วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/7


พระอาจารย์
13/7 (570211B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
11 กุมภาพันธ์ 2557



พระอาจารย์ –  อดทน และก็อดต่อทุกข์ ทนต่อกิเลส  หมายถึงกิเลสตัวเอง รวมถึงกิเลสคนอื่น ...นี่ ต้องทนนะ 

แต่ไม่ต้องทนถึงขนาดเขาตบแก้มซ้ายแล้วก็ยื่นแก้มขวาให้เขาตบ ไอ้นั่นก็เกินไป มันเป็นแม่พระเกินไป ...อยู่เฉยๆ นี่แหละ แค่นั้นพอ แล้วจะรู้เองว่า ศีลน่ะแก้ได้ยังไง 

ยากมั้ยล่ะ ยากใช่มั้ย ...ต้องทนนะ ต้องหน้าด้านหน้าทนจริงๆ นะ  ทนจนมันไม่ต้องทนน่ะ นั่นแหละขันติของพระอริยะ 

ไม่ใช่ว่าท่านเอาความอึดมาจากท้องพ่อท้องแม่ หรือเอาความอึดมาจากชาติที่แล้ว คือตายแล้วท่านก็ลืมแล้ว ...ก็มาเริ่มสร้างความอึดเอาใหม่ตอนเกิดใหม่นี่แหละ

อดทนต่อกิเลส ...มาบนมาล่าง มาซ้ายมาขวา มาแบบเอียงๆ มาแบบเฉียงๆ มาแบบแฉลบๆ มาแบบเต็มๆ ...รับได้หมด ทนได้หมด แบบไม่ปริปาก แบบไม่เคลื่อน แบบไม่ต่อสู้ แบบไม่ผลักดัน แบบไม่ลุกหนีน่ะ

คือแรกๆ จะต้องทนในระดับนั้นน่ะ แล้วก็กอดก้อนกองนี้ไว้อย่างแบบว่าหลุดไม่ได้เลย กายน่ะ...อย่างยิ่งยวด ปัญญาก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นเพราะความหน้าด้านหน้าทนในการรู้แค่ที่เดียวนี่ แบบรู้หน้าเดียวเห็นหน้าเดียวนี่

นั่นแหละ มันจึงค่อยๆ ทุเลา ความที่จะต้องไปทนต่อกิเลส...ที่มันบีบ ที่มันกด ที่มันเร้า ที่มันเย้ายวน ที่มันหลอกล่อ ที่มันโฆษณาชักจูง 

หน้าตาของกิเลสมันมีหลายหน้านะ ...ลักษณะของเซลส์แมน ดูเอาเหอะ มันจะเสนอขายลูกเดียว ขอให้เอาเงินออกจากกระเป๋าเรา  มาคนเดียวไม่ได้ เดี๋ยวมันมาเป็นกลุ่ม ...เอาจนเคลิ้มไปกับมัน 

นี่อำนาจความปรุงแต่งของจิตนะ มันทำทุกวิถีทางเพื่อจะไม่ให้อยู่กับปัจจุบันกายปัจจุบันศีล หรือปัจจุบันธรรม

ทำไมล่ะ ...เวลามันอยู่กับปัจจุบันกาย เวลามันอยู่กับปัจจุบันศีล เวลามันอยู่กับปัจจุบันธรรมบ่อยๆ นี่ ตัวมันรู้สึกว่ามันด้อยค่าหมดความหมายไป ...หวงนะ มันหวง มันหวงแหนตัวมันเอง

กลัว “เรา” จะหายสาบสูญไปในโลก กลัว “เรา” ไม่มีที่ยืนในโลก กลัว “เรา” ไม่มีตำแหน่งอยู่ในสามโลกนี้ กลัว “เรา” จะเป็นแค่บุรุษใดบุรุษหนึ่งที่ไม่มีชื่อเสียงเรียงนามในโลกนี้เลย คือกลัว “เรา” หมดค่า ...มันกลัว

เพราะนั้นการกระทำคำพูด อารมณ์ ความรู้สึกทั้งหลายนี่ เพื่อแสดงประกาศให้โลกรับรู้ว่า “ฉันยังอยู่ อย่าลืมนะว่าฉันยังอยู่”  คือยกมือแสดงตัวไว้ก่อน 

