วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 13/24 (1)


พระอาจารย์
13/24 (570308B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
8  มีนาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  การรู้ตัว การไล่อยู่ในกองกาย กองปัจจุบันกายนี่...ให้มันตรงทุกขณะของความรู้สึก

จนมันเกิดความสว่างในกาย ...กายมันสว่างไปทุกการหยั่งรู้ การตามรู้ด้วยสติ การระลึกรู้ด้วยสติ ก็สว่างในความรู้สึก สว่างเป็นหย่อมๆๆ อยู่อย่างนั้น

เพราะนั้นกายมันก็สว่างโดยรวมโดยทั่วขึ้นมา ชัดเจนขึ้นมา ...สว่างกาย ใจก็สว่าง ...ใจก็สว่างรู้ สว่างเห็นขึ้นมา เรียกว่าสว่างกายสว่างใจอยู่อย่างนั้น

นอกนั้นก็เป็นของอะไรที่ลางๆ เลือนๆ ไป ...อดีต-อนาคต การกระทำ รูปเสียงของบุคคล  มันก็กลายเป็นอะไรลางๆ เลือนๆ ไม่มีสาระอะไร 

มันเป็นเงา เหมือนเงาน่ะ ....มันไม่มีอะไรหรอก ไม่มีตัวตนจริงจัง เป็นอะไรลางๆ เลือนๆ

ถ้ามันมุ่งมั่นในธรรมอย่างนี้ แล้วก็ปฏิบัติจริงอย่างนี้ ...มันไม่ต้องไปหาหรอก สมาบัติอะไร ความวิเศษ มีความรับรู้เหนือกว่าคนอื่น รู้มากกว่าคนอื่นในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่รู้ อะไรพวกนี้

จะไปเอามาเป็นเครื่องเสริมให้ตัวเราเก่งตัวเราดีทำไม ...ที่ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาก็เพื่อละตัวเรานี่ แล้วจะเอาอะไรมาเสริมให้เราเก่งเราดี ให้มันเกิดความยึดติดในตัวเราของเราหรือ

ให้มันเกิดความมีหน้ามีตาของเรา...ที่เหนือ ที่เลิศ ที่ดีกว่าคนอื่นทำไม หือ ...มันไม่ใช่ๆ พระพุทธเจ้าไม่เคยสั่งไม่เคยสอน พระอริยะพระอรหันต์ก็ไม่เคยสอนไม่เคยสั่งอย่างนี้

มีแต่กิเลสมันสั่ง กิเลสมันเป็นผู้สั่งการ แล้วก็กิเลสของผู้อื่นมันแอบอ้างธรรมมาสั่งการ ...'ถ้าได้อย่างนี้แล้วมันจะดี ถ้าได้อย่างนั้นแล้วมันจะช่วย ถ้าได้อย่างนั้นแล้วมันจะมาเป็นตัวเสริม'

กิเลสมันสั่งการก็เชื่อมัน หลงกิเลสมัวเมาไปมา ค้นหาธรรมไป ...จนกลายเป็นตาแก่งกๆ เงิ่นๆ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ สลับหมุนวนอยู่ มะงุมมะงาหรากันไปมา

แล้วก็เดินชนกันล้ม แล้วก็ถูกชนล้ม แล้วก็เหยียบหัวแม่ตีนกัน กัดกัน ทะเลาะกันในธรรม บ้าบอคอแตกกันไป ...นี่ ความเสื่อมของศาสนา ก็อยู่ที่ผู้ปฏิบัติน่ะมาทำให้เสื่อม

ศาสนาท่านไม่เสื่อมอยู่แล้ว ...ไอ้ผู้ปฏิบัติตามน่ะมาทำให้มรรคนี่เสื่อม มาทำให้ศีลนี่มันเสื่อม มาทำให้สมาธินี้เสื่อมไป มาทำให้ปัญญานี้เสื่อมโทรมเสื่อมทรามลงไป

แล้วก็ยังมาอ้างข้างๆ คูๆ ว่าปฏิบัติอยู่ ปฏิบัติถูกด้วย ดีด้วย เก่งด้วย ...ครบเลย 'ตัวเรา' ทั้งสิ้นเลย เนี่ย ก็เป็นไปกัน

