วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/10


พระอาจารย์
13/10 (570221B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21 กุมภาพันธ์ 2557



พระอาจารย์ –  เพราะนั้นไอ้ที่พวกเราว่าเห็นไม่ชัด หรือว่านานๆ เห็นทีนี่ เนื่องด้วยอะไร

เนื่องด้วยความไม่ต่อเนื่อง ขาดตกบกพร่อง ละเลย เว้นวรรค ขาดตอน พวกนี้ ... มันเลยไม่มีกำลัง ไม่มีกำลังของความต่อเนื่อง...คือสมาธิ จิตตั้งมั่นอยู่ภายใน 

และกายก็หายเป็นระยะๆ  กายตามความเป็นจริงนี่หาย ...เพราะนั้นเวลากายตามความเป็นจริงหาย ไม่สามารถรักษากาย ไม่สามารถรักษาศีลด้วยความต่อเนื่องนี่ ...คือสติมันไม่มี  

เมื่อสติไม่สามารถรักษากายตัวนี้ไว้ มันหาย ...ในระหว่างที่หาย มันไม่ได้หายไปแล้วก็ว่างนะ มันจะมีกายอื่นมาแทน มาบัง คือกายสังขาร กายคนนั้นบ้าง กายคนนี้บ้าง 

กายแม่ กายผัว กายลูก กายเพื่อน กายคนที่เกลียด กายคนที่รัก กายคนที่จะต้องไปสัมผัสสัมพันธ์ ...นี่ มันจะมาแทน แล้วมันมาบัง มันจะมาบังกายตัวนี้

แล้วมันก็เกิดการไปคลุก ขลุกอยู่กับกายที่มันเกิดจากจิตมันปรุงขึ้นมาแทนกายตัวนี้ ...พอมันมาแทนเข้าบ่อยๆ ปุ๊บ ไอ้ที่มันเคยเห็นเคยรู้สึกว่ากายจริงๆ คืออย่างนี้ ...มันก็จะค่อยๆ ลืม

ลืมไปเลยว่ากายจริงๆ คืออะไร แล้วจะเข้าไปถึงกายจริงๆ ตัวนี้ได้อย่างไร ...มันจะลืม 

เหมือนกับเข้าได้แบบฟลุ้คๆ แล้วไม่รู้จะเข้าอีกยังไง แล้วก็... 'เอ๊ะ อย่างนี้ใช่รึเปล่า'  เกิดความสงสัย... 'อย่างนั้นใช่ไหม กายตัวนี้' ...ก็พยายามหาอีก เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นให้รู้ไปต่อเนื่อง รู้ถึงกาย...อย่างนี้  พยายามจดจำไว้ จำสภาวะกายที่แท้จริงไว้ ...เนี่ย คือกายที่ต้องการให้เห็น และต้องการให้จับให้อยู่...ต้องจับให้อยู่ แล้วก็รักษา

และหมายความว่าจะต้องรักษาให้ได้แบบแก้วบนหัวแหวน ไม่ให้มันหลุด เหมือนเพชรพลอยบนแหวน ไม่ให้มันหายไป คือต้องหวงแหนศีล รักษาศีล เหมือนกับหัวแก้วหัวแหวน ...ต้องรักษากันอย่างนั้นเลย

พอมันตั้งใจรักษาถึงขั้นนั้นน่ะ มันจะไม่สนใจเรื่องราวภายนอกเลย จิตจะไม่ออกไปไหนเลย  เพราะมันกลัว...กลัวจะรักษาไม่ได้ เข้าใจมั้ย

แต่พวกเราตอนนี้ มันยังทุ่มเทไม่จริง มันกลับทุ่มเทไปข้างนอกมากกว่า เรื่องราวข้างหน้า เรื่องราวคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัวนี่ มันเป็นเรื่องที่มันเป็นพันธนาการที่ลึกซึ้ง สำคัญ 

และก็มันให้ค่าไว้สูง ...ถ้าให้เลือกนี่ มันเอาเรื่องนี้มาก่อน  ไอ้ตัวกายตัวรู้ตัวนี่ไว้ทีหลัง ... เพราะมันยังให้ความสำคัญให้คุณค่ากับเรื่องราวภายนอกมากกว่า