จะตอบตรงคำถามหรือจะถามไม่ตรงคำตอบ ก็จะยกมือล่ะวะ ไม่งั้นเดี๋ยวมันเสียสิทธิความเป็นเรา เดี๋ยวเขาจะลืมว่ามี “เรา” อยู่ในหลายพันล้านในโลกนี้

แต่เมื่อใดที่มันกลับมารู้ตัวรู้กาย รู้ปัจจุบันธรรม รู้ปัจจุบันกายนี่ ...ความรู้สึกที่เป็นตัวเรา อะไรที่มันเนื่องด้วยความเป็นตัวเราของเรานี่ มันออกไปแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย มันออกไปแบบไม่เต็มร้อย

ไม่ต้องพูดถึงดับน่ะ ...มันออกอยู่ มันก็มีอยู่ อารมณ์บ้าง อะไรบ้าง แต่ว่ามันออกไปแบบกระปริบประปรอย ออกไปแบบลีบๆ กึกๆ กักๆ ...คือมันด้อยกำลังลงไป

แต่ว่าไอ้นี่คือผล ...ที่ว่ากัดฟันทนรู้ตัวไปทำอะไร ...คือต้องการให้ได้ผลอันนี้ แล้วให้เปรียบดู มันจะเกิดการทบทวน เปรียบเทียบในภายใน

เมื่อใดที่มันรู้สึกว่าไอ้กำลังของความเป็นเรา ของเรานี่ หรืออารมณ์ที่มันทะยานไปด้วยอำนาจของเรานี่ เวลามันอ่อนลง น้อยลง หรือว่าไม่มีแรง 

หรือว่าความเฉิดฉายเจิดจ้าของมันที่มันแสดงเป็นวันเป็นเดือน...นี่มันเหลือแค่นาทีสองนาที หรือเป็นแค่วูบวาบๆ นึง ...นี่ ไอ้ความรู้สึกตรงนั้นน่ะ มันดีกว่ากัน ...มันรับรู้ได้ด้วยตัวมันเอง 

ไม่ต้องอาศัยตำรา ไม่อาศัยไปถามว่า "หนูถึงไหนแล้วคะอาจารย์" ... เอ๊า ก็มึงภาวนา...(หัวเราะ) แล้วมึงจะต้องมาถามกูเนี่ยนะ แล้วมึงจะภาวนาทำไม มึงยังไม่รู้มึงเองเลย กูจะไปรู้ยังไง เออ

มันจะรับรู้ได้ด้วยตัวเองน่ะ ว่ามันมีความสุขความทุกข์ไม่เหมือนกัน

เวลาอารมณ์หรือความคิดมันชักลากชักนำหรือมันเกิดความอหังการของเราออกไปนี่  ลองกลับมาสิ ลองกลับมาถึงบ้านแล้วสิ “กูไม่น่าเลย” ถ้ารู้ตัวกูก็ไม่ทำอย่างนี้ ไม่พูดอย่างนี้

เห็นมั้ย มันเกิดความเสียใจนะ มันเกิดความรู้สึกละอายใจ แล้วก็เป็นทุกข์ที่แก้ไม่ได้ และมันแก้ไม่ได้ มันเป็นอดีตไปแล้ว เป็นสัญญา ...มันรู้สึกติดค้างอยู่ข้างใน 

มันเก็บไว้เลยนะ เหมือนกับประทับตราบาป หรือวิบากที่เป็นอดีต แล้วก็หอบหิ้วกันไป จนวันตายเลยนะ ที่รู้สึกว่าตัวผิดหรือว่าตัวถูกกระทำผิดมาให้ ...นี่ มันจดไว้ แบบจารึกไว้ในดวงจิตเลย

กับการที่ว่าไม่มี “เรา” แล้วไม่ได้ไปทำตามอารมณ์ คำพูด ความอยากของกิเลส ...มันรู้สึกอิสระ มันปลดเปลื้องพันธนาการของสัญญา...ที่รู้สึกว่าดีหรือร้าย ควรหรือไม่ควร ถูกหรือผิดออกไป 

