วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/4


พระอาจารย์
13/4 (570209D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
9 กุมภาพันธ์ 2557



พระอาจารย์ –  การปฏิบัติธรรมน่ะ มันไม่ใช่เป็นเวล่ำเวลา ...มันจะต้องให้ได้ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นสภาวการณ์ที่มันรุนแรงขนาดไหน ตามที่กิเลสมันกล่าวอ้างก็ตาม ...ศีลต้องอยู่ตรงนั้น สมาธิต้องอยู่ตรงนั้น ปัญญาต้องอยู่ตรงนั้น 

ต้องเอามาใช้ให้ได้ ...จนมันเกิดความช่ำชอง จนมันเกิดความชำนาญ จนมันเกิดความเข้มแข็งในศีลสมาธิปัญญา จนมันเกิดความที่เรียกว่ามีอำนาจกำลังเหนือกว่าอารมณ์ เหนือกว่ากิเลสน้อยใหญ่ 

จนมันมีปัญญาที่มันรักษากายใจได้ต่อเนื่อง ...กายใจมันอยู่ได้ต่อเนื่องนี่ ต้องมีปัญญาเป็นผู้ประคับประคองไว้ ...พอมันยิ่งมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงขึ้นไป กายใจมันก็ไม่มีการเล็ดรอดหลุดหายไปไหนเลย

เมื่อมีกายใจ เมื่อมีมรรคที่เข้มแข็งอยู่นี่  จิตปรุงแต่ง ความคิดทุกความคิด ความเห็นทุกความเห็นที่มันเกิดขึ้นนี่ มันเห็นหมดทุกตัวเลย มันรู้หมดทุกความคิดเลย 

มันรู้จักหมด รู้หมดทุกจิตที่มันแสดงอาการเลย ไม่มีว่ามันคิดมันปรุงเรื่องราวอะไรขึ้นมาแล้วมันไม่รู้มันไม่เห็นเลย ...มันเห็นมันรู้หมดทุกอาการของจิตเลย

แต่ว่ามันรู้มันเห็นในทุกอาการของจิตนี่...มันรู้แบบไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร  ...ไม่ใช่ว่าเวลามันอยู่ในมรรค หรือว่าอยู่กับกายใจแล้วมันจะอยู่แบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ 

คือมันจะรู้เห็นทุกอาการของจิตเลย ว่าในหนึ่งวัน ในทั้งวัน ในหลายๆ วันนี่ มันคิดแต่ละวัน แต่ละขณะนี่ มันคิดอะไรขึ้นมาบ้าง มันมีความเห็นอะไรขึ้นมาบ้าง 

ทั้งที่มีความเห็นขึ้นมาลอยๆ และทั้งที่มีความเห็นทั้งมีความคิดเมื่อมีการกระทบรูปกระทบเสียง กระทบอะไร มันจะเห็นหมดเลย...โดยที่ว่ามันเห็นอยู่ท่ามกลางกายใจ 

โดยที่กายใจนี่ไม่ได้หลุด ไม่ได้ลอด ไม่ได้เล็ด ไม่ได้หาย ไม่ได้จาก ไม่ได้ถูกสลายทำลายไปเลย 

นี่ มันมีความเข้มแข็งในองค์มรรค เหมือนกับเป็นกำแพงที่มันหล่อหลอมอย่างแข็งแรงแข็งแกร่งอย่างนั้น ไม่มีอะไรมาทำลายได้เลย แน่ะ ...ผู้ภาวนาจริงๆ น่ะอย่างนี้ 

แล้วเรามันเคยเข้าไปถึงมั้ยล่ะสภาวะอย่างนี้ เคยเข้าไปถึงรึยังล่ะ ...หรือเป็นแค่แมลงเต่าทองเกาะอยู่ตีนดอยเชียงดาว  คือพร้อมที่จะโผบินไปหมดกับทุกอาการเลย 

แล้วก็ทิ้งศีลสมาธิปัญญาไว้อยู่เบื้องหลัง โดยที่ไม่ได้ห่วงหาอาวรณ์เลย ...ไม่ได้อาลัยอาวรณ์ในศีลสมาธิปัญญาเลย 

