วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/14


พระอาจารย์
13/14 (570222B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 กุมภาพันธ์ 2557


พระอาจารย์ –  ท่านอย่าไปตีขลุมเอาเองว่า การขุดบ่อการขุดสระพวกนี้ แล้วเอาน้ำในบ่อในสระมาใช้อาบดื่มกินนี่ก็จะเป็นตัวช่วยในองค์มรรคนะ ไม่มีตัวช่วยนะ ...มีแค่ศีลสมาธิปัญญา ๓ ตัว ไตรสิกขานี่ 

อันอื่นไม่ช่วย ...รุงรัง กลับกลายเป็นของรุงรัง หรือถ้าจะเปรียบ มันก็เหมือนกับเป็นแค่ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Accessory ไม่ใช่ เมนคอร์ส ไม่ใช่อาหารหลัก ...ไม่ใช่เนื้องานหลัก 

มันเป็นเพียงแค่ ยิบย่อย ของเล่นเท่านั้น ...มีก็ได้ ไม่มีก็ได้  จะรู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้กับมัน  จะทำได้ก็ได้ ทำไม่ได้ก็ได้ ...ก็ไม่สำคัญ ไม่ได้เป็นตัวที่ว่าจะทำให้มรรคนี้เสื่อมหรือว่าเจริญขึ้นเลยนะ 

แต่ไอ้ตัวที่มีผลโดยตรงต่อมรรคนี่คือศีลสมาธิปัญญา...ขาดไม่ได้ ไม่มีไม่ได้ ...จะขาดตัวใดตัวหนึ่งก็ไม่ได้ 

เหมือนว่าถนนในโลกนี่ ถ้ามีแต่หินกับทรายผสมกันแล้วก็มาเทบด...กี่ปีพัง ไม่ถึงปี ...พอใส่ปูนเข้าไป ก็หลายปีหน่อย แข็งแรง ...นี่ มันต้องครบ ศีลสมาธิปัญญานี่ สมดุลกัน

เพราะนั้นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติที่แท้จริง ต้องคอยตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า...เดี๋ยวนี้ศีลมีมั้ย เดี๋ยวนี้สมาธิมีมั้ย เดี๋ยวนี้ปัญญามีมั้ย ...มีมั้ย เดี๋ยวนี้...มีมั้ย หือ


ผู้ถาม –  น่าจะมี

พระอาจารย์ –  มีอะไรบ้าง

ผู้ถาม –  รู้ครับ

พระอาจารย์ –  รู้อะไร

ผู้ถาม –  กายปัจจุบัน

พระอาจารย์ –  เออ มีแค่ศีลกับสมาธิ ...ปัญญามีรึยัง การเห็นตามความเป็นจริงกับยอมรับตามความเป็นจริงว่ากายนี้ไม่ใช่เรา มีรึยัง

ผู้ถาม –  มีบ้างครับ

พระอาจารย์ –  เออ พูดแบบอ้อมๆ แอ้มๆ

ผู้ถาม –  ครับ

พระอาจารย์ –  แล้วหน้าที่ของเราควรจะทำต่อคืออะไรล่ะ หือ ...ก็ตรวจสอบตัวเองก็รู้อยู่แล้วใช่มั้ย ว่ามันยังขาดอะไร 

แล้วทำไมปัญญาถึงตอบได้แบบอ้อมๆ แอ้มๆ ว่า เออ มัน..ไม่ใช่...ไม่ใช่ของเรา ...แต่ลึกๆ ก็ยังเป็นของเราอยู่ใช่มั้ย


ผู้ถาม –  ครับ

พระอาจารย์ –  แปลว่าปัญญามันยังไม่ถึงพร้อม ยังไม่บริสุทธิ์ ยังไม่เด็ดขาด ...แล้วทำไมมันถึงไม่บริสุทธิ์ ไม่เด็ดขาดล่ะ หา ทำไม ...ตอบตัวเองซิ ตอบมาหน่อย เพราะอะไร

ผู้ถาม –  มัน...

