วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/8


พระอาจารย์
13/8 (570211C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
11 กุมภาพันธ์ 2557



พระอาจารย์ –  นี่คือวิถีทางที่พระพุทธเจ้าท่านสอน แล้วให้ทุกคนน้อมนำเอาไปใช้ เอาไปฝึก เอาไปทำ ...โดยไม่ว่างเว้น โดยไม่อ้างเวลาว่า ตอนเช้า ตอนสาย ตอนจิตสบายๆ ตอนจิตไม่มีงาน ตอนปลอดคน 

ไม่อ้างน่ะ ไม่อ้างเวลา  คือตลอด...เท่าที่จะทำได้เต็มกำลัง ...แล้วไม่ต้องกลัว ไม่ต้องถามถึงผลเลย 

ถามถึงมรรคเหอะ...ว่าทำมากหรือยัง ทำจริงจังหรือยัง ทำต่อเนื่องหรือยัง ...ให้ถามตรงนี้ 

อย่ามัวแต่ถามถึงผล เพราะจิตมันจะหาแต่ผล ...“เรา” น่ะ มันคอยแต่ว่า “ฮื้อ เมื่อไหร่จะได้วะ เมื่อไหร่จะเข้าใจซะที เมื่อไหร่จะวางความเป็นเราได้” นี่ มันจะหาแต่ผล ...อย่าไปจมอยู่กับอาการนั้น

ถ้าจะถามก็บอกว่า “เออ วันนี้ยังทำน้อยเหลือเกิน ยังรู้ตัวได้น้อย ไม่ได้แล้ว ต้องมากกว่านี้” นี่ต้องถามอย่างนี้ “วันนี้ รู้ได้แค่นิดเดียวเอง มันน่าจะรู้กว่านี้ ต้องทำให้ได้” 

แล้วไม่ใช่ตายอยู่แค่ความอยากนะ ใช่มั้ย แบบ “มันน่าจะทำให้ได้นะ”... แล้วก็แค่นั้นน่ะ ...นี่เขาเรียกว่าตายแค่ความอยาก 

มันต้องทำ กระโจนเข้าไปทำด้วย ไม่ใช่ภาวนาอยู่แค่อยากหรือไม่อยากเท่านั้น ...เมื่อมันรู้ว่ามันน้อย ก็ต้องทำให้มาก เมื่อมันรู้ว่าทำได้มากดีแล้ว มากพอแล้วนี่ ก็ต้องทำไว้ รักษาไว้ ให้มันมากเท่านั้น

แล้วก็ให้มันมากขึ้นไปอีก โดยที่ว่า...ลบข้อแม้ ลบเงื่อนไขลงไปเรื่อยๆ เช่น ตอนคุยโทรศัพท์นี่รู้ไม่ได้ ตอนที่ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์นี่รู้ไม่ได้ ตอนที่คุยนี่รู้ไม่ได้ ...อย่างนี้มันเงื่อนไข ไปสร้างเงื่อนไข

ก็ค่อยๆ ลบ ใช้ยางลบล้างๆ เลือนๆ กับเงื่อนไขนั้น  ...พยายามให้ได้ จนมันหมดเงื่อนไข จนมันไม่มีอะไรมาเป็นเครื่องขัดขวาง มาเป็นข้อแม้ว่าจะรู้ตัวตรงนั้นไม่ได้ ...ไม่มี  นี่เรียกว่าการพัฒนาขึ้น

ไม่ใช่ว่ามันมีเงื่อนไขอย่างนั้นก็มีเงื่อนไขอยู่อย่างนั้นถ้ามีเงื่อนไขอยู่อย่างนั้นนะ ต่อไปมันจะมีเงื่อนไขขึ้นเรื่อยๆ ...เดี๋ยวนั่นก็ไม่ได้ เดี๋ยวนี่ก็ไม่ได้ เดี๋ยวก็มาอีกแล้ว มันนั่นมันนี่ 

มันจะมีเงื่อนไขที่ว่า...ไม่สามารถทำความรู้ตัวตรงนั้นได้  ต้องรอให้ตรงนั้น ภาวะตรงนั้นผ่านพ้นไปก่อน หรือต้องไปหาสถานที่ที่ไม่มีภาวะนั้นมารุมล้อมก่อน

ภาวะนี้เขาเรียกว่าเลียนแบบดารา ดาราคือนักแสดง คือมายา ...คือจิตที่มันสร้างมายาใดมายาหนึ่งขึ้นมา แล้วก็หลงเพลินไปกับความเป็นดาราเจ้าบทบาทนั้น ...ไม่เอา ไม่ฟัง ไม่ได้ก็ต้องได้ โดยไม่มีข้อแม้ 