แต่ว่าถ้าสมมติว่าเวลาที่มันไม่ได้คิดกับเรื่องครอบครัว หรือคนที่มันผูกพันมากๆ นี่ มันก็สามารถจะรู้ตัวได้บ้าง...กับเรื่องราวภายนอกแบบสัพเพเหระ 

เพราะนั้นก็พยายามค่อยๆ สอดแทรกศีลไว้ ในขณะที่มันมีเรื่องราวที่ดูเหมือนจะดึงให้เกิดความจริงจังมั่นหมายมากๆ พยายามสอดแทรกความรู้ตัวให้มันประกบคู่กันอยู่...เป็นฐาน

อย่าให้มันถึงขั้นที่ว่าร้อยเปอร์เซ็นต์...หาย  แล้วไปอยู่ตรงนู้นร้อยเปอร์เซนต์ แล้วตรงนี้ศูนย์  เข้าใจมั้ย อย่าให้กายนี่เป็นเหลือศูนย์น่ะ ถ้ากายนี่เหลือศูนย์ปุ๊บ มันจะมีอะไรเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ขึ้นมาแทนเลย

คือเราต้องฝึก...ฝึกให้ได้ว่า ไอ้ที่มันเคยร้อยเปอร์เซ็นต์กับเรื่องราวกับบุคคลคนนี้ ...จะต้องสร้างความรู้กับกาย หยั่งๆ เหมือนกับเอาตีนนี่หยั่ง หยั่งไว้ด้วยสติ...กับกาย 

ก็ต้องหยั่งไว้กับกายตรงนี้ให้ได้ ...ในขณะตรงที่มันกำลังทำอะไรเป็นเรื่องราวกับบุคคลนั้นๆ ที่เราข้องแวะ ติด แนบแน่น สมัครสมานอยู่ตรงนั้น

ถ้าทำไปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นี่ สุดท้ายแล้วมันจะค่อยๆ เหลือตรงโน้นแปดสิบ ตรงนี้ยี่สิบ หรือตรงโน้นหกสิบ ตรงนี้สี่สิบ มันจะเพิ่มตรงนี้ขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มไปจนถึงว่า เสมอกัน 

พอเริ่มเสมอกัน เริ่มสมดุลกัน ทีนี้ ก็เริ่มชนะแล้ว จะเริ่มชนะ ...มันก็เริ่มตัดสินใจแล้ว ทิ้งตรงนั้นเอาตรงนี้  เริ่มไม่ละล้าละลัง ในความเป็นสมมุติว่าผัว สมมุติว่าลูก สมมุติว่าแม่ สมมุติว่าคนที่ดีคนที่ไม่ดี 

มันก็เริ่มที่จะสละ...สละจิตที่เข้าไปกระหวัดหรือว่าไปมุ่งมั่นจริงจัง หรือว่าไปมั่นไปหมาย ...ตรงนี้เปอร์เซ็นต์มันก็มากขึ้นสูงขึ้น

ตรงนี้ภาษาท่านเรียกว่า เป็นผู้ที่เข้าถึงศีล เข้าถึงศีล...แล้วไม่ได้เข้าถึงอย่างเดียว รักษาด้วยชีวิต มันจะเกิดความจริงจังมั่นหมายในศีลเท่าชีวิต

หมายความว่า ต่อให้มันเป็นเรื่องอะไรที่คอขาดบาดตาย...สำหรับธรรมเนียมโลก ธรรมเนียมภาษา ธรรมเนียมคนทั่วไปที่เขาให้ค่าให้ความสำคัญนี่ 

มันก็ปัด...สามารถปัดจิตตัวนั้นทิ้งได้ โดยไม่อาลัยอาวรณ์เลย ...นั่นเรียกว่าผู้เข้าถึงศีลแบบเท่าชีวิต มันจะยิ่งกว่าอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่จะมาดึงให้ออกนอกศีลไป ...ไม่มีเลย

แต่มันจะต้องอาศัยการทำด้วยความต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนมันเริ่มเห็นคุณค่าในตัวกาย ตัวศีลนี่ มากขึ้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย  จนมันจะรู้สึกได้ต่อไปว่า...ขาดเสียไม่ได้เลยซึ่งกายซึ่งศีล 