แต่กว่าจะถึงอย่างนั้นมันก็ต้องอดทนพากเพียรอย่างยิ่ง อย่าว่าแต่อยู่ในกลุ่มคนเลย เพราะนี่แค่อยู่คนเดียวใจมันยังลอยเลื่อนเคลื่อน จับยากยิ่งกว่าจับมวลอากาศอีก ...แล้วมันรู้สึกเหนื่อย ท้อ "เดี๋ยวก็หายๆ" 

กำลังเดินอยู่ดีๆ "เอ้า หายอีกแล้ว" กำลังตั้งอกตั้งใจจะรู้อยู่ดีๆ "เอ้า มันไปตอนไหนวะนี่" ...แล้วมันจะอยู่ในลักษณะอาการนี้ได้สักประมาณสิบ-ยี่สิบครั้ง  แล้วก็... “ไม่เอาแล้วๆ ไม่เห็นจะได้อะไรเลย” เอ้า

เขาเรียกว่าลักษณะนักภาวนาที่มีสันดานของพาล คือไม่ได้ดั่งใจ ...เหมือนกับเด็กชักดิ้นชักงอกลางห้างสรรพสินค้าที่ไม่ซื้อของเล่นให้มัน ...คือมันจะเอาให้ได้เดี๋ยวนั้น แล้วพอไม่ได้ก็ “ไม่เอาแระ” ... นี่ พาล 

นี่เขาเรียกว่าไม่มีความเพียร ...ก็เปลี่ยน “พาล” เป็น “เพียร” ซะ ...มันออกสิบครั้ง เออ เอาใหม่สักเก้าครั้ง ก็ไม่ผิด อนุญาตให้มันหลุดไปครั้ง ขี้เกียจไปสักครั้ง จงใจเจตนาจะปล่อยให้มันลอยไปสักครั้งก็ไม่ว่า

จนร้อยครั้งเอาใหม่ร้อยครั้ง พันครั้งเอาใหม่พันครั้ง  แบบว่ามันขยันออก...กูก็ขยันรู้ใหม่โว้ย ...นี่เขาเรียกว่าความเพียร ลักษณะอย่างนี้เรียกว่าความเพียรนะ 

ไม่ใช่ไปนั่งตั้งท่าสมาธิหลังขดหลังแข็งทั้งวันทั้งคืน มันไม่ใช่อย่างนั้น  ไม่ใช่ไปอยู่ป่าขุดรูคนเดียวไม่พบใครไม่พูดกับใครเรียกว่าเพียร ...ไม่ใช่อย่างนั้น

มันหลุดมันลืม เนี่ย เดี๋ยวนี้ ระหว่างฟังเรานี่ มันกระโดดไปกระโดดมา ...ก็เอาใหม่ กายก็ยังอยู่ทนโท่อยู่อย่างนี้ กายไม่ได้หนีนะ จิตมันหนีนะ แต่กายไม่ได้หนี หนีไม่ได้นะ ต้องฟัง ต้องนั่งอยู่ 

เห็นมั้ย กายไม่ได้หนี แต่จิตหนี ... ไอ้ห้ามจิตหนีน่ะห้ามไม่ได้ ... แต่การรู้ใหม่น่ะทำได้ เพราะกายก็ยังมีเป็นเครื่องที่ระลึก ที่ตั้งของรู้ได้ ...นี่เรียกว่าความเพียร 

พอเพียรทำไปสักระยะ มันจะมีความอยากขึ้นมาว่า “ไม่เห็นได้อะไรเลย” ...นี่ มาอีกแล้ว เห็นมั้ย กิเลสมันแปรหน้า แปลงหน้า เปลี่ยนไปทั่ว ได้หมด เพื่อจะให้ไม่อยู่ในองค์มรรค

ก็อย่าไปฟังมัน มันจะแปลงหน้าแปลงตา แปลงตัวแปลงตนอย่างไร...ไม่เอา “รู้ไปโง่ๆ ไม่ได้ก็ไม่ได้ล่ะวะ” นี่ ตัดบทเลย ต้องตัดบทเลย... "เอาวะ ไม่ได้ก็ไม่ได้"