ข้อแม้น้อยลงๆ ...ความเข้มแข็ง แข็งแกร่งของศีลของกาย  ความหนักแน่น ความปรากฏชัดเจนในตัวกาย  ความปรากฏชัดเจนในตัวใจคือรู้ มันก็จะปรากฏเผยตัวตนที่แท้จริงของมันอย่างชัดเจนชัดแจ้งขึ้น

มันชัดเจนชัดแจ้งแบบดิ้นไม่หลุดน่ะ แบบขว้างไม่พ้น แบบหนี สลัด ปัดทิ้งไม่ได้ ... นั่นน่ะมันชัดขนาดนั้นน่ะ ...นี่เกิดความชัดเจนขึ้นมาเอง

ซึ่งตอนนี้พวกเราหาความชัดเจนตรงนั้นไม่ได้ อย่างนั้นไม่ได้ ...มันมีแต่ว่า “หาไม่ค่อยเจอเลยกาย”  ระหว่างกิน หากายเจอบ้างมั้ย ระหว่างคุยโทรศัพท์หากายเจอบ้างมั้ย 

ระหว่างอ่านหนังสือพิมพ์ หากายเจอบ้างมั้ย ระหว่างดูละครหากายเจอมั้ย ระหว่างกำลังเกรี้ยวกราด ระหว่างกำลังเศร้าหมอง ขม ตรม หากายเจอบ้างมั้ยในตรงนั้น

เห็นมั้ย มันยังมีร่องที่ไม่สามารถปรากฏ หรือสร้าง หรือระลึก หรือหยั่ง หรือควาน ศีลหรือกายให้ปรากฏในช่วงนั้นได้เลย  ...ขนาดช่วงที่อยู่ต่อหน้าเรานี่ ยังจับไม่ค่อยอยู่เลย ใช่มั้ย  

จิตนี่ยิ่งกว่าปรอทอีกนะ มันพล้อบแพล้บๆ ...แล้วถ้าเราเลินเล่อหรือประมาท คือถ้าไม่ขวนขวายนะ มันจะไปแบบไม่กลับ...ไปแบบกู่ไม่กลับเลย

แต่ถ้าไอ้การที่มันล่อกแล่กๆๆ ของมันไปมานี่  แล้วเราพยายามขยัน ...นี่สร้างนิสัยกลับมารู้ๆๆ รู้ใหม่ๆๆ สร้างนิสัยนี้ ...เจริญสติ นี่เรียกว่าการเจริญสติ บ่อยๆ 

แล้วมันจะติดเป็นนิสัยที่คุ้นเคยขึ้นมา ...นี่เรียกว่าการอบรมจิต ให้จิตมันอยู่ในกรอบ ให้จิตมันอยู่ในปัจจุบัน ให้จิตมันอยู่กับปัจจุบัน

สอนจิตให้มันรักดี อย่ารักชั่ว ไม่อย่างนั้นน่ะมันจะออกไปสร้างทุกข์ ตลอดเวลา ...อย่านึกว่าลอยๆ ลอยไปไม่มีอะไรนี่ อย่านึกว่าสบายนะ นึกว่าเพลินนะ นึกว่าไม่มีอะไรนะ เดี๋ยวก็ไปสะดุดหกล้มที่ใดที่หนึ่งขึ้นมา

เพราะทางที่ไปน่ะมันมืด มันไม่รู้จะเจออะไรข้างหน้า ...มันไม่เห็นหรอก ว่าขรุขระ ว่าถนนขาด ว่าไปเจอขวานเจอมีดเจอตออะไร ...นี่ มันไปด้วยความเผลอเพลิน 

ไอ้ไม่มีอะไรๆ นั่นน่ะ เดี๋ยวก็ไปเจอขวานสับเข้ากลางกบาล โป้งเดียว นี่ น้ำหูน้ำตาไหลเลย ...ทุกข์ ทุรนทุราย นี่ โมหะพาไป ทุกข์

รักษาเนื้อรักษาตัว รักษาศีล รักษาสติ อยู่อย่างนี้ ...จะไม่มีอะไร จะไม่ได้อะไร รักษาไว้ รู้ตัวเข้าไว้ ทบทวนอยู่ในตัวเองทั้งวัน 

เพื่ออะไร ...เพื่อสร้างนิสัยให้จิตมันหยุดอยู่ในที่เดียวอันเดียว ในปัจจุบันเดียว สร้างฐานของสมาธิด้วย