แต่อาลัยในสุขและทุกข์...อย่างยิ่งยวด  อาลัยอาวรณ์ในการแสดง การกระทำ คำพูด ของบุคคลต่างๆ ทั้งที่พอใจและไม่พอใจอย่างยิ่งยวด มันเกิดความอาลัยอาวรณ์ห่วงหา

ทำไงถึงจะเปลี่ยนไอ้ความห่วงหาอาลัยอาวรณ์อย่างนั้น มาเป็นห่วงหาอาลัยอาวรณ์ในกายใจของตัวเองบ้างเล่า 

ทำยังไงถึงจะรู้สึกบ้างว่า จะอยู่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีกายใจอยู่กับปัจจุบัน จะขาดเสียไม่ได้เลยแม้แต่ขณะวินาทีนึงที่ไม่รู้กายที่ไม่รู้ตัวอยู่ นี่มันเกิดความอาวรณ์ในศีลสมาธิปัญญา

ไม่ใช่อาวรณ์เพราะติดข้อง ไม่ได้อาวรณ์เพราะห่วงหาด้วยความเป็นสุขเป็นทุกข์ผูกพันมั่นด้วยกิเลส 

แต่มันอาวรณ์ด้วยความเป็นที่ที่ชอบ เป็นที่ที่ควร เป็นที่ที่เป็นมงคล เป็นที่ที่จะหลุดจะพ้น จะแก้กิเลส จะปลดเงื่อนพันธนาการของกิเลสของกายใจของขันธ์ได้

คือเห็นคุณค่าในศีลสมาธิปัญญา...ว่ามีคุณค่ากว่ากิเลส มีคุณค่ากว่าราคะ โทสะ โมหะ  มีคุณค่ากว่าความสุขความทุกข์ในโลก ทั้งโลกนี้ และโลกหน้า ... โลกนี้คือปัจจุบัน โลกหน้าคืออนาคต

อยู่กับปัจจุบันรู้ ปัจจุบันกายนี่ ...จนมันเรียกว่าลืมโลกไปเลย  ลืมโลกนี้โลกหน้าไปเลย ลืมคนนั้นคนนี้ไปเลย ลืมอดีต ลืมอนาคต ลืมสัญญา ลืมข้างหน้า 

มันไม่ไปคว้ าไม่ไปควานตรงนั้น กับอะไรลมๆ แล้งๆ จับต้องไม่ได้ ...ก็มาอยู่กับสิ่งที่มันจับต้องได้เป็นสาระ คือกาย คือศีล คือใจ คือรู้ ...นี่ มันเป็นของที่จริงจนไม่รู้ว่าจะจริงยังไง 

ทั้งๆ ที่เขาแสดงความเป็นจริงนี้น่ะ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงความจริงนี้ ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงนี้ได้เลย ...แต่ด้วยความไม่รู้ของจิตของเรานี่ มันพยายามไปสร้างอะไรที่ไม่จริง...ให้มันจริงขึ้นมาให้ได้ 

ไม่ได้ก็ต้องให้ได้ ไม่เป็นก็ต้องให้เป็น ไม่มีก็ต้องให้มันมี ที่มันมีก็ต้องให้มันมีนานๆ ...มันพยายามอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือมีแต่ความทะเยอทะยานไปมา ทำขึ้นในสิ่งที่มันต้องการเท่านั้นเอง

มันหาความเป็นจริงในนั้นไม่ได้ มันไม่มีความเป็นจริงอะไรในนั้นเลย ...แต่กายกับใจนี่เป็นที่ที่เขาแสดงความเป็นจริงอย่างชัดเจน ชัดแจ้ง  ความเป็นจริงว่าอะไรเป็นนั่ง นั่งคืออะไร นั่งเป็นใคร นั่งเป็นของใคร

ความเป็นจริงของรู้ ของธาตุรู้ ที่ไม่ได้เป็นใคร ที่ไม่ได้มีอารมณ์ในรู้ ที่ไม่ได้มีความสุขความทุกข์ในรู้ ...แม้แต่จะมีอารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็ยังรู้ของมันเท่าเดิม ที่มันเป็นสุขก็รู้เท่าเดิมกับที่มันเป็นทุกข์

