วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 13/13


พระอาจารย์
13/13 (570222A)
22 กุมภาพันธ์ 2557


(หมายเหตุ : เป็นการสนทนาและสอนพระภิกษุ จึงใช้ว่า “ผู้ถาม” ค่ะ)

ผู้ถาม –  อาจารย์ครับ เวลาจะเข้าสมาบัตินี้ มันต้องกำหนดยังไงครับ

พระอาจารย์ –  คือในลักษณะอย่างนี้ ถ้าจะดำเนินในแนววิถีแห่งปัญญานี่ หรือว่ามรรคนี่ จะไม่พูดหรอก จะไม่สนใจเรื่องสมาบัติด้วย แล้วจะไม่ทำด้วยเจตนาด้วย เข้าใจมั้ย


ผู้ถาม –  ครับ

พระอาจารย์ –  เพราะว่าในหลักการดำเนินในองค์มรรคนี่ จะถือหลักของศีลสมาธิปัญญานี่เป็นหลัก เอาตัวศีลสมาธิปัญญานี่เป็นตัวหลัก 

เพราะฉะนั้น ในตัวศีลสมาธิปัญญานี่ จะไม่ได้พูดหรอก จะไม่ได้สนใจหรอกว่า จิตจะต้องเป็นสมาบัติหรือต้องอาศัยสมาบัติเป็นตัวช่วยในศีลสมาธิปัญญาเลย

แต่เมื่อท่านดำเนินไปบนเส้นทางของมรรคนี่ ด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญานี่  ในระหว่างที่ท่านเดินอยู่บนมรรค จิตหรือสภาวะจิตนี่ มันจะเกิดสภาวะที่เรียกว่าเป็นสมาบัติได้เป็นระยะๆ ไป

แล้วมันจะเข้าไปเรียนรู้...ความเป็นสมาบัติของจิตนี่ คือสภาวะอารมณ์หนึ่งในจิตนั่นเอง 

แต่ว่ามันเป็นการเข้า หรือเกิดสภาวะที่เป็นสมาบัติ...เพื่อให้เกิดการรู้และการเข้าใจ ...ไม่ได้ไปเห็นว่าจะต้องไปอาศัยมันเป็นที่พึ่งหรืออาศัยมันเป็นกำลัง

แต่มันเป็นการเรียนรู้เพื่อผ่าน ...ว่าลักษณะจิตเช่นนี้ เรียกว่าอย่างนี้ๆ คือลักษณะอารมณ์เป็นอย่างนี้ๆ มีความเกิดขึ้น มีความตั้งอยู่ มีความดับไป 

แล้วก็มีความละเอียดอย่างนี้ๆ เรียกว่าอยู่ในระดับสมาบัติอย่างนี้ๆ ...เรียกว่าถ้าเป็นภาษาโดยบัญญัติโดยสมมุติก็เรียกว่านี่คือสมาบัติ ๑ ๒ ๓ ๔ จน ๘ ...มันจะผ่านของมันอย่างนี้

แต่มันไม่ได้ว่า จะต้องเข้าสมาบัติ หรือว่าจะต้องให้ได้สมาบัติ หรือทำให้เกิดสมาบัติอะไร  

คือถ้าพูดอธิบายในแง่มุมนี้ มันไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปตั้งหน้าตั้งตาทำสมาบัติขึ้นมาให้ได้...ไม่ใช่อย่างนั้น …นี่คือถ้าในวิถีแห่งมรรคนะ

แต่ยังไงๆ มันก็ต้องเรียนรู้สมาบัติในตัวของมันเอง ที่มันจะต้องเกิดของมันเองเมื่อถึงสภาวะนั้น  

แต่ว่ามันเป็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เพื่อให้เห็นว่านี้คือสภาวะจิตหนึ่ง อารมณ์ในจิตหนึ่ง และอารมณ์ที่อยู่ในสมาบัตินี่...มันมีลักษณะอย่างไร

เรียนรู้เพื่อละ...ไม่ให้ติดและข้องมัน แค่นั้นเอง ...ไม่ใช่ว่าไปอาศัยหรือไปกินอยู่หลับนอนกับมัน