แล้วเมื่อมันปฏิบัติเหตุ หรือปฏิบัติมรรค สมควรแก่เหตุสมควรแก่ผลนี่ ...ไม่ต้องถามเรื่องปัญญา ไม่ต้องถามเรื่องความรู้ความเข้าใจ ไม่ต้องถามเรื่องการละการวาง ไม่ต้องถามเรื่องกลัวจะไม่ถึง ไม่ได้อะไร

มันก็จะค่อยๆ เปิดเผยความเป็นจริง หยั่งถึงความเป็นจริง ชัดเจนในความเป็นจริง...ทั้งในส่วนกาย ทั้งในส่วนใจคือรู้นี่ โดยที่ไม่ต้องไปเปิดตำรา โดยที่ไม่ต้องไปถามคนอื่นเลย ...มันรู้สึกรุงรังเสียเวลา 

มันก็ค้นหาความเป็นจริงอยู่ภายใน แล้วมันเห็นว่าการค้นหาความเป็นจริงภายในนี้ มันมีค่ายิ่งกว่าการค้นหาความเป็นจริงตามตำรา หรือภายนอก ...มันคนละเรื่องกันเลย

นี่ เราต้องสร้าง เราต้องภาวนากับตัวเองอยู่อย่างนี้ ...อย่าไปเห่อเหิมทะยานไปกับธรรมะภายนอก ที่เป็นเสียง ที่เป็นบุคคล ที่เป็นการกระทำ ที่เป็นลักษณะอาการต่างๆ ที่น่าเลื่อมใสเชื่อถือ 

มันเลยเกิดความเชื่อถือผู้นั้นบุคคลนั้นมากกว่ามันเชื่อถือตัวมันเอง คือตัวศีลตัวกาย ...ถ้ามันหมดความเชื่อถือในตัวมันเอง คือหมดความเชื่อถือในศีลที่เป็นเหตุแห่งสมาธิและปัญญา ...เนี่ย เสียหาย 

เกิดความเสียหาย  เสียทั้งศีล เสียทั้งสมาธิ เสียทั้งปัญญา หายทั้งศีล หายทั้งสมาธิ หายทั้งปัญญา ...เราถึงเรียกว่าเสียหาย ขาดทุน

เพราะว่า กาย ขันธ์ รูปขันธ์ นามขันธ์ที่อยู่ในขันธ์ห้าทั้งหมดนี่...มันมีอายุ อายุขัย อายุขันธ์ มันมีกาลเวลา และอายุมันไม่ได้ยาวเท่ากับดอยเชียงดาวนี่นะ ...มันสั้นกว่าเยอะ 

เขาวิจัยค่าเฉลี่ยอายุคนไทยโดยประมาณเจ็ดสิบกว่าปีเองนะ ...นี่ใกล้แล้วนะ น้อยลงเต็มทีแล้วนะ ผ่านมานี่ หลายสิบปีนี่ ลองนึกย้อนไปสิ ...ไวจริงๆ 

นึกว่าเมื่อวานนี้เองยังแก้ผ้าเล่นน้ำอยู่เลย แป๊บเดียวเข้าไปเท่าไหร่แล้ว ...แล้วนึกดูไอ้ที่เหลือนี่ อีกกีี่ปีเอง ...มันไวมั้ยล่ะ แป๊บเดียวนะ ตายแล้วนะ

ถ้าสมมติหกสิบเจ็ดสิบนี่ อีกแป๊บเดียวนะ ก็จะถึงค่าเฉลี่ยแล้ว ...แต่จะตายจริงรึเปล่าไม่รู้นะ มันจะถึงค่าเฉลี่ยแล้ว อาจจะมีโอเวอร์ไทม์มั้ย หรือเติมเวลานอกเหนือไหม ไม่รู้นะ 

แต่ไม่มีไทมเอาท์นะ ต้องเล่นจนจบเกมนะ ...แต่ว่าใกล้จะจบแล้ว ทุกคน ...บางคนยังไม่ทันได้ภาวนาเลย ตายซะแล้วก็มี ...เห็นไหมว่าการภาวนามันต้องแข่งกับเวลา อย่างนี้ 

แล้วมันเอาเวลาไปทำอะไรกันอยู่...จิตน่ะมันดึงเวลาไปอยู่ตรงไหนหมด  แทนที่เราจะดึงจิตให้มันมาอยู่ในที่ที่จะให้เกิดสมาธิเกิดปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ...แต่มันกลับไปกินเวลาอยู่กับอะไรก็ไม่รู้