คือถ้ามันยังดื้อด้านก็นึกว่า อาจารย์บอก อาจารย์สั่ง เป็นตัวตัดอีก เป็นตัวช่วย ...คือมันยังเชื่อกิเลสแต่ว่ามันก็ยังเคารพอาจารย์ นั่น ก็เอาความเคารพในธรรม ในสงฆ์มาเป็นตัวช่วย 

ถึงแม้ลึกๆ มันจะบอก คงไม่ได้อะไรน่ะชาตินี้ ...นี่ มันว่าไปถึงชาติเลยนะ  ก็ทนทำไป เพราะอาจารย์ว่า เดี๋ยวก็ดีเอง ก็เรียกว่าทำไปหน้าด้านๆ โง่ๆ

อาศัยประคับประคองไว้อย่างนี้ จนมันทรง...อาการรู้-อาการกาย...ทรงอยู่คู่กัน...อยู่ตัว ... นี่ ภาวะนี้ ท่านเรียกว่าทรงศีล ...เป็นผู้ที่ทรงศีล 

ไม่ใช่พระนะที่ทรงศีล ใครก็ทรงศีลได้ แต่มันไม่ค่อยจะทรงกันเท่าไหร่ ...ไอ้ที่ไม่ค่อยทรงเท่าไหร่ยังไม่ว่านะ นี่มันยังไม่รู้จักเลยว่า...แล้วกูจะทรงตรงไหน (หัวเราะกัน) ศีลอยู่ไหนอ่ะ 

นี่เรียกว่าเข้าขั้นที่ว่ายังไม่รู้เลย ...ไอ้นี่อย่าว่าแต่ทรงศีลเลย อะไรคือศีลยังไม่รู้เลย แบบว่า "ทรงศีลเดี๋ยวก็สมาทานต่อหน้าพระก่อน มะยังภันเต...แล้วก็ทรงไว้" ... นี่ก็ไม่ใช่

เห็นมั้ย กว่าจะรู้จักศีล กว่าจะอยู่ในสภาพที่ว่ารักษาศีล กว่าจะอยู่ในสภาพที่ว่าทรงศีลได้ต่อเนื่อง ปัญญานี่มันจะต้องหลายขั้นตอนนะ กว่าที่มันจะยอม ยอมศิโรราบต่อระดับของศีลที่ว่าศีลคืออย่างนี้

แล้วก็น้อมนำเอาศีลนี้มาปฏิบัติ แล้วก็น้อมนำที่จะรักษาศีลไว้ แล้วก็น้อมที่จะรักษาด้วยการทรงไว้ด้วยความไม่ขาดไม่ตกหล่นไม่ทะลุทะลวงออกไป ...มันต้องมีปัญญานี่คอยผลักดัน 

แค่ปัญญาในเรื่องของศีลเรื่องเดียวนี่ ...ในลักษณะของพวกเรานี่ มันจะมีความเชื่อในศีลในแต่ละคน ตอนนี้นะ ยังไม่เท่ากัน ...มีความเชื่อมั่นในองค์ศีลนี่ ยังไม่เท่ากัน 

แต่ถ้าทนทำไป ...ต้องเรียกว่าทนทำนะ ไม่มีใครตั้งใจทำ ไม่มีใครเรียกว่าเป็นยอดมนุษย์มาตั้งแต่ท้องพ่อท้องแม่นะ มาถึงก็เหาะเข้ามรรคเลย (หัวเราะกัน) แบบไม่เหลียวหลังไม่แลซ้ายแลขวา ...ไอ้นี่มันก็เกินคน 

มันก็ต้องมีโฉเฉโลเลไปบ้าง อันนี้แหละใช่เลย...ทุกคน ทุกคนน่ะเป็น ...แต่คราวนี้ว่ามันถูกอบรม ครูบาอาจารย์ พระธรรม อบรม ให้มันอยู่ในกรอบของศีล กระชับเข้ามาเรื่อยๆ แล้วมันก็ยอม...ค่อยๆ ยอม

