วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 13/42


พระอาจารย์
13/42 (570406F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
6 เมษายน 2557


พระอาจารย์ –  (พูดถึงโยมคนหนึ่ง) ...นี่มันมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่งคือจริงจัง ทุกคนมันจะไม่เหมือนกับมันหรอก อย่าไปคิดว่ามันจะทำให้ทุกคนเหมือนมันได้

โยม –  อยากตั้งตัวเป็นอาจารย์

พระอาจารย์ –  นั่น ไอ้เจตนาแหละดี ...แต่มะม่วงหึ่ม หรือดิบ หรือยังเป็นแค่เพิ่งติดขั้ว ...เรารู้รึยัง เราแน่ใจรึยังว่ามันจะสุก เพราะเรายังไม่รู้ ยังไม่แน่เลยว่าจะเป็นมะม่วง หรือลิ้นจี่...ที่เพิ่งลูกเท่าหัวไม้ขีด

แต่การเร่งรัดให้มันสุกงอมขึ้นมานี่ มันผิดวิสัยนะ มันยังไม่ถึงเวลานะ ...ซึ่งว่าตัวนี้ มันก็เป็นตัวที่จะสุกงอมได้เหมือนกัน เข้าใจมั้ย แต่ว่ามันยังไม่ใช่วาระ..ยังไม่ใช่วาระ

ถ้าไม่เข้าใจระบบหรือขั้นตอนที่แท้จริงของศีลสมาธิปัญญาแล้วนี่ ไปบังคับหรือไปกฎเกณฑ์หรือไปกะว่า มันต้องสุกวันนี้ วันนั้น เมื่อนั้นเมื่อนี้ ทั้งที่มันลูกเท่าหัวไม้ขีดนี่ ...มันเป็นไปไม่ได้

เนี่ย ที่เราบอกว่ามันต้องใช้เวลา มันต้องมีเวลาให้ศีลสมาธิปัญญาด้วย เป็นอินทรีย์ เป็นพละ เป็นตัวบ่มเพาะไปทีละเล็กทีละน้อย เพื่อความเติบใหญ่ เพื่อความตามเวลาอันควร

ทีนี้ เออถ้ามันเป็นลักษณะที่...คือประเภทหัวแดงก้นแดงแล้วนี่ บ่มได้ พอบ่มได้ เข้าใจมั้ย ตรงนี้เข้าบ่มได้ ใช้วิธีการบ่มหรือเด็ดมารอสุก ใช่มั้ย ไม่ปล่อยให้เน่า ยังไงก็ไม่ดิบ สุกแน่ๆ ได้กินแน่ เนี่ย คือเวลาอันควร 

ซึ่งเราบอกให้ว่า คนภายนอกนี่ไม่สามารถรู้ได้ ...แม้แต่ตัวเจ้าของเอง ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้...ในระดับที่ยังเท่าหัวไม้ขีดนี่ มันจะไม่รู้เลย

แต่มันจะวาดฝันไปก่อนแล้ว นี่ ลักษณะนี้จึงต้องอาศัยครูบาอาจารย์ที่คอยกำราบ หรือคอยชะลอ เพื่อความสุกงอมต่อไปในภายภาคหน้า ไม่เสียของ ...เห็นมั้ย ไม่เสียของนะ

ถ้าเสียของเมื่อไหร่ก็ บีบปุ๊บก็เละ แตกโป้ง เอ้า หมดไปหนึ่งชาติแล้ว ต้องรอให้มันมาติดดอกอีก มีน้ำมีฝน ไม่มีลมพายุพัด อุณหภูมิพอสมพอเหมาะ ติดดอก ติดผลเท่าหัวไม้ขีดใหม่

นั่นคือบ่มเพาะนะ บ่มเพาะ ศีลสมาธิปัญญาเป็นตัวบ่มเพาะ มันไม่ใช่ของที่ไปซื้อเอาในตลาดแล้วมานั่งกิน มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นของคนอื่น มันเป็นของที่เขาหลอกขาย ย้อมแมวขาย...ไม่ใช่

การเพาะปลูก มันเป็นผลไม้ในสวน คือกายใจ ขันธ์ห้าของตัวเอง เป็นที่ปลูกมะม่วงเงาะลำไยเอาไว้กิน แล้วก็เมื่อกินแล้ว มีเม็ดดีแล้ว แพร่พันธุ์ได้ ขจรขจายไป