แต่อายุขัยของขันธ์น่ะ...ไม่รอนะ  เขาก็รุดหน้าไป กลืนกินตัวมันเองไป เหมือนเทียนไข ...แล้วบางครั้ง บางคน บางช่วง หรือบางสภาวะ...ก็เป็นเทียนไขที่อยู่ในลมกรรโชกแรงซะด้วยน่ะ 

กับไอ้เทียนไขที่มันอยู่ในห้องที่ไม่มีลม อันไหนมันนานกว่ากัน ...ก็ดู เทียนไขเหมือนกัน แต่อายุยาวสั้นไม่เท่ากัน ...เพราะเหตุปัจจัยคือกรรมและวิบาก

เพราะนั้นความตายไม่มีนิมิตหมาย ไม่สามารถจะมีใครกำหนดหยั่งรู้ได้ อาจจะตายตรงนี้เดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ ปีหน้า หรือว่าห้าปีสิบปีข้างหน้าก็ไม่แน่ ...แต่รู้อย่างเดียวว่า ตายแน่ ไม่พ้นแน่ 

แล้วขณะเวลามันน้อยลงไปเรื่อยๆ นี่ ...แต่เราหมดเวลาไปกับลูกหลานเหรอ เราหมดเวลาไปกับการคิดแทนคนอื่นหรือ เราหมดเวลาไปกับคิดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองหรือ 

เราหมดเวลาไปกับเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ความเห็นใดความเห็นหนึ่งหรือ ...ไร้สาระ เข้าใจมั้ยว่ามันไร้สาระ...ในการเกิดครั้งนี้

และความที่ไปอยู่ในความไร้สาระนั้นน่ะ มันจะเกิดความเป็นการเข้าไปอยู่ในความไร้สาระในการเกิดครั้งต่อๆ ไป ...ท่านเรียกว่าสันดาน มันติดในมโนสันดาน ...อาสวะ 

ถ้าเราไม่ทวนสันดานดั้งเดิม แล้วก็จะเป็นสันดานที่พอกพูนต่อไป ...ซึ่งมันยาก มันทวน มันฝืน ...แต่ว่าการทวน การฝืน การยากอย่างนี้ มันมีที่สุด มันมีวันจบ มันมีวันหลุดพ้น ...เป็นผลตอบแทน

แต่ความเป็นไปตามสันดานไร้สาระนี่ ไม่มีคำว่าจบ  จะสบายขนาดไหนก็ตามเถอะ จะอยู่แบบง่ายๆ สะดวกสบาย ไม่ต้องซีเรียสกับชีวิต ...แต่มันจะไม่มีคำว่าจบ 

กับไอ้การที่ทวนรู้ทวนเห็น ทวนอยู่กับปัจจุบันกายปัจจุบันรู้นี่ ยาก ลำบาก แต่มีวันจบ ...แลกเอา เลือกเอา ...สอนมัน สอนจิตตัวเราเองนั่นแหละ 

จะเลือกอย่างไร มันก็จะได้อย่างนั้น  ทำอย่างไร มันก็จะได้ผลอย่างนั้น  ประกอบเหตุอย่างไร ผลก็จะต้องเป็นอย่างนั้น ...นี่คือเหตุปัจจัย

เพราะนั้นเราจะต้องสร้างนิสัย ศรัทธา ที่จะต้องมาประกอบเหตุแห่งมรรค ประกอบเหตุแห่งสติ ประกอบเหตุแห่งศีล ประกอบเหตุแห่งสมาธิ ประกอบเหตุแห่งปัญญา ...ให้มากๆ 

เพราะถ้าไม่ทำ ไม่ทวนให้มาประกอบเหตุในมรรค ศีลสมาธิปัญญา ...โดยสันดานมันจะไปประกอบเหตุที่ไร้สาระ เป็นอาจิณ ...ไม่มีวิธีแก้หรอก และคนอื่นแก้ให้ก็ไม่ได้ คนอื่นช่วยก็ไม่ได้ 

ต้องทำเอง ต้องแก้ด้วยตัวเอง ต้องแก้ด้วยความศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ...นี่ แก้ด้วยการบ่มอินทรีย์นั่นแหละ ฟัง จนเชื่อ จนเข้าใจ แล้วพากเพียร เจริญสติสมาธิปัญญาขึ้นภายใน 

ไม่ท้อ ไม่ถอย ไม่เบื่อ ไม่รามือ ไม่ทิ้งกลางคัน เท่านี้แหละ ให้ฟังไว้ ให้จำ แล้วให้ไปทำ ...ไม่ใช่แค่เก็บไว้ในกะโหลก แล้วเอากะโหลกมาไว้คั่นหู (หัวเราะ) ...มันก็ไม่มีประโยชน์ 