คราวนี้ว่า เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วว่าอะไรเป็นธรรม อะไรนอกธรรม  อะไรเป็นจริง อะไรนอกความเป็นจริงนี่ ...มันก็ต้องสอนจิตสอนใจตัวเองให้มันเลือกให้ถูก 

ปฏิบัติให้ถูก ปฏิบัติให้มันตรง...ตรงต่อมรรค ต่อศีล ต่อปัจจุบัน  ให้มันตรงต่อกายใจ  ไปตรงที่อื่นเดี๋ยวมันจะโดนสวน ...ทุกข์น่ะมันสวนกลับมา

เป็นทุกข์แล้วก็มาร้องห่มร้องไห้ มาตีโพยตีพาย มาขัดแย้งกัน กัดกัน เกิดความเบียดเบียนเบียดเสียดซึ่งกันและกัน ...โลกนี่เลยกลายเป็นที่ที่อยู่ได้ยาก เพราะมันอึดอัดคับข้อง

แต่ละคนแต่ละตัวมันใหญ่...ใหญ่ทั้งความคิด ใหญ่ทั้งความเห็น  มันลากงวง ลากงา ลากหาง จนไปกระทบกระเทือนผู้อื่นไปมา ...ไอ้ตัวเราน่ะ ความคิดความเห็นเราน่ะ  มันใหญ่ กว้าง แรงจนเกิน

ก็พยายามหรี่แสงมันลง ไอ้แสงของ 'เรา' นั่นน่ะ...ที่มันวางก้าม วางใหญ่วางโต วางหน้าวางตาอะไรไว้นี่ ...ให้มันน้อย...น้อยจนถึงที่สุดคือไม่มี ยังคงเหลือแต่กายใจในปัจจุบัน

นั่นแหละ เพียรรักษาความรู้จำเพาะกายจำเพาะใจจำเพาะจิตไว้ ...มันจึงเรียกว่าเกิดความถึงพร้อมในกายวาจาใจขึ้นมา บริบูรณ์ในกายวาจาใจ

ทำกายวาจาใจให้บริบูรณ์ในธรรม เต็มอยู่กับธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม ...ไม่ได้เต็มไปด้วยกิเลสราคะโทสะตัณหานี่ 

ปล่อยให้มันมาเพ่นพ่าน มาเป็นเจ้าของ มาเป็นเจ้ากี้เจ้าการได้อย่างไร  มาปล่อยให้มันมีอำนาจบาตรใหญ่อยู่ในขันธ์ อยู่ในกายอยู่ในใจได้อย่างไร

นี่มันก็ต้องทบทวนดู ...ไม่ใช่ไปอยู่กับความไม่รู้ ไปอาศัยอยู่กับความไม่รู้  แล้วก็ให้ความไม่รู้มันชี้นำทางไปตามประสา  ทำอะไรก็ไม่รู้ ยืนเดินนั่งนอนก็ไม่รู้ พูดคิดอะไรก็ไม่รู้ ...มันอยู่กับความไม่รู้

ทำยังไงมันจึงจะอยู่กับรู้ ...ทำยังไงมันจึงจะยืนเดินนอนนั่งด้วยรู้..กับรู้  ทำพูดคิดด้วยรู้..กับรู้ อย่างนั้น คือหน้าที่ของผู้ภาวนาที่แท้จริงน่ะ

ไม่ใช่ไปนั่งค้น นั่งหา นั่งวิเคราะห์ นั่งวิจารณ์ ...วิธีการนั้นนี้โน้น จะดีกว่า จะถูกกว่า จะเร็วกว่า

หรือว่าสำนักนั้นดีกว่า คนในสำนักนั้นอยู่ยังไงกินยังไง นั่งนอนยืนเดินกันอย่างไร ได้ธรรมยังไงกี่ส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะอะไร อาจารย์ชื่ออะไร ...นี่ มันไม่ได้อะไร มันไม่ใช่เป็นการภาวนา

การภาวนามันก็ต้องกลับมา สร้างสติภายในให้เกิดขึ้น การระลึกรู้ ...เป็นสติภายใน ก็ต้องระลึกรู้ภายใน...ภายในกาย ภายในขันธ์ เรื่องราวในขันธ์

