วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 13/23 (2)


พระอาจารย์
13/23 (570308A)
8  มีนาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 13/23  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ระหว่างนั่งฟังเรานี่ ไม่ต้องมาตั้งใจฟังหรอก ...ตั้งใจรู้ตัว ตั้งใจทำความรู้สึกกับกายไว้ ...ถ้ามันตั้งใจฟังนี่ มันก็มาอยู่ที่เรา จิตมันจะมาอยู่ที่เรา มันจะมาอยู่ที่เสียง 

นี่เขาเรียกว่าจิตมันส่งออกนอก ...จริงๆ น่ะ เสียงน่ะมันไม่มีหรอก ถ้ามันไม่มีหู เข้าใจมั้ย  ไอ้ที่มันฟังรู้เรื่องนี่ เพราะมันมีหู ...เพราะนั้นการฟังต้องฟังที่หู ไม่ใช่ที่เสียง

ก็ฟัง นี่ การได้ยินนี่ไม่ใช่เสียงมันอยู่ที่เรา เสียงมันอยู่ที่หู เห็นมั้ย แค่ฟังนี่จิตมันก็ส่งออกแล้ว ส่งออกแล้วมันออกนอกกายนะ มันก็มาจบอยู่ที่ภายนอกคือเสียง ...เสียงก็ยังเป็นภายนอก

เพราะนั้นว่าถ้าตั้งอยู่ที่กายนี่ ตั้งอยู่ที่ความรู้สึกรู้ตัวนี่ เสียงมันเข้ามาเองน่ะ ไม่ต้องฟังแบบเอาจริงเอาจัง ...ถ้าฟังแบบเอาจริงเอาจังเขาเรียกว่าส่งออก เพ่งออก

คือมันฟังธรรมกันมาเยอะแล้วล่ะนะ มาฟังเราก็หลายรอบแล้ว ไอ้เนื้ออรรถกระทงความนี่มันก็รู้กันอยู่แล้ว เพราะนั้น ให้มันฟังพร้อมกับภาวนาไปด้วย

อันไหนที่มันเป็นอรรถเป็นธรรม ที่มันตรงใจ หรือว่าตรงกับสิ่งที่มันข้องคาอยู่  มันก็จะเก็บงำไปเอง เสียงมันก็เข้าไปถึงใจนั่นเอง เป็นประโยคเป็นวรรคเป็นตอนไป

แต่ว่าไอ้ฟังแบบฟังเอาเรื่องเอาราวนี่ ไม่ใช่สาระ ...สาระมันอยู่ที่ว่า...ฟังแล้วรู้ตัว ให้ฟังพร้อมกับความรู้ตัว

เพราะนั้นน่ะ การรู้กายนี่ มันสามารถจะฟังได้ ...แต่สังเกตดู...ถ้าไปรู้จิตนี่  ฟังด้วยรู้จิตด้วย ฟังด้วยดูจิตด้วย  มันฟังไม่ได้นะ มันจะดูจิตไม่ได้เลย  

มันจะดูจิตวอบแวบๆ ไปมา ดูอารมณ์ไม่ทันหรอก ดูความเปลี่ยนแปลงไปมาของอารมณ์ก็ไม่ทันหรอก ไอ้นี่ก็จะฟัง ดูจิตก็ไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถดูได้หรอก

แต่ถ้าฟังโดยการที่ดูกายไป รู้กาย อยู่กับความรู้สึกของกายไป ...กายมันจะไม่หายไปไหน กายมันก็ทรงสภาพความรู้สึก 

ดูที่การกดทับ จุดที่มันกดทับ จุดที่มันเป็นขมวด เป็นข้อ เป็นปม พวกนี้ ...ดูความรู้สึก หยั่งลงไปในความรู้สึก ไล่ความรู้สึก 

ให้มันชัดเจนอยู่ที่ความรู้สึกในการกด ในการทับ ในการเหยียด ในการคู้ ...ในท่านั่งมันมีที่คู้กี่ที่  ตรงที่คู้มันก็จะชัด ตรงข้อเข่าที่กดทับ ที่ก้น ที่หน้าขา ที่ตาตุ่ม ...มันมีนี่

มันมีเวทนาขึ้นตรงไหน เป็นส่วนเป็นหย่อมขึ้นตรงไหน นั่ง คอยหยั่งคอยดู ประคองความรู้ ประคองความรู้สึกตัวให้ทั่วพร้อมอยู่ภายในนี่...ด้วยความตั้งใจ

