วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/12 (2)


พระอาจารย์
13/12 (570221D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21 กุมภาพันธ์ 2557
(ช่วง 2)



(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 13/12 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร แล้วธาตุแท้ของมันแต่ละอย่างนี่คืออะไร ...แล้วมันก็จะแสดงธาตุแท้ของมันเอง 

สุดท้ายก็จะเห็นว่าธาตุแท้ทั้งหมดน่ะ มีความดับไปเป็นธรรมดา ...อย่าว่าแต่แขก บ้านนี่ก็ด้วย ที่อยู่ที่ใจเป็นประธานนั่งอยู่บนโซฟา ไอ้โซฟาที่นั่งอยู่นี่ก็พังเป็นธรรมดา...เหมือนกัน ...นี่โดยขันธ์ 

ทีนี้พอแขกออกไปหมดปุ๊บ มันก็มานั่งสำรวจดูบ้าน  เป็นยังไง มีหยากไย่ใยแมงมุมขึ้น เห็นไหม เออ แต่ก่อนไม่มี เดี๋ยวนี้มันมี...มันมีแต่ความเศร้าหมอง มันมีแต่ความทรุดโทรม...เป็นธรรมดา 

แล้วมันจะเป็นไปถึงที่ไหนล่ะ ...ก็คือเดี๋ยวก็พัง ...แน่ะ นั่งดูเฉยๆ ไม่ฉาบ ไม่แต่ง ไม่เติมสี อ่ะ สีลอก ...อ๋อ นึกว่ามันเป็นสีขาว นึกว่ามันเป็นไม้ ที่จริงมันเป็นสนิมเหล็ก มันถูกฉาบไว้ ...ทุกอย่างลอกหมด 

มันก็แสดงธาตุแท้ของมันเรื่อยๆ ...ไอ้ห้อยไอ้โหนก็คอยว่า "เจ้านายครับ จะแต่งดีมั้ย สีมันลอกแล้ว จะทาทับดีมั้ย มันดูไม่เหมือนเดิมตามสมมุติบัญญัติเขาเคยว่าสวยแล้ว มันกำลังจะไม่สวยแล้ว จะทำยังไง" 

นี่ ไอ้ห้อยไอ้โหนจุ้นไปทุกเรื่อง ...“เรา” น่ะ ไอ้ห้อย  ถ้าผู้หญิงก็อีโหน ถ้าผู้ชายก็ไอ้ห้อย กูคอยจุ้นอยู่นั่น ...เจ้านายก็เฉย เขาไม่รู้ไม่ชี้นะใจนี่

นี่ อยู่ที่ใจ แล้วก็เอาใจรู้ไปดู มองไอ้ห้อยไอ้โหน "มึงอย่ายุ่ง สงบไว้" ...ศีลสมาธิปัญญาทำหน้าที่อย่างนี้ 

แล้วมันก็จะเรียนรู้ขันธ์โดยรอบ บ้านที่อยู่...คือกายที่อาศัย "อ้อ ไม่ใช่ของเรานะ แค่มาอาศัยเขา อย่าไปตกแต่งมันมาก แต่งไปก็แค่นั้น เดี๋ยวก็พังแล้ว จะไปตกแต่งทำไม มันไม่ใช่ของเรา"

แล้วสุดท้ายมันก็พัง ไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีอะไรมันจะคืนเหมือนเดิม ไม่มีอะไรจะกลับไปเหมือนกับจุดตั้งต้น ...มันมีแต่รุดหน้าเพื่อความดับไป 

นี่ ดู แล้วก็จะเห็นว่า ...อ้อ แค่มาอาศัยอยู่ชั่วคราว มาอาศัยอยู่กับขันธ์ มาอาศัยอยู่กับกาย ประเดี๋ยวประด๋าว แค่แว้บนึง จะไปอะไรกันนักกันหนา

