วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/3


พระอาจารย์
13/3 (570209C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
9 กุมภาพันธ์ 2557


พระอาจารย์ –  ถ้ามันได้เห็นถึงจุดนั้นแล้วเมื่อไหร่ มันก็เห็นว่า...นอกจากใจนี้ไป ไม่มีอะไรสำคัญเท่าใจนี้เลย ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าใจนี้เลย ไม่มีอะไรเหนือกว่าใจนี้เลย  

ทุกอย่าง ทุกสรรพสิ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งปลอม เกิด-ดับปลอมๆ ตั้งอยู่แบบปลอมๆ ไม่มีสาระ ...สาระที่แท้จริงคือความมีชีวิตของใจดวงนี้นี่เอง หรือว่าความบริสุทธิ์น่ะ

ต่อให้ขันธ์แปรปรวน ต่อให้กายแปรปรวน ต่อให้กายมีเวทนา...ใจดวงนี้ ไม่เคยมีเวทนาเลย  ต่อให้ขันธ์นี้แสดงอาการเร่าร้อนเป็นทุกข์ขนาดไหน...ใจก็ไม่เคยมีอาการเลย  

ต่อให้เสียงเพราะ รูปสวยรูปดีขนาดไหน ใจก็ไม่เคยมีอาการเลย ไม่เข้าไปสัมผัสสัมพันธ์กับอาการนั้นเลย  มีแต่คงสภาวะรู้ เห็น กลาง บริสุทธิ์ในตัวของมัน ไร้มลทินที่จะมาปนเปื้อน แทรกซ้อนอยู่ได้

ก็อยู่กับใจดวงนั้นไป ...ต่อให้กายมันจะเป็นอย่างไร โลกมันจะเป็นอย่างไร ใจก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ... ใจของพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น ท่านเข้าถึงใจนั้น ท่านอยู่กับใจนั้น 

ต่อให้ขันธ์ดับ โลกดับ สามโลกดับ...ใจไม่ดับ ...ก็อยู่กับใจนั้น เป็นอนันตกาล ไม่มีเวลา ไม่มีช้า ไม่มีเร็ว ไม่มีนาน ไม่มีสั้น ไม่มียาว  เป็นธรรมชาติที่เหนือธรรมชาติสามโลก 

อยู่อย่างนั้น ที่อยู่ของพระอริยะ ที่อยู่ของพระพุทธเจ้า ที่อยู่ของผู้ที่เรียกว่าหลุดพ้น ...ก็ที่อยู่ที่ใจนั้นแหละ อยู่กับธรรมชาติของใจนั้นแหละ เป็นธรรมชาติเดียวกันกับใจนั่นแหละ

แต่มันจะเข้าถึงใจนั้นได้ ...ไม่ใช่มานึกๆ คิดๆ เอา หรือฟังแล้วก็จินตนาการเอา หรืออ่านแล้วก็มานั่งทบทวนนึกน้อมขึ้นมา มันก็ยังเป็นใจปลอมๆ อีกนั่นแหละ เพราะว่ามันเป็นใจที่เกิดจากโมเดลของจิตคิดนึกเอาเอง

เพราะนั้นการที่จะเข้าถึงใจน่ะ หรือเข้าไปรับรู้สภาพที่แท้จริงของใจ เข้าถึงสภาวะที่แท้จริงของใจ ...ก็ต้องอาศัยมรรค ก็ต้องอาศัยศีลสมาธิปัญญา ก็ต้องอาศัยกายนี่แหละเป็นสะพานเชื่อมถึงใจ  

มันนั่ง มันแข็ง มันอ่อน มันหนาว มันร้อน นี่ ตัวมันจะไม่รู้ตัว ...เพราะตัวกาย ตัวอ่อนตัวแข็งนี่ มันเป็นตัวธาตุ...ธาตุที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิดในตัวของมันเอง

เพราะนั้นเมื่อใดที่มันรู้ว่านั่ง กำลังนั่งนี่ แล้วมีความรู้ว่ากำลังนั่งอยู่ ...จะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ตรงนั้นน่ะ ใจน่ะ มันปรากฏอยู่ตรงนั้นแล้ว ถ้าไม่งั้นน่ะมันจะไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร กายนี้กำลังอยู่ในท่าไหน

เนี่ย คือกายนี้มันเป็นสะพานเชื่อมถึงใจ ...ถ้าทิ้งกายเมื่อไหร่ก็ทิ้งใจเมื่อนั้น ถ้าไม่ถึงกายเมื่อไหร่ก็ไม่ถึงใจเมื่อนั้น ...พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามีอยู่สี่ฐานที่จะเข้าถึงใจ ก็คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม 