มันก็ไม่ได้ขึ้น-ลง...เมื่อมันมีสุขมากขึ้นหรือว่ามีทุกข์น้อยลง รู้ก็คือรู้ว่าสุขมากทุกข์มาก สุขน้อยทุกข์น้อย สุขนานทุกข์นาน ...มันก็รู้เท่าเดิมนั่นน่ะแหละ 

มันไม่มีอะไรในรู้ ไม่ได้เป็นอะไรเลย ...นี่ มันก็แสดงความเป็นจริงอยู่อย่างชัดเจนชัดแจ้งอยู่อย่างนั้น ...กายก็แสดงความเป็นจริงของความเป็นก้อนธาตุ กองธาตุ 

การรวมตัวกันของธาตุ เป็นร้อน เป็นอ่อน เป็นแข็ง เป็นไหว เป็นยืด เป็นหยุ่น เป็นซาบซ่าน เป็นเหนี่ยว เป็นนำ เป็นรั้ง เป็นยึด เป็นยวบยาบ ...นี่เขาก็แสดงความเป็นลักษณะของธาตุอยู่อย่างนั้น

ก็มีความจริงอยู่สองความจริงนี่แหละ ...แต่ด้วยจิตที่มันไม่รู้นี่ มันพยายามจะไปสร้างความเป็นจริงขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ก็ต้องได้ ไม่มีก็ต้องทำให้มันมีต้องทำให้มันจริง ...พยายามไปทำความเป็นจริงขึ้นมาใหม่

เพราะอะไร ...เพราะว่ามันไม่เชื่อว่ากายนี้จริง มันไม่เชื่อว่าใจนี้จริง  มันหนีจากความเป็นจริง เพราะมันไม่เชื่อว่านี่เป็นของจริง นี่เป็นความจริง มันก็เลยไปสร้างความเป็นจริงตามประสามันเองขึ้นมาใหม่

ถ้ามันสร้างได้...อย่างที่มันว่า อย่างที่มันหมาย อย่างที่มันปรุงแต่ง ...มันก็เข้าไปกลืนกินมาเป็นอารมณ์ดีใจเสียใจ เป็นสุขเป็นทุกข์ ผูกพันมั่นหมาย อิ่มเอิบซาบซ่านในตัวของมัน

ซึ่งรังแต่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความสืบเนื่องและยึดติด ผูกพัน ยืดยาว ไม่จบไม่สิ้น ...เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากความไม่รู้ทั้งสิ้น แล้วเราก็ยังอยู่ ทนอยู่ แล้วก็ยินยอมอยู่กับอาการนี้ โดยที่ไม่ได้ตะขิดตะขวงใจเลย

คือนานๆ มันจะตะขิดตะขวงใจ...เมื่อมันมาได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์ด่าว่าหรือชี้แนะ ...มันก็รู้สึกบ้างเล็กๆ น้อยๆ แล้วเดี๋ยวก็ลืมแล้ว 

แบบว่า ..."อาจารย์อยู่ตั้งเชียงดาว อิชั้นน่ะอยู่เชียงใหม่ ไกลกันนะ  ชั้นจะทำอะไร อาจารย์คงไม่รู้หรอก เอาไว้ก่อน ...ตามสบายใจฉันก่อน" 

นี่ เราปล่อยให้กิเลสมันมีอำนาจ ...เผลอเพลิน ไม่มีหิริโอตตัปปะ ระมัดระวังรักษาศีลด้วยตัวของตัวเอง

ถ้ามันรักษากายรักษารู้ด้วยความคุ้นเคยแล้ว มันจะเกิดหิริโอตตัปปะ ...คือความละอายใจที่มันอยู่โดยที่ไม่มีศีลเป็นเครื่องทรง ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ว่าทรงศีลนี้ไว้  มันจะมีความละอายใจ

เพราะเมื่อใดที่มันไม่ได้ทรงศีลไว้ ทรงกายไว้ด้วยสติระลึกรู้นี่ ...มันจะตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสหมดเลย มันจะตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ความคิดนึกหมด  