ถ้าลำใยขอให้เป็นอีดอแล้วกัน จีนยังซื้อเลย แต่แห้วไม่ค่อยเอา ...เห็นมั้ย พันธุ์ดีเมื่อไหร่ก็ขายได้ราคา ใคร ตลาดก็ต้องการ ถ้าพันธุ์ไม่ดี ก็กินเองแล้วกัน


โยม –  ถ้าจะเป็นอย่างนั้นค่ะ

พระอาจารย์ – (หัวเราะ)


โยม (อีกคน) พระอาจารย์คะ ทำไมบางคนมีบุญได้เจอครูบาอาจารย์ แต่ฟังไม่รู้เรื่อง เอาไปทำผิด

พระอาจารย์ –  มันไม่ใช่มีแต่บุญ บาปมันก็มี เข้าใจมั้ย คนเรามันมีทั้งบุญและบาป มันก็ลิดรอนกันไปมา บุญมีแต่บาปมาบัง หรือบุญมีแต่ปัญญาไม่มี ทุกอย่างไม่พร้อม มันไม่พอดี มันไม่พอเหมาะพอเจาะกัน

เพราะนั้น รู้ตัวให้ได้..ท่ามกลางสิ่งที่ไม่ปรารถนา นั่นแหละคืองานที่ต้องทำ ...ไม่อยากอะไร ทำในสิ่งนั้น ไม่อยากเรียน..เรียน ...แล้วอยาก..อันไหนที่มันเป็นตามความอยาก ก็ไม่ทำตามความอยากอันนั้น 

ไม่อยากเรียน อยากบวช อยากอยู่คนเดียว...อย่าอยาก ...เรียนรู้  แล้วจะรู้ว่า มันจะมี “เรา” ตัวหนึ่งที่ไม่พอใจ ...นั่นแหละโคตรเหง้าของกิเลส 

แต่ถ้าไปตามความอยาก ถ้าไปตามความไม่อยาก ตัว "เรา" ไม่มีปรากฏขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจน เข้าใจมั้ย ...เสียงาน เสียมรรค ละมันไม่ได้ 

ถ้าไม่เห็นตัวมันจะละอะไรล่ะ ละลมเหรอ ละอะไรลมๆ แล้งๆ หรือ ...ไอ้ที่มันละกันไม่ได้ ละกันไม่ถึง ละกันไม่ได้ ละกันไม่ขาด ละกันไม่เป็น เพราะมันไม่เห็น “ตัวเรา” 

แล้วยังไงมันถึงจะเห็น “ตัวเรา” ได้ชัด ...เมื่อมันประสบสิ่งที่มันอยากแล้วมันไม่ได้ดังอยาก เมื่อมันประสบสิ่งที่มันไม่อยาก แล้วมันไม่สามารถทำตามไม่อยาก 

มันจะชูคออย่างนี้...“ตัวเรา” ...ไม่อยากเห็นก็ต้องเห็นล่ะวะ ไอ้ที่มันเคยหลบๆ ซ่อนๆ แล้วก็เป็นผู้ชี้นิ้วบงการโดยที่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ นี่มาให้เห็นแบบชัดๆ เลย

เพราะนั้นการทวนกระแสนั่นแหละ ทำให้ “เรา” นี่เป็นทุกข์ปรากฏอยู่ภายใน ...มรรคจึงเป็นตัวที่เข้าไปถึงเหตุ เข้าใจมั้ย มันจึงเห็นเหตุหรือสมุทัย ซึ่งมันชูคออยู่

ซึ่งธรรมดาตอนนี้จะไม่เห็นเลยว่ามีเราอย่างชัดเจนตรงไหน ...แต่ความเป็นเรานี่มันจะปรากฏชัดต่อเมื่อมันมีอารมณ์สุขทุกข์...ซึ่งส่วนมากจะเป็นทุกข์ สุขไม่ค่อยเจออ่ะ

สุขมันก็นอนเหมือนนารายณ์บรรทมสินธุ์ ดูเขาเล่นประโคมรำมหรสพ มโหรีไป แต่ถ้าเป็นอะไรที่มันไม่พอใจ เกิดความไม่ประสบดังที่ปรารถนาปึ้บนี่ ตัวมันจะดีดผึงขึ้นมา แสดงความก้าวร้าวดุดันชัดเจน 

นั่นแหละทุกข์เท่านั้นที่จะสอน ให้เห็นว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์...แล้วแก้ตรงจุดนั้น ...ไม่ใช่แก้ที่ภายนอก ไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลงสภาวะภายนอก 

