจะจางลง

พอมันจางลงไปเรื่อยๆ ปุ๊บ ต่อไปนี่ ...ไอ้ความคิดที่เคยดูเหมือนร้ายแรง เคยเป็นเรื่องใหญ่ เคยเป็นเรื่องที่สำคัญอะไร ...มันก็ไม่มีรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญเท่าเดิม 

เพราะว่าอะไร ...เพราะว่าความเป็นเรานี่ มันน้อยลง มันน้อยลงไปเรื่อยๆ

อย่าไปกลัว ...อย่าไปกลัวว่าเวลามันสบายแล้ว หรือมันโล่งโปร่งแล้วเดี๋ยวจะต้องเจออีกแล้ว เจอแบบเก่าอีกแล้ว ..นี่ อย่าไปกลัว 

ไอ้ตอนนี้นี่ เป็นตอนที่ต้องเก็บเกี่ยวปัญญา ...ก็พยายามน้อมลงที่กาย ไม่ใช่รู้ไปสักแต่ว่าซังกะตายรู้ เข้าใจมั้ย ...จะไปซังกะตายรู้มันก็ไม่เกิดปัญญา

คือรู้แล้วพยายามโยนิโส แยบคาย ...ให้แยบคายในการรู้ ว่านั่ง อะไรมันนั่ง ความรู้สึกที่นั่งมันเป็นอะไร ความรู้สึกที่นั่งมันเป็นหญิง-ชายไหม หรือมันเป็นอะไรก็ไม่รู้ 

นี่ให้มองมุมนี้ ให้มันรู้กาย แล้วก็ให้เห็นมุมนี้ ...แม้แต่ลมเหมือนกัน ลมก็เป็นลม มันมีเพศมั้ย มันเป็นกองลม กองความรู้สึก วูบๆ เคลื่อนไปเคลื่อนมา เคลื่อนไปไหวมา อย่างนี้ 

ไอ้ไหวไปไหวมานี่ มันมีชาย มันมีหญิงมั้ย ...นี่ อย่าไปกำหนดแบบซังกะตาย กำหนดไปด้านๆ อย่างเดียว คือน้อมให้เห็น มันเป็นใคร มันเป็นเรามั้ย มันบอกมั้ยมันเป็นเรา

ไอ้วูบๆ นี่ ไอ้ก้อนลมวูบๆ กองลมเคลื่อนไปไหวมา พัดไปพัดมานี่ กระจายไปกระจายมานี่ ...ความกระจายไปกระจายมาของลมนี่ มันเป็นอะไร มันมีตัวมีตนไหม  มันมีหน้าตาเป็นผู้หญิงผู้ชายมั้ย

นี่ดูลมให้เห็นในแง่มุมนี้ ไม่ใช่ว่ารู้ลมไปตามระเบียบเฉยๆ ...ถ้ารู้ไปแค่นั้นน่ะมันจะเป็นสมถะ คือได้แต่ความสงบ สงบจากความนึกคิดปรุงแต่ง แต่มันจะไม่เกิดปัญญา

คือน้อมให้เห็นความเป็นธาตุ ว่าลมมันเป็นธาตุ ...แล้วอะไรที่มันรู้ลม ลมมันรู้มันเองมั้ย แล้วใครที่มันรู้ลม นั่น ตัวมันเองมันรู้มั้ยว่ามันเป็นลม ... ตัวมันเป็นแค่สิ่งหนึ่ง แล้วมันมีอีกสิ่งหนึ่งที่รู้ว่ามันเป็นลม

นี่ อย่างนี้ พยายามแยกอยู่อย่างนี้ พยายามสังเกต ให้สังเกตธรรมดา สังเกตแบบเบาๆ ให้สังเกตโดยไม่ต้องใช้ความคิดมาก ...คือเขาเรียกว่าแยบคาย 

สังเกตด้วยความแยบคาย ไม่ใช่ด้วยความตั้งหน้าตั้งตานึกคิด เข้าใจมั้ย ...ให้แยบคายกับลม แล้วก็แยบคายกับกาย


โยม –  บางทีสัมผัสนี่ค่ะ คือแบบรู้ตัว บางทีล้างหน้านี่ มันก็เกิดแวบขึ้นมาว่า อุ้ย มันเหมือนตัวอะไร มันเหมือนซ้อนกัน มันก็เอ๊ะ เป็นระยะ