ถ้าอย่างที่ท่านถามว่าจะทำสมาบัติ หมายความว่าท่านทำขึ้นมาเพื่อจะเข้าไปกินอยู่หลับนอนกับมัน ใช่มั้ย


ผู้ถาม –  ครับ

พระอาจารย์ –  จะได้กินอิ่มนอนหลับ แล้วก็ได้ประโยชน์จากมัน  อย่างนี้เขาเรียกว่าอะไรรู้มั้ย ... ติดและข้อง ...หาเรื่องติด  อยู่ดีๆ ไม่ว่าดี 

นี่ อยู่ดีๆ ไม่ว่าดี นั่งอยู่เฉยๆ นี่ เข้าใจมั้ย จิตก็อยู่เป็นธรรมดาใช่มั้ย อยู่ดีไม่ว่าดีนี่ ...หือ เขาเรียกว่าหาเรื่องนะนี่ แกว่งตีนหาเสี้ยนไหม ใช่มั้ย

อยากได้ อยากมี อยากเป็นอะไรที่ยังไม่ได้ ยังไม่มี ยังไม่เป็น ...เนี่ย เขาเรียกว่าจิตมันชอบกระเสือกกระสนไป สู่จุดที่ยังไม่เกิด 

โดยมันเข้าใจว่า...เนี้ย ถ้าได้กินอยู่หลับนอน เหมือนกับเป็นนางงามจักรวาลเลย ใช่ไหม อยากได้ใช่มั้ย เหมือนกับผู้หญิงน่ะ ได้เมียหน้าตาขนาดนี้ ถ้าได้ระดับมิสยูนิเวอร์ส นี่...เออกูน่าจะมีความสุข ใช่มั้ย

นี่คือการให้ค่า เราตั้งค่ามันไว้อย่างนี้ แล้วก็ทุกคนพยายามให้ค่าว่า...นี่มันเป็นของดีนะ มันเป็นส่วนที่ ถ้าได้ถ้ามีแล้วจะไว จะเร็ว จะช่วย

ก็เกิดภาวะที่ว่าพยายามจะไปข้องแวะ หรือว่าหาเส้นสนกลในที่จะเข้าไปติดต่อกับมิสยูนิเวอร์สนี้ให้ได้ พยายามจะเข้าไปสู่จุดนั้น ...นี่เขาเรียกว่าแกว่งเท้าหาเสี้ยนนะเนี่ย ใช่มั้ย

อยู่ดีไม่ว่าดี ...นี่ จิตตรงนี้ จิตธรรมดานี่ ทำไมไม่ชอบล่ะ พระพุทธเจ้าบอกว่าพอแล้ว ตรงนี้เรียกว่า มรรค รู้ธรรมดา รู้กับนั่งธรรมดานี่ ไม่ได้ลึกซึ้งซับซ้อนอะไรเลย ไม่มีกำลัง ไม่มี power อะไรเลย 

มันเป็น normal ...ธรรมดา ระดับพื้นๆ เรียบๆ ธรรมดา ธรรมชาติ กลางๆ ...แค่นี้ ต้องการให้อยู่กับแค่นี้ แล้วก็รักษาตัวนี้ไม่ให้มัน สูง...High-Low...ต่ำ ให้มันกลางๆ ธรรมดา รู้ธรรมดาแค่นี้

ของมีอยู่แล้วไม่รักษา ความธรรมดาของรู้ธรรมดานี่ มันมีอยู่โดยปกติ โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ...แต่เรามองข้าม จะพยายามตะกุยตะกายไปให้มันเป็นสูงส่งยิ่งกว่านี้ อะไรอย่างนี้

นี่เขาเรียกว่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน ...หาเสี้ยนนะ ไม่ใช่ของดีนะ ไม่ใช่แก้วแหวนเงินทองนะ ...พระพุทธเจ้าบอกเหมือนเสี้ยนน่ะ  

ถ้าเดินไปดีๆ นี่ มันไม่มีเสี้ยนตำตีนนี่ เดินได้ ... แต่ถ้าเอาแกว่งเท้าไปหาเสี้ยนตำแล้วนี่...เจ็บนะ แล้วจะต้องเสียเวลาเยียวยาด้วยนะ