แก้ที่ “เรา” แก้ที่นี้ แก้ที่ภายในขันธ์ แก้ที่ภายในเรา แก้ตรงที่ตัว “เรา” นั้นปรากฏ ...ถ้าตีก็ตีถูกหัว ไม่ถูกหาง ตีถูกหัวแล้วยังไม่ตายก็ตีมันซ้ำ ไม่ตาย..ซ้ำอีกๆ 

เอาจนมันตาย...ตายแล้วตายอีกๆ ตายแบบเขาเรียกว่า ตายแบบสิ้นซาก ...แต่ตายอย่างพวกเรานี่ ตายแล้วยังมีซาก ...ต้องตายแบบสิ้นแม้กระทั่งซาก นี่เขาเรียกว่าตายไม่เหลือ ไม่มีซากไว้ให้เห็นเลย 

ถ้ามีซากแล้วยังไม่แน่ใจ...เดี๋ยวมันฟื้น เพราะกิเลสนี่เหมือนพวกแมวเก้าชีวิต มันไม่ตายให้ต่อหน้าต่อตาง่ายๆ หรอก ...พอศีลสมาธิปัญญาเข้าไปมาก ข่มมัน บังคับมัน เข้าไปละมัน มันก็แกล้งทำตาย

แกล้งนะๆ แต่มันก็ดูเหมือนตายจริงๆ ...เดี๋ยวมึงเผลอเมื่อไหร่นะ กูก็ค่อยๆ ฟื้นขึ้น แอบฟื้น แอบฟื้นด้วยนะ ไม่โจ่งแจ้งนะ ฮื่อ ...เล่นกับกิเลส ไม่ใช่เล่นกันง่ายๆ นะ

ถึงบอกว่าอวิชชานี่ เป็นเจ้าใหญ่นายโต...สามโลกธาตุ อิทธิพลมันนี่ มากมายมหาศาลจริงๆ ...นิดนึงก็เอา หน่อยนึงมันก็เอา ความเป็น “เรา” นี่ ได้ทั้งนั้น ไม่เลือก

ความเป็น “เรา” นี่ไม่เลือกกาลเวลาสถานที่และบุคคลนะ ...แต่พวกเราน่ะ ศีลสมาธิปัญญากลับเลือกสถานที่และเวลานะ แต่ความเป็นเรา ความมีกิเลส ความมีอารมณ์ มันไม่เลือกกาลเวลาสถานที่เลย

แล้วเมื่อไหร่มันจะเท่าทันกัน เมื่อไหร่จึงจะชนะมัน ...ต้องรอเวลาให้ถึงอย่างนั้นก่อน ต้องรอให้อยู่ในสภาพอย่างนี้ก่อน...เมื่อไหร่มันจะทันล่ะ ...มันไม่มีเวลานะ ความเป็นเราสามารถเกิดได้ตลอดเวลาโดยไม่เลือกเลย

เพราะฉะนั้น ตัวที่จะชนะในระดับหนึ่งก็คือมหาสติ ...โดยไม่เลือก มีสติโดยไม่เลือก มีสมาธิโดยไม่เลือก ท่านเรียกว่าเป็นรัตตัญญู เป็นผู้ที่ไม่มีกาล เป็นผู้ไม่มีวันหลับ

นี่มหาสติ ผู้ที่เข้าถึงมหาสติ แล้วก็ทรงมหาสติได้ ท่านเรียกว่าเป็นผู้ที่ไม่หลับ ไม่มีกลางคืน อุปมาอุปไมยเป็นผู้ที่ไม่มีกลางคืนในจิตนั้น...ใจดวงนั้น จะตื่นรู้ตื่นเห็นอยู่ตลอด

ทีนี้กิเลสมันจะมาช่องไหนล่ะ มันจะออกช่องไหนล่ะ มันจะไปปฏิภาค ปฏิสัมพันธ์ จะไปสัปปยุทธ์กับรูปกับเสียงกับกลิ่นกับรสตรงไหนล่ะ ถ้ามันตื่นรู้ ตื่นโดยสภาวะที่ alert อยู่ตลอดอย่างนี้

กิเลสไม่ได้งอกงาม ไปไม่ไกล ไปก็...ปุ๊บ ตกแล้ว ...ถ้าเป็นลูกปืนก็เป็นลูกปืนที่ไม่มีแรงขับเคลื่อน คือไม่มีดินปืน ปุ๊บ ก็ตกอยู่ข้างหน้านั้น ไปทิ่มไปแทงไปฆ่าไปฟันใครไม่ได้

