วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/9 (1)


พระอาจารย์
13/9 (570221A)
21 กุมภาพันธ์ 2557
(ช่วง 1)


พระอาจารย์ –  ไม่ได้มานานแล้วนี่ ...ยังได้ภาวนาอยู่มั้ยล่ะ

โยม –  ช่วงนี้ก็รู้สึกว่า มันเห็นความคิดเยอะขึ้น  ถ้าระหว่างวันนี่ บางทีเรามีกิจกรรมอื่นด้วยบ้าง มันก็ยังมีความคิดเป็นระยะๆ แต่ว่ามีช่วงนึงรู้สึกว่า...ตอนหลังหนูดูตามลมไปด้วยค่ะ แล้วตอนนอนมันเหมือนมีความคิดผุดขึ้นมาเยอะค่ะ แล้วจิตมันก็ตื่น 

ทีนี้ตื่นแล้วก็ อะไรผุดโผล่มาเยอะแยะไปหมด ก็เลยรับไม่ทัน ตั้งรับไม่ทัน ทำไงดี นี้ค่ะ ก็เลยมีโอกาสได้มาเรียนถามพระอาจารย์


พระอาจารย์ –  คือไอ้เรื่องจิตเรื่องความคิดนี่มันห้ามไม่ได้หรอก อย่าไปคิดเอาชนะ เพียงแต่ว่าอย่าไปแยแส อย่าไปสนใจมันแค่นั้นน่ะ อย่าไปทำ...ทั้งเข้าไปดับหรือไปทำให้มันน้อยลงด้วยความอยาก อะไรพวกนี้

ปล่อยๆ ไม่ต้องสนใจกับมัน แล้วก็กลับมารู้ตัว มาอยู่กับรู้ตัว มาอยู่กับที่กายน่ะ ...กำลังนอนอยู่ก็ดู ไล่ดู สลับไป เดี๋ยวมันก็หลงไปคิด แล้วก็สลับ หลงไปคิดแล้วก็สลับ รู้ตัว คอยสลับเข้าสลับออก

คืออย่าไปหงุดหงิดกับความคิดหรือจะไปจัดการยังไงกับมันดี อันนี้ ...ไอ้ออกน่ะมันออกของมันอยู่แล้วแหละ ออกไปคิดน่ะ ...แต่ว่าไอ้เข้านี่ ต้องคอยดึงเข้ามา ดึงกลับเข้ามาอยู่ในกาย กลับมารู้กาย 

ถ้านอนก็ดูความกระทบของตัว ที่มันเหยียดยาว ที่มันตึง แน่น ตรงไหน ตรงข้อตรงพับอะไรตรงนี้ ไล่ดู ...ไล่ ไล่ความรู้สึกในกาย ขึ้นลงๆ ในความรู้สึกไป 

เดี๋ยวความคิด อารมณ์ มันก็ค่อยๆ จางของมันไปเองแหละ มันจะจางของมันไปเอง ...เพราะว่าเหมือนกับเราไม่ไปให้ความสนใจ ให้ความสำคัญกับมันน่ะ มันก็เลยหมดตัวเจตนาเข้าไป

เพราะนั้นไอ้ตัวเจตนามันคือตัวหล่อเลี้ยง หรือว่าเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงความคิด เจตนาดีก็หล่อเลี้ยงความคิด เจตนาไม่ดี คือไม่ชอบ ยินร้าย ก็เป็นตัวหล่อเลี้ยงความคิดทั้งคู่น่ะ ...มันไม่มีทางหมดหรอก 

เจตนาดีคือไปทำให้มันว่างให้มันดับนี่ มันก็คือการหล่อเลี้ยงความคิดเหมือนกัน ...ก็ละออก ละเลย ละด้วยการที่ว่าให้มันมาทำงานอื่นแทน 

ให้จิต...เหมือนกับเราแบ่งจิตมาทำงานอื่น ไม่ไปทำงานในความคิด  ก็มาทำงานในกาย วางมือจากตรงนั้นแล้วก็มาคอย เหมือนกับเอาจิตมาไล้...ไล้ขึ้นลงในกาย เบาๆ ไป


โยม –  มันจะตื่นก็ปล่อยมันตื่นใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ยิ่งตื่นก็ดีนี่ ไม่ต้องหลับ


โยม –  พระอาจารย์คะ บางทีแค่แบบปุ๊บ อู้หู มันคิดเยอะแยะมากมายเลยค่ะ มันก็ทำให้ นั่นน่ะค่ะ หนูก็เข้าใจที่พระอาจารย์บอกเลยว่า ทุกอย่างเป็นเจตนา ถ้าเกิดเราไม่ชอบเราอยากหยุด เราก็ไปหล่อเลี้ยงอีกใช่มั้ยคะ แต่มันก็ยากมาก

