วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/1



พระอาจารย์
13/1 (570209A)
9 กุมภาพันธ์ 2557


พระอาจารย์ –  ภาวนากันแบบลักปิดลักเปิด ...อย่าไปปล่อยทิ้งนาน 

(เล่าเรื่องคนขับรถที่วัดตาย) ...ตาย ... เพราะนั้นความตายน่ะมาแบบฉับพลัน ไม่ได้ตั้งเนื้อตั้งตัว ไม่มีใครนึกฝัน มาปุ๊บก็ตายปั๊บ นี่ ...ภาวนาก็หมดแล้ว หมดโอกาสภาวนาไปด้วย 

รอเกิดใหม่  ไม่รู้จะเกิดเมื่อไหร่ เกิดที่ไหน ...ถึงบอกว่าอย่าอยู่ในความประมาท ...ความตาย เดี๋ยวนี้มันตายกันง่ายดาย  เห็นกันหลัดๆ นี่ อ้าว ตายไปแล้ว ...ตายฉับพลันมันก็เตรียมตัวอะไรไม่ทัน 

ถ้าตายในแบบเป็นมะเร็ง เป็นอะไร มันก็ยังพอมีเวลาตั้งเนื้อตั้งตัว ตั้งกายตั้งใจขึ้นมาบ้าง ... แต่ถึงว่า...ตายด้วยโรค มันทรมาน...เวทนานี่บีบคั้น จนไม่สามารถอยู่กับเนื้อกับตัวได้ 

ถ้าไม่ได้ฝึกฝนสติสมาธิอย่างเข้มแข็ง แข็งแรง ...จิตมันไม่สามารถจะเข้มแข็งขึ้นมาได้ ถูกเวทนาเผา จิตมันก็อ่อนแอ อ่อนเหมือนกับขี้ผึ้งโดนแดดโดนไฟลน มันอ่อนปวกเปียกไปหมด  

มันไม่สามารถจะตั้งกายตั้งจิตตั้งใจขึ้นมา เป็นกลาง เป็นปัจจุบันได้ ... เพราะความตั้งใจให้เป็นกลางอยู่กับเวทนาที่เร่าร้อนนี่ ไม่ใช่ของเล็กน้อย ไม่ใช่ของง่ายๆ 

ไอ้ที่เรานั่งๆ นอนๆ แล้วก็ตั้งใจเป็นกลางๆ อยู่นี่ก็ยังพอทำได้  ...ขนาดพอทำได้ มันก็ยังประมาท เลินเล่อ เผลอเพลิน ไม่รักษาความต่อเนื่อง ไม่เพิ่มกำลังของสมาธิ

คือถ้ามันต่อเนื่อง รักษาสติให้มันต่อเนื่องเป็นสัมปชัญญะนี่  มันก็จะทำให้จิตมันเข้มแข็งขึ้นมา ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ...สมาธิมันก็จึงจะไปตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ท่ามกลางพายุ ท่ามกลางไฟที่ฮือโหมไหม้ขันธ์

เพราะนั้น อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่าๆ  มันต้องทำงาน...ทำงานรักษากาย รักษารู้  ทำกายทำรู้ให้ปรากฏอยู่เสมอ  แล้วก็ทรงไว้...ต้องทรง  มันขาดความตั้งมั่นเป็นกลาง มันก็ต้องตั้งมั่น

เมื่อรู้แล้ว เมื่อมีกายแล้ว เมื่อปรากฏขึ้นมาแล้วนี่  มันต้องทรง...รักษา เรียกว่าทรงไว้ ไม่ปล่อยปละละเลยในศีลสมาธิ ...ปัญญามันก็จะค่อยๆ พอกพูน เข้มแข็งขึ้น เป็นลำดับไป

เมื่อมันเข้มแข็งด้วยอำนาจสมาธิ  ปัญญามันก็จะค่อยๆ สอดส่องในธรรม เกิดความชัดเจนในธรรมที่เรียกว่ากาย ที่เรียกว่าขันธ์ ที่เรียกว่าโลก ที่เรียกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง 