เพราะนั้นถ้าท่านถามผมนี่ ผมไม่ค่อยสนับสนุน แล้วผมไม่สนับสนุนเลยว่าจะเข้าสู่วิถีแห่งสมาบัติอย่างไร ด้วยวิธีการใด ...เพราะผมว่ามันไม่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

สำคัญว่าเดี๋ยวนี้ รู้มั้ย...ว่านั่ง ในขณะที่กายกำลังนั่งนี่ รู้มั้ย ... แล้วในระดับความแรง กำลังของรู้ที่ว่านั่งนี่ ไม่ต้องแรง ไม่ต้องอาศัย power แค่รู้ธรรมดาว่านั่ง แค่เนี้ย 

แล้วก็พยายามทรงรักษาสภาวะรู้ธรรมดากับกายที่มันนั่งอยู่ธรรมดา แล้วมันมีความรู้สึกแบบธรรมดาที่มันกำลังแสดงอยู่นี่

ผมบอกว่าการรักษาตัวรู้ธรรมดา กับการรักษากายธรรมดานี่ ยากยิ่งกว่าไปทำสมาบัติขึ้นมาอีก บอกให้ ยากยิ่งกว่าอีกนะ

บางท่านบางองค์นี่ ใช้เวลาทำตัวนี้ ทรงตัวนี้หลายภพหลายชาติ ...กว่าที่มันจะทรงสภาวะนี้ได้ด้วยความต่อเนื่อง

แต่ท่านกลับใช้เวลาไปหมกมุ่นอยู่กับอะไร ...ทั้งนั้นน่ะ จะไปหมกมุ่นค้นหาอะไร วิธีการอะไร การสร้างจิตอะไรที่มันยิ่งใหญ่อลังการ

สมาบัติ ...จะเข้าสมาบัตินี่ เข้าเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ไม่เข้า ... เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นของที่เคยทำมา มันเป็นความคุ้นเคยของคนที่เคยทำมาแต่เก่าก่อน  

เพราะนั้นจะมาบอก หรือชี้ทางให้ทำกับคนทั่วไปนี่ มันบอกไม่ได้ ...บอกได้มันก็ทำไม่ได้ เข้าใจมั้ย

เพราะมันไม่ใช่น่ะ มันไม่ใช่ความคุ้นเคยที่เคยทำมาแต่อดีตของเขา มันจะมาบอกว่าต้องนั่งอย่างนี้ ต้องวางจิตอย่างนี้แล้วจะได้ ...ถึงทำตามเลียนแบบตามมันก็ไม่ได้ 

เอ้า มันไม่เหมือนกันนี่ เข้าใจมั้ย ...มันไม่ใช่เป็น pattern หรือตำราเดียวกัน แล้วก็ทำเหมือนกันทุกคนแล้วก็จะได้ผลลัพธ์เดียวกันหมดทุกคน...ไม่ใช่

มันเป็นการฝึกฝนมาอย่างช่ำชองในอดีต แล้วมันคุ้นเคยในเส้นทางนี้ แค่นั้นเอง ...เพราะนั้นพอถึงคราวปุ๊บ จิตมันก็ลงตรงนั้น มันก็มุดเข้าตรงนั้นได้ เพราะว่ามันคุ้นเคยกับอารมณ์นั้น 

แต่ผมก็บอกแล้วว่ามันไม่มีสาระอะไร ...มันไม่ได้สาระในทางที่จะทำให้เกิดความรู้ความแจ้ง ความจริง ความชัดเจนในกองขันธ์ ในกองโลกเลยน่ะ

มันก็มีแต่ไปว่ายน้ำเล่นในบ่อน้ำเย็นๆ ที่ใสสะอาด ...แค่นั้นน่ะ  ก็ได้แค่นั้นน่ะ ออกจากบ่อเมื่อไหร่มันก็สดชื่นสบายกายสบายใจแล้วก็เดี๋ยวมันก็มีมลทินขึ้นมาอีก ...ก็แค่นั้นน่ะ 

แล้วพอจะล้างมลทิน ท่านก็ไปลงบ่ออีก แล้วขึ้นมาก็มีมลทินต่ออีก มันก็แค่นั้นน่ะ ...เข้าใจมั้ยว่า คำว่าสมาบัติจิตน่ะ หรือจิตที่เข้าไปอิ่มเอิบในสมาบัตินี่ มันไม่ได้ช่วยอะไร 