ทำไมถึงว่าแว้บนึง ...เทียบกับอายุขัยจักรวาล เทียบกับอายุขัยของวัฏสงสารที่ไม่มีเวลา เห็นมั้ย แป๊บเดียว ...การมาอาศัยอยู่ในขันธ์นี่แค่แป๊บนึง ขณะนึงเอง เทียบกับอนันตกาลที่ไม่มีเวลาของการจบสิ้น 

ก็นั่งศึกษา ศึกษาแต่ละชิ้นแต่ละอันไป ...อ๋อ ทำไมทนไม่ได้ รับไม่ได้กับส่วนนี้ๆ  ก็ความเป็นจริงเขาเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงรับไม่ได้ ...เนี่ย ทำความรู้ความเข้าใจ หรือหยั่งถึงความจริงเขาคืออะไร 

แล้วเขาต้องการไหมให้ไปทำอะไรกับเขา เขาเรียกร้องรึเปล่า เขาบอกมั้ยว่าสีร่อนแล้ว เติมให้หน่อย สนิมขึ้นนะ ช่วยขัดออกได้มั้ย มันกำลังจะผุกร่อนแล้วนะ ซ่อมแซมให้หน่อย 

แต่ไอ้ห้อยไอ้โหนนี่ยุ่งเองนะ ...รักษากันเข้าไป เยียวยามันเข้าไป ไม่ได้ก็ต้องได้ ...เนี่ย ทุกอย่างนี่ไอ้ห้อยไอ้โหนทำงานหมด แต่ใจนี่ก็คือใจอยู่วันยังค่ำ เป็นประธาน...แค่รู้ 

พยายามอยู่ที่ใจ อยู่ที่รู้...แล้วก็เอารู้นั้นน่ะมาดู ...ไอ้ห้อยไอ้โหนหรือไอ้ “เรา” มันก็คอยจะเสนอหน้าอยู่เรื่อยๆ  ดีไม่ดีก็ไปยืนอยู่หน้าประตูเชื้อเชิญแขก ...แบบเหงาไงๆ

เกิดมาขันธ์ห้าไม่พอ เอาอีกสักห้าขันธ์มั้ย เอาผัวเอาเมียหน่อย ...นี่ เชื้อเชิญแขกอีกต่างหาก แล้วก็เอา "มีลูก" เชื้อเชิญขึ้นมาอีกเอ้า อย่างนี้ แล้วไหนจะเพื่อนฝูง คนดี คนไม่ดี เหล่านั้น

พอว่าคนนั้นดี เลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดีให้มันหลับนอน อาศัยได้หลายคน เอื้ออาทรเมตตาสูง นั่น เกื้อกูล ...โอย พอลืมตาดูอีกที ทำไมลูกหลานกูยั้วเยี้ยเต็มบ้านเลยวะ 

แล้วพอฉุกใจจะไล่ ...ทีนี้พอจะไล่มันไม่ยอมไปง่ายๆ นะ ก็อาหารเพียบพร้อมสมบูรณ์ กูไม่ไปง่ายๆ หรอก ...มาไล่กู...กูสวนน่ะ เห็นมั้ย กว่าจะรู้ตัวได้ กว่ามันจะกินอาหารหมดแล้วมันจะยอมไป 

ซึ่งก็ต้องทนต่อการเรียกร้องของมันที่ว่า ขอกินหน่อย ขอกินอีกๆ สันดานของกิเลสน่ะ ก็ต้องทน ...จนมันอดอยากปากแห้ง รู้ว่าไม่ได้กินแน่เลย ...มันก็ไป 

เนี่ย เราจะต้องทนต่อการขอ การเรียกร้อง  เพราะว่าเราเลี้ยงมันดี เลี้ยงมันนาน มันก็ติดสอยห้อยตามไม่ยอมไป ...เหมือนกับแนบแน่นอยู่ในบ้าน ไม่ยอมไป 

ดูเหมือนไม่ใช่อาคันตุกะ ดูเหมือนมันจะแสดงเป็นเจ้าบ้านแล้ว คือแสดงเป็นเจ้าบ้านเมื่อไหร่มันมานั่งทับใจนะ เหมือนกับมานั่งทับประธานเลย 