พระอาจารย์ – อดทน...ทน  ไอ้พวกนี้มันเป็นเหตุสะสม เราสะสมเหตุพวกนี้มา ... ช่างคิด คิดมาก แล้วก็เก็บเรื่องราวโดยที่...ถึงจะไม่พูดไม่อะไรก็ตาม แต่มันเก็บภายในไว้...เป็นเรื่อง


โยม –  อ๋อ ค่ะ โอ้โห มันแต่งเป็นเรื่องเป็นราวจินตนาการ

พระอาจารย์ –  มันโยงใยไปทั่วแหละ ...มันเป็นธรรมารมณ์ภายใน  

เพราะนั้นการเจริญสติความรู้ตัวนี่ อยู่กับปัจจุบันกายบ่อยๆ นี่ การทำอย่างนี้ อยู่กับลม อยู่กับกาย อยู่กับปัจจุบัน ความรู้ตัวบ่อยๆ นี่ ...ลักษณะพวกนี้ มันเหมือนไปควาน มันไปควานตะกอน


โยม –  มันตีขึ้นใช่มั้ย หนูมีความรู้สึกว่ามันเหมือนตีขึ้นมา

พระอาจารย์ –  อือ มันลอยขึ้นมา ...โดยที่ว่าไม่ตั้งใจเจตนาอะไรหรอก มันขึ้นมาเองน่ะ มันจะขึ้นของมันมาเอง  เหมือนกับ...คือถ้าคนไม่เข้าใจก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมภาวนาแล้วมันยิ่งฟุ้งซ่าน


โยม – (หัวเราะ) ค่ะ มันคิด

พระอาจารย์ –  ก็เลยสงสัยว่าภาวนาถูก หรือผิดรึเปล่า ...จริงๆ น่ะคือมันล้างตะกอน มันเข้าไปขุดลอกสิ่งที่มันสะสมหมักหมม ...เป็นสัญญา 

พวกนี้มันเป็นสัญญา เก็บ จำ เรื่องราวในอดีต แล้วมันพยายามจะมาผูกต่อเป็นปัจจุบัน แล้วก็ต่อเนื่องด้วยอนาคต ให้มันเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา...ไม่จบ  คือจิตมันยังไม่ยอมจบ แต่มันเก็บไว้ 

เพราะนั้นนี่ ตัวมรรค การเจริญมรรค การเจริญศีลสมาธิปัญญานี่  มรรคนี่มันเป็นตัวกวาดล้าง หรือชำระล้าง มันก็จะชำระ มันก็เกิดความขุ่นมัวเศร้าหมองด้วยความคิดนี้ขึ้นมา บางทีมันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ เป็นวันเป็นคืน

อดทนอย่างเดียว ไม่ต้องอะไรกับมันหรอก ดูมันไป ...เพียงแต่ว่าให้ระวัง ระวังอย่างนึงคือกายวาจา อย่าให้มันหลุดออกไปทางกายวาจา 

ในขณะที่มันกำลังคิดปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วมันมีเหตุภายนอกมันมาป๊ะกันน่ะ พอดี...พอดีกับไอ้ที่กำลังคิดอยู่ คนนั้นบุคคลนั้นน่ะ เข้าใจมั้ย ...อันนี้ต้องระวัง ต้องควบคุม 

เพราะมันจะต่อเนื่อง ไม่งั้นมันจะต่อเนื่องเป็นกรรม


โยม –  เหมือนเรากำลังจะเริ่มตัดมันแล้วใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ เนี่ย เพราะนั้นเหตุปัจจัยมันก็จะดึงเหตุปัจจัยภายนอกน่ะให้มา...ให้มาเจอกัน


โยม –  อ๋อ

พระอาจารย์ –  มันเหมือนกับการชำระกรรมน่ะ เข้าใจรึเปล่า  

ถ้ากำลังขุ่นๆ แล้วก็กำลังคิดถึงเรื่องนั้น แล้วก็โยงไปถึงเรื่องคนนั้นคนนี้เขาทำมา แล้วมาเจอกันต่อหน้า ปึ้บนี่ มันอดไม่ได้ ที่จะพูด ที่จะแสดงกิริยาอาการอะไรออกไป ...นี่ มันจะต่อเนื่อง

ก็ต้องสำรวมกายวาจาไว้ อดทน ไม่พูด แล้วก็ทำความรู้ตัวอยู่ภายใน อยู่อย่างนี้ไป เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ ผ่านๆๆ ...มันก็ลอกออก เหมือนกับลอกหนองคูบึงออก ไอ้ที่มันตัน ไอ้ที่มันตีบไว้นี่ น้ำก็ไหลได้ 