มันก็จะค่อยๆ เกิดความเข้าใจลึกซึ้ง แยกแยะ ...ออกจากความเป็นเจ้าของ ออกจากความเป็นเราของเราไป ...จนอยู่ได้ด้วยปัญญา มันก็ไม่ต้องไปทนกับอะไรแล้ว

ถ้ามันมีปัญญาแล้ว มันก็อยู่ด้วยความไม่ต้องเป็นเราที่มามีมาเป็นผู้ต้องอดทนหรือว่ารับรู้กับความยากลำบากของขันธ์ เวลามันเกิดวิปริตผิดสภาพ ผิดความคุ้นเคยที่มันส้องเสพด้วยความเผลอเพลิน

แต่นี่เราอยู่กับขันธ์ด้วยความผูกพันมั่นหมาย เผลอเพลินไปกับมัน แต่ว่าไม่รู้สึกรู้สา เหมือนกับเป็นความเคยชิน  ...เวลามันเปลี่ยนแปลง กระทั่งเป็นทุกขเวทนาขึ้นมา มันก็รับไม่ได้ มันก็ต่อต้าน 

มันก็พยายามจะขว้างทิ้ง ปัดทิ้ง มันก็ปัดไม่ออก ทิ้งไม่ได้ ...แต่ด้วยความไม่มีปัญญา มันก็พยายามปัดของมันอยู่อย่างนั้น มีเวทนาอย่างไร มันก็จะให้เหมือนเดิม ให้มันเป็นปกติธรรมดาเหมือนเดิม 

แต่จริงๆ ไอ้ความเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือความปกติของมันอยู่แล้ว มันไม่ใช่ความผิด ... มันเป็นธรรมดาของขันธ์ มันเป็นธรรมดาของทุกสิ่ง ไม่ใช่จำเพาะขันธ์ ...มันมีความเปลี่ยนแปลงไปไม่คงอยู่

แต่ความที่จิตมันไม่มีปัญญา มันไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ...มันไม่เชื่อว่าขันธ์นี้มีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา มันไม่เชื่อว่าขันธ์นี้เป็นทุกข์เป็นธรรมดา 

เพราะมันคุ้นเคยส้องเสพด้วยความปล่อยปละละเลยจนเคยชิน ไม่เอาใจใส่ในการทบทวนสภาพขันธ์ตามความเป็นจริง บ่อยๆ ต่อเนื่อง ...ปัญญามันก็ไม่ค่อยจะมี 

มันก็ยึดถือแบบเดิมๆ ด้วยความหลง...เป็นมิจฉา ... เมื่อสภาพความเป็นจริงมันปรากฏขึ้นแล้ว...ก็โวยวาย  จิตมันก็เร่าร้อน จิตมันก็หนีอย่างเดียว ปัดทิ้ง 

เพราะนั้นระหว่างที่มันยังอยู่ดี ขันธ์มันยังพอถูๆ ไถๆ อยู่ได้ ...ก็ต้องรีบไขว่คว้าขวนขวายในสติสมาธิปัญญาภายใน ให้มันเป็นนิสัย ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ขี้เกียจ 

ไม่ไปให้ค่าให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นภายนอกทั้งหลาย งานการต่างๆ ...จนกายใจ การภาวนาเป็นเรื่องรองไป เป็นเรื่องไม่สำคัญไป ...นี่ ต้องพยายาม 

ถ้ามันขี้เกียจนักก็บอกว่า เดี๋ยวก็จะตายแล้ว ...นึกถึงความตาย เห็นคนตาย เห็นคนใกล้ตัว ญาติพี่น้องตายก็ไม่ต้องไปเศร้าโศกมาก เสียเวลา ให้นึกน้อมเลยว่า เดี๋ยวเราก็ตาย เขาตายไปก่อนเดี๋ยวเราก็ตายตาม