แรกๆ ก็ “จริงเร้อ ที่นั่นว่างั้น ที่โน่นว่างี้” นี่ มันก็มาอย่างนี้กันแหละ เหมือนโคลนที่ถูกบีบน่ะ มันก็เล็ดลอดออก มันไม่สามารถอยู่ตัวแน่นเหนียว เพราะว่าโคลนมันยังเละ 

แต่ว่าถ้ามันเป็นโคลนหรือเป็นดินที่มันแน่นแล้วนี่ มันจะเป็นก้อน ไม่ค่อยเล็ดลอดออกไป

ตอนนี้มันยังเหลวเป๋วอยู่...ในความหมายความเชื่อ ในความเข้าถึงศีล ความเข้าใจในองค์ศีลนี่ มันยังเลอะเทอะ เละเทะกันอยู่ หลายตำราเหลือเกิน เหล่านี้

แต่ว่าก็ทนทำไป เรียกว่าลงทุน เอากายใจนี่ลงทุน...พิสูจน์ ด้วยการเอากายใจนี่เป็นเดิมพัน ลงทุนลงไป ก็ลงทุนปฏิบัติ ลองดู นี่ ด้วยความพากเพียรอดทน 

ตรงนี้เรียกว่าปัจจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหิติ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าเชื้อเชิญให้มาลองพิสูจน์ทราบด้วยตัวเอง ...คือไม่มีใครเกิดมาเชื่อพร้อมกับคาบศีลสมาธิปัญญามาตั้งแต่เกิดหรอก 

มันต้องมีการอบรม ได้ยินได้ฟัง น้อมนำ แล้วก็ทดลองทำตาม ทำแล้วก็เลิกๆ ทำแล้วก็ไปเปลี่ยนวิธีใหม่ มันต้องเป็นอย่างนี้ ...ถือว่าเป็นการเรียนรู้ในตัวของมันเอง

แล้วมันก็จะเริ่ม...สุดท้ายแล้ว มันก็จะขี้เกียจทำให้มันเรื่องมาก ให้มันมากเรื่อง เพราะมันรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่มันต้องใช้ Accessory เยอะแยะไปหมด ...มันจะเริ่มรู้สึกรุงรัง 

หรือมันไม่รู้สึกรุงรัง เราก็จะบอกให้มันรุงรังยังไง ...นี่ มันก็เริ่มเห็นจริงว่า "เออ มันรุงรังโว้ย"  กระทั่งถือศีลยังต้องท่อง หรือยังต้องให้คนอื่นนำสมาทานศีล ไม่งั้นขอศีลไม่ได้ เออ ก็รุงรังแล้ว  

ทำไมมันมีพิธีการ หรือพิธีรีตอง หรือมันมีขั้นตอนตั้งเยอะแยะ ...ก็รู้สึกว่าทำไมมันกว่าจะรักษาศีลได้ มันเรื่องมากเหลือเกินวะ มันยุ่งเหลือเกิน ...นี่ เห็นมั้ย รุงรังมั้ย

แต่ปกติกายปกติวาจา ปัจจุบันกายปัจจุบันศีลนี่ มันไม่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไร ...มันเป็นปัจจุบันธรรมจริงๆ ตรงไหนตรงนั้น ที่ไหนตรงนั้น...ถึงได้รักษาได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกเหตุการณ์ ทุกสถานการณ์ 

แม้กระทั่งถอดเสื้อผ้า ไม่มีเสื้อผ้าติดเนื้อติดตัว ยังถือศีลได้เลย เอ้า เห็นมั้ยมันไม่ได้มีอะไรมาปิดบังหรือว่าแอบอ้างว่า ต้องมีอะไรเสียก่อนถึงจะมีศีลได้ 

ไม่ต้องคอยทบทวนดูว่าวันนี้ ตบยุงไปกี่ตัวรึเปล่า หรือไม่ได้ตบยุง ถึงจะรู้ว่า "อ้อ มีศีล" หรือ "เอ วันนี้ศีลด่างพร้อย" ... เห็นมั้ย ไม่ต้องทบทวนถึงอดีตถึงอนาคต ศีลก็มีได้