ทีนี้มันก็เริ่มโปร่ง ไอ้ที่น้ำไหล ...คือเหมือนท่อระบายน้ำมันอุดตันอย่างนี้ สิ่งพวกนี้คือสิ่งอุดตัน ...มันก็ค่อยๆ ชะล้าง ลอกออกๆ น้ำก็ไหล มรรคก็เดิน จิตมันก็โล่ง ปล่อย สบาย มันก็เริ่มโปร่ง...โปร่งเป็นระยะๆ ไป

เนี่ย มันก็จะเจอไอ้ท่ออุดตันเป็นระลอกๆ ไปอย่างนี้ ...คือสัญญาอารมณ์อะไรที่มันเก็บไว้ ไม่รู้มันเก็บไว้ตั้งแต่สมัยไหนน่ะ มันก็ดูเหมือนประดังประเดอะไรขึ้นมา โดยที่ไม่มีสาเหตุอะไรเลย


โยม –  มาจากไหนก็ไม่รู้

พระอาจารย์ –  นี่คล้ายๆ กับมันมาแบบไม่มีร่องมีรอย อยู่ดีๆ ก็มา ...ซึ่งแต่ก่อน ดูเหมือนสงบราบเรียบไม่มีอะไร อย่างนี้ มันก็เป็นระลอกขึ้นมา ...ขึ้นมาแล้ว อยู่อย่างนั้นน่ะ

แล้วไม่มีการแก้ ...มีวิธีอย่างเดียวที่ทำก็คือว่าไม่แก้ไม่หนี อดทน นี่มันก็ต้องอยู่ด้วยความอดทน แล้วก็ที่ที่มันจะอยู่แล้วสามารถอดทนได้นี่ คือมันจะต้องอยู่ในฐาน...มันต้องมีฐานกายคือศีล ฐานสมาธิ คือใจรู้

นี่ สองฐานนี่ เป็นตัวที่มันจะรองรับอารมณ์ได้ รองรับอารมณ์ภายในโดยที่ไม่ตาม ...ไม่ตามอารมณ์ ไม่ตามความคิด แล้วก็ไม่ปรุงต่อ ไม่แต่งต่อ ไม่เติมแต่ง ไม่ปรุงให้มันเกิดความยืดยาวออกไป

เพราะว่ามันจะมีจิตอีกดวงหนึ่ง ที่มันจะพยายามยืดยาวอยู่ตลอดเวลา คือไม่ยอมจบ จิตมันจะไม่ยอมจบ คือมันจะหา ไม่รู้มันจะคิดไปหาพระแสงอะไรน่ะ ...แต่มันไม่ยอมจบ 

คือสันดาน เข้าใจมั้ย นี่คือสันดานของอวิชชาเลย...คือมันจะไม่ยอมจบเรื่อง


โยม –  เหมือนต้องสู้กับมันตลอดน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ต้องคอยเหนี่ยวคอยรั้งมันอยู่อย่างนี้ ...แล้วก็การรั้งๆๆๆ ไว้ ไอ้การคอยเหนี่ยวคอยรั้งก็คือจะไม่ตาม ...แต่มันจะให้ตาม พยายามจะให้ตามคือให้คิดต่ออย่างนี้ 

นี่คือรั้งไว้ ต้องคอยรั้ง สติคอยระลึกแล้วก็รั้ง รั้งกลับมาแล้วก็คอยมัดไว้กับฐานกาย ฐานปัจจุบันกายไว้อย่างนี้ ...นี่เขาเรียกว่ามันก็สู้กัน มันสู้กัน สู้กับกิเลส สู้กับอนุสัย สันดานเดิม 

คือมันจะหาเรื่องไปข้างหน้า ...เพื่ออะไร เพื่อให้มันเกิดอะไร ...ก็คือเพื่อให้ “เรา” นี่ ได้อะไรขึ้นมา...ได้ความสุข ได้ความสะใจ ได้ความดั่งปรารถนา ได้ดั่งที่ต้องการ คือได้อารมณ์ความสุขของ “เรา” นั่นเอง

คือที่มันคิดไม่จบ ไม่ยอมหยุดคิดนี่น่ะ คือมันจะไปทำให้เกิดความเพอร์เฟ็ค เรียกว่าสมบูรณ์ในการเจอกับคนนั้น ประสบกับเหตุนี้ที่มันค้างอยู่ ที่มันยังคาใจอยู่ ที่มันยังข้องอยู่ 

แล้วมันยังคิดว่ามันน่าจะแก้ได้ แล้วน่าจะทำอะไรสักอย่างนึง แล้วมันจะเกิดความสุขขึ้นมาได้ ...มันก็พยายามจะหาหนทาง ช่องที่จะไปสู่ความสุขนั้นให้ได้