แล้วเมื่อมันอยู่ในลักษณะตรงนั้นน่ะ มันจะเกิดความเป็นหิริโอตตัปปะภายใน เป็นความละอายต่อบาป ละอายต่อการละเมิดศีล  

นี่ โดยที่ไม่ใช่กลัวอาจารย์หรือกลัวพระพุทธเจ้า ...มันจะกลัวตัวของมันเอง ล่วงเกินศีล แล้วไปอยู่ข้างกิเลส ไปอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ไปอยู่พวกเดียวกันกับกิเลสความไม่รู้

แล้วไอ้กิเลสความไม่รู้มันก็ละเอียด เราไม่ค่อยรู้หรอกว่าหน้าตามันเป็นยังไง ... ส่วนมากมันจึงไปอยู่กับลูกกะเป๊กของความไม่รู้คืออารมณ์ โกรธ โลภ หลง 

แล้วก็ไปเข้าข้าง ไปถือหาง ไปกางปีกกางแขนอยู่ตรงนั้น ...มีตัวเราเข้าไปแบบเต็มเนื้อเต็มตัว อยู่กับอารมณ์ ในอารมณ์ เป็นอารมณ์นั้นๆ เป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกับเราเลย 

เหมือนกับมันหล่อหลอมกันขึ้นมา...เป็นตัวเราที่มีกิเลสขึ้นมาเลย เป็นตัวเราผู้โกรธขึ้นมาเลย เป็นตัวเราผู้ดีใจ เป็นตัวเราผู้เป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นมาเลย

เพราะนั้นให้รักษากายไว้ ...ถึงจะไม่ได้อะไร ละกิเลสอะไรตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ด้วยความชัดเจน ก็ถือว่าสะสมศีล พลังของศีล พลังของสมาธิปัญญาทีละเล็กทีละน้อย เพิ่มพูนพอกพูนไป 

ทำอะไรก็รู้ กายอยู่ยังไงก็รู้ กายหมุน กายหัน กายยืน กายเดิน กายนั่ง กายนอน  ระหว่างนอนก็อย่าไประริกระรี้ที่จะให้มันหลับเลย ก็นอนไปดูกายที่มันทอดยาวไป ดูความรู้สึกที่มันพลิกที่มันหันไป

พอดูไปดูมา ดันไม่หลับซะอีก มันก็ว่า “เอ๊ะ พรุ่งนี้เช้าจะทำงานได้มั้ยนี่ มันจะมีแรงมั้ยนี่ ไม่ได้ๆ ไม่ดูแล้ว” ...แน่ะ เห็นมั้ย กิเลสสามารถแอบอ้างเอาไปกินได้หมดน่ะ  

ทำไม ไม่หลับแล้วเป็นไง จะรู้ตัวจนไม่หลับแล้วเป็นไง ... นี่  ทำไมไม่แข็งขืนกับมันบ้าง ไปกลัว...กลัว  พอมันปรุง “เอ๊ะไม่ดีนะนี่” ก็เอาแล้ว...เริ่มแล้ว

พอมันมีอดีตอนาคตขึ้นมาล่ะ ศีลสมาธิปัญญามันจะเริ่มห่าง ห่างแล้ว เป็นเรื่องที่ว่ากลายเป็นท็อกซิทไป เหมือนกับเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญก้าวหน้างอกงามของวันพรุ่งนี้ไป

“เดี๋ยวพรุ่งนี้จะโทรม ตาจะโหล เดี๋ยวจะซึมเบลอ” นั่น มาเป็นพรวน ก็เลย “ต้องรีบๆ หลับแล้ว” ...พออีกวันรุ่งขึ้นก็เลย “กูไม่ดูแล้ว” เพราะถ้าดูแล้วไม่หลับ กูหลับเลย...รีบๆ หลับไปซะเลย 

เนี่ย โคตรจะเป็นเหมือนลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเลยนะ ...พอลืมตาขึ้นมา อ้าว กลายเป็นพญามาราธิราช นึกว่าพระพุทธเจ้า  คือตัวเองทำเหมือนลูกศิษย์พระพุทธเจ้านะ แต่การกระทำจริงๆ น่ะ มันลูกศิษย์พญามาร