จะอยู่ จะทำ จะพูด จะคิด...โดยที่ไม่มีตัวกาย...ตัวรู้อยู่กับกายนี่ไม่ได้เลย ...มันจะรู้สึกว่าผิด มันจะรู้สึกถึงความ guilty ภายใน ...ไอ้ความ guilty นี่ จริงๆ ก็คือความหมายของคำว่าละอายตัวเองน่ะ 

มันเกิดความละอายต่อตัวเองว่า... ทำไปได้ยังไงโดยที่ไม่รู้ตัว พูดไปได้ยังไงโดยที่ไม่รู้ตัว คิดไปได้ยังไงโดยที่ไม่รู้ตัว แสดงอาการอารมณ์ไปได้ยังไงโดยที่ไม่รู้ตัว ...มันจะรู้สึกละอาย

เนี่ย เขาเรียกว่าละอายต่อศีล ละอายต่อบาป มันถือว่าเป็นบาป...บาปที่ว่า ให้จิตมันกระทำอะไรไปโดยที่ว่าล่วงเกินศีลออกไป ล่วงเกินกายออกไป

เพราะนั้นเมื่อใดที่มันล่วงเกินกายนี้ แล้วทำ...พูด...คิดไปโดยที่มันล่วงเกินกายล่วงเกินศีลนี้ออกไป...นี่ เป็นโทษ  มันเป็นโทษ มันเป็นทุกข์ ทั้งตัวเองและผู้อื่น

ถึงไม่เป็นโทษเป็นทุกข์กับผู้อื่น มันก็เป็นโทษทุกข์กับตัวของมันเอง คือเกิดความเศร้าหมอง ขุ่นมัว ...นั่งคิดนอนคิดอยู่คนเดียว คนอื่นเขาไม่รับรู้ ใช่มั้ย 

แม้ไม่ได้กระทบใครนะ ไม่ได้พูดจาแสดงอากัปกริยาหน้าตาท่าทางกับเขา  แต่มันเกิดความเศร้าหมองในตัวของมันเอง ...เห็นมั้ย มันเป็นโทษกับตัวของมันเอง

แต่คราวนี้ว่า ก็รู้อยู่ว่ามันเป็นโทษเป็นทุกข์ ...แต่ว่าไม่รู้จะเข้ายังไง ไม่รู้จะกลับมายังไง แล้วก็จะรักษายังไง ...ก็กำลังมันน้อย กำลังไม่พอ เรียกว่าอำนาจของกิเลสมันแรงกว่า มันมีเปอร์เซ็นต์สูงกว่า

เพราะนั้นก็ต้องอดทนอย่างเดียว อดทนแล้วก็คอยน้อมคอยดึงๆ กลับมาอยู่กับกาย กลับมาผูกไว้กับกาย 

จะเป็นลมก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นความรู้สึกอะไรก็ได้ในกาย ตรงไหน ส่วนไหน ข้างบนข้างล่าง ที่ขาที่แขน ที่อิริยาบถ ที่รูปลักษณ์ทรวดทรง ได้หมด ขอให้มันเป็นของจริงในปัจจุบัน 

แม้จะเป็นทรวดทรงการยืนการเดิน ...แต่ให้มันเป็นการยืนการเดินจริงๆ ที่มันแมทช์กับปัจจุบันกาย รูปลักษณ์ของกายที่มันปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ...ได้หมด คอยหยั่งไว้ คอยดึงไว้ 

ก็เรียกว่าเพิ่มน้ำหนัก ให้มันเกิดการเพิ่มน้ำหนักของกายของศีล ของสติ ของสมาธิ ...อาจจะหยั่ง อาจจะดึงกลับมาหยั่ง หยั่งยึดกาย หยั่งยึดรู้ในปัจจุบันได้สักห้า-สิบวินาที แล้วก็ไปอีกแล้ว 

ไม่เป็นไร ...เพิ่มน้ำหนักไปเรื่อยๆ  ซ้ำๆ ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ...เวลาที่มันเกิดการลุกฮือขึ้นภายในของอารมณ์ ของความคิด อะไรก็ตาม

เพราะนั้นเวลามันสู้กันน่ะ นอนไม่หลับหรอก เข้าใจมั้ย ...มันจะเผาอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นไฟที่มันลุกฮือกันอยู่ข้างใน ไฟหนึ่งก็คือไฟกิเลส อีกไฟหนึ่งก็คือไฟของขันติ อดทนที่จะดึงกลับมา 