แต่เวทนา จิต ธรรม นี่มันเป็นธรรมที่ละเอียด แล้วแปรปรวนไม่ต่อเนื่อง  เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี บางครั้งมี บางครั้งมาก บางครั้งน้อย บางครั้งไม่มี...ดูเหมือนไม่มี 

จิตก็เกิดดับ ดับแล้วไม่เกิดก็มี หายไปเลย  อารมณ์เหมือนกัน กิเลสเหมือนกัน  เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี มันไม่ต่อเนื่อง ...หรือถ้าอยากทำจิตให้ต่อเนื่อง ก็ให้โกรธมันทั้งวัน แล้วก็ดูความโกรธทั้งวันให้ต่อเนื่อง 

มันต่อมั้ย...ก็ไม่ต่อ ...หรือให้มันคิดทั้งวันเรื่องเดียว คิดๆๆ ทั้งวัน มันก็คิดไม่ได้ทั้งวัน ...เพราะนั้นถ้าจะเอาเวทนา จิต ธรรม มาเป็นสะพานเชื่อมถึงใจ  ก็ได้...แต่ได้ไม่ตลอด  

มันจะได้แบบคนพิการ  อาจจะเป็นพิการแบบครึ่งซีก หรือพิการแบบ paralyze (ทำให้เป็นอัมพาต) เลย ...มันจะไม่สามารถเกิดสภาวะต่อเนื่องของใจรู้ใจเห็นได้

แต่ถ้าเอากายเป็นสะพานเชื่อม ...กายนี่มันเป็นธาตุ มหาภูตรูป ซึ่งมันดำรงคงอยู่ต่อเนื่อง  แล้วกายนี่ไม่ต้องไปสั่ง ไม่ต้องไปบังคับ ไม่ต้องไปหามันน่ะ ...มันมีทั้งวัน ตลอดวัน 

แล้วมันมีไปจนวันตาย โดยที่ไม่ขาดหายเลยแม้แต่ขณะอณูหนึ่งของปัจจุบัน ...เพราะนั้นถ้าเอาสติมาหยั่งรู้ดูเห็น หรือว่าผูกไว้กับกาย ตั้งมั่นอยู่กับกายไว้นี่  ...ใจมันก็จะปรากฏด้วยความต่อเนื่อง

สภาวะกาย-สภาวะใจที่มันอยู่ด้วยกันด้วยความต่อเนื่องนั่นแหละ มันจะแยกจากตัวของมัน ...เพราะมันเป็นคนละธาตุคนละส่วน มันไม่ใช่เป็นเนื้อเดียวกัน

แม้ตอนแรกๆ ที่เรารู้กายเห็นกาย รู้ว่านั่งนอนนี่ เราจะไม่รู้หรอกว่าใจมันมีหน้าตาท่าทางหรือรูปลักษณ์สัณฐานอย่างไร มันจะเหมือนกับมีแต่กายๆๆๆ มีแต่ความรู้สึกของกายอย่างเดียว

ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้มีความรู้สึกของกายอย่างเดียว...มันมีรู้อยู่ในนั้นด้วย ... เพราะถ้ามันไม่มีรู้น่ะ มันจะไม่รู้สึกว่ากายอยู่ตรงไหนเลย ...ถ้าทำสติแบบลักปิดลักเปิด มันก็ไม่สามารถหรอก ที่กายกับใจมันจะแยกออกจากกันด้วยความชัดเจน

เหมือนดอยเชียงดาวที่ตั้งอยู่ แล้วมันปรากฏอย่างชัดนี่ ...แต่เราไม่ได้นั่งดูห่างๆ เราเข้าไปกอดแนบอยู่กับมันอย่างเดียว...แล้วว่ากูอยู่ไหนวะนี่ ...มันก็แยกไม่ออกหรอก ดูเหมือนมันไปกลืนกิน หรือมันไปปนกันอยู่อย่างนั้น 

แต่มันก็รับรู้...รู้สึกอยู่ได้ว่ามันแข็งๆ น่ะ ก็มันกอดอยู่ ...แต่ถ้ารู้กันไปด้วยความต่อเนื่องนี่ มันก็จะค่อยๆ ถอยห่างกันออกมา ระหว่างกายกับใจ ...ว่ามันเป็นคนละส่วนอาการกัน เป็นคนละธาตุกัน เป็นคนละลักษณะธาตุ ไม่เหมือนกัน