ประธานก็เฉยไม่มีปากมีเสียง...ใจนี่นะ มีหน้าที่รู้อย่างเดียว ใครมาทำอะไรก็เฉย ...กิเลสมันเลยดูเหมือนเป็นประธานเป็นเจ้าของบ้านซะแล้ว แบบเจ้าของบ้านกำมะลอ

ศีลสมาธิปัญญาก็ต้องทำหน้าที่เชิญออกๆ ...เพื่ออะไร ...เพื่อหยั่งให้ถึงใจ ว่าใจจริงๆ อยู่นี่  ไม่ใช่ตัวที่มานั่งทับอยู่นี่นะ ไอ้ตัว "เรา" นี่ แล้วมาเป็นผู้ชี้นิ้วสั่งการ


นี่ที่พูดทั้งหมดก็คืออุปมาอุปไมย ...แล้วก็ไปพิจารณาดูว่า ศีลสมาธิปัญญาคืออะไร แล้วการภาวนาที่แท้จริง...ท่านให้ทำเพื่ออะไร แล้วก็ทำยังไง

ไม่ใช่ไปนั่งไล่ฆ่าไล่ฟันกิเลสนะ หรือว่าคอยที่จะปรับแต่งบ้านช่องให้มันไม่มีอะไร ว่างๆ เหมือนจะไม่ยินยอมรับแขกเลย...ไม่ได้น่ะ ตราบใดที่มีตาหูจมูกลิ้นกาย มันต้องสัมผัสทั้งที่ดีและไม่ดี ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ  

มันต้องมีความคิดของตัวเองเหมือนกัน มันก็มี...ทั้งที่ดั่งใจทั้งที่ไม่ดั่งใจ ทั้งที่ไม่ยอมเลิก ทั้งที่มันอยากคิดมันก็ไม่คิด ไอ้ที่ไม่อยากคิดมันก็จะคิด ...มันก็ต้องมีอาการพวกนี้ 

ให้มองเป็นเรื่องธรรมดา มันมาแล้วก็ไป มันมีแล้วก็หมดไป ...นี่ ดูไป ตั้งใจไว้ให้เป็นกลางๆ อยู่ที่รู้ๆ แล้วก็อยู่ที่บ้านคือกาย อย่าออกนอกบ้าน อย่าไปกับแขก อย่าใจอ่อน 

แบบแขกมากินเสร็จชวนว่า "ถ้าเธอไปกับฉันแล้วฉันจะไปหาที่กินดีกว่านี้ ที่บ้านหลังใหม่สวยกว่านี้" มันก็ชวนไอ้ห้อยไอ้โหนออกนอกไปเลย  ...เนี่ย โดนแขกหลอกแล้ว 

เพราะนั้นให้เข้าใจ  "อดทน"...เป็นคาถา ...ทนกับกิเลสตัวเอง ทนกับกิเลสผู้อื่น เท่าที่จะทนได้ ...แล้วให้สังเกตว่า ทำยังไงมันถึงจะทนได้นาน ...มันต้องมีที่ตั้ง เข้าใจมั้ย  

มันจะต้องมีฐาน...คือกายคือรู้ คือศีล คือสมาธิ ...ถ้าอยู่ที่ฐานอยู่ที่ตั้ง มีที่ตั้งดีแล้วนี่ จะรู้สึกหน้านี่หนาขึ้น ทนได้นานขึ้น ยิ่งกว่าแผ่นดิน หรือเหมือนกับผ้าขี้ริ้ว

เหมือนผ้าขี้ริ้วซับทุกอย่าง จะเลอะจะเหม็นขนาดไหน จะต้องรับได้หมดทุกอย่าง ...คือต้องมีฐานกายฐานรู้นี่ เหมือนกับเป็นที่รองรับของกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ โดยที่ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้