ถ้ามันอยู่แค่จำแล้วก็คิด แล้วก็ว่า “โคตรโชคดีเลย ได้มาฟังอาจารย์นี่” ...มึงไม่ต้องเอาโชคกับกูตรงนี้ไปหรอก ไม่มีประโยชน์ ...มันต้องเอาไปทำ

แล้วเวลาพวกโยมทำ คือคนที่ได้ยินได้ฟังแล้วเอาไปทำนี่ ...ประโยชน์ไม่ขึ้นกับเราเลย ประโยชน์ขึ้นกับตัวคนนั้น เราไม่เกี่ยวนะ ...ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างตาย 

เราไปนิพพานหรือไม่ โยมก็ไปกับเราไม่ได้  โยมลงนรกหรือโยมขึ้นสวรรค์ เราก็ไปกับโยมไม่ได้  ต่างคนต่างไป ...แต่เราก็ชี้ทางให้ ทางไหนไม่ควร จะไปหรือ นั่นน่ะ ...ก็มันไม่น่าไป จะไปทำไม 

มันก็ยังมีแอบว่า “หนูจะไป” ...เอ้า มึงฉลาดหรือโง่ จนบางทีครูบาอาจารย์ก็บอก...เออ ปล่อยมึงไปเหอะ อย่างนั้น ก็บอกแล้วว่าอย่าไป แต่มันแบบ "คือมันถูกจริตหนูค่ะ" อย่างนี้ จะทำยังไง 

เห็นมั้ย ก็บอก ก็สอน ก็ชี้ก็แนะ ...เพราะนั้นทุกคนน่ะ ผลมันอยู่ที่ตัวคนเดิน ...จะเดินไปทางไหน หรือจะนอนจมขี้จมเยี่ยวอยู่กับความเป็นกองก้อนกองคนอยู่อย่างนี้ 

แล้วก็จะมาจมอยู่กับกองมูตรคูถของความเป็นคนทุกภพทุกชาติไปอย่างนี้ ...นี่เขาเรียกว่าอยู่แบบเอ้อระเหยลอยชาย ใช้ชีวิตแบบผ่านไปวันๆ เอาแบบสบายใจดี

นี่ ทางเลือก แล้วก็โยมเลือกเอง ...พระเป็นผู้ชี้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้แนะ พระพุทธเจ้าเป็นผู้กางแผนที่ไว้ ซึ่งแผนที่นี้ไม่มีใครรู้มาก่อน พระพุทธเจ้าเอามากางให้หมดเลย จะเอาไหนล่ะ

เดรัจฉานไหม ให้เลือกนะ หรือเอาแค่เปรต อ่ะ สัตว์นรก หรืออสุรกาย ก็มีให้เลือกอีกนะ ...หรือคน เอาคนก็ได้นะ เอาคนดี เอาคนมีเงิน เอาคนเป็นมหากษัตริย์ เอาคนเป็นยาจก ท่านก็ชี้ให้เห็น 

หรืออยากเป็นเทวดามั้ย ก็มีนะ ๖ ชั้น เอาพรหมก็ได้สบายหน่อย ๑๖ ชั้น อรูปพรหมอีก ๔ ชั้น เอาไหม ท่านชี้ให้เห็นหมดเลย ...จะเอายังไง นี่ท่านชี้ให้เห็นเลยนะ 

แล้วท่านก็ชี้ให้เห็น อัฏฐจัตตาริ บุรุษคู่  ธรรมคู่ ๔ ...นวโลกุตตรธรรมเก้า โสดามรรค โสดาผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล นิพพาน นี่ นวโลกุตตรธรรมเก้า ...เอาไหม ท่านชี้

เห็นมั้ย ท่านกางแผนที่แบบเปิดเผยมากเลย...สามโลกธาตุนี้ ทางไปทางมา เหตุปัจจัยที่จะเป็นและจะไป เหตุปัจจัยที่จะดำรงและคงอยู่ เหตุปัจจัยที่จะพัฒนาขึ้นหรือลง ท่านไม่ได้ปิดบังเลย

เรามาเกิดแล้ว เรามาได้ยินแล้ว เรามาอ่านแผนที่แล้ว เรามาทดลองแล้ว  อย่าปล่อยโอกาสที่หาได้ยาก เหมือนนาทีทอง หนึ่งนาทีทอง ในอนันตกาล อนันตาจักรวาล 

ในอายุจักรวาลที่ไม่รู้วันจบสิ้น มันมีแค่หนึ่งนาทีทองแค่นี้ ...แล้วเรามาอยู่ในช่วงนาทีทองนี้  ...แต่กลับไปเย้วๆ กับอะไรไม่รู้ ซึ่งไร้สาระสิ้นดี