พอมันขยับแว้บออกไป จิตมันขยับแว้บออกไป  มันจะออกมาฟังเสียงเอาเรื่องเอาความ...ก็รีบกลับ ไม่เอา ไม่ต้องเสียดาย ไม่ต้องเสียดายเสียง ไม่ต้องเสียดายข้อความในเสียงอะไรหรอก

ฟังมาเยอะแล้ว มันจำได้หมดแล้ว ...ให้รู้ตัว เสียดายความรู้ตัวมากกว่า เสียดายความที่มันจะหลงออกนอก ...ไม่ให้จิตมันส่งออกนอก ให้จิตมันส่งอยู่ข้างใน ให้มันวิ่งวนอยู่ข้างใน ให้มันไล่อาการ

เพราะนั้นการทำความรู้สึกในตัวในกายนี่ ในระหว่างการนั่ง...ดูความรู้สึกในการนั่งนี่  ท่านเรียกว่าเป็นการพิจารณากาย ...การพิจารณากายตามความรู้สึก

เพราะนั้นมันจะต้องอยู่ด้วยการพิจารณากายนี่ตลอดเวลา ไม่เว้นวรรคขาดตอนเลย  ต้องอยู่ด้วยการพิจารณากายอยู่ตลอดทุกอิริยาบถ กายใหญ่ กายย่อย

แต่คราวนี้ว่า เวลาพวกเราไปสัมผัสสัมพันธ์กับหน้าที่การงาน การข้องแวะบุคคล การพบปะผู้คนอะไรนี่ ...มันก็จะพิจารณากายได้ไม่ละเอียด

มันก็พิจารณากายได้แค่หยาบๆ แค่รูปทรงหยาบๆ ...คือรูปทรงอิริยาบถ ยืนบ้าง เดินบ้าง ขยับบ้าง หมุนบ้าง ปากขยับบ้าง อะไรบ้าง...อย่างนี้

แต่ว่าความรู้สึกในการยืนการนั่ง ในการเหยียด การหยั่ง อะไรพวกนี้มันเป็นกายละเอียด มันก็อาจจะไม่รู้สึกลงไปในรายละเอียดของกายละเอียดด้วยสติละเอียดได้หรอก มันก็เป็นไปตามกาลนั้นๆ ...ก็ให้เข้าใจ

แต่ว่าพอมาอยู่ในลักษณะที่มันสงบจากการข้องแวะผู้คน หรือหมดหน้าที่การงานที่มันจะต้องใช้ความคิด การพูด อะไรก็ตามนี่ ...มันก็ต้องมาทำความรู้แบบละเอียด สติแบบละเอียด...กับกายทั้งหยาบและละเอียด

คือกายหยาบก็คือกายในอิริยาบถ รูปอิริยาบถ อย่างนั่ง...อิริยาบถมันก็ไม่คลาดเคลื่อนไปไหน มันก็อยู่คงที่ คงที่อยู่แล้ว ก็พิจารณาลงไปในกายละเอียด

คือกายที่เป็นความรู้สึกน้อยใหญ่ เป็นหย่อม เป็นกลุ่ม เป็นทั้งกลุ่มธาตุ กลุ่มเวทนา ตรงนั้นตรงนี้ มีความรู้สึกตรงไหน ตรงเข่า ตรงหน้าขา ตรงหลัง ตรงเอว ...สลับไป วนเวียนอยู่ในความรู้สึก

อยู่ด้วยการพิจารณากายอยู่อย่างนี้ ...จิตใจมันก็จะเกิดความมั่นคง ตั้งมั่น  จิตใจมันก็จะเกิดความสงบเย็น จิตใจมันก็ไม่เกิดความดิ้นรน กระวนกระวาย กระสับกระส่ายไปมา

ถ้ามันขี้เกียจขี้คร้าน...ก็ต้องทวน ก็ต้องคอยฝืน ว่ายังไม่พอ พอไม่ได้ ...เนี่ย จิตมันจะคอยหาเรื่องพัก หาเรื่องไปพักอยู่เรื่อย  พักไปคิด พักไปทำอันนั้นไปทำอันนี้ ...ก็พยายามรู้ตัว

หรือถึงมันมีเหตุให้ต้องไปทำจริงๆ ...ก็พยายามรู้ไปตามความเคลื่อนไหว การหยิบ การจับ การเอี้ยว การยก การหยั่ง การเคลื่อน การเหยียด การคู้ การงอ ของขาของแขนที่มันเคลื่อนไป