มันก็จะค่อยๆ รู้สึกว่า นี่ เป็นศีลที่สามารถเอาไปใช้ เอาไปแมทช์ (match) กับวิถีการดำรงชีวิตในปัจจุบันได้...โดยที่ไม่ต้องเป็นตัวประหลาดในสายตาคน 

เเบบไปถือศีลไม่พูดล่ะ วันนี้เฮี้ยนโว้ย ปั้นเคร่งมาจากลงรถเข้าที่ทำงาน ใครทักใครถาม "ฮึ...ฮึ" (หัวเราะกัน) เอ้า วันนี้เคร่งหน่อยไง เอาแบบเข้มข้น ...มันเข้มข้นจนคนเขาจับได้น่ะ เดี๋ยวๆ เดี๋ยวจะมีโจทก์

เพราะนั้นการรักษาศีลนี่ ที่มันกลมกลืนกับการดำรงชีวิตแล้วสามารถใช้ได้ในชีวิต แล้วก็ได้ผลทั้งทางโลกและทางธรรมพร้อมกัน โดยที่ไม่ต้องไปป่าวประกาศหรือแสดงออกให้คนรับรู้ได้เลย

ซึ่งสุดท้ายพระพุทธเจ้าบอกว่า ศีลนี่เป็นของหอมที่หอมทวนลม ...ไม่ใช่ต้องแสดงออก ไม่ต้องเอาพัดลมมาเป่า "มึงจะได้รู้ว่ากูมีศีล (หัวเราะกัน) มึงรู้รึเปล่ากูมีกี่ข้อ" ...ไอ้นี่เขาเรียกว่าเอาพัดลมเป่า มันไม่ตรง

ศีลของพระพุทธเจ้าท่านบอกว่าหอมทวนลม ไม่ต้องมีลม ...ไม่มีใครรู้หรอก และก็ไม่ได้แสดงป่าวประกาศว่ามีศีลหรือไม่มีศีล ...แต่ทุกคนจะรับรู้โดยนัยยะ 

คือรู้สึกโดยลึกๆ ว่า "คนๆ นี้ดูเหมือนธรรมดา ดูเหมือนไม่ได้ทำอะไร แต่มันไม่เหมือนเราว่ะ ...เออ มันเป็นยังไงก็ไม่รู้ จะล่วงเกิน...มันก็ไม่เข้าเต็มปาก จะด่า มันไม่กล้าจะเต็มคำ ...มันค้าง

เนี่ย คือศีล ที่มันมีอะไรที่มันไม่สามารถล่วงเกินได้เต็ม  นี่ศีลรักษา ...แต่ไอ้คนทั่วไปนี่เขาจะไม่รู้ว่าเพราะอะไร ...นี่ คำว่าหอมทวนลม มันมี...เป็นศีลคุ้มครองอยู่ภายใน

แต่ว่าผู้นั้นน่ะจะต้องเชื่อมั่นในองค์ศีล แล้วก็รักษาศีลตัวนี้ด้วยความต่อเนื่อง ไม่ต้องไปบอกกล่าว หรือว่าแสดงตัวตนอย่างไร ...ถูกผิดอะไร ก็ทำไปรู้ไป เผลอไปรู้ใหม่ เผลอใหม่รู้อีกๆ

กายมันก็อยู่จนตายน่ะ คือรู้กับมันไปจนตายนั่นแหละ จนกว่ามันจะแตกดับตายไปข้างนึงน่ะ มันก็มีให้รู้อยู่ตลอดน่ะ รักษาไว้ ...แล้วก็ไม่ต้องไปหาพอกพูนความรู้ที่อื่น เรื่องราวภายนอก อย่าไปรู้อะไรมาก

ไอ้ที่ต้องการให้รู้มากๆ คือว่ากำลังนั่งนี่ กายมันอยู่ตรงไหน เดี๋ยวนี้กายมันอยู่ในท่าไหน เดี๋ยวนี้กายมันอยู่ในความรู้สึกอย่างใดในลักษณะนั่ง ยืน เดิน นอน นี่ต้องการให้รู้มากๆ ให้ขวนขวายในความรู้อย่างนี้