ก็รักษากาย-ใจนี้ไว้ด้วยความต่อเนื่อง มันก็จะเกิดช่องว่างระหว่างกายกับใจนี้ ... ถ้ามันได้เห็นช่องว่างระหว่างกายกับใจนี้ แล้วก็รักษาช่องว่างระหว่างกายกับใจนี้ไว้ ...นั่นแหละ เส้นทางของมรรค

ความคิดเอย อารมณ์เอย ความรู้สึกเอย รูปเสียงกลิ่นรส อดีต-อนาคต ความสุข-ความทุกข์ มันก็จะปรากฏท่ามกลางกายใจนั่นแหละ  ซึ่งมันจะปรากฏอยู่ท่ามกลางกายใจโดยที่กายไม่หาย ใจไม่หาย

แต่เมื่อใดที่เราไปกอดอยู่กับกาย แล้วมันปรากฏขึ้นมาลอยๆ เป็นความคิด เป็นอารมณ์ เป็นกิเลส เป็นรูปเป็นเสียง ...เราจะไม่เห็นว่ามันปรากฏท่ามกลางกายใจ มันจะส่ายแส่หันไปดู 

แล้วมันก็จะนึกว่าไอ้นั่นน่ะ ที่มันปรากฏขึ้นมาข้างซ้ายข้างขวาข้างบนข้างล่างน่ะ...เป็นของจริง เป็นของดี เป็นของที่คุ้นเคย เป็นของที่มีค่ามีความสำคัญ ...มันจะโผเข้าไปจับโดยทันทีทันควัน

เมื่อมันโผออกไปจับนี่ มันก็จะทิ้งกายโดยที่ไม่แยแสเลย ...นี่เรียกว่าหลงร้อยเปอร์เซ็นต์  เพราะนั้นถ้ามันมีแค่สติ พอรู้เนื้อรู้ตัวเป็นระยะๆ นี่ มันยังไม่เป็นลักษณะที่ว่ามรรค หรือเป็นทางเดินของมรรคที่ปรากฏ

มันก็เหมือนกับนก มันก็พร้อมที่จะโบยบินไปตลอดเวลา ...ได้ยินเสียงเล็กเสียงน้อย เสียงด่าเสียงชม ก็บินไปแล้ว...ไปจิกไปตีบ้าง ไปคลอเคลียบ้าง ไปลุ่มหลงมัวเมา บ้าบอกับมันบ้าง ...มันก็ทิ้งกายไป

พอวันไหนใจดีขึ้นมา ฟังธรรมขึ้นมา ก็เกิดความกระเหี้ยนกระหือรือ ...แบบวันนี้ครึ้มๆ ไม่มีอะไรทำ เปิดซีดีฟัง ...ได้ยินเสียงอาจารย์แล้วขยันขึ้นมาฉิบหายเลย 

พอฟัง...ก็มาจับ ก็โผมาเกาะกายสักแป๊บนึงพอเป็นพิธี พอเป็นกระสัย พอไม่ให้ตกเทรนด์ พอไม่ให้อาจารย์ด่า “ว่าทำนะ หนูก็ทำนะ” คือก่อนมานี่ก็ตั้งใจทำหน่อย เดี๋ยวไปก็หาย นี่ความเพียรที่มันน้อยนี่

แต่ถ้ามันเกาะ รั้ง เหนี่ยว แล้วก็รักษาอย่างยิ่งให้ต่อเนื่องไป ...ทีนี้มันก็จะค่อยๆ ถอยห่างออกมา...โดยที่ว่าไม่ได้ทิ้งทั้งกายและก็ไม่ได้ทิ้งทั้งใจ ...มันก็จะปรากฏอยู่สองธรรมคู่กันโดยมีระหว่างกายกับใจที่มันแยกออก 

แล้วช่องแยกที่มันแยกออกตรงนั้นน่ะคือมรรค...คือเส้นทาง ...เพราะนั้นอาการของขันธ์ส่วนละเอียด อาการของกิเลส อาการของนาม อาการของอายตนะ ผัสสะ ...มันจะปรากฏอยู่ท่ามกลางกายใจนั่นแหละ  

เมื่อเห็นมันปรากฏอยู่ท่ามกลางกายใจนี่ ...ด้วยความที่มันตั้งมั่นระหว่างกายกับใจ เป็นหลัก ไม่คลาดเคลื่อนจากกายใจ  การเข้าไปให้ค่าให้ความสำคัญกับสิ่งที่ปรากฏนั้น มันก็จะดูเหมือนด้อยค่า ไม่มีราคา 

เมื่อมันไม่ได้เข้าไปให้ค่า หรือเห็นว่าเป็นเรื่องสลักสำคัญอันใด ...อาการที่โผเข้าไปจับในอาการที่มันผุดโผล่อยู่ท่ามกลางกายใจมันก็ไม่มี 