มันรู้สึกอย่างไร...ตามความรู้สึกกายไปโดยตลอด อยู่ด้วยการพิจารณากาย ...ไม่ต้องไปพิจารณาส่วนอื่นเลย ไม่ต้องไปพิจารณาอรรถธรรมอะไร

ไม่ต้องไปพิจารณาหาตำรับตำรา หรือไปจดจำถ้อยคำของคนนั้นคนนี้มาเป็นที่พิจารณาอะไรเลย ไม่ต้องไปหาถูกหาผิดในธรรมนั้นธรรมนี้ธรรมโน้นเลย

ไม่ต้องไปดูสภาวะนั้นสภาวะนี้คืออะไร ไม่ต้องไปหาเลย นี่ ...พอจิตมันจะเริ่มไปหา ก็ให้รีบกลับๆๆ ดึงกลับ น้อมกลับ หยั่งกลับลงมา...พิจารณากายลูกเดียว

พิจารณาอย่างที่เราว่านี่...มันไม่ได้พิจารณาด้วยความคิดนะ  พิจารณาโดยจิตน่ะมันไล่วนอยู่ในกาย ไล่ความรู้สึก ติดตาม เกาะติดสถานการณ์กายอย่างนี้ เกาะเหตุการณ์แห่งกายที่ปรากฏ คอยจดจ่อ จับจ้องอยู่กับมันอย่างนี้

ถ้าทำไปจริงๆ มีความตั้งใจที่จะพิจารณากายอย่างนี้จริงๆ ด้วยความต่อเนื่อง  ถ้ามันตั้งใจทำกันจริงๆ นี่มันไม่นานหรอกที่มันจะอยู่โดยที่ไม่ออกนอกเนื้อไม่ออกนอกตัวเลย...โดยเป็นอัตโนมัติ

แต่มันขาดความตั้งใจที่มันจะรู้สึกกันจริงๆ น่ะ ...มันเหลาะแหละ จิตมันชอบเหลาะแหละ โลเล  พอมีรูปมีเสียงมากระทบปุ๊บ มันก็ไปกำหนดรู้ที่รูป กำหนดรู้ที่เสียง ...นี่ออกแล้ว มันออกไปแล้ว

พอกำหนดรู้ที่รูป กำหนดรู้ที่เสียงนะ  มันจะมีความหมาย ข้อความ สัญญาอารมณ์เกิดขึ้นเลย ...นี่ แค่ได้ยินเสียงแล้วไประลึกรู้ที่เสียงปุ๊บนี่ หน้ามันจะหันไปหารูป ไปดูรูปกับเสียงเลย

มันจะส่งออกไปพร้อมกันเลยเป็นอัตโนมัติของกิเลส มันจะเป็นอย่างนั้น ...แต่ถ้ามีสติ แล้วระลึกรู้ว่าได้ยินเสียง แล้วกลับมาอยู่ที่หู ...ตามันไม่ไปหรอก ตาไม่ไปไหน ตาไม่หันตาม อยู่อย่างนี้

น้อมกลับ หยั่งกลับ อยู่กับเนื้อกับตัวด้วยความตั้งอกตั้งใจใส่ใจ ...ไม่ต้องไปลังเลสงสัยในธรรมที่ยังมาไม่ถึง ไม่ต้องไปสงสัยในธรรมที่มันยังไม่เกิด หรือว่าไปสงสัยในธรรมที่เกิดกับผู้อื่นอย่างนี้

พวกนี้สงสัยทั้งนั้น จิตมันเลยออกไปหา ...มันจะไปหาพระแสงอาวุธโบราณอะไรของมัน ...ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ส่งออกไป มีแต่ทุกข์ ไม่มีธรรมอะไรหรอก

ธรรมมันอยู่ที่นี่ การพิจารณาธรรมก็คือการพิจารณากายนี่แหละ ...ไม่ต้องเอาจิตไปพิจารณาธรรมบ้าบออะไร  ธรรมมั่ว ธรรมเมา ธรรมจอมปลอม ธรรมปนเปื้อนด้วยกิเลสราคะ โทสะโมหะ

ไปพิจารณาทำไมธรรมพวกนี้ ...มันเป็นสังขารธรรม เกิดดับเท่านั้นเอง ไม่มีอะไร สภาวะจิตสภาวธรรม ไม่ต้องไปพิจารณาอะไรมันทั้งนั้น