พระอาจารย์ –  เพราะศีลท่านไม่มี เพราะสมาธิท่านไม่ต่อเนื่อง เข้าใจมั้ย ปัญญามันจะเกิดความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้อย่างไร เห็นมั้ย 

แล้วท่านมัวแต่ไปหาว่า จะสร้างสมาบัติยังไง หือ ...มันใช่หน้าที่ธุระไหมน่ะ ใช่ไหม  เออ ก็รู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นกิจที่พึงกระทำ


ผู้ถาม –  ครับ

พระอาจารย์ –  อยากเกิดรึไง อยากเกิด-ตายใหม่อีกรึไง  ถ้าอยากเกิดตายใหม่ ไปขุดบ่อเยอะๆ ไปอิ่มอาบซาบซ่านกับบ่อที่ท่านตั้งใจจะขุด และท่านก็จะไปสะสมน้ำแล้วเอาน้ำนั้นมาอาบดื่มกินทุกภพทุกชาติ

แต่ถ้าท่านมุ่งมั่นที่จะไม่กลับมามีกายมีขันธ์นี่ ท่านจะต้องทำงานอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านวางหลักไว้... ศีลมีมั้ย ไม่มี...มีซะ  สมาธิมีมั้ย ไม่มี...มีซะ ทำซะ  ปัญญามีมั้ย ไม่มี...ทำซะ 

มีแล้ว ...รักษารึยัง  รักษาแล้ว...รักษาได้ดีรึยัง  รักษาดีแล้ว...ให้มันดีขึ้นยิ่งกว่ารึยัง ...นี่คือหน้าที่...สายตรง นี่เรียกว่าสายตรง Direct ไม่บิดไม่เบี้ยวไม่ซ้ายไม่ขวา 

นี่ มรรค หรือว่าทางเอก ทางสายเอก ...ถ้าท่านทำงานอย่างนี้เรียกว่าทำงานอันเอก ทำงานอันเลิศ ทำงานอันประเสริฐ หรือเรียกว่าสัมมาอาชีโว

ถ้าท่านตั้งใจทำงานอย่างนี้ งานนี้ถือว่าเป็นงานอันประเสริฐ เป็นงานอันเลิศ กว่างานใดๆ ทั้งปวงในโลก  ...ไม่ว่าคนอื่นจะรู้ก็ตาม คนอื่นไม่รู้ก็ตาม  

ซึ่งส่วนมากคนอื่นจะไม่รู้ เข้าใจมั้ย ...เพราะเป็นงานที่ทำจำเพาะภายในเท่านั้น ไม่มีใครรู้หรอก  แม้กระทั่งว่ากำลังทำอยู่ตอนนี้  ผมกำลังเจริญศีลสมาธิปัญญาแบบเต็มเปี่ยม ท่านก็ไม่รู้หรอก

นี่ เป็นงานอันประเสริฐ ... คนไม่รู้...เทวดารู้ อินทร์พรหมรู้ พระอริยะรู้ พระพุทธเจ้ารู้  แล้วไม่อายที่คนอื่นจะไม่รู้และไม่เข้าใจ เพราะอาจจะไม่ได้รับคำชม อาจจะไม่ได้รับคำยกยอจากคนในโลก 

เทวดารู้ พระอริยะรู้ เหล่าสาวกพระพุทธเจ้ารู้...สาวกจริงๆ นะ ... แล้วท่านอนุโมทนา แล้วท่านคอยประคับประคองช่วยเหลือ ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ทั้งโดยที่ผู้นั้นรู้ตัว ทั้งโดยที่ผู้นั้นไม่รู้ตัว

นี่ ขนาดเราเป็นคนไทย เราเป็นพระนะ  แม้แต่คนต่างชาติ ยังมีตัวช่วยเลย...ทั้งข้างบนทั้งข้างล่าง ...เห็นมั้ยว่า ถ้ามันมุ่งตรงน่ะ ถ้าได้มุ่งตรงต่อทางที่จะหลุดพ้นน่ะ ...ตัวช่วยนี่มี ช่วยมาเองน่ะ 

ถึงจะพูดภาษาไทย ฟังภาษาไทยก็ไม่ค่อยชัด  ถ้ามีแต่จิตที่มุ่งตรง...และก็ปฏิบัติเพื่อจะเข้าสู่ความตรง ความหลุด ความพ้นไปจากการเกิดการตาย ...ทุกอย่างนี่ ธรรมนี่ เหมือนธรรมนี่จะมาช่วยมาสงเคราะห์ 