เพราะนั้นก็จำกัดกายใจของตัวเอง ให้แคบให้สั้น ให้อยู่ในกรอบ อย่าให้มันออกนอก ... ควบคุม รักษา เพียรเพ่งอยู่ภายใน 

ไม่ต้องกลัวบ้า ไม่ต้องกลัวเข้ากับคนไม่ได้ ไม่ต้องกลัวโง่ ไม่ต้องกลัววิกลจริตวิปลาส ไม่ต้องกลัวตกต่ำ ไม่ต้องกลัวอยู่กับคนอื่นไม่ได้  นี่ มันจะมีความกลัวเยอะแยะ...ไม่เอา

ทำไปเหอะ โง่ก็โง่ ...แต่มันไม่เป็นทุกข์ ไม่ไปสร้างทุกข์ให้ใคร ไม่ไปเบียดเบียนใคร ไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน ...เนี่ย มันมีค่าในตัวของมันเองขึ้นมาแล้ว โดยที่ไม่ต้องการหวังค่าหวังผลเลย

แต่มันมีค่าในตัวของมันเองด้วยศีลแล้ว ...เห็นไหม อานิสงส์ของศีลนี่บังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเอง โดยที่ไม่หวังคุณค่า...แต่มันมีคุณค่าในตัวของมัน  คือไม่ออกไปเบียดเบียนผู้ใดผู้หนึ่ง ...ทั้งวาจาและกาย

เพราะศีลน่ะเป็นเรื่องของกายวาจา เข้าใจมั้ย มันระวังรักษา มันควบคุมกายวาจาให้อยู่ในปัจจุบัน  ...ถึงแม้จิตยังแอบด่าอยู่นะ ...คือว่าจิตยังควบคุมไม่ได้ 

เพราะในระดับจิต ต้องเป็นสมาธิ เข้าใจมั้ย ...จิตจะกลาง จิตจะรู้ จิตจะเป็นหนึ่งนี่ ต้องอันดับของสมาธิ ...เพราะนั้นในระดับของศีลจิตจะยังไม่ปกติ

แต่ว่าการรักษากายวาจา คือศีลปัจจุบันกาย ปัจจุบันอิริยาบถนี่ เรื่อยๆ ...มันจะเข้าไปอบรมจิตนี่ ให้เป็นหนึ่งและเป็นกลาง 

คือมันเข้าไประงับนิวรณ์ ระงับความปรุงแต่ง จิตมันก็จะรวมรู้รวมเห็นอยู่ภายใน ...นี่เรียกว่าสงบหรือตั้งมั่น ด้วยใจตั้งมั่น นี่เริ่มปกติกาย ปกติใจ ...ปกติใจจะเริ่มด้วยสมาธิ

แต่ในขณะที่เรารักษาศีลนี่ จิตยังเพ่นพ่านอยู่นะ  ยังตำหนิ ยังแอบมีอารมณ์ แอบว่า แอบค่อนขอด แอบเสียด แอบเหน็บ แอบกัดอะไรอยู่นะ ...แต่ว่าปากนี่จะไม่พูดนะ 

มันจะระวังไม่พูดออกมาทางปาก...สักเท่าไหร่  หรือพูดค่อยๆ น้อยลง ทั้งในแง่ความเห็น ทั้งในแง่ดี ทั้งในแง่ร้าย ก็จะเริ่มน้อยลง  นี่มันจะรักษากายวาจา ค่อยๆ หด เห็นมั้ยว่ามันน้อยลงๆ

จนมันทรงสภาวะปกติด้วยความต่อเนื่อง ...นี่เขาเรียกว่าอยู่ด้วยสัมปชัญญะ ทำอยู่อย่างนี้ ...อย่าให้มันแตกเนื้อแตกตัวออกไป แตกวาจาออกไป 

สังเกตดูเถอะข้าศึกของสติของกายของศีล ...อย่างแรกก็คือ พูดมาก ...คนที่พูดมาก ให้รู้เลย สติน้อย จะรักษาสติในการพูดได้ยากที่สุด ...เพราะนั้นพระพุทธเจ้าถึงบอกว่าสัมมาวาจา 

มันอยู่ในข้อนึงของมรรคเลย การรักษาวาจานี่ รักษายาก ...แรกๆ ก็พูดดีน่ะ ดีๆๆๆ  เดี๋ยวมาแล้ว บุคคลนั้นบุคคลนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ ...นี่ เริ่มไปแล้ว สัมมาวาจาไม่ค่อยเกิดแล้ว มิจฉามาแล้ว จิตก็ขุ่นมัวไปเรื่อย