เมื่อไม่มี ไม่ไปจับ ไม่ไปสร้างเรื่อง มีเรื่อง เป็นเรื่องต่อเนื่องกับมันนี่  อาการเหล่านั้นน่ะมันก็จะแสดงความจางคลาย ดับไปในตัวของมันเอง  ยังเหลือไว้แค่กายกับใจ เป็น...เขาเรียกว่าเป็นหมุดมาตรฐาน

เหมือนอย่างเวลาในโลกนี่ เขาอาศัยกรีนิชใช่มั้ยเป็นตัวอ้างอิงเวลามาตรฐานของโลก อิงกับกรีนิช ...นั่นแหละ กายนี่ก็เป็นที่อิงของขันธ์ เป็นที่อิงของความเป็นจริง เป็นที่อิงของปัจจุบัน เป็นที่อิงของมรรค 

เป็นที่อิงของความรู้ความเข้าใจในองค์มรรค ในสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการรู้และการเห็นกับปัจจุบัน เป็นที่ทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในกองขันธ์ เป็นที่ทำให้เกิดความละ ความวาง ความจาง ความคลาย 

ถ้าไม่มีจุดกายเป็นจุดอ้างอิง เป็นที่อ้างอิง เป็นหมุด เป็นหลัก เป็นที่ยึด เป็นมาตรฐานไว้ ... มันจะออกอาการแบบลูกมั่ว ... ซึ่งพอมั่วไปมั่วมาก็จะมั่วเข้าข้างตัวเองตลอด 

ไม่เคยมั่วผิดหรอก...กูถูกหมดน่ะ  ...ถูกตามเราว่า ถูกตามกิเลสว่า ถูกตามอารมณ์ของเราว่า  ถูกหมดน่ะ นอกนั้นทั้งโลกนี่ผิดหมดน่ะ กูถูกคนเดียว ดีคนเดียว ...นี่ ออกอาการทั้งมั่วและบ้า

ถ้าไม่มีมีอิงหลักของกาย อิงหลักของศีลไว้นี่ ทุกอย่างผิดหมดน่ะ ไม่มีใครถูกหรอก ...มันจะมีแต่ “เรา” น่ะ เป็นผู้อยู่ยั้งยืนยงในสามโลกธาตุ เหนือสามโลก ใหญ่กว่าสามโลก ใหญ่กว่ากิเลสทั้งหลายทั้งปวง 

นี่เคารพบูชามันไว้ ถ้าอยากเกิด-ตายในโลกนานๆ ก็เคารพบูชามันมากๆ เอาอาหารไปเซ่นสรวงมัน...คืออารมณ์  ทำ-พูด-คิด ตามอารมณ์ ...รับรอง จะได้ตำแหน่งเทพีแห่งการเกิด เป็นราชาแห่งการเกิดการตาย

แล้วก็มาเอาชนะคะคานกันอยู่ในโลก แบบ “กูจะปราบทุกข์ภัยในโลกให้สิ้นไป กูจะปฏิรูปทุกคนให้เป็นคนดี มึงจะต้องเป็นคนดีให้ได้ นี่คือหน้าที่ของกู” ...ก็คือหน้าที่ของ “เรา” น่ะ

คือ...งานของ "เรา" คือการละกิเลสคนอื่น ...แต่กูไม่ละ เพราะกูใหญ่ที่สุด เป็น King of the King เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งกิเลส เจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งการเกิดการตาย ใครจะเกิดตายเก่งกว่ากู

ภาวนาไปภาวนามา มันจะเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งการเกิดการตายรึเปล่า ...ตราบใดที่ยังให้กิเลสมันมีอำนาจ ทำตามมันชี้นำ ทำตามความเคยชิน ทำตามข้ออ้างเงื่อนไข ที่มันอ้างเงื่อนไขนั้นนี้โน้นขึ้นมา

ศีลอยู่ไหน สมาธิอยู่ไหน  ที่ตั้งของศีล การเจริญขึ้นของศีลสมาธิปัญญา วิธีการแห่งการรักษาศีลสมาธิปัญญาอยู่ที่ไหน ...เอาเก็บขึ้นหิ้งไว้บูชากันหมด แต่ไม่เอาออกมาใช้ 

ใส่เซฟ ใส่กุญแจที่ใส่รหัสอีกต่างหาก แล้วกูก็จำรหัสไม่ได้ ...ก็เก็บไว้จนลืมรหัส เปิดรหัสไม่เป็น หรือเอากุญแจไปทิ้งลงไว้อยู่กับพระอุปคุตที่สะดือทะเลรึเปล่า  