มันไม่มีใครรอดไปสักคนหรอก มันตายทุกผู้ทุกรูปทุกนามไป ทุกขันธ์ ...ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ไม่มีใครดีกว่าใคร ไม่มีใครเลวกว่าใคร ตายเหมือนกันหมด ...นี่ มันตายทั้งนั้น

แล้วมันใช้เวลาที่ยังคงถูๆ ไถๆ อยู่กับมันนี่ ใช้เวลาที่มีอยู่...หมดเวลาไปกับอะไร  ก็ต้องคอยบอกกล่าวสอนมัน  ...หมดเวลาไปกับศีลสมาธิปัญญา หรือว่าหมดเวลาไปกับกิเลส อารมณ์ 

มีแต่ความยึดมั่นถือมั่น ความไขว่คว้าค้นหาในสภาวะต่างๆ นานา ทางโลกทางธรรม มีแต่ความอยาก ความไม่อยาก มีแต่ความวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งต่างๆ บุคคลต่างๆ

อะไรเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่มันมากินเวลา ทำให้มันหมดเวลาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ...นี่ มันต้องพยายามนึกน้อมสอนตัวเองถึงความตาย มันจะได้ขยัน มันจะได้ไม่ประมาท

เมื่อมันขยันหมั่นเพียรเจริญสติ รู้ตัว รักษาการรู้ตัวไว้ ...จนมันเกิดความเป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกัน เชื่อมสมานกัน ไม่หลงไม่ลืม ไม่เผลอไม่เพลินแล้ว ความพากเพียรภายในมันก็จะเกิดขึ้นเอง 

มันจะรู้สึกว่า...ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่มันยังไม่เห็น แล้วมันต้องการจะเห็นภายในนั่นแหละ ...มันก็รู้สึกว่ามันมีงานที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งมันยังไม่แล้วไม่ล่วง

งานที่ยิ่งใหญ่ งานที่สำคัญ งานที่แข่งกับเวลา อายุขัยอายุขันธ์ของเจ้าของ ...มันก็เห็นเป็นงานที่ถือว่าเป็นงานเร่งด่วนเลย  นี่ ความเพียรมันก็เกิดขึ้นเอง 

เพราะมันต้องการที่จะทำความแจ้ง ทำความรู้โดยตลอด โดยที่ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเล็ดลอดออกไปจากความไม่รู้ในกองธาตุในกองขันธ์ต่างๆ ...มันก็เร่งอยู่ภายใน มันเร่ง 

บางทีก็เร่งถึงขนาดไม่พูดไม่จากับใคร ไม่พบปะผู้คน บางทีเร่งมากๆ ภายในจนมันไม่หลับไม่นอน  มันรู้สึกว่าเสียดายเวลาที่นอนเพราะว่าจิตมันจะหลับไหล...แต่อายุขันธ์มันไม่หลับ มันไม่หยุด มันนับหน้าไปเรื่อย 

ความเพียรมันก็มากอยู่ภายใน มันก็มีการวิจยะ วิจัยวิจารณ์ในธรรมที่เรียกว่ากายบ้าง จิตบ้าง อะไรบ้างต่างๆ นานา อย่างที่มันแสดง ...มันจะแสดงเป็นอะไรขึ้นมาก็แจ้งกับสิ่งนั้นๆ ทุกปัจจุบัน 

ไม่ไปตื่นเต้นตกใจ ไม่ไปกังวลเศร้าหมองหดหู่ ไม่ไปดีใจเสียใจอะไรกับมัน ...แต่ว่าทุกอาการของขันธ์ที่มันปรากฏ ก็ทำความแจ้งอยู่กับขันธ์นั้นด้วยความตั้งมั่นและเป็นกลาง

จนมันเห็นโดยตลอดของทุกปัจจุบันขันธ์ที่มันแสดง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางจิต ทางกิเลส ทางอารมณ์ ทุกปัจจุบันที่มันแสดงอาการ ...มันก็จะมีต้น ท้าย ปลาย กลาง เหมือนกันหมด 

คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป...เป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้น ...ไม่มีความหมายอะไร ไม่มีสาระอะไร ไม่มีความเป็นจริงอะไรตกค้างหลงเหลืออยู่ ในการเกิด ในการดับ ในการตั้งอยู่ของมัน  

มันก็เกิดความลึกซึ้งในส่วนต่างๆ ของขันธ์ ว่ามันเป็นเช่นนี้นี่เอง มันเป็นแค่นี้นี่เอง ...มันไม่ได้เป็นแบบที่จิตที่ไม่รู้นี่มันไปคาดไปหวัง ไปผูกไปพัน ไปเป็นพันธนาการ ไปเป็นที่หมาย ไปเป็นที่ค้างที่คา

มันก็ไม่รู้มันจะไปค้างไปคาอยู่กับขันธ์ส่วนไหน ...เพราะมันไม่มีอะไรในการเกิด ในการตั้ง ในการดับ 

นี่ ปัญญามันก็ค่อยๆ มากขึ้นๆ จนเห็นการปรากฏขึ้น การตั้งอยู่ การดับไปของขันธ์นี่ มันเป็นการเกิดขึ้นแบบเปล่าๆ การตั้งอยู่แบบเปล่าๆ การดับไปแบบเปล่าๆ ...มันไม่มีอะไร 

ไม่มีอะไรที่จะเป็นที่ให้ผูกให้พัน ให้มั่นให้หมาย ให้ค้างให้คา ให้แม้กระทั่งสงสัยลังเลกับมัน ว่ามันจะเป็นอะไรอีกมั้ย มันจะมีอะไรอีกมั้ย มันจะไม่มีอะไรอีกมั้ย มันยังคงมีอะไรอยู่อีกมั้ย

มันก็ไม่มีความสงสัยในกองขันธ์ทั้งหลาย ...มันก็เป็นแค่อาการเกิดๆ ดับๆ ไปตามวิสัยของมัน ไม่ใช่หน้าที่ ธุระของใคร ไม่ใช่เป็นภาระให้ใครจริงๆ 

มันก็ค่อยๆ ปล่อยให้ขันธ์เป็นไป ไม่ใช่เป็นภาระอีกต่อไป ...มันก็ค่อยๆ เบาจากการเข้าไปแบกขันธ์ เข้าไปหมายมั่นในขันธ์ เข้าไปจริงจังในขันธ์ เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 

ทีนี้มันก็ไม่กลัวขันธ์ที่มันจะเป็นไปยังไง ...มันจะเป็นดีเป็นร้าย มันจะเป็นมากเป็นน้อย มันจะไม่เป็น หรือมันจะอยู่นาน มันก็ไม่มีการเข้าไปจริงจังมั่นหมายในความมีความเป็นของมัน

มันก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามสภาพ ตามเหตุอันควร ตามปัจจัยอันควร ตามวิบากที่มันจะแสดงอาการ  ...ไม่เข้าไปขัดขวางมัน ไม่เข้าไปดึงดันกับมัน ไม่เข้าไปคาดหวังอะไรกับมัน 

นี่ จิตที่มันมีปัญญา มันก็จะหยุดอาการที่คาดหมาย ดึงดัน ผลักดัน ...ซึ่งอาการเหล่านี้มันเกิดจากความไม่รู้จากจิตที่มันโง่ ...มันก็ทิ้งอาการเหล่านี้หมด 

มันก็อยู่กับขันธ์เหมือนกับต่างคนต่างอยู่ ...มันก็เป็นไป มันก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นทางปัญญาตามลำดับไปเอง 

อย่าให้มันขาดจากสติสมาธิปัญญาปัจจุบัน  อย่าให้มันขาดอย่าให้มันหายจากกาย  อย่าให้มันขาดอย่าให้มันหายจากปัจจุบันรู้ แค่นั้นเอง พยายาม เพียร พยายามรักษากายรักษารู้ อยู่กับกายไว้ ให้มันได้ 