และมันกลับทำให้เกิดติดอยู่ในหล่มในบ่อนั้น...ที่เข้าใจว่ามันเป็นน้ำใสไหลเย็นและบริสุทธิ์ ไม่สกปรก แล้วก็ชำระสิ่งสกปรกที่มันแปดเปื้อนเนื้อตัวได้แค่นั้นเอง 

แต่ขึ้นมาเมื่อไหร่นะ มลทินก็ครอบเหมือนเดิม ...มันละ มันแก้อะไรไม่ได้ มันอาศัยเป็นกำลังอะไร ผมมองดูแล้วผมก็ยังไม่เข้าใจว่ามันจะเป็นกำลังยังไง

เพราะนั้นท่านถึงเรียกว่ามันเป็นโลกียฌาน สมาบัติจัดเป็นโลกียฌาน ... แล้วฌานนี่ มันมีสองลักษณะ ท่านเรียกว่า "โลกียฌาน" อย่างนึง  เรียกว่า "โลกุตรฌาน" อีกอย่างนึง  

ไอ้อย่างสมาบัติที่ท่านกำลังมุ่งทำกันอยู่นี่ แล้วไปเรียนรู้และพยายามจะทำ พยายามเข้าให้ถึงนี่ ...ล้วนแล้วแต่เรียกว่าเป็นโลกียฌาน

แต่ลักษณะที่ผมสอน ผมแนะทุกคนนี่...ว่าให้รู้อยู่กับตัว เพียรเพ่งอยู่กับตัว ตัวกายปัจจุบัน ตัวใจรู้ปัจจุบัน รู้ธรรมดาปัจจุบัน ...ไม่ให้มันคลาดเคลื่อน ไม่ให้มันหลุดจากว่า...กายกับรู้ รู้กับกาย 

ตรงนี้ก็คือฌานเหมือนกัน คืออาตาปี คือความเพียรเพ่ง ...แต่ว่าฌานนี้ ไม่ได้เรียกว่าเป็นโลกียฌาน

ฌานตัวนี้...การเพียรเพ่งอยู่ในกายเดียวนี่...เรียกว่าเป็นโลกุตรฌาน  ต่อไปมันจะเป็นโลกุตร ด้วยอำนาจของฌานตัวนี้ คือการเพียรเพ่งอยู่ในกายเดียว ด้วยจิตเดียว...คือจิตธรรมดาจิตรู้

และถ้าท่านเพียรอยู่ในฌานตัวนี้ไปเรื่อยๆ ท่านจะเรียนรู้สมาบัติ อยู่ในโลกุตรสมาบัติภายใน และท่านจะเข้าใจความหมายของคำว่าโลกียะหรือสมาบัติที่เป็นโลกียสมาบัติแต่ละขั้นแต่ละตอนเอง...ในจิต 

คืออารมณ์ของจิตที่มันมีความละเอียดประณีตขึ้นไปเรื่อยๆ นี่ ...แล้วท่านจะเข้าใจ หรืออาจจะไม่เข้าใจเลยก็ได้ แต่มันก็จะแสดงให้เห็นโดยตลอดนั่นแหละ ...ยังไงมันก็ต้องผ่านทุกสมาบัติ 

เพราะว่ามันคืออารมณ์หนึ่งในจิต...ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้มันถึงจะวาง ไม่เข้าไปติดข้อง แต่ว่าอาจจะรู้หรือไม่รู้ ...คือไอ้คำว่ารู้หรือไม่รู้นี่หมายความว่าไม่รู้ว่ามันเรียกว่าสมาบัติตัวไหน คือไม่มีภาษาลงไปกำกับได้

แต่จริงๆ มันก็คือเป็นอารมณ์สมาบัติหนึ่ง แต่ว่าจะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม ...ไอ้รู้ก็ตามไม่รู้ก็ตามคือบางทีมันก็ไม่รู้จะเอาสัญญาภาษามาเรียกมัน แต่ว่ามันก็คืออารมณ์ของสมาบัติอย่างที่ว่ากันนั่นเอง