มันมีไฟสองไฟ ต่อต้านกัน เข้าใจมั้ย ...ไฟนึงเป็นไปเพื่อก่อเกิด อีกไฟนึงเป็นไปเพื่อความดับ ดับไฟกิเลส ...มันสู้กัน มันก็ร้อนทั้งคู่ มันก็ไฟทั้งคู่น่ะ

เพราะนั้นท่านถึงบอกว่า "ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา"  ขันติ...นี่เป็นตบะที่แผดเผากิเลส ... เพราะนั้นมันแผดเผากิเลส มันก็ร้อน เข้าใจมั้ย  เพราะตัวกิเลสมันก็คือตัวร้อนรุ่มอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว 

ตัวขันติที่อดทนเพื่อจะทำให้ความร้อนมันมอดลงนี่ มันก็คือการแผดเผากิเลส มันก็เหมือนกับความร้อนเหมือนกัน จิตมันก็เกิดความร้อนรุ่ม เพราะนั้น มันข่มตาหลับไม่ได้หรอก

แต่ก็ดี ...คือมองว่าเป็นเรื่องดี  เพราะว่ามันจะได้มีกำลังเกิดขึ้นด้วยสติสมาธิมากขึ้นๆ แล้วก็จะเข้าใจในตัวของมันเองไปเรื่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

ว่าจะจัดการกับเรื่องราวที่ออกมาจากความไม่รู้อย่างไร จะจัดการเรื่องราวที่ออกมาจากความอยาก-ความไม่อยากของเราได้อย่างไร ...โดยที่ชัดเจนในตัวของมันเอง โดยที่ไม่ต้องคิดหาวิธีการเลย

นี่ มันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะเกิดความเข้าใจเป็นปัจจัตตังว่า ไม่มีวิธีอื่นเลย ไม่มีวิธีแก้วิธีอื่นเลยนอกจากทำอย่างนี้อย่างเดียว นั่นแหละมันมีหลักเดียว มันไม่มีวิธีการเลย 

มันมีแต่หลักศีลสมาธิปัญญาเท่านั้นที่จะแก้ได้ ...ไม่มีวิธีการแก้ มีแต่หลักศีลสมาธิปัญญาจึงจะแก้ได้ จึงจะเหนือกิเลส จึงจะชนะกิเลส จึงจะมีอำนาจมีพลังต้านทานต่อกิเลสภายในและภายนอกได้

กิเลสภายในก็คืออย่างนี้ นั่งคิด นอนคิด ยืนก็คิด เดินก็คิด มีอารมณ์ทุกที่ ทุกสถาน ทุกกาล ทุกเมื่อ นี่กิเลสภายใน กิเลสภายนอกคือการกระทำคำพูดของบุคคลอื่นที่มันมากระทบ เนี่ย มันไม่มีทางแก้เลยนะ


โยม –  อดทนอย่างเดียว

พระอาจารย์ –  มีหลักเดียวคือศีลสมาธิปัญญาเท่านั้นแหละ มันถึงจะมีอำนาจเหนือกิเลสภายในและภายนอก 

เมื่อมันเหนือขึ้นมาเมื่อไหร่นี่ ...ศีลสมาธิปัญญาที่เราหมั่นเจริญขึ้นนี่ ศีลสมาธิปัญญานี่มันจะเหมือนกับหินผา เหมือนก้อนหิน และกิเลสภายในและกิเลสภายนอกเหมือนไข่ ที่มันปามาถูกก้อนหิน 

ไข่แตกหรือก้อนหินแตก เข้าใจมั้ย ก้อนหินไม่มีแตกหรอก ...แต่ตอนนี้ศีลสมาธิปัญญาของพวกเรา เหมือนไข่ แต่กิเลสภายในและกิเลสภายนอกนี่เหมือนก้อนหิน ...มันสลับกัน เข้าใจมั้ย 

เพราะนั้นเวลาก้อนหินมันทับถมขึ้นมาปุ๊บ ทับไข่นี่แตกหมดเลย  แล้วก็หนัก อึดอัด คับข้อง ไม่รู้จะอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ ...ศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มี สติก็ไม่มี ไม่มีที่อยู่ ไม่รู้จะอยู่ตรงไหนเป็นที่พึ่ง 