มาเอื้อ...ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นๆ  ทั้งในที่ลับคนอื่นมองไม่เห็น ทั้งในที่แจ้ง การพูดการจากัน  ...ถึงได้บอกว่าไม่อดไม่สิ้น ไม่อับไม่จนหรอกหนทางน่ะ ถ้ามุ่งเอาจริงๆ นะ

ท่านไม่ต้องกลัวเลยว่า ไอ้ที่ท่านเคยได้ยินได้ฟังมาอย่างนี้อย่างนั้นอย่างโน้นนี่ ท่านจะไม่สามารถเข้าไปรับรู้เข้าใจหรือว่าเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์ได้ ...มันจะมีเหตุให้เอื้อกันมาเองน่ะแหละ

แต่ว่าท่านจะต้องมุ่งมั่นในงานต่อองค์มรรคอย่างจริงจัง แล้วทุกอย่างมันก็จะมาสงเคราะห์เอง...ให้เกิดความที่ท่านเคยอยาก ที่ท่านเคยอยากมี อยากเป็น อยากรู้ อยากเห็นอะไรก็ตามนั่นแหละ 

ไม่ใช่ว่าไปตั้งหน้าตั้งตาเจตนาจะทำมันขึ้น หามันขึ้น หรือให้มันเป็นขึ้นมา ...นี่ เขาเรียกว่าทำผิดงาน แล้วท่านจะเสียเวลาเป็นภพๆ เป็นหลายภพ เป็นชาติๆ เป็นหลายชาติเลย

ถึงบอกว่าให้เชื่อมั่น ให้มุ่งมั่น แค่เนี้ย ศีลสมาธิปัญญา ...อย่างที่ผมอธิบายอยู่ประจำ ว่าศีลอยู่ที่ไหน คืออะไร  สมาธิคืออะไร อยู่ที่ไหน  อย่างไรเรียกว่าปัญญา ...นี่ พอแล้ว ไม่ขัดสนหรอก ไม่ขัดสน เข้าใจมั้ย

จะเอาอะไรกันนักกันหนา ...มันเกิน รู้จักมั้ยว่ามันเกิน มันเฝือ มันรุงรัง มันกลายเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง ชักหน้าไม่ถึงหลังไปเรื่อยๆ เลยแหละ ...กิเลสความอยากไม่เคยพอ กิเลสความสงสัยก็ไม่เคยหายที่จะสงสัยในธรรม

แต่เมื่อใดที่พวกเรา พวกท่านทั้งหลายนี่ มาทำงานในองค์มรรค คือจดจ่อระวังเพียรเพ่งอยู่ในกายเดียวรู้เดียวนี่ ...ให้มันหยุด ให้มันพออยู่แค่นี้ หยุดลงที่กาย รู้ลงในปัจจุบันกาย นี่ หยุดอยู่สองหยุด...หยุดที่รู้กับหยุดที่กาย

เอาจิตรู้นี่มาหยุดอยู่กับกายนี่ ...แล้วหยุดอยู่กับกายของตัวเองนะ อย่าไปหยุดกายคนนั้นคนนี้ อย่าไปหยุดที่เสียงคนนั้นคนนี้ อย่าไปหยุดที่การกระทำของคนนั้นคนนี้ ...หยุดอยู่ที่กายของตัวเองในปัจจุบัน

หยุดอะไร ...หยุดด้วยการหยุดแล้วก็มารู้ หยุดแล้วก็มาเห็น หยุดแล้วก็มาดู ...ไม่ใช่หยุดแล้วก็มาคิด ไม่ใช่หยุดแล้วมาลังเลสงสัย ไม่ใช่หยุดแล้วก็มาค้นมาหาอะไร 

หยุดแล้วก็รู้ หยุดแล้วก็เห็นกาย หยุดแล้วก็รู้กายว่ามันกำลังอยู่ในท่าทางไหน หยุดแล้วก็รู้ว่ามันกำลังเย็น มันกำลังร้อน มันกำลังอ่อน มันกำลังนิ่ง มันกำลังไหว มันกำลังหนัก มันกำลังเบา 