เพราะนั้นการที่รู้อยู่กับตัว มันจะละทุกสิ่งเลย ...มันจะละทั้งจิต มันจะละทั้งอารมณ์ มันจะละทั้งอดีต มันจะละทั้งอนาคต มันจะละทั้งบุคคล เรื่องราว ต่างๆ นานา ทั้งที่เคยผ่านมา ทั้งที่ยังมาไม่ถึง

เมื่อขณะที่มันรู้ตัวแบบจริงจัง ไล่ตามความรู้สึก มันก็จะไม่มีทั้งภาษาทั้งบัญญัติ ...นี่ มันก็ลบล้างบัญญัติไปในตัว มันก็ลบล้างสัญญาไปในตัว

สัญญาว่าแขนว่าขานี่ ที่ว่าเป็นแขนเป็นขา เป็นเนื้อเป็นตัวนี่ เป็นท่านั่ง นอน ยืน เดิน มันก็ไม่มี ...มันเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งนั้น มันเป็นสัญญานิมิต

ขณะที่มันรู้จริงๆ ในความรู้สึกที่เป็นกายละเอียด กายย่อยลงไปนี่ ...มันเป็นการลบค่า ลบความสำคัญ ลบความจริงจังของสัญญาทั้งหมด

เพราะนั้นว่ารู้ตรงที่เดียวนี่...มันละทุกอย่างเลย ละความเห็นผิดทุกอย่างเลยในกองขันธ์อันนี้ ที่มันเกิดจากจิตปรุงแต่ง 

ไอ้ความหลงผิดนี่...มันเกิดจากจิตปรุงแต่งขึ้นมา แล้วก็หมายมั่นตามที่มันปรุงแต่งขึ้นมา เท่านั้นเอง

เพราะนั้นเมื่อจิตมันสงบ จิตมันหยุดความปรุงแต่งนี่ มันก็จะเห็นความเป็นจริงแค่เป็นอาการหนึ่ง เป็นหย่อมๆๆๆ ของมันไป วนเวียนๆ ...นี่ ก็พิจารณาโดยธรรม

พิจารณาในกายก็เหมือนกับพิจารณาธรรม ...อย่าให้มันคลาดเคลื่อนจากธรรม อย่าให้มันคลาดเคลื่อนจากศีล อย่าให้มันคลาดเคลื่อนจากกาย อย่าให้มันคลาดเคลื่อนจากปัจจุบัน

จะเป็น-ตาย...ก็ให้เป็น-ตายอยู่กับปัจจุบัน  จะสุข-ทุกข์...ก็ให้เป็นสุข-ทุกข์กับปัจจุบันกาย ...ไม่ไปสุข-ทุกข์ที่อื่น ไม่ไปหาสุขที่อื่น ไม่ไปหาทุกข์ที่อื่น 

ไม่ไปแก้สุขที่อื่น ไม่ไปแก้ทุกข์ที่อื่น ...อยู่ที่รับรู้ความรู้สึก มุ่งมั่นจริงจังลงไป ...มรรคผลนิพพานมันก็ไม่ได้เป็นของยากของเย็นเกินไปหรอก...ถ้ามันทำ

แต่ว่าที่มันไม่ถึง ที่มันยาก ...เพราะมันไม่จริงจังลงไปในธรรมเดียว ในการพิจารณาในธรรมเดียว ธรรมเอก ธรรมหนึ่ง หรือว่าธรรมที่มีจริง ปรากฏอยู่จริง

มันไปงกๆ เงิ่นๆ ก้มๆ เงยๆ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้...ในจิต ในอารมณ์ ในอดีต ในอนาคต ในภาษา ในข้อความ ในคำพูดคนอื่น ในการแสดงผ่านทางรูปทางเสียงของคนอื่นอย่างนี้

แล้วก็ไปตั้งแง่ตั้งมุม ไปตั้งข้อสงสัยลังเล ไปตั้งมรรคตั้งผลอยู่ตรงนั้นที่นั้น ...มันก็เลยเกิดภาวะที่ไม่ไปไหน ปัญญาก็ไม่ไปไหนขึ้นมา สมาธิก็ไม่ได้ไปไหน

คือมันไม่ได้เป็นไปในสมาธิอะไรเลย ...มีแต่เลอะเทอะ  จิตมันเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไปหาขี้หาตดอยู่นั่นน่ะ  มันไปหาแก่นสารอยู่ที่ไหน...มันไม่มีหรอก


(ต่อแทร็ก 13/24)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น