มีแต่หนักแอ้ก จุกแอ้ก อยู่อย่างนั้น อึดอัดคับข้อง ทั้งความคิดของเจ้าของแล้วก็การกระทำคำพูดของผู้อื่นภายนอก เหตุการณ์ล้อมรอบตัวเอง ด้วยกรรมและวิบาก สภาวะแวดล้อมต่างๆ ...พวกนี้ มันกดทับ

ศีลสมาธิของพวกเราก็เหมือนกับอากาศธาตุไปซะแล้ว ...มันก็รับเต็มๆ ก็รู้สึกว่ามีเราเข้าไปแบกภาระรับเป็นเรื่องเต็มๆ อยู่ในนั้น ไม่มีทางผลักดันยกออกได้ ...นอกจากว่าเราจะต้องสร้างศีลสมาธิปัญญาภายในขึ้นมา 

แล้วก็ค่อยๆ ฉาบ ค่อยๆ เสริม ให้มันแน่นหนาถาวร ให้มันแข็งแกร่งขึ้นๆ กว่าพวกกิเลสล้อมรอบพวกนี้ ...ทั้งความคิดความนึก ความจำ อารมณ์  ทั้งการกระทำคำพูดของคนอื่นน่ะ 

เพราะการกระทำ เรื่องราวเหล่านี้ ...ถ้าเราเปรียบว่า คำพูดการกระทำของบุคคลนี่ เราแก้ได้มั้ย เราห้าม เราหนี...หนีคนนี้ก็ไปเจอคนนั้น ย้ายที่ก็ไปเจอที่ใหม่ที่มีคนอีก...ก็คนทุกคนในโลกมันมีกิเลส มันก็เปลี่ยนหน้าตาไป 

มันหนีได้ไหม...หนีไม่ได้  มันแก้ได้ไหม...แก้ไม่ได้ เข้าใจมั้ย ...ต่อให้หนีไปอยู่ในที่ที่ไม่มีคนรู้จักเลย มันก็ไปเจอกิเลสของคนที่ไม่รู้จักอีกที่กระทบอยู่ตลอด ...มันจะหนีไปไหนพ้น เกิดมาเป็นคนบนโลก

เหมือนกันกับกิเลสภายใน คือความคิดของตัวเอง อารมณ์ของตัวเอง ...มันก็หนีไม่ได้เหมือนกัน แก้ก็ไม่ได้ ...และก็ไม่อนุญาตให้แก้ และไม่ได้สอนให้แก้เลย 

ก็เหมือนกันกับที่เราไม่ได้สอนให้เอามือไปอุดปากคนที่เขากำลังจะชมหรือจะด่า มันทำไม่ได้น่ะ ...กิเลสภายในก็แก้ไม่ได้อย่างนั้นเหมือนกัน 

มีทางเดียวก็คือเราต้องสร้างฐานของเราขึ้นมา...ศีลสมาธิปัญญา ให้มันมีกำลังเหนือกว่า  ตรงนี้ถึงจะเป็นตัวแก้ที่แท้จริง ...ไม่ใช่ไปแก้โลก ไม่ใช่ไปแก้กิเลสของคนอื่น ไม่ใช่ไปแก้กิเลสของตัวเอง

เพราะอะไร ...กิเลสน่ะ มันอยู่ที่ไหน  กิเลสน่ะที่เป็นอารมณ์ ความคิด พอใจ ขุ่นมัว จะให้ได้อย่างนั้น จะให้ไม่เป็นอย่างนี้ ที่มันคิดนึกปรุงแต่งขึ้นภายในเป็นสัญญา เป็นอดีตอนาคตก็ตาม 

กิเลสพวกนี้มันอยู่ที่ไหน มันเกิดมาจากไหน ...มันก็อยู่ที่ "เรา" มันเกิดจาก "เรา" ...แล้วจะไปแก้มันได้ยังไง จะไปแก้กิเลสที่เกิดจาก "เรา" ได้ยังไง...ถ้าไม่แก้ที่ “เรา” เข้าใจมั้ย


โยม –  ถ้ายังมี “เรา” อยู่

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นตราบใดที่ยังมี “เรา” กิเลสมันก็จะมีอยู่ตลอดเวลา เข้าใจรึยัง