นึกถึงผ้าขี้ริ้วไว้ ทำจิตทำกายให้เหมือนผ้าขี้ริ้ว เป็นที่รองรับกิเลสของสามโลกธาตุ และก็กิเลสของตัวเองด้วย ...นั่นแหละ แก้ได้หมด 

แล้วผ้าขี้ริ้วนั่นมันจะเป็นที่ชะล้าง สิ่งสกปรกทั้งหลายให้สะอาดบริสุทธิ์ ...เสียงก็จะบริสุทธิ์ รูปก็จะบริสุทธิ์ ขันธ์ก็จะบริสุทธิ์ จากมลทินคือกิเลส

เอ้าเท่านี้ มีอะไรอีกมั้ย


โยม –  ได้ผ้าขี้ริ้วแล้วค่ะอาจารย์

พระอาจารย์ –  ไปฝึก ยังไงฟังซีดี ก็เหมือนกับฟังเรา ก็เสียงเรานั่นแหละ มันก็ไม่หนีจากเรื่องนี้หรอก  ...ถ้ามีโอกาสก็มา มันก็ได้กำลังใจไป


โยม –  โชคดีที่มีจังหวะพอดีค่ะ ไม่งั้นก็คงถูๆ ไถๆ ไป

พระอาจารย์ –  คิดอะไรไม่ออก...ทน  แก้อะไรไม่ได้...รู้ตัว ...จบ  อย่าให้มันคิดมาก อย่าให้มันหาไกล อย่าให้มันไปจมอยู่กับ "จะทำยังไงดีๆ" ...นั่นน่ะเพ้อเจ้อ 

ไม่มีวิธี ไม่ทำอะไร ...รู้สวนมันลงไป กายอยู่ไหน ทำความรู้ขึ้นมา ...รู้อะไร รู้ว่านั่ง ถามตัวเองทำอะไรอยู่ เดี๋ยวนี้กายกำลังทำอะไรอยู่  ถามไว้ “รู้ป่าว รู้มั้ยๆๆ เดี๋ยวนี้รู้มั้ย ไม่รู้ก็รู้ซะ”  

ถามตัวเองอย่างนี้ กายมันกำลังทำอะไร ...ท่ามกลางอารมณ์นั่นแหละ ท่ามกลางความสับสน ท่ามกลางความอลหม่านของจิตที่มันสะเปะสะปะนั่นแหละ ...สวนมันลงไป "รู้มั้ยทำอะไรอยู่...กาย" 

อย่าไปรู้จิตว่ามันกำลังคิดเรื่องอะไร มันจะมีที่จบเมื่อไหร่ แล้วมันจะจบยังไง อย่าไปคิดตรงนั้น ...ให้รู้ว่ากายกำลังทำอะไร สวนมันลงไป ฝ่าพายุมรสุมลงไป


โยม   (พูดถึงเรื่องพี่ที่เจ็บป่วย) ...ก็อยากพามากราบพระอาจารย์บ้าง ...แต่ก็ต้องแล้วแต่เขา

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องบีบบังคับ ...ตามเหตุตามปัจจัย


โยม –  เขาก็มีแนวของเขาด้วย หนูก็เลยแล้วแต่เขา เหมือนที่พระอาจารย์บอกน่ะค่ะ ...จริงๆ บางอย่างนี่ เหมือนเราเฉยดีกว่า

พระอาจารย์ –  อือ กลางๆ ไว้ นั่นแหละคือการช่วยที่ดีที่สุด ...ไม่ต้องไปสร้างความเห็น ให้ความเห็นที่ขัดแย้ง ด้วยเจตนาที่ดี แต่ว่ามันไปทิ้งความเห็นให้เขาเกิดความกังวล ก็เกิดความสงสัยและลังเล

แต่การที่เราสงบแล้วก็ปลอบใจกันไป แค่นี้ เออออไปให้เขาสบายใจ ทำยังไงก็ได้ให้สบายใจ ...แค่นั้นแหละช่วยแล้ว ให้เขามีความรู้สึกปราโมทย์ ยินดี เป็นบุญ แล้วก็ไม่คิดมาก ฟุ้งซ่านน้อยลง ...นี่ช่วยแล้ว