พระอาจารย์ –  อือๆ ให้เห็นเป็นก้อนๆ ก้อนความรู้สึก ไม่รู้จะเรียกอะไรดี


โยม –  ใช่ค่ะ มันเป็นก้อนๆ มันไม่รู้จะบอกยังไงดี

พระอาจารย์ –  เออ มันไม่มีคำพูด


โยม –  ใช่ค่ะ มันไม่มีคำพูด มันบอกไม่ได้

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ให้เห็น ตรงนี้คือราก ตรงนี้คือฐาน ตรงนี้คือกายจริงๆ คือมันเป็นแค่อาการที่ไม่มีความหมายในตัวเอง


โยม –  มันก็ตลกตัวเองว่า เอ๊ะ อะไรนี่ อันนี้มัน คือไม่รู้จะบอกยังไงดีค่ะ

พระอาจารย์ –  มันไม่มีภาษา กายจริงๆ นี่ 

มันเข้าไปเห็น ลักษณะที่มันเข้าไปเห็นกายปรมัตถ์ หรือว่ากายตามความเป็นจริง คือกายธาตุนั่นเอง คือความเป็นธาตุของมัน เหมือนก้อนหินก้อนดินอย่างนี้ มันไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอะไร เข้าใจมั้ย


โยม –  ค่ะ มันธาตุ มันไม่มีชีวิต

พระอาจารย์ –  เออ มันไม่มีชีวิต มันไม่มีความมีชีวะ คือมันไม่มีชีวิตจิตใจในตัวของมันเอง เพราะนั้นจะเรียกมันยังไงก็ได้ จะไม่เรียกมันก็ได้ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ เข้าใจมั้ย

มันก็เป็นแค่การปรากฏขึ้น เป็นลักษณะที่ปรากฏขึ้น หรือว่าเป็นการประชุมกัน ประชุมกันขึ้นเป็นความรู้สึกของก้อนอะไรก็ไม่รู้ก้อนหนึ่ง แล้วมันก็เปลี่ยน  

พอย้ายมาดูที่ขา มันก็เป็นความรู้สึกตึง ที่เป็นก้อนตึง ซึ่งไอ้ก้อนตึงก็ไม่ใช่ชายใช่หญิง ...นั่นแหละคือก้อนธาตุ คือการรวมตัวกันของธาตุ 

เนี่ย กายมันเป็นจริงๆ แค่นี้  คือลักษณะของกายตัวนี้ มันมีตลอดเวลาอยู่แล้ว มันไม่เคยถูกลบล้างหายไปเลยนะ ...แต่เราไม่เห็น มันไม่เห็นเข้าไปถึงตัวนี้


โยม –  ใช่ค่ะ มันไม่เคยเห็น นานๆ มันมาแวบนึง

พระอาจารย์ –  เขาเรียกว่ามันสอดลงไปไม่ถึง แทรกลงไปไม่ถึง

เพราะนั้น พยายามแยบคายลงไปให้ถึงตัวนี้ แยบคายลงไปให้เห็น ในขณะนี้ก็เหมือนกัน ความรู้สึกแน่นตึงมันก็มีอยู่แล้ว ...มันก็แสดงของมันอยู่เงียบๆ 

มันไม่ได้บ่งบอก มันไม่ได้แสดงภาษาว่ามันคืออะไร มันไม่ได้บอกว่า มันมีเจตนาอะไรในตัวของมัน มันไม่ได้บอกว่ามันตั้งเพื่อใคร เป็นประโยชน์ให้ใครเป็นโทษให้ใคร ...มันไม่ได้บอก 

มันก็ตั้งของมันอยู่ซื่อๆ บ่ดายของมัน แบบตามเหตุตามปัจจัยที่มันมี มันก็มี หมดเหตุหมดปัจจัยมันก็ไม่มี มันก็เปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นลักษณะการประชุมกันอีกแบบนึง อีกกองนึง

นี่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สลับไปสลับมา ดูไป พยายามมองไปในมุมนี้ ให้มันเห็นเข้าไปถึงแก่น แก่นกายนี่ ...นี้คือแก่นของกาย คือรากฐานของกายที่แท้จริง