แต่ว่ามันไม่ได้เข้าไปติดข้องอะไรเลย มันเรียนรู้เพื่อละ ...เหมือนกับว่ามันเดินไปบนเส้นทางแล้วก็มีบ่อน้ำใส แล้วก็ใสๆๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ว่ามันอยู่ข้างทางแล้วไม่แวะ ...แต่มันเห็นน่ะ แค่นั้นเอง 

จนสองข้างทางนี่ล้วนว่างเปล่านั่นแหละ ...แต่ก่อนที่มันจะถึงสองข้างทางที่ล้วนว่างเปล่านี่ ท่านจะต้องผ่านบ่อน้ำ ตั้งแต่บ่อน้ำขุ่น บ่อน้ำใส บ่อน้ำบริสุทธิ์ข้างๆ ทางนี่ ...ที่น่าลิ้มรส น่าลองเล่นอยู่ตลอด 

แต่ว่ามรรคนี่ ทางเดินนี่ มันจะชัดกว่า ก็จะไม่แวะเลย...มันเห็นอยู่แต่จะไม่แวะเลย ...พอมันไม่แวะเลย มันก็เริ่มเหมือนกับเป็นทะเลทราย ไม่มีทั้งบ่อน้ำ ไม่มีทั้งต้นไม้ ไม่มีทั้งสัตว์บุคคล

ไม่มีอะไรอยู่สองข้างทางเลย...ตลอดข้างหน้า มองไปไกลก็ไม่มีอะไรเลย ...นั่นแหละ ท่านจะเข้าสู่ภาวะนั้น ที่เรียกว่าจิตมันปราศจากหรือไร้ซึ่งความปรุงแต่ง

ถ้าจิตมันหยุดความปรุงแต่งหรือไม่มีความปรุงแต่งใดเลย  มันจะไม่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง...มาเป็นบ่อรองรับหรือบ่อที่เป็นที่เกิดเวทนาให้เราเข้าไปเสวย ...มันมีแต่ทางเดิน แล้วก็เดินไปบนทางนั้น เพราะว่ามันยังมีทางให้เดิน

ทำไม มันยังมีทางก็ต้องเดิน ...เพราะลึกๆ มันจะรู้เลยว่าในทางเดินนี้มันมีที่สุดของทาง มันจะเดินไปจนกว่าที่สุดของทางโดยไม่ข้องแวะแตะต้อง สิ่งละอันพันละน้อยซึ่งอยู่รอบข้างเลย

เพราะนั้นมันก็ผ่านไป...โดยที่มันจะไม่ต้องมาบัญญัติสมมุติภาษามากำกับ หรือรองรับว่านี่เรียกว่าสมาบัติที่ ๑ นี่เรียกว่าสมาบัติที่ ๒ บ่อนี้เรียกว่าสมาบัติที่ ๓ หรือ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘

พอไปเห็นบ่อสุดท้าย บ่อที่ ๘ สมาบัติ ๘ นี่ มันแทบจะเรียกว่าไม่เป็นบ่อเลยก็ได้ มันเป็นเหมือนสภาวะที่เนืองนองอยู่ ไม่มีอะไร เหมือนไม่มีอะไร...แต่มี  สมาบัติขั้นละเอียดสุด ที่ท่านเรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ตรงนั้นน่ะสมาบัติที่ ๘

แต่ในระหว่างที่ท่านเดินในมรรคนี่ จะไม่มีภาษามาบอกหรอก หรือมีไฟแดงแว้บๆ เหมือนกับป้ายถนนข้างทางว่าจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอะไรอย่างนี้ ...แต่ท่านก็จะเดินผ่านสภาพนี้ไปโดยที่ไม่แยแสเลย

เดินไปท่ามกลางมันนั่นแหละ มรรคน่ะจะวางอยู่ท่ามกลางมันนั่นแหละ ก็จะมีเส้นทางอยู่ท่ามกลางมันนั่นแหละ อย่างชัดเจนเลย ...แล้วมันก็จะเดินไปโดยที่ท่ามกลางอารมณ์นั้น สภาพนั้นน่ะ 

เหมือนมันล้อมอยู่ตรงนั้น แต่ว่าไม่ได้ไปจมแช่ ...แต่มันมีทางเดินอยู่ท่ามกลางตรงนั้น นั่นแหละมรรค เหนือกว่าอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง มันตัดขาด ตัดทะลุผ่านหมดเลย