แล้วก็ดูอาการของมันไป ติดตามอาการของมันไป ทุกระยะไม่ขาดสาย ...นีี่ ดูเป็นงานที่น่าเบื่อหน่อย  ...เบื่อมั้ย น่าเบื่อมั้ย 

ไม่สนุกหรอก ...เพราะมันก็จะนึกว่า 'เออ ถ้าเข้าไปอยู่ในสมาบัติ หรือมีสมาบัติขึ้นมา มันน่าจะดีกว่านี้นะ' ...ใช่มั้ย 

นี่ มันเป็นอารมณ์ที่น่าใคร่ มันเป็นสภาวะจิตที่เหมือนเขาเขียนไว้อย่างโอ่โถงอลังการงานสร้าง และคนทั่วไปเขาก็ให้ค่าว่ามันดีมันเลิศมันประเสริฐอย่างนั้น

แต่เวลากลับมาติดตามลักษณะอาการของกาย ติดตามรู้เห็นอาการลักษณะของกายในปัจจุบันไปทีละขณะๆ ไปทีละวรรคทีละตอน ...มันกลับได้อารมณ์ที่น่าเบื่อ มันกลับได้ความรู้สึกที่ไม่ค่อยจะมีความสุขสงบ ล้ำเลิศ  

มันกลับเป็นอะไรที่ด้านๆ พื้นๆ ธรรมดาๆ ...นั่นแหละ ของจริง  นั่นแหละสภาพความเป็นจริง นั่นแหละคืออารมณ์ตามความเป็นจริงของธรรมชาติ 

ทุกธรรมชาตินี่เขาตั้งเขาแสดงอารมณ์อย่างนี้  (เสียงของกระทบ) แสดงอารมณ์เป็นธรรมดาอย่างนี้...คือไม่มีอารมณ์ยินดีไม่มีอารมณ์ยินร้าย...ในตัวของมันเลย

ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะเก้าอี้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน มันมีอารมณ์อย่างนี้คือไม่มีอารมณ์เลย...เป็นธรรมดา 

นั่นแหละคืออารมณ์ความเป็นจริงของธรรมชาติ...ทุกธรรมชาติตั้งแต่ขันธ์ห้านี้ออกไป จบจรดอนันตาจักรวาล

พระพุทธเจ้าต้องการให้เรียนรู้อารมณ์นี้ คืออารมณ์ตามความเป็นจริงนี้ อารมณ์ที่มีอยู่ในทุกสรรพสิ่งทุกธรรมชาติ ทุกธรรม ...จนกว่าจะเข้าใจและยอมรับอารมณ์นี้  

เมื่อนั้นท่านก็จะไม่มาดิ้นรนค้นคว้าหาอารมณ์ที่เป็นสุขและเป็นทุกข์ในขันธ์และในโลกนี้อีกต่อไป เพราะมันไม่มีอารมณ์ให้ท่านเสพจริงๆ ใช่ไหม ...ก็อารมณ์มันไม่มี ตัวมันเองมันไม่มีอารมณ์ในตัวมัน

นี่ สุดท้ายถ้าท่านเห็นโดยทั่วโดยตลอดแล้วว่า...มันไม่มีอารมณ์ให้สุขให้ทุกข์ ให้ท่านเข้าไปเสพ ท่านจะมาเอามาเป็นสมบัติพัสถานอย่างไรทำไม จะไปครอบครองดิ้นรนกระวนกระวายกับมันทำไม

แล้วท่านจะทำยังไงกับมันล่ะถ้าอย่างนั้น ...ก็ทิ้งโดยไม่มีเยื่อใย ใช่ไหม หือ ทิ้งโดยไม่มีเยื่อใย 

แต่ตอนนี้ ถ้าสมมุติว่ากายท่านกำลังจะแตกตายตอนนี้ ท่านสามารถทิ้งโดยไม่มีเยื่อใยมั้ย 

ไม่ ...จิตพวกเรา จิตของท่านนี่จะไม่สามารถทิ้งกายโดยไม่มีเยื่อใยได้เลย ...ท่านยังมีเยื่อ ท่านยังมีใย ท่านยังมีอาลัย ท่านยังมีอาวรณ์ในกายนี้ 