โยม –  มันก็เหมือนกับว่า มันเป็นการที่อันเดิมเราสร้างร่องไว้ ใช่มั้ยคะอาจารย์  แล้วมันพยายามจะให้เราไปลงร่องตามที่เรานั่นไว้

พระอาจารย์ –  คือจิตคนนี่ จิตผู้ไม่รู้นี่ มันติดความสุข มันติดสุข 

หมายความว่าติดความสบายใจ ติดความปีติ ติดอารมณ์น่ะ มันติดอารมณ์ มันคุ้นเคยในอารมณ์นั้น ...แล้วมันก็บอกว่า เป็นที่พึ่งเป็นที่อยู่ เป็นที่สบายใจ เป็นที่วางใจได้

แล้วพอไปเจอเรื่องที่ค้างคา หรือที่มันยังไม่สามารถจะลุล่วงสู่ความสุขในจุดนั้น ...มันก็เก็บไว้ๆ เก็บสะสมไว้ เพื่อจะหาช่องทางให้ได้ต่อไป เพื่อจะไปสู่ความสุขที่มันปรารถนา 

นั่นแหละเขาเรียกว่ามันเป็นวิถีแห่งความทะยานอยาก ด้วยอำนาจของตัณหา ...เพราะนั้นตัณหามันไม่ไปหาทุกข์หรอก ...มันจะไปหาอย่างเดียวคือสุข 

ซึ่งไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่มันก็หา ...จนกว่ามันจะเจอน่ะ  ก็ไม่รู้จะเจอเมื่อไหร่ มันก็หาอยู่ตลอดเวลา ...นี่คืออำนาจทะยานอยากของจิตนะ

เพราะนั้นตัวสตินี่ มันจะเป็นตัวที่เข้าไปต่อสู้กับอำนาจของตัณหา ที่มันจะไม่ให้คิดต่อ  ...ถ้าคิดต่อแล้วมันก็มีหลายช่องทางน่ะ พอมันมีหลายช่องทางแล้วมันไม่แน่ใจสักช่องทางนึง เข้าใจมั้ย มันจะไม่มีที่จบ


โยม –  ใช่ฮ่ะ มันไม่จบ

พระอาจารย์ –  มันจะไม่จบ แล้วก็จะวน ก็จะวน...มาซ้ำตรงนี้ แล้วก็วนซ้ำตรงนี้อีก ...ก็คือมันหาไปแล้วมันตัน ตันแล้วมันก็วน ซ้ำซาก คิดซ้ำคิดซาก ...วน

แล้วถ้ามันมีร่องคิดไปเรื่องอื่น มันก็ไปอีก  คือมันจะไปสู่ที่ที่มันคิดว่าจะแล้วใจน่ะ ...ซึ่งมันไม่มีทางเจอ

เพราะนั้นก็ต้องไม่ตามอำนาจของความปรุงแต่งนั้น ...ก็ทวน  พอทวนปุ๊บ มันก็ขัดใจ มีปฏิฆะ  คือมันอึดอัด เป็นปฏิฆะ ...ปฏิฆะในตัวของมันเองนั่นแหละ 

คือเหมือนกับกำลังจะกินข้าวอร่อยๆ แล้วบังคับไม่ให้มันกลืนน่ะ คล้ายๆ อย่างนั้น ...มันก็รู้สึกว่ามันไม่แล้วใจ นี่ มันอึดอัด ...ก็ต้องทวนกันอยู่อย่างนั้น

เพราะนั้นถ้ายิ่งคิดแล้วจะปล่อยไปตามคิด หรือการไปแก้มันก็ตาม ...ทุกอย่างนี่คือการให้กำลัง มันคือการให้กำลังของกิเลส ให้กำลังของอำนาจความทะยานอยาก ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันเต็ม

มันจะมีกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไปปล่อยตามความคิดหรือทำตามความคิด หรือว่าคิดแล้วก็ได้ผลแล้วก็จะพูดยังไง จะทำยังไงตามความคิดนั้นๆ มันก็เป็นกำลังที่ว่าสะสมความเป็นตัวเราของเราขึ้นมาเรื่อยๆ


แต่ว่าถ้าไม่ให้มันกลืนกิน ถ้าไม่ให้มันไปทำตามความคิด พูดตามความคิดแล้วนี่ ...ก็เหมือนกับไม่ได้ให้อาหารมัน ไม่ได้หล่อเลี้ยง ไม่ไปสร้างปัจจัยหล่อเลี้ยงมัน ...มันก็เริ่มเหี่ยว เฉา อ่อนกำลัง หมดกำลังไป 

เดี๋ยวมันก็คลายออก คลายออกแต่ว่ามันจะคลายออกเป็นระลอกๆ ไป ...มันก็กลับมาโล่งโปร่ง


(ต่อแทร็ก 13/9 ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น