มรรคมันก็จะค่อยๆ เจริญแข็งแกร่งขึ้นไป เป็นสะพานทอดเชื่อมให้เกิดปัญญาญาณขึ้นมา ผล...คือความปล่อย ความวาง ความจาง ความคลาย มันก็เป็นไปตามอำนาจสติสมาธิปัญญาของผู้นั้นๆ 

การปล่อยการวางมันไม่ได้อยู่ในตำรา มันไม่ได้อยู่ในซีดี มันไม่ได้อยู่ในอดีตในอนาคต ...มันอยู่ในที่ที่ว่า มันพร้อม มันเพียง มันพอ...ของศีลสมาธิปัญญารึเปล่า 

ถ้ามันเพียงพอ ...การปล่อย การวาง การจาง การคลาย มันก็เป็นไปตามเหตุอันควรของมันเอง


เพราะนั้นให้ทบทวนอยู่ทุกวัน ...วันที่ผ่านๆ มานี่ มันตั้งใจมากน้อยแค่ไหน  ถ้ามันตั้งใจน้อยก็ให้มันตั้งให้มากขึ้น ...ถ้ามันมากขึ้นแล้วก็พยายามให้มันมากขึ้นไปเรื่อยๆ 

อย่าให้มันเข้าเกียร์ว่าง ...เหมือนรถที่มันขึ้นดอยขึ้นเขานี่ ถ้าไปตบเกียร์ว่าง มันเป็นยังไงล่ะ ...มันไม่ได้ถอยหลังอย่างเดียว มันลงเหวอีกต่างหาก

ตอนขึ้นเขามันก็ลำบาก แต่ก็ต้องใส่เกียร์ไป...ไหวไม่ไหวก็ทดเกียร์ไป เดี๋ยวมันก็พ้นเนิน นะ  มันพ้นเนินมันก็ เอ้า เกียร์สามได้แล้ว พอมันเกียร์สามได้ คราวนี้มันก็มองอะไรชัดเจน 

เห็นเนินข้างหน้ามันก็ส่ง ใช้แรงส่งไป ..ทีนี้ไม่ต้องลงถึงเกียร์หนึ่งก็ได้ มันมีแรงส่งจากดอยที่แล้ว มันก็ผ่านไปด้วยความคล่องแคล่วชำนาญ  จนมันถึงระดับที่เรียกว่าสันเขา มันก็เป็นทางราบ...ไปสบาย

แรกๆ มันก็ขรุขระอย่างนี้ ขึ้นๆ ลงๆ ...อย่าไปใส่เกียร์ว่างหรือปล่อยให้รถมันหยุด บางทีว่าจะพัก ไปหยุด ...ศีลสมาธิปัญญานี่มันก็หยุดหมดเหมือนกัน 

เดินในมรรค ...หนทางที่ต้องเดิน หนทางของมรรคนี่มันยาวไกล  ยาวไกลเท่าไหน...เท่าที่เราไม่รู้ในกองขันธ์นั่นแหละ

ถ้ามันรู้ในกองขันธ์มากขึ้นเรื่อยๆ มรรคมันก็สั้น มันสั้น เรียกว่ามรรคมันมีจำกัด เส้นทางของมรรคนี่มันมีจำกัด หมายความว่า เท่ากับลักษณะอาการของขันธ์ทั้งห้านั่นแหละ

 ถ้ามันรู้ได้ตลอดของขันธ์ทั้งห้า โดยทั่ว โดยไม่เว้นวรรคขาดตอน ไม่ขาดตกบกพร่องในการปรากฏขึ้นของขันธ์ห้านี่ ...นั่นแหละคือเส้นทางของมรรคทั้งหมด