แต่เมื่อใดที่ท่านไม่ทำมรรคให้แจ้ง ไม่ทำมรรคให้ปรากฏ นี่ ...ถ้าเจออะไร สภาวะไหนนี่ มันเหมือนกับเป็นสภาวะที่มาตัดรอนแล้วก็ขวางหน้าทางเดินนั้นเลย

ผลสุดท้ายเป็นไง ...ท่านก็มัวแต่ไปเล่น แล้วก็ไปไล่จับปลาตกปลาอยู่ในนั้นน่ะแหละ นั่นคือการที่ไม่ทำมรรคให้แจ้ง หรือว่าไม่สร้าง หรือไม่ภาวนาเข้าสู่องค์มรรค หรือว่ารู้ว่าเส้นทางมรรคคืออะไร

เพราะนั้นคำว่าทางนี่...ทาง ...ดูเอง ทางในโลกนี่ The way in the world นี่ มันสร้างด้วยอะไร อะไร reform อะไรมันเป็นองค์ประกอบของทางในโลกนี้ หิน ทราย ปูน มันถึงสร้างทางได้ใช่มั้ย 

นี่ทางโลก นี่ทางที่คนในโลกเขาเดินกัน รถวิ่งกัน ...อยู่ดีๆ มันจะไม่มีทางหรอกถ้าไม่อาศัยหินปูนทรายนี่สร้างทางขึ้น มันก็สร้างทางไม่ได้ รถก็วิ่งไม่ได้ คนก็เดินไม่ได้ มันก็เป็นที่รกร้างหรือว่าเป็นรกชัฏ

มรรคก็แปลว่าทางเหมือนกัน แต่ว่าเป็นทางเดินในมรรค เป็นเส้นทางของมรรค หรือว่าทางเดินของจิต มันก็เหมือนกับทางในโลกนี่ ที่มันจะต้องมีอุปกรณ์ที่จะสร้างเป็นถนนทางเดินในจิต ที่ว่าเป็นมรรคในจิต

เพราะนั้นไอ้ตัวอุปกรณ์ที่จะมาสร้าง มันก็คือศีลสมาธิปัญญานั่นแหละ...เป็นตัวสร้างทางหรือสร้างมรรคขึ้นมา ...ถ้าไม่มีศีลสมาธิปัญญา มันก็เหมือนกับถนนในโลกที่ไม่มีหินปูนทราย...มันก็สร้างทางขึ้นมาไม่ได้

เพราะนั้นถ้าท่านเจริญศีล สร้างศีล เจริญสมาธิ สร้างสมาธิ รักษาสมาธิ เจริญปัญญา สร้างปัญญา รักษาปัญญาไว้นี่ ...มันก็เหมือนกับมันเป็นการปูถนนน่ะ สร้างถนน ทีละเมตรๆๆ ไป 

มันก็ไม่ขัดสนเหมือนผู้รับเหมาที่ไม่มีเงินไปซื้ออุปกรณ์ มาทำ มันก็ทิ้งร้าง ...ก็เหมือนกับพวกพระ พวกท่านนี่ ที่เมื่อใดท่านหยุดการเจริญ รักษา พอกพูนศีลสมาธิปัญญา มัวแต่ไปทำอย่างอื่น

ทำอะไร ...ไปขุดสระ หือ ขุดสระ...สระที่จะเติมน้ำคือฌานสมาบัตินั่นแหละ ...แล้วมันจะเกิดทางมั้ย ก็มีแต่ขี้ดิน กองเลนเละเทะอย่างนั้น 

นี่ ขุดบ่อล่อปลา เข้าใจมั้ย  ตัวเองก็เป็นปลาน้อยปลาใหญ่เข้าไปเวียนว่ายในบ่อน้ำ

ทางอยู่ไหน แล้วเวลาที่ควรไปทำทางอยู่ไหน ...เวลาหมดไปกับการขุดบ่อขุดสระเพื่อจะให้ได้น้ำดีๆ ใสๆ ไว้อาบไว้ดื่มไว้กิน ...พอแล้ว สบายแล้ว แค่นี้เหรอ  