โยม –  ใช่ค่ะ ถ้ามี "เรา" นี่ มันก็จะมีอะไรๆ

พระอาจารย์ –  มันก็จะมีอารมณ์ ...  ถ้ามีเรา...มันก็จะมีความหงุดหงิด ถ้ามีเรา...มันก็จะมีความยินดี ถ้ามีเรา...มันก็จะมีความยินร้าย 

ทุกครั้งน่ะ ที่มีความรู้สึกว่ายินดีก็ตาม ยินร้ายก็ตาม ...หมายความว่า “เรา” นี่มันมีแล้ว  ถ้าไม่มีเรามันจะไม่มียินดียินร้าย เข้าใจมั้ย

ถ้าเราเปรียบว่ายินดียินร้ายนี่คือยุง เพราะนั้นแล้วเราจะไปนั่งตบยุงเหรอ มันจะหมดมั้ย ...มันไม่หมด 

เพราะว่าเหตุมันอยู่ที่ไหน ...พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกไว้ว่าแก้ที่เหตุนะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่เกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นถึงธรรมที่จะเข้าไปถึงความดับที่เหตุนั้นๆ นี่พระอัสสชิสอนพระสารีบุตร

แต่เวลามันคิดมันนึกนี่ ...เราพยายามจะไปตบมันตรงนั้นน่ะ ให้มันหาย หรือปัดให้มันสลาย ...นี่ ถึงมันหาย เอ้า มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่ว่าแน่ แล้วมันหายไป ...แล้วไง


โยม –  เดี๋ยวก็มาใหม่

พระอาจารย์ –  มันหายไม่จริง ใช่ไหม มันจบไม่จริงนะ ...นี่ โคตรมันอยู่นี่ โคตรมันคือ “เรา” ...พราะฉะนั้นศีลสมาธิปัญญาที่เป็นสัมมานี่ มันเป็นตัวแก้ “เรา” มันเป็นธรรมที่จะเข้าไปทำความดับไปที่เหตุนั้นๆ 

พระพุทธเจ้าถึงสอนว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ...นี่คือธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน เพื่อให้นำไปปฏิบัติ ... เพราะว่าธรรมนี้มันจะพาให้สู่เหตุ แจ้งในเหตุ แล้วก็ละที่เหตุได้

เพราะนั้นการที่กลับมารู้ตัวโง่ๆ นี่ ...กลับมา ทั้งๆ ที่มันมีอารมณ์ ทั้งๆ ที่มันกำลังคิดวุ่นวี่วุ่นวายนี่ โดยที่ว่าไม่ไปแตะต้องข้องแวะ ไม่ไปแก้ไม่ไปดับ 

ไม่ไปหาวิธีการทำให้มันน้อยลง หรือหาทางขจัดปัดเป่ามันออกไป ...นี่ ดูเหมือนว่าไม่ทำอะไรเลย หรือไม่ค้นหาวิธีการอะไรเลย  

"แล้วมันจะแก้ไม่ได้" ...นี่ จิตมันจะว่าอย่างนี้  แล้วมันก็พยายามจะเอา จะหาช่องทางที่จะแก้ให้ได้ เพื่อให้มันเรื่องราวหรืออาการนี้มันหายไป 

นี่ เพราะชอบ ...ใครชอบล่ะ ...“เรา” อีกนั่นแหละ ชอบที่จะให้จิตไม่ต้องคิด ใช่มั้ย สบาย แล้วมันไม่สบายนี่ถ้ามันคิด

เวลามันเห็นการกระทำของบุคคลนั้นบุคคลนี้ที่มันขัดหูขัดตา มันจะหนี ...ใครล่ะที่จะหนี ใครที่ไม่พอใจ แล้วจะหาวิธีแก้ 

เห็นมั้ย “เรา” นี่เป็นตัวบงการหมดเลยน่ะ แล้วก็ “เรา” เองน่ะเป็นตัวที่ชอบและไม่ชอบ มันก็จะหาวิธีแก้ตามภาษา “เรา” น่ะ 

ขว้างงูไม่พ้นคอ เดี๋ยวก็เจอของใหม่ เบื่ออีกแล้ว เซ็ง หนีไม่พ้นซะทีโว้ย ...นี่ อยู่อย่างนี้


(ต่อแทร็ก 13/11)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น