ทำไมมันหาศีลไม่เจอ ทำไมมันหาสมาธิไม่เจอ ทำไมมันหาปัญญาไม่เจอ ทำไมมันสร้างวิธีการสร้างศีลไม่ได้ ทำไมถึงไม่รู้จักวิธีการสร้างสมาธิสร้างปัญญา...ในระหว่างวัน ในระหว่างมีชีวิต 

ในระหว่างที่มีลมหายใจเข้า-ออก ในระหว่างที่มีเรื่องราวเหตุการณ์ ...มัวแต่เก็บเข้าหิ้งเอาไว้จนตายรึไง หรือว่ามันยังไม่ถึงเวลาเปิดมาใช้ ... แล้วมันจะเอาเวลาไหนมาเปิดใช้ แล้วมันจะมีเวลาเปิดใช้มั้ย 

ก็ภาวนามากๆ ...นั่งก็ให้อยู่กับนั่ง อย่าไปอยู่กับคนอื่น ก็ให้อยู่กับตัวเองนั่ง ทำแค่นี้ ...ถ้ามันทำไม่ได้นี่ ไม่ต้องถามหามรรคผลนิพพาน ไม่ต้องถามหาคุณธรรม ไม่ต้องถามหาจิตหลุดพ้น 

ถ้านั่งยังอยู่กับนั่งไม่ได้ ยืนยังอยู่กับยืนไม่ได้ เดินยังอยู่กับเดินไม่ได้ จะมาอ้างคุณธรรมไหนเล่า ...ของแค่นี้ยังทำไม่ได้ ยังทำความรู้ขึ้นมากับมันไม่ได้ ยังอยู่กับความรู้ในการที่มันแสดงแบบพื้นๆ นี่ไม่ได้น่ะ

แล้วมันไม่ใช่ว่าเก่งแต่ในป่า ...ถ้าเก่งแต่ในป่าน่ะเสือกับหมา เห่ากับคำรามอยู่ในป่า  อยู่คนเดียวล่ะเก่ง ทำได้ ...สองคนเริ่มยากแล้ว สามคนเริ่มสนุกแล้ว สี่คนล่ะกู่ไม่กลับแล้วกู ...อย่างนี้ไม่ได้

มันต้องเก่งทั้งในบ้านและในเมือง ...อยู่คนเดียวก็ต้องได้ มันได้อยู่แล้วก็ต้องให้ได้ยิ่งกว่านั้น ไอ้ที่มันไม่ได้ก็ต้องทำให้ได้ ต้องเอาศีลสมาธิปัญญามาใช้ที่ตรงนั้นให้ได้ 

ไม่ใช่มาใช้อยู่ในวัดหรืออยู่ในป่า ไม่ใช่มาใช้ตอนที่ไม่มีเรื่องมากระทบมาชักจูงให้ออกนอก ...ทีตอนนั้นไม่ใช้น่ะ ใช้แต่กิเลสนำ แล้วแต่อารมณ์ พอใจก็ทำตามความพอใจ ไม่พอใจก็ทำตามความไม่พอใจออกไป

ศีลสมาธิปัญญาที่ร่ำเรียน ที่ฟัง ที่เคยทำน่ะ...มันไปไหน  ความรู้ท่วมหัวน่ะ ได้ยินได้ฟังจนหูจะแตกแล้ว หูมันจนทะลุถึงกันแล้ว ...ยังเอามาใช้ไม่ได้น่ะ 

แล้วเมื่อไหร่มันจะเอามาใช้ได้ล่ะ แล้วเมื่อไหร่มันจะเอาชนะกิเลสได้ล่ะ เมื่อไหร่มันจะเอาชนะอารมณ์ได้ เมื่อไหร่จะอยู่เหนืออารมณ์ได้ เมื่อไหรจะเหนืออำนาจตัณหาอุปาทานได้ล่ะ

มันไม่เอาจริงกับมรรค ไม่เอาจริงกับศีลสมาธิปัญญา ...มันเอาจริงกับกิเลส มันเอาจริงกับอารมณ์ เอาจริงเอาจัง เอามั่นเอาหมาย เอาเป็นเอาตายน่ะ

สุดท้ายก็ตาย ...แต่ตายแบบไหนล่ะ ตายแบบไร้สาระ ตายแบบ...ไม่ได้ตายแบบมีอรรถมีธรรม ไม่ได้ตายกับศีล ไม่ได้ตายกับสมาธิ ไม่ได้ตายแบบเป็นที่ยกย่องเชิดชูเทิดทูนของคนทั้งหลายทั้งปวงน่ะ


(ต่อแทร็ก 13/4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น