ถ้ารู้ตัว รู้กายนี่ มันมีผล มันมีความรู้ความเข้าใจ...ในลักษณะที่ตั้งแต่เกิดมานับอเนกชาติ ไม่เคยรู้มาก่อนเลย มันเป็นความรู้ที่หาซื้อไม่ได้ในสามโลกธาตุ มันเป็นความรู้ที่ไม่มีขายในสามโลกธาตุ 

มันเป็นความรู้ที่ไม่สามารถเอาทรัพย์อันมีค่าในสามโลกนี่มาแลกได้เลย มันเป็นความรู้ในธรรม มันเป็นความรู้ที่เรียกว่าปัญญาญาณ มันเป็นความรู้ที่เรียกว่ารู้เห็นตามความเป็นจริง มันเป็นความรู้ที่ไม่มีพิษภัย

มันเป็นความรู้ที่เรียกว่าเป็นความรู้อันประเสริฐ มันเป็นความรู้ที่ว่าเป็นเลิศกว่าความรู้ทั้งหลายทั้งปวง คือปัญญาญาณนั่นเอง ...เพราะมันเป็นความรู้ที่จะไม่กลับมามีกายมีขันธ์อีกต่อไป...คือผล  

ถ้ามีกายก็มีทุกข์ ถ้าไม่มีกายก็ไม่มีเมื่อยน่ะ ถ้าไม่มีกายก็ไม่มีลูกตาให้ไปเห็น ถ้าไม่มีกายก็ไม่มีหูให้ไปได้ยินคนนั้นชมคนนี้ด่า ใช่มั้ย

ถ้าอย่างนั้นมันไม่สุขกว่าเหรอ กับที่ต้องมาทนฟังทนเห็นในสิ่งที่ไม่อยากเห็น ในสิ่งที่ไม่อยากได้ยิน ในสิ่งที่ไม่อยากเจอแต่ต้องเจอ ในสิ่งที่มันบีบคั้นว่าเมื่อไหร่มันจะจบ มันจะสิ้น แล้วก็หนีไปไม่ได้ 

ก็ต้องทนอยู่กับลักษณะนี้แบบอึมครึม ปรับทุกข์ปรับโศกกันไปมา แล้วก็ต่างทั้งงงทั้งไม่รู้ว่าทางออกมันอยู่ตรงไหน อึมครึมอยู่อย่างนั้น แล้วก็ไปเสียเวลาอึมครึมอยู่อย่างนั้น

ทำไมไม่หาทางสว่าง ทางเดินออก ในขณะที่ไปจ่อมจ่อ ปรับทุกข์ปรับโศกกัน ถามสารทุกข์สุกดิบกัน "เธอเป็นยังไง ลูกผัวเธอเป็นยังไง แล้วผัวลูกเธอเป็นยังไง แล้วมันจะเลิกกันมั้ย" ...กูก็ไม่รู้ (หัวเราะกัน) 

ไม่รู้มันจะคุยกันทำไม ต่างคนต่างก็ไม่รู้น่ะ อะไรอย่างเงี้ย มันเสียเวลา ...แทนที่จะเอาเวลาสุมหัวกันนั่นน่ะ มานั่งรู้ตัวไว้ ...นี่คือทางออก สะสมไว้ นิดก็เอา หน่อยก็เอา 

ถามตัวเองไว้ “ทำอะไรอยู่ๆ เดี๋ยวนี้น่ะทำอะไร” กายมันกำลังอยู่ในท่าทางไหน มือวางยังไง ขาวางยังไง อันไหนเป็นกาย อันไหนเป็นรู้ รู้อยู่ตรงไหน กายอยู่ยังไง ลักษณะที่เรียกว่ากายจริงๆ มันเป็นยังไง

สอดส่องลงไป อันไหนเป็นกายเรา อันไหนเป็นขา อันไหนเป็นแขน อันไหนเป็นผู้หญิง อันไหนเป็นผู้ชาย มันเป็นขา หรือมันเป็นแค่ก้านแค่กิ่ง หรือมันเป็นแค่อะไรก็ไม่รู้ กึกๆ กักๆ อะไรอย่างนี้