เห็นบ่อยๆ หยั่งลงไป เหมือนกับทะลุลงไปด้วยปัญญา ทะลุลงไปด้วยจิตผู้รู้นี่ ให้มันหยั่งลงไปให้ถึงเนื้อแท้ธรรมแท้กายแท้ ที่มันมีอยู่ตลอดเวลาแหละ

แต่มันถูกครอบงำด้วยความคิด ด้วยอารมณ์ ด้วยภาษา ด้วยบัญญัติ ด้วยความเผลอเพลิน ด้วยความไม่รู้ตัว ด้วยความไม่อยู่กับปัจจุบัน

พวกนี้ มันจะเป็นตัวที่ครอบ...ครอบไอ้ตัวความรู้สึกของกายที่มันมีอยู่ตลอดเวลา นี่ มันไม่ได้หายไปไหน ...แม้กระทั่งถูกครอบอยู่ มันก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่มันถูกปกปิดไว้ 

และไอ้ตัวที่มันปกปิดไว้นั่นแหละ ที่ท่านเรียกว่าอาสวะ ที่ท่านเรียกว่ากิเลส ที่ท่านเรียกว่าอาคันตุกะกิเลส ...คือมันมาครอบเป็นครั้งเป็นคราว 

ถ้าไม่ใส่ใจสนใจที่จะรู้เนื้อรู้ตัวเลย มันก็จะบังจนมืด บังกายจนไม่เห็น ...คือตั้งแต่เช้าจนนอนหลับนี่ ไม่รู้ตัวเลยแม้แต่ขณะนึง ...นี่ เรียกว่าบังแบบมืดตึ้บเลย ไม่เห็นเลย

แต่พอมาเริ่มฝึกสติการรู้ตัว มันก็จะค่อยๆ หยั่งเข้าไปถึงเนื้อแท้ธรรมแท้ของกาย เป็นระยะๆ


โยม –  เป็นระยะ ใช่ค่ะ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นจดจำไว้ หมายความว่าให้จดจำลักษณะของกายอันนี้ไว้ ว่าตัวนี้ ...หยั่งให้ถึง หยั่งให้ถึงเนื้อแท้ธรรมแท้ของกายไว้ ...แล้วก็พยายามรักษา ทรง...ทรงสภาวะกายนี้ 

ไม่ใช่ไปทรงลมหายใจต่อเนื่อง เข้าใจมั้ย


โยม –  ทรงความรู้สึกที่กาย

พระอาจารย์ –  เออ ความรู้สึกที่...คือกายมันไม่ได้หมายความแค่ลมอย่างเดียว เข้าใจมั้ย ตึงแน่นนี่ก็ใช่


โยม –  เข้าใจค่ะ ...มันจะไปทั่ว มันจะวิ่งไปทั่ว

พระอาจารย์ –  เออ แต่ลักษณะที่มันไปทั่วนี่ มันจะมีลักษณะเหมือนกัน คือมีลักษณะก้อนธาตุ เข้าใจมั้ย


โยม –  เข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  คือให้ทรงสภาวะรู้กับกาย ทรงไว้ ให้ทรงสภาวะกายตรงนี้ไว้ ให้ต่อเนื่อง พยายามให้ต่อเนื่อง  และไอ้ตรงทรงสภาวะกายที่ว่าเป็นความรู้สึกอะไรก็ไม่รู้นี่  ตรงนี้ที่ภาษาท่านเรียกว่า “ทรงศีล”

โยม –  อ๋อ


พระอาจารย์ –  คือการทรงศีล เป็นผู้ที่ทรงศีลด้วยความต่อเนื่อง ...พระนี่ท่านเรียกว่าเป็นผู้ทรงศีล แต่คนนี่ไม่เข้าใจ เข้าใจว่าทรงศีลคือรักษาศีลห้า ศีลแปดหรือว่าศีล ๒๒๗ ...ไม่ใช่ อันนั้นมันศีลวิรัติศีลบัญญัติ

แต่ทรงศีลในที่นี้ คือศีลกาย...คือความรู้สึกของกายที่ปรากฏอย่างที่มันเป็นจริงๆ เท่าที่มันเป็นจริงๆ ไม่น้อยกว่านั้น ไม่มากกว่านั้น ...เรียกว่ากายพอดีๆ กายปกติ

โยม – ค่ะ กายปกติ

(ต่อแทร็ก 13/10)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น