เรื่องราวที่มันปรากฏอยู่ในขันธ์...ตั้งแต่กายนี้จนถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ...ถ้ามันยังไม่ชัดในขันธ์ทั้งห้า ก็ต้องมาชัดในขันธ์หนึ่งก่อน...คือกาย

เมื่อมันชัดในกายแล้วนี่ มันก็จะค่อยๆ ชัดเจนในเวทนา สัญญา สังขาร ตลอดจนถึงวิญญาณ ...จนไม่สงสัยในขันธ์ทั้งห้า ว่าเป็นอะไร เป็นใคร เป็นของใคร

มันมีขึ้น มันตั้งขึ้น เพื่อใคร ของใคร ...หรือมันเป็นแค่ธรรมชาติหนึ่ง ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีความคิด ไม่มีความเห็นในตัวมันเลย ไม่มีเจตนาในตัวของมันเลย

มันไม่ได้เป็นธุระให้ใครเลย ไม่ได้เป็นภาระให้ใครเลย...แล้วจะเอามาเป็นภาระได้ยังไง ...นี่ ตัวมันยังไม่เป็นภาระให้ใคร และมันก็ไม่ได้เรียกร้องให้ใครมาเป็นภาระกับมัน

นี่ มันก็จะค่อยๆ เข้าใจไป เป็นความเข้าใจภายใน ...นี่แหละภาวนา...มันเป็นเรื่องของตัวเอง เป็นเรื่องของการเรียนรู้ตัวเอง ไม่ต้องไปเรียนรู้คนอื่น

คนอื่นเขาจะลงนรก ขึ้นสวรรค์ หรือเขาจะไปนิพพาน หรือจะไม่ไปนิพพาน หรือเขาจะดำรงด้วยความไม่รู้จักนิพพาน แล้วก็ไม่สนใจใส่ใจในการจะไปนิพพาน ...ก็ช่างหัวมัน

อย่าเอามาเป็นธุระของเรา อย่าเอามาเป็นเรื่องของเรา ...เพราะกำลังทำหน้าที่จะไม่ให้มี "เรา" เข้าไปเป็นธุระกับอะไร  ไม่มี "เรา" ไปเป็นภาระกับอะไร

แล้วยังไปหาภาระให้มันหนักอกหนักใจ หนักสมอง หนักไปหมด นี่...แค่ขันธ์ห้านี่ก็เป็นของหนักอยู่แล้ว ยังวางไม่ได้ ยังวางไม่ลง แล้วไม่รู้จะวางยังไงให้ได้ แล้วไม่รู้จะวางยังไงให้มันลง

กี่ทีๆ ก็ยังเป็นสุขเป็นทุกข์กับมันอยู่ ...กี่ทีกี่ครั้ง มันก็ยังเป็นสุขเป็นทุกข์กับกายนี้อยู่  เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวก็เกิดความพอใจกับมัน เดี๋ยวก็เกิดความไม่พอใจกับมัน

เดี๋ยวก็ด่ามัน เดี๋ยวก็ชมมัน เดี๋ยวก็รักมัน เดี๋ยวก็ชังมัน..กายอันนี้  แล้วทำไมยังไปบ้าบอกับมัน ทั้งๆ ที่มันตั้งใจให้ใครรัก-ใครเกลียดมันรึเปล่า ตั้งใจให้ใครร้องไห้เสียใจกับมันรึเปล่า ...มันก็ไม่ได้เป็น

เนี่ย เพราะไม่มีปัญญา มันก็เลยขึ้นๆ ลงๆ ไปตามอาการของขันธ์ ...แล้วก็ยังไม่พอ มันยังไปขึ้นๆ ลงๆ ไปตามอาการของขันธ์ภายนอก คือบุคคลภายนอกเสียอีก

แล้วยังไม่พอ มันยังไปขึ้นๆ ลงๆ กับวัตถุธาตุที่ไม่มีวิญญาณครองอีก ...ไปกันใหญ่ๆ ไปแบบใหญ่โตมโหฬาร ไปแบบไม่มีจบไม่มีสิ้นอย่างนั้น