ทบทวนอยู่อย่างนี้ มันยังจะพอเห็นเดือนเห็นตะวันบ้าง ...ไม่ใช่มาสุมหัวกันอยู่ในคุกมืด หาทางออก ...นี่ มันจะไปไหน อยู่ในคุก จะไปไหน หือ สุมหัวกันอยู่ในคุก แล้วก็ปรึกษาหาทางออกจากคุก...ไม่มีทาง

มีทางออกทางเดียว...เรียกว่ามรรค เรียกว่าทางสายเอก ที่ว่าทางสายเดียว ที่เรียกว่าเอกายนมรรค ไม่มีทางอื่น ไม่มีวิธีอื่น ไม่มีตัวช่วยอื่น จะยากจะลำบาก จะชอบจะไม่ชอบในเส้นทางก็ต้องทำ

ถ้าไม่ทำมันก็ต้องถูกขังอยู่ในคุกมืดนี่แหละ อยู่อย่างนั้น โดยที่ไม่รู้ว่าอดีตอนาคตต่อไปภายภาคหน้า จะเจออะไร เหตุอะไร จะทุกข์มากกว่านี้มั้ย แล้วมันจะบีบคั้น ... นี่ มันอยู่ในความหวาดระแวงในโลก

แต่ถ้าอยู่อย่างนี้ อยู่กับตัว อยู่กับกาย แล้วก็คอยสอดส่องความเป็นไปของกาย ว่ากายจริงๆ คืออะไร อันไหนที่เรียกว่ากายเป็นจริง อันไหนที่ว่ากายไม่จริง ที่เรียกว่า “เราๆๆๆ” นี่ มันเราตรงไหน

มันเป็นเราตรงหน้านี่เหรอ หรือมันเป็นเราทั้งส่วนนี่เลย หรือมันเป็นเราที่ชื่อ หรือมันเป็นเราตรงเย็นๆ อุ่นๆ หรือมันเป็นเราตรงแข็งๆ ที่มันยันอยู่กับพื้น 

ทบทวนอยู่ภายในอย่างนี้ สังเกตอยู่อย่างนี้ วนเวียนอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่ารู้ตัว ทั้งหมดนี่เรียกว่ารู้อยู่กับตัว รู้อยู่ในตัว รู้ว่าลักษณะของตัวจริงกับตัวไม่จริงคืออะไร

ตรงนี้คือทางออก แล้วจะออกได้จริง ออกจากกายนี้ ...ออกจากความเป็น “กายเรา” นี้ก่อน นี่ออกจากกายแรกเลยคือ “กายเรา” นี้ก่อน ไม่เชื่ออีกแล้วว่านี้เป็น “กายเรา”

มันเป็นเพียงแค่ก้อนกองหนึ่งเท่านั้น แข็งๆ เหนียวๆ หยุ่นๆ เป็นกองก้อนปวด เป็นกองก้อนคันบ้าง เป็นกองก้อนไหววูบวาบบ้าง เป็นกองก้อนซึมซาบเอิบอาบบ้าง เป็นกองก้อนกระเพื่อมกระเทือนบ้าง 

ก็เริ่มค่อยๆ เชื่อแล้วว่ามันเป็นกองก้อนนั้นจริงๆ ไม่ใช่ “กองเรา” จริงๆ ...ก็สบาย จะสบายขึ้น สบายขึ้นเมื่อมีใครมากระทบก้อนนี้ เมื่อมีอะไรมากระทบก้อนนี้ ...มันก็รู้สึกสบายเพราะมันกระทบก้อน กอง 

มันไม่กระทบ "เรา" มันไม่กระทบ "ก้อนเรา" มันไม่กระทบ “กายเรา” ...มันกระทบแต่กาย แต่ไม่กระทบ “กายเรา” หรือกระทบเป็นกายเราก็เป็นกายเราแบบเบาๆ 

นี่ มันค่อยๆ จางลง จืดลง มันเกิดจากความจืดจางใน "เรา" ไป ...ทุกข์ก็น้อยลงเท่านั้น...ทุกข์ของเราน่ะ


(ต่อแทร็ก 13/8)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น