แล้วสตินี่ไม่ต้องถามเลยเวลาคุยนี่...ยากมาก ขนาดระดับพระที่ฝึกอย่างเข้มข้นแล้วนี่ ยังรักษาไม่ค่อยได้ ยังไม่สามารถที่จะรู้ตัวพร้อมกับพูดได้ในขณะนั้นเลย 

คือได้นะ ได้แค่เท่าประโยคสั้นๆ ...แต่ถ้าเท้าความถึง Once upon a time in the West and East นะ กาลครั้งหนึ่งเมื่อครั้งพุทธกาล มีธรรมบทนั้น มีธรรมบทนี้มานี่...ไปแล้ว

ถ้าเป็นปุถุชนก็ ...ไปไหนมา เป็นไงบ้าง มาจากไหน ทำอะไรมา เมียทำอะไร ลูกกี่คน ลูกเรียนที่ไหน จบรึยัง ฯลฯ เนี่ย ถ้าคุยกันถึงในระดับนั้นน่ะยากแล้วสติ...ที่จะทุกคำพูด ทุกวรรค ทุกอักขระ

เพราะนั้นตัวสติที่จะเป็นสัมมาในวาจาได้นี่ มันจะเป็นสติที่เป็นแค่ประโยคสั้นๆ แล้วตั้งใจอย่างยิ่งที่จะรักษา แล้วก็รู้การกระดิก การพูดเป็นคำๆ แล้วก็รีบจบเลย ...นี่เขาเรียกว่าถ้าพากเพียรกันจริงๆ นะ  

แต่พวกเราในหน้าที่การงาน มันยากอยู่แล้ว ...ก็เว้นไว้ในฐานะที่เรียกว่า “ฝากไว้ก่อนเถอะ” (หัวเราะกัน) อะไรประมาณนั้นก่อน ...แต่ว่าอย่าทิ้งกาย อย่าทิ้งรู้แค่นั้นเอง

แต่ถ้าใครอยู่ได้คนเดียว ไม่ต้องทำงานทำการอะไร ...ก็พยายามสงบปาก รู้ให้มาก พูดให้น้อย  ก่อนจะพูดให้รู้ตัว กำลังพูดให้รู้ว่ากำลังพูด พูดเสร็จแล้วก็ให้รู้  

นี่ถ้าสติที่ครบกระบวนการของวาจานะ มันจะรู้ตั้งแต่ก่อนที่จะพูด...รู้ มันคิดก่อนจะพูดนี่รู้  กำลังพูดออกไป พูดอะไรอยู่...รู้  พูดเสร็จแล้ว จบ...รู้  มันจะรู้สามกระบวนการนี่ ...นี่เรียกว่าสติสมบูรณ์ในการพูดครั้งนี้

แต่ถ้าพูดยาว มันจะรู้แต่ต้นๆ กลางๆ นี่เริ่มเบลอแล้ว...เริ่มมันๆ เริ่มไม่ต้องใช้แสตนอิน ตัวจริงเสียงจริงเข้าไปเต็มๆ คือไม่ต้องมีแสตนอินมานั่งดูนั่งกำกับ กูเข้าไปเลย ...ถอนตัวไม่ขึ้นน่ะ 

จนเขาจะกลับบ้าน "เธอจะรีบไปไหน ยังคุยไม่เสร็จเลย" นี่ เขาเรียกว่าติดลมแล้ว ...เห็นมั้ย วาจานี่สำคัญนะ มันยากนะในการที่เจริญสติรู้ว่ากำลังพูดนี่ 

แล้วยิ่งคำพูดนี่...มันจะมีอารมณ์อยู่ในคำพูด ทั้งเราและเขา  มันเป็นทางเข้าออกของกิเลสได้ง่าย และไว และแนบเนียน ...โดยที่ไม่รู้ตัวเลย

ถ้าไม่สามารถจำกัดได้ ก็พยายามทำให้น้อยลง พูดเอาแต่เนื้อ ไม่เอาน้ำ ...เอาแค่สองต่อสอง บุรุษที่สามสี่ห้าหกนี่วางไว้ก่อน แบบเจอหน้ากัน เป็นไง สบายดีมั้ย ...จบ 

แต่พอเริ่ม "เออ แฟนเธอเป็นไง" ...นี่เริ่มพร้อมแล้ว (หัวเราะกัน) "แล้วลูกล่ะ" ...อ่ะ นี่ไปใหญ่แล้ว นี่เกินแล้ว ..อย่าให้มันแตกแขนง เอาให้มันแบบ "เออๆ แค่นี้แหละ"