เป็นเรื่องหมด ...หนัก หนักหู หนักตา ...เห็นก็หนัก ได้ยินก็หนัก ได้กลิ่นก็หนัก ไม่ได้กลิ่นก็หนัก ...มันหนักทั้งได้และไม่ได้เลย เอ้า อะไรของมันวะ เนี่ย

กิเลสทั้งนั้น มันเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ...มันไม่ใช่เรื่องของธรรม มันไม่ใช่เรื่องของศีล มันไม่ใช่เรื่องของผู้มีสติสมาธิปัญญา

ถ้าพูดถึงสติสมาธิปัญญาที่เป็นสัมมาจริงๆ นี่ มันเบาไปหมด  เห็นก็เบา ได้ยินก็เบา ได้กลิ่นได้รสอะไรก็เบา นั่งอยู่คนเดียวก็เบา นั่งอยู่ในที่หลายคนก็เบา ...มันไม่มีอะไรเป็นของหนักเลย

ทุกสิ่งล้วนเป็นของเบาบาง ไม่มีค่าไม่มีราคา ไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้กิเลสมันจับต้องได้มาเป็นตัวตนของเราของเขา เป็นเรื่องของเราของเขา เป็นเรื่องสุขเรื่องทุกข์ของเรา-ของเขา ...นี่ มันไม่มี

จึงเรียกว่าเป็นผู้...นั่งก็เบา ไปก็เบา มาก็เบา อยู่ก็เบา ไม่อยู่ก็เบา อยู่นานก็เบา อยู่แป๊บเดียวก็เบา สบายทั้งโลกทั้งขันธ์ ...นั่นน่ะ เห็นขันธ์กลายเป็นของเบา ของว่าง ของเปล่าไป

ทั้งขันธ์คนอื่นด้วย ก็กลายเป็นของเบา ของว่าง ของเปล่าด้วย ...ทั้งวัตถุต่างๆ นานาที่ล้อมรอบขันธ์ด้วย ก็เป็นของเบา ของว่าง ของเปล่าไป

ไม่ได้เป็นของหนักหูหนักตา ขัดหูขัดตา ขัดอกขัดใจ ดีอกดีใจ ...ที่จะเข้าไปเป็นสุขเป็นทุกข์ หาสุขหาทุกข์ในมัน หาดีหาชอบ หาถูกหาผิดในมัน หาความจริงหาความเท็จในมัน

ก็หยุดอาการหาอาการค้น หยุดอาการเข้าไปหา เข้าไปมี เข้าไปเป็น ...มันก็อยู่กับธรรม ด้วยใจที่เป็นธรรมและเป็นกลาง ด้วยใจที่มันหลุดพ้นจากการค้นคิดค้นหา จากการครอบครอง ครอบงำ และถูกครอบงำ

ไม่มีอะไรมาครอบงำใจได้อีก ไม่มีอะไรมาครอบความเป็นจริงนี้ ให้เกิดความรู้สึกเป็นของใคร เป็นตัวเป็นตน เป็นของมี-ของไม่มี อะไรอีกต่อไป

นั่นแหละ ทำจิตทำใจให้มันได้ถึงจุดนั้น ..วาระนั้น ขณะนั้น มันก็เป็นที่ประเสริฐในโลก แล้วก็ประเสริฐแก่ตนเอง 

นี่ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เลิศ เป็นผู้เลิศกว่ามนุษย์ปุถุชนผู้หนาแน่น ...ปุถุชาโน แปลว่าผู้หนาแน่นด้วยกิเลส ...มันก็ออกจากความเป็นปุถุ ความหนาแน่น

เพราะนั้นมันจะออกจากความหนาแน่น...ด้วยการคิดด้วยการนึกไม่ได้ ด้วยการอ่านด้วยการฟังก็ไม่ได้ ด้วยการฝันก็ไม่ได้ ด้วยคำพูดของคนอื่นก็ไม่ได้

มันต้องออกจากการครอบงำของกิเลสด้วยการภาวนา ด้วยปัญญา ด้วยการปฏิบัติตน ด้วยการปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นจริงจัง ...เพิกถอน เลิกละความเห็นผิด ทีละเล็กทีละน้อย เริ่มต้นตั้งแต่กายนี้เป็นต้นไป


(ต่อแทร็ก 13/24  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น