หรือจะรอให้พญามาราธิราชสำเร็จเป็นพุทธะก่อนล่ะ หือ ...พญามารนี่เป็นโพธิสัตว์นะ มาราธิราช นี่ชั้นยามา อยากไปดูมั้ย จะพาไปดู ไปปวารณาตัวเป็นศิษย์ ...ก็เห็นปวารณาตัวมาตั้งแต่เกิดแล้วนี่


โยม –  ก็จะออก แต่ยังออกไม่ได้ (หัวเราะ)

พระอาจารย์ –  มันเป็นมาโดยสันดานแล้ว เป็นลูกศิษย์พญามารกัน เนี่ย กว่าจะแซะ กว่าจะขุดออกมา กว่าจะโปรโมท กว่าจะเสนออ็อพชั่นให้ ...ก็ยังไม่ค่อยมา 

ไม่รู้มันติดอะไรนักหนา ...อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันยังไม่ยอมเลยอ่ะ ...นิดๆ หน่อยๆ นี่ เอาเป็นเอาตาย ผูกกันยิ่งกว่ากาวตราช้างอีก ละไม่ได้

นิดๆ หน่อยๆ ก็ “ฮึ...ฮื้อ” เห็นมั้ย ทำไมมันถึงมีอำนาจ เชื่อมสมานกันจนที่เรียกว่า มันจะตายชักดิ้นชักงอ  มันเหมือนจะตายดิ้นตายอยู่ตรงนั้นเลยนะ ...มันเข้าขั้นลิซึ่มเลยน่ะ

อาสวะนี่นะ อนุสัยนี่นะ ...ถ้าไม่ได้เล่นไม้แข็งกับมัน เข้มแข็งกับมันนะ ถ้าไม่ได้ตั้งอกตั้งใจที่จะละที่จะเลิกกันจริงๆ นะ มันคอยชี้ช่องอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวนั้น เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวโน้น 

พอละตรงนี้ได้ มันก็มีลอดช่องนั้นมาให้ติด พอทันตรงนั้นมันก็มีอีกช่องมาให้ติด ไอ้ตัวเดียวกันน่ะแหละ ...จะมันไม่เอาแล้ว แต่ตามมันไม่ทันซะที เนี่ย เรียกว่าความเพียรไม่มี

เอาจนมันเรียกว่า มันไม่มีช่องได้ไปได้มาเลย เพราะนั้นว่าก็ยืนหยัดตั้งมั่นอยู่ในกายเดียวใจเดียวนั่นเอง นั่นน่ะคือเรียกว่าปิดประตูตายเลยน่ะ ไม่ออกนอกช่องนี้ไปเลย 

ปิดหมดเลย ...มันจะขึ้นบนลงล่าง ไปซ้ายมาขวา  แม้แต่มันจะเอียงหน้า เอียงข้างไปแค่หนึ่งลิปดา หนึ่งฟิลิปดา หนึ่งองศานี่ ...ก็ไม่หันเหออกไปน่ะ

มันก็ต้องเล่นไม้ตายนั่นแหละ เป็นไม้ตายเดียว ...ศีลสมาธิปัญญาตัวเดียวเท่านั้นจึงจะเป็นช่องทางออกจากความเป็นลูกศิษย์พญามาร ...ขันธมาร กิเลสมาร สังขารมาร อภิปุญญาภิสังขารมาร เทวบุตรมาร เนี่ย มาร

จะออกจากห้ามารหกมารนี่ให้ได้ มีที่เดียว...ที่ต้องยึด ที่ต้องเหนี่ยว ที่ต้องเป็นหมุดมาตรฐานคอยเหยียบคอยหยั่งคอยยืนอยู่บนฐานนี้คือ...กาย-ใจ ศีลสมาธิปัญญานั่นเอง ที่อื่นไม่มีทางรอดจากเงื้อมมือพญามารเหล่านี้