แต่ถ้าเราไปเมตตาเกินไป "ต้องทำจิตอย่างนั้นนะ ต้องภาวนาอย่างนี้นะ" นี่ มันเหมือนกับไปสร้างความเห็นหรือไปทิ้งเงื่อนใหม่ให้เขาเกิดความกังวล


โยม –  เพราะทำไม่ได้ เขาก็กังวล

พระอาจารย์ –  เออ หรือว่าเขาไม่เชื่อแบบนี้ เขาจะเชื่อตามแนวเขา เขาก็เกิดความขัดแย้ง ...กลายเป็นความเศร้าหมองในตัวของเขา ทั้งที่ว่าหวังดีนะ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นการสงบ เป็นกลาง แล้วก็เออออห่อหมก  แล้วก็คอยสังเกตด้วยปัญญาว่า พอรับได้แค่ไหน...ยื่นให้แค่นั้น  ความรู้ความเข้าใจเขาพอจะปรับได้ยังไง ...ก็ทีละนิดๆ โดยที่ว่าไม่ได้ไปจริงจัง

ตามลักษณะอาการนั้นๆ แล้วเขาจะรับได้ทีละเล็กๆ ...เล็กๆ ไม่ใช่คำใหญ่ทีเดียว ...เช่นกำลังฟุ้งซ่าน กำลังคิด ก็บอกว่า อย่าคิดมาก เฉยๆ กับมัน ไม่เป็นไรหรอกแค่นี้เอง อะไรอย่างนี้ 

นี่คือการสอนการอธิบายโดยที่ไม่ต้องบอกว่าต้องทำยังไง คือให้แก้  เวลากังวลเวลาอะไรก็ปลอบ อาการมันเป็นอย่างนี้เอง อะไรอย่างนี้ ให้เขาคลายออกๆ ...ก็เรียกว่าช่วย


โยม –  คงจะต้องกลางไว้หมดน่ะนะคะพระอาจารย์ หนูว่าในชีวิตคนเรานี่ ทุกคนมีของใครของมันจริงๆ หรือว่าแม้แต่ในครอบครัวอย่างนี้ค่ะ มันเฉยไว้ดีกว่า กลางๆ มีสติดีกว่า ...เมื่อไหร่เขาถามมาก็ค่อยอธิบาย ไม่งั้นจะปฏิฆะต่อกันแล้วก็หมองมากกว่า

พระอาจารย์ –  อือๆ  ถ้าอย่างนั้นน่ะไม่ต้องยุ่งเลย วางจิตเฉยๆ แล้วก็...เขาร้องขออะไร ช่วยได้เท่าไหนก็เท่านั้น ...เพราะว่าเรื่องจิตเรื่องภาวนานี่ เป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ มันเป็นเรื่องจำเพาะตนๆ 

มันไม่ใช่ลักษณะที่จะไปแผ่กระจายให้ใครได้ ถ้ายังไม่ถึงระดับนั้นจริงๆ ...มันต้องเป็นส่วนตัวจริงๆ ธรรมนี้เป็นจำเพาะตัวจริงๆ แล้วก็อาศัยธรรมจำเพาะตัวนี่ทำไปจนถึงที่สุด 

ขนาดว่าสุดท้ายท้ายสุดแล้ว ก็ไม่ได้ว่าจะแจกจ่ายได้ทุกคนไป ...มันรับไม่ได้ทุกคนหรอก มันมีกรรมปิดบัง วิบากปิดบังศีลสมาธิปัญญาที่ทำมาไม่ถึง เยอะแยะที่มันมีเหตุมาขวาง 

แต่...เอาตัวเองให้รอดก่อน


โยม – ใช่ค่ะ หนูก็คิดอย่างเดียวคือการงานอยู่ที่ตัวเรามากกว่า ต้องเอาตัวเราให้รอดก่อนค่ะ



................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น