เพราะจิตดวงนั้นของท่านยังเข้าใจว่า กายนี้เป็นกายของเรา...ที่สามารถตั้งสุขตั้งทุกข์ขึ้นมา หาสุขหาทุกข์กับมันได้อยู่ ยังสามารถเอากายนี้ไปหาสุขหาทุกข์ให้เราได้อยู่ นี่

เวลามันจะแตกดับ มันจะตาย มันจึงเกิดความอาลัยอาวรณ์ ...เพราะมันยังหาสุข หรือมันยังเป็นสุขให้เราได้ เพราะมันยังเป็นทุกข์อยู่ ยังผ่านทุกข์ ยังทำให้เกิดความไม่มีทุกข์ให้เราได้ คือยังมีประโยชน์สำหรับเราอยู่น่ะแหละ 

นี่ โง่นะนี่ ไม่ได้ฉลาดนะ นี่เรียกว่าโง่ จิตยังโง่อย่างนี้อยู่ ...เมื่อมันยังโง่อย่างนี้ มันจึงเกิดความอาลัยในทุกสิ่ง มันจึงเกิดอาวรณ์ในทุกอาการ...ที่มันสัมผัส ที่มันครอบครอง ที่มันหวงแหนรักษา ที่มันเสพข้อง ที่มันติดกันอยู่  

เพราะนั้นทุกอาการผัสสะที่สัมผัส ที่กระทบนี่ ...มันจะกระทบด้วยความรับรู้ว่านี่เป็นสุข นั่นเป็นทุกข์ นี่สุขมาก นี่ทุกข์น้อย นี่สุขน้อย นี่ทุกข์มาก ...มันจะมี ทุกผัสสะเลย 

นี่ ท่านเสพ ท่านข้องกับผัสสะนั้นด้วยอาการที่ไม่รู้ หรือเรียกว่าหลง คือไม่ได้ด้วยปัญญา 

ถ้ามันเสพถ้ามันข้องด้วยปัญญา มันจะเสพด้วยภาวะว่า...สิ่งนี้ที่กระทบ อาการนี้ที่ปรากฏ...แล้วมีการรับรู้ขึ้นมาในสิ่งที่มันปรากฏ ในสิ่งที่มันแสดง ในสิ่งที่มันกำลังสร้างปรากฏการณ์อยู่เบื้องหน้ามันนี่... 

มันไม่มีอารมณ์ตัวตนในตัวของมันเลย ไม่มีอารมณ์เป็นตัวเป็นตนในสุขและทุกข์ของมันเลย

เนี่ย ท่านจะเสพท่านจะข้องกับสิ่งนี้ด้วยปัญญาอย่างนี้ๆ ตลอดทุกอาการ ตลอดทุกธรรมที่แสดง ...นี่ จึงเรียกว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา

ท่านก็ไม่เก็บมันไว้หรอก ท่านไม่หวงแหนมันหรอก ก็ไม่มีเราที่จะไปครอบครองมันหรอก ...เมื่อไม่มีเราไปหวงแหน เมื่อไม่มีเราเข้าไปข้องมัน เมื่อไม่มีเราเข้าไปครอบครองกับมัน 

เมื่อไม่มีเราเข้าไปหาสุขหาทุกข์กันมัน เมื่อไม่มีเราเข้าไปผลักทุกข์หาสุขกับมันเนี่ย  เมื่อนั้นก็ไม่มีเรา...เป็นสุขและทุกข์เกิดขึ้นได้เลย

ถ้าท่านรักษาหรือว่าท่านถึงจุดที่ว่าไม่มีเราเข้าไปเป็นสุข ไม่มีเราเข้าไปเป็นทุกข์กับอะไรสักสิ่งหนึ่งเลยนี่ นั่นแหละ...จบ จบกันตรงนั้น

ให้เข้าใจ ...แต่จะทำหรือไม่ทำนี่เรื่องของท่าน ทำมากทำน้อยก็เรื่องของท่านอีกนั่นแหละ ผมไม่รู้ 

เพราะธรรมนี่ ศีลสมาธิปัญญานี่ เป็นสาธารณะ  แล้วแต่ว่าใครจะใช้ใครจะเสพ หรือใครจะไม่ใช้ ใครจะไม่เสพ  มันเป็นสาธารณะ มันไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก

เพราะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะต้องอาศัย...เป็นองค์แรกเบื้องต้นของอินทรีย์...ก็คือศรัทธา ที่จะนำมา น้อมมา สร้างขึ้นมา รักษาขึ้นมา เจริญขึ้นมา ด้วยตัวของท่านเอง

ถ้าไม่มีศรัทธาในศีลในสมาธิในปัญญานี่ มันก็มีอยู่ตั้งอยู่อย่างงั้นๆ ...กายท่านน่ะ มันก็ไม่ได้แสดงความเป็นองค์ศีลให้ท่านได้เป็นที่ตั้งต้นของต้นทางของมรรคหรือว่าปากทางของมรรคเลย 

มันก็เป็นกายที่แค่รอวันเน่าเปื่อยไป ...เหมือนๆ กันทุกคนไป

แต่ถ้าท่านมีศรัทธาปุ๊บ แล้วท่านเจริญรักษาด้วยสติการระลึกรู้ปุ๊บ ...กายนี้จะตั้งความเป็นก้อนศีลกองศีลขึ้นมาเลย  

ถ้าท่านมีศรัทธาเจริญขึ้น รักษาอยู่ รักษาจิตให้มันระลึก ให้มันระลึก...แล้วก็ให้มันรู้ แล้วก็ให้มันเห็น ไม่คลาดเคลื่อนจากองค์กายธรรมดานี่

เพราะนั้นจิตมันจะขึ้น จิตมันจะลง จิตมันจะต่ำ จิตมันจะสร้างสภาวะ มีสภาวะ อยากได้สภาวะ เห็นสภาวะอะไรนี่ ...ท่านอย่าไปแยแส ท่านอย่าไปข้องแวะกับจิตเหล่านั้น 

ท่านต้องพยายามข้องแวะอยู่กับจิตรู้จิตเห็นกับกายนี่...ให้มาก แล้วก็ต้องรักษาจิตที่มันข้องแต่เรื่องของกายนี้ให้มาก ...หมายความว่านั่นน่ะท่านกำลังเจริญศีล ทำหน้าที่ของพระ

รู้จักคำว่าพระมั้ย พระผู้สงบ พระ สมณะแปลว่า ผู้ทรงศีล ...รู้จักคำว่าทรงศีลรึยัง ผู้ที่ทรงศีล ผู้ทรงศีล ไม่ใช่ ๒๒๗ อย่างเดียว ...ทรงศีลที่แท้จริงคือ ทรงความระลึกรู้กับกายปัจจุบันนี้...ด้วยความต่อเนื่อง

เพราะฉะนั้น มันไม่ได้แปลจำเพาะว่าพระเท่านั้นที่จะทรงศีลได้ โยมก็ทรงศีลได้ ฝรั่งก็ทรงศีลได้ โดยที่ไม่มีศีลเป็นข้อๆ ...แต่สามารถทรงความรู้ตัวไว้ 

ผู้ใดที่ทรงความรู้ตัว รักษาความรู้ตัว รักษากาย ไม่ให้คลาดเคลื่อนจากกายไว้ ...ก็เรียกว่าผู้นั้นกำลังเป็นผู้ทรงศีลอยู่ ...นี่หน้าที่เลยน่ะ 

เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติเลยที่จะต้องทรงศีลนี้เป็นอันดับแรก...ให้มาก ให้นาน ให้ไม่ขาด ให้ไม่ลืม ให้ไม่หาย  สมาธิปัญญานี่ไม่ต้องไปถามหาที่ไหน ...อยู่ในผู้ที่ทรงศีลนั่นเอง

แต่เมื่อใดที่ท่านไม่ได้อยู่ ไม่ได้ชื่อว่าเป็นการเจริญที่จะทำให้เป็นผู้ทรงศีลไว้นี่  อย่าถามหาสมาธิปัญญา ไม่มีทาง ...อาจจะได้สมาธิปัญญา แต่เป็นสมาธิที่ไม่ได้เรียกว่าสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ

ถ้าท่านยังเป็นผู้ที่ทรงศีลในระดับที่เรียกว่าศีล ๒๒๗ ศีล ๕ หรือศีล ๘ แค่นั้น ...อย่าถามถึงสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ ...ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน

(ต่อแทร็ก 13/15)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น