จนมารตัวสุดท้ายที่จะมาลากไป ก็คือมัจจุมาร ...อันนี้หนีไม่พ้น แม้แต่พระอริยะก็ยังหนีไม่พ้นเลย พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็ยังหนีไม่พ้น มารตัวสุดท้ายนี่ 

แต่ว่าได้ครั้งเดียว ครั้งสุดท้าย มัจจุมาร แล้วก็จะไม่กลับมาอยู่ในอุ้งมือมารอีกต่อไป พญามัจจุราชตามหาไม่เจอ

เหมือนกับพระวังคีสะ ผู้ชำนาญงานในการเคาะกะโหลกคน รู้หมดไปไหน จะไปเกิดเป็นคนต่อ หรือเกิดเป็นหมา หรือไปเกิดเป็นเทวดา รู้หมดเลย  จนไปเจอกะโหลกนึงที่ไม่รู้ที่ไป...(เล่าเรื่องพระวังคีสะ)

(หมายเหตุ : อ่านเรื่อง "พระวังคีสเถระ" ได้ตามลิงก์นี้ค่ะ

พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าจะสอนให้ มีวิชานึงที่จะไปสู่จุดนั้น แล้วจะรู้ว่าจุดนั้นคืออะไร 

ด้วยความอยากรู้อยากได้วิชา อยากไปรู้ว่าไอ้นี่ ไอ้ตรงนี้มันคืออะไร มันมีอยู่จริงมั้ย ...ท่านวังคีสะก็เริ่มปวารณาศีลสมาธิปัญญาขึ้นภายใน มุ่งมั่นตั้งใจอยากได้วิชาไปสู่จุดนั้น

นี่ โดยที่ไม่รู้อะไรน่ะ ...ก็เรียกว่าถูกพระพุทธเจ้าชักจูง ชักนำ ชี้นำ...จนถึงนิพพาน ก็ I see , I get  เป็นปัจจัตตัง...ปัจจัตตังแล้ว เลิกเคาะกะโหลกแล้ว

เห็นมั้ยว่า ความมุ่งมั่นสำเร็จผลเช่นนี้ ...แล้วความมุ่งมั่น ...พวกเรามีมั้ย มีบ้างมั้ย มีสักน้อยนึงมั้ย (โยมหัวเราะ) 

คำว่าความมุ่งมั่นนี่คือหนึ่งในบารมี ที่เรียกว่าสัจจาธิษฐาน...แรง  นี่คือความมุ่งมั่น จิตที่มุ่งมั่นต่อมรรคผลแลนิพพาน โดยที่ไม่รู้หรอกว่าเป็นมรรคผลหรือนิพพาน เข้าใจมั้ย แต่มีจิตที่มุ่งมั่นไปในจุดนั้น

เพราะนั้นตัวสัจจาธิษฐานนี่มันไม่ใช่ความอยากล้วนๆ นะ  อย่างที่เราเคยบอกน่ะ รู้จักเข็มทิศมั้ย เข็มทิศที่ไม่ตายนะ มันจะชี้อยู่ทิศเดียวน่ะ ทิศเหนือ 

ต่อให้หน้าปัดนี่มันจะเขียนว่า เอ็นหรือนอร์ทอยู่ตรงไหน ...กูจะชี้อยู่ตรงนี้ นี่คือเข็มทิศ ต่อให้มันหันไปทางทิศตะวันตก เข็มมันก็ไม่หัน มันจะอยู่ตรงนี้

นี่คือความมุ่งมั่น สัจจาธิษฐาน มันแรง ต่อให้บิดพลิ้ว ต่อให้คว่ำต่อให้หงาย มันก็จะชี้ของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ นี่ ผู้ที่มุ่งตรงต่อมรรค มุ่งตรงต่อนิพพาน ...มีรึมันจะหลุดรอดจากนิพพาน 

ก็ตรงอยู่ในเส้นทางครรลองของมรรค วิถีแห่งทิศเหนือ มันไม่มีทางผิดทิศเลย ...จิตมุ่งมั่น ไม่ใช่ความอยาก ไม่ใช่จิตอยาก ไม่ใช่จิตทะยานอยาก ...แต่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและแท้จริง


(ต่อแทร็ก 13/5)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น