แล้วมันจะหลุดพ้นตรงไหนเล่า มันจะออกจากการเกิดได้อย่างไร มันจะหนีออกจากโลก หนีออกจากขันธ์ห้านี้ได้อย่างไร ...เพราะทางนี้เป็นทางที่หลุดพ้นจากขันธ์ห้า 

มรรคนี่...เป็นทางที่หลุดพ้นออกจากโลก ทั้งรูปโลก กามโลก อรูปโลก สามโลกเลยนะทางนี่  มันเป็นช่องทางที่ตัดออกนอกโลก เหนือโลก แล้วไม่กลับมาอยู่ในโลกนี้อีก ...มันเป็นทาง

ทางสำหรับคนในโลกนี่เป็นทางไปกับทางมา เข้าใจมั้ย แต่ทางของมรรคนี่มันตรงข้ามกัน คือมันเป็น One way ticket ไป...แต่ไม่กลับ ...ไปแล้วจะไม่หวนกลับ 

เขาเรียกว่าไปแล้วไปลับ ไปแล้วไปหลุด ไปแล้วไปพ้นเลย  นี่เขาเรียกว่าตีตั๋วเที่ยวเดียว One way ticket ...ไม่เหมือนทางในโลก ไปๆ มาๆ สวนกันไปสวนกันมา ไปแล้วเบื่อเบื่อแล้วกลับ ...นี่ทาง

เพราะนั้น หน้าที่ของท่าน ก็ต้องสร้างมรรค แล้วก็ใช้เวลาในการหาอุปกรณ์มาสร้างมรรค ...ไม่ใช่เอาอุปกรณ์นั้นน่ะไปขุดสระ

เข้าใจคำว่ามิจฉาสติมั้ย เข้าใจคำว่ามิจฉาสมาธิมั้ย เข้าใจคำว่ามิจฉาปัญญามั้ย ...นั่นแหละคือเอาอุปกรณ์เนี้ยคือศีลสมาธิปัญญา...แทนที่จะไปสร้างมรรคสร้างทาง...กลับไปขุดสระ

ท่านจึงเรียกว่าเป็นมิจฉาหรือโมหะสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาญาณะคือปัญญา มันเป็นมิจฉาหมด ...เพราะมันเป็นการสร้างเพื่อติดและข้อง 

มันไม่ได้เป็นไปเพื่อการสร้างทางที่เป็นไปเพื่อความหลุดและพ้น ซึ่งเรียกว่ามรรค ...ใช้ให้เป็นนะ ...ถ้าท่านนั่งสมาธิไม่เป็นนี่ ท่านก็ใช้เวลาระหว่างนั่งสมาธินี่ไปขุดบ่อล่อปลา 

แต่ถ้าท่านนั่งสมาธิเป็น ถ้าท่านเจริญสัมมาสมาธิอยู่ ลักษณะนี้ท่านกำลังสร้างองค์มรรค หรือสร้างทางดำเนินของจิตให้มันวิ่งอยู่ในกรอบของมรรค วิ่งอยู่ในเส้นทางของมรรค ไม่ออกนอกมรรค

ถ้ามันไม่มีกรอบของมรรค หรือกรอบของทางนี่ จิตนี่มันจะออกไปขุดบ่อล่อปลา หาแต่เรื่อง มีแต่เรื่อง ค้นแต่เรื่อง อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ดีๆ สุขๆ ...แต่ทุกข์ไม่เอา หนีทุกข์สุดลิ่มทิ่มประตู 

นี่คือหน้าที่ของจิตที่มันออกนอกมรรค มันจะไปแต่ในที่ที่มันว่าสุขๆๆ  เขาว่าที่ไหนดี ไป เขาว่าที่นั้นดียิ่งกว่า...ไป ตำราเล่มไหนว่า...ไป ตรงนั้นดี ตรงนี้ใช่ ตรงนู้นดีกว่า...ไป ...นี่น่ะ จิต

แต่ถ้ามันมีมรรคเป็นเส้นทาง จิตไม่ออกนอกมรรค จิตมันก็วิ่งไปตามครรลองของมรรค อันนี้สัมมา มันเป็นทางออก เป็นทางที่ไม่หวนคืน เป็นทางที่ไม่กลับมาข้องแวะเกาะเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง


(ต่อแทร็ก 13/14)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น