แต่ว่าถ้าไม่ใส่ใจ ไม่เรียนรู้ ตั้งรู้ตั้งเห็นกับมัน ด้วยสมาธิด้วยปัญญา ....มรรคมันก็ยาวไกล หรือว่ามันขาดไป 

มันไม่ได้ยาวอย่างเดียว มันถูกหลายสิ่งหลายอย่างปิดบังครอบคลุม จนไม่เห็นว่ามรรคอยู่ไหน มรรคคืออะไร ความสำคัญของมรรคเป็นแค่ไหน ...ก็เกิดตายวนเวียนซ้ำซากกันไป


เพราะนั้นว่าเบื้องต้นก็ต้องสอดส่องลงในกาย หยั่งกาย หยั่งรู้ขึ้นมา ...ไม่งั้นเหมือนทั้งวัน บางวันบางเวลา มันหากายไม่เจอ ไม่รู้อันไหนเป็นกาย ในขณะพูด ในขณะมีอารมณ์ อะไรพวกนี้ 

อย่างนั้นก็ต้องพยายามเพียรสอดส่องลงไปให้ถึงกาย...ในที่นั้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ ให้ได้

เหมือนกับดอยเชียงดาวนี่ ถ้าให้เปรียบดอยเชียงดาวนี่เหมือนกาย ... ใจก็เหมือนเราที่นั่งดูดอย  วันนี้ฟ้าใสเห็นดอยชัด ถ้าหน้าฝนมองไม่เห็นเลย  เพราะอะไร  เพราะเมฆ ทัศนะวิสัยไม่ดี มันคลุมหมด

ก็ได้แค่คลุม ...ถามว่าดอยเชียงดาวไปไหน คนนั่งดูไปไหน  ก็ยังอยู่นี่ ...ดอยก็ยังอยู่นั่นน่ะ ไม่ได้ไปไหน ไม่มีอะไรมาแยกย้ายดอยไปได้ ...เพียงแต่มันมองไม่เห็น มันมองไม่เห็น

พอมองไม่เห็นแล้วคราวนี้ก็วุ่นวี่วุ่นวายไปกับเมฆหมอกนั่นแหละ เป็นจริงเป็นจังกับมัน เป็นเดือดเป็นร้อน เป็นบ้าเป็นบอกับมัน เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นยินดียินร้ายกับมัน เป็นไปตามอารมณ์ที่มันจะให้เป็นไป

นี่ ไม่ตั้งหน้าตั้งตาค้นหาดอย  มันก็ไหลไป ...จนไปแก้ ไปเปลี่ยนแปลง จนออกจากที่ที่มันจะมองเห็นดอยได้ชัดเจน ...นู่น ไปโผล่ที่เบตง แล้วว่า "อ้าว ดอยเชียงดาวอยู่ไหน" ...นั่นรอฟ้าสว่างถึงเห็น 

ดอยมันอยู่กับที่ไม่ได้ไปไหน...ก็อยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ ...เพราะนั้นถ้าอดทน คอยรู้คอยหยั่งกับมันในปัจจุบัน ...มันจะเห็น-ไม่เห็น มันก็อยู่ตรงปัจจุบันนี่แหละ

ด้วยอำนาจของสมาธิปัญญา มันก็แทรกซึมลงไป แหวกลงไป เหมือนแหวก มันก็แหวกลงไปจนถึงก้อนหินดินดานของดอยเชียงดาว ได้สัมผัสเป็นระยะๆ เป็นขณะไป อย่างนี้

ถึงมันจะไม่ปรากฏขึ้นทั้งลูก...ก็ยังรู้ว่า เออ ดอยมันอยู่ตรงนี้นะ ... อย่าไปเบตงนะ อย่าไปหาที่เบตง อย่าไปหาที่ใต้มหาสมุทร อะไรอย่างนี้

เพราะนั้นมันก็คอยหยั่งคอยรู้ แม้จะเมฆจะหมอกจะทึบจะหนาขนาดไหน...ด้วยอารมณ์ ด้วยกิเลสนั่นแหละ ด้วยความพอใจ ด้วยความขุ่นมัว ด้วยความหงุดหงิด ...ด้วยความทุกข์ ด้วยความสุขด้วยแหละ