และก็อยู่ในแวดวงปัจจุบัน คุยแต่เรื่องนี้ ...อย่าให้มันเกินปัจจุบันไป อย่าให้มันนอกเนื้อนอกตัวไปไกล มันจะเกิดอาการที่เรียกว่าติดลม แล้วมันจะกลับไม่ถูก หาบ้านไม่เจอ หากายไม่พบ 

แล้วก็ถึงหากายได้ก็... "ยังมันอยู่เลย" ...คือมันเหมือนกับเครื่องมันร้อนแล้วน่ะ มันยังไม่จบเกมน่ะ มันจะไม่ยอมอยู่ อยู่ยาก และมันจะเร่าร้อนในการอยู่ เหมือนเหงื่อมันแตกออกพลั่กๆ อย่างนั้นน่ะ

จนกว่ามันจะรู้สึกว่า...เออ จบเกมแล้ว อะไรอย่างนั้น  มันถึงมาวอร์มดาวน์ ค่อยๆ ลงมา ทีนี้จะอยู่กับเนื้อตัวได้ง่ายขึ้นแล้ว 

แต่ความที่มันเล่นเกมอย่างนี้ทั้งวันน่ะ เข้าใจมั้ย มันเป็นอย่างนั้น  จิตมันก็เลยไม่เคยพักเลย เดี๋ยวชั่วโมงนี้เรื่องนึง ชั่วโมงต่อไปมาอีกเรื่อง มีอะไรให้มันตลอดเวลา 

เพราะนั้นมันจะหยุดได้ยากมากเลย ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นไปตามที่มันเคยเป็นตามนิสัย

เพราะนั้นการภาวนามันอยู่ที่ตัวเองนั่นแหละ ไม่มีใครช่วยได้หรอก ...ก็พยายามอยู่คนเดียวมากๆ อยู่ให้เป็น อยู่อย่างเหงาๆ อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย อยู่อย่างที่ “ไม่ต้องให้ใครมาเห็นใจกูก็ได้โว้ย” 

นั่น อยู่มันไป ไม่ต้องไปหาคนมาปรับทุกข์ปรับสุขอะไร ทนเข้าไว้ ทนต่อทุกข์ของตัวเองเข้าไว้ ทนต่อความที่ไม่มีใครมารับรู้เรื่องราวในทุกข์ของจิต ของกาย ของเรานี่แหละ

อดทน จนทุกข์นี่...ที่เป็นทุกข์ของเรา หรือว่าความอึดอัดคับข้องภายในนี่ มันถูกละลายหายไปอยู่ภายในนั้นเอง ...ไม่ให้ไปละลายกับคนอื่น สิ่งอื่น

คือไม่ใช่ไปละลายกับ...เจอกระป๋องก็เตะ เจอหมาก็เตะ "หงุดหงิดโว้ย หงุดหงิด"...เตะ  ไม่มีอะไรก็เตะประตู กระแทกประตูแรงๆ ...นี่ พวกนี้ นี่คือมันระบายออก

อดทน ให้มันไหม้อยู่ภายใน จนมอดอยู่ภายใน  อย่าไปเชื่อนักจิตวิทยาว่าเดี๋ยวจะเครียด เดี๋ยวจะบ้าอะไร ...อดทน ท่านเรียกว่า ทมะ ข่มกลั้น ...ขันติ ทมะ โสรัจจะ พวกนี้ข่มกิเลสไว้ ข่มอารมณ์ไว้ 

อย่าให้มันแตกกระจายออกทางวาจา ทางกาย หรือทางความคิด อดทนอย่างเดียว จนมันมีอำนาจเหนืออารมณ์  ...สมาธิ ปัญญา มันมีอำนาจอยู่เหนืออารมณ์ ไม่อยู่ใต้อารมณ์ ทีนี้มันไม่ต้องทนเท่าไหร่แล้ว

แค่ขันธ์ห้าก็จะตายชักอยู่แล้ว ยังไปเอาขันธ์อื่นมาพ่วงไว้อีก ...มันต้องเรียนรู้อย่างนี้ ทุกข์มันจะสอน ให้มันรู้ หาเรื่องเองก็ทุกข์เอง เป็นทุกข์เองแล้วก็ต้องแก้เอง ใครจะมาช่วยได้ 

ถ้าช่วยได้ก็คือ อย่าหาทุกข์ อย่าสร้างทุกข์ แค่นั้นเอง 

เอ้า ... ไป พอ ...ภาวนากันมากๆ เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างยิ่ง สำคัญอย่างยิ่ง

............................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น