เวลาสุขมันก็สุขจนเลิศเลอลอย ประมาณแบบน้ำหูน้ำตาไหลน่ะสุข หัวเราะจนน้ำหมากกระจาย นั่นก็หาดอยไม่เจอ ...อย่าว่าแต่ทุกข์จนน้ำตาไหลจะหาดอยไม่เจอ สุขจนน้ำหมากกระจายก็หาดอยไม่เจออีกเหมือนกัน

ก็ต้องรั้งไว้ สอดส่องลงไปกับปัจจุบัน ก็จะเห็นอาการ...ลักษณะของการหมุน การหัน การขยับ เป็นระยะๆ... คอยเหยียบคอยหยั่งมันไว้ คอยหยิบคอยหยั่งมันไว้ สร้างนิสัยของปอบหยิบไว้

รู้จักปอบหยิบรึเปล่า หยิบมันไว้ๆ หยิบนิดหยิบหน่อยพอให้มันรู้ว่า เออ กายนะ กำลังโกรธก็หยิบมันหน่อย หยิบตรงเท้าบ้าง ตรงขาบ้าง ตรงเดินไปเดินมาบ้าง ตรงหน้าตาที่มันเขม็งตึงบ้าง อะไรอย่างนี้ 

ก็เรียกว่าสร้างนิสัยของปอบหยิบไว้ ...หยิบกายนะ อย่าไปหยิบที่อื่น ถ้าหยิบที่อื่นก็เป็นปอบแบบปอบผีดิบ ปอบแบบไปกินเลือดกินเนื้อคนอื่นเขา...ไม่เอา  

หยิบแต่เนื้อเจ้าของนั่นแหละ หยิบแต่กายตัวเองนั่นแหละ สร้างสันดานใหม่เป็นปอบผู้ดี ปอบคนดี ...หยิบกายไว้ หยิบใจรู้ไว้ ที่ไหนก็ได้ ที่ที่มันมีอารมณ์ ต้องหยิบเยอะๆ 

ด้วยอำนาจแห่งการที่มันคอยเหยียบคอยหยั่งดอย แล้วไม่เข้าไปประกอบเหตุแห่งเมฆหมอก...ที่มันคลุมไว้ ซึ่งก็คือสร้างทัศนะวิสัยที่มืดมนอนธการมาคลุมไว้นั่นแหละ 

เมื่อไม่มีใครไปประกอบเหตุให้มัน มันก็จะค่อยๆ จางลงไปเอง  โดยที่ไม่ต้องไปทำให้มันจาง มันก็จางของมันไปเอง ...แค่หยิบหยั่งไว้กับกายนั่นแหละ

ทีนี้ฟ้าก็ใส สว่าง นั่งรู้กับดอยก็เห็น ... แล้วก็ระวัง...พอเห็นแล้วก็เริ่มฟุ้งอีก “จะไปดูเอเวอร์เรสท์ดีมั้ยนี่ นี่มันอันดับสามนี่หว่า อินทนนท์มันอันดับหนึ่ง มันสูงกว่านี้นะนี่” 

นั่น ไปอีก มีช่องให้มันไปอยู่เรื่อย “เอ ดอยเชียงดาวมันอันดับสามนะ ไปผ้าห่มปกดีมั้ย อันดับสอง” เริ่มหาอีกแล้ว เริ่มหาอะไรที่มันเหนือกว่าดีกว่า ...อยู่แค่นี้ไม่พอ

นี่ จิตมันเริ่มอีกแล้ว เดี๋ยวเมฆหมอกก็เริ่มมาแล้ว จิตนี่แหละเป็นตัวที่มันสร้างทัศนะวิสัยต่างๆ นานาขึ้นมา


(ต่อแทร็ก 13/2)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น