กิเลสมันก็เริ่มหมดกำลังๆๆ ศีลสมาธิปัญญาภายในก็มีกำลังมากขึ้น ...จนหมดกระสุน ก็เหลือแต่กระบอกปืนเปล่าๆ อย่างมากก็เอาไปขว้างหัวมัน แต่ทำอะไรใครไม่ตายหรอก

แน่ะ หมดแล้ว กิเลสมันหมดอำนาจ หมดพลัง มันหมดความผลักดันออกมาด้วยอำนาจของตัณหาและอุปาทาน มันก็ไม่ไปทำร้ายทำลายหรือเบียดเบียนใคร

พระอริยะท่านจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียน อนูปวาโน อนูปภาโต เป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียน ... คำว่าผู้ไม่เบียดเบียนในความหมายของอริยะก็คือ ไม่เบียดเบียนกระทั่งตั้งแต่กายวาจาใจ

ไม่ใช่ไม่เบียดเบียนด้วยกายหรือว่าวาจาเท่านั้น แม้กระทั่งด้วยใจก็ไม่มีคำว่าเบียดเบียนผู้อื่น ...คำว่าผู้อื่นนี่หมายรวมวัตถุที่ไม่มีวิญญาณครองด้วย

เห็นมั้ยว่า ความบริสุทธิ์ของศีลนี่ เป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียนคือไม่เบียดเบียนจริงๆ ...จิตนี่จะดำรงสภาพรู้เห็นอย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ไม่ได้ไปข้องแวะเกาะเกี่ยวเบียดเบียน แม้กระทั่งข้าวของวัตถุธาตุ บุคคล

แม้แต่ชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ชิ้นเล็ก อย่างละเอียด อย่างประณีต อย่างสุดละเอียด สุดประณีต ...ก็ไม่ออกไปด้วยความเบียดเบียนแต่ประการใด คงอยู่ในสภาพรู้สภาพเห็นด้วยความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์

จึงเป็นผู้ทรงความบริบูรณ์ด้วยศีลสมาธิปัญญาอย่างยิ่งยวด...อริยะ การเข้าถึงความเป็นอริยะ การรักษา การเดินในมรรคอย่างยิ่งยวด จะเข้าไปสู่ความเต็มเปี่ยมของศีลสมาธิปัญญาโดยสมบูรณ์

กิเลสไม่มีที่ให้อยู่แล้ว ถูกกวาดล้างไปหมด ...แล้วกวาดล้างแบบสิ้นซากด้วย ไม่มีไปตกค้างอยู่ที่ไหนเป็นสัญญาที่จะรอวันผุดขึ้นมาใหม่เหมือนดอกเห็ด

เพราะนั้น ใจเย็นๆ ร่มๆ เย็นๆ ภาวนาไป ใช้ชีวิตไป เรียนรู้ไปทั้งทางโลก ทางธรรมก็เน้นหนักเข้าบ่อยๆ ...ก็ดีแล้ว จิตมันใฝ่มาทางนี้มาก ดีแล้ว แต่อย่าทิ้ง อย่าเพิ่งทิ้งโลก อย่าเพิ่งขาดจากโลก

ยังขาดไม่จริง แล้วมันจะหวน ยังมีโอกาสหวน ...อย่าไปคิดว่ามันจะไม่หวน อย่าไปไว้ใจกิเลส อย่าเพิ่งไปเชื่อว่า ศีลสมาธิปัญญาเราดีพอแล้ว ...ยัง ยังถือว่า ยังอ่อนอยู่

ค่อยๆ สะสมๆ ให้มันมั่นใจยิ่งกว่านี้ หลายปี ...นาดเราบวชนี่ ยังต้องหลายปี เรียกว่าภาวนาเป็นอาชีพหลัก ไม่ใช่งานรองแล้วนะ ยังต้องหลายปี กว่าที่มันจะยืดแข้งยืดขาทรงเนื้อทรงตัวได้

เรียกว่าไม่ป้อแป้ล้มลุกคลุกคลาน หรือกว่ากลิ้งเกลือกเถือกไถอยู่กับพื้นดิน ...นี่ กว่าจะยืนหยัดขึ้น ทรงตัวขึ้นยืนด้วยลำแข้งขึ้น ใช้เวลาเป็นหลายๆ ปี

แล้วจากนั้นก็เริ่มหัดเดิน  เมื่อเดินคล่อง จึงเริ่มวิ่ง  เมื่อวิ่งแล้วก็เรียกว่า สุดฝีตีนแล้ว  เห็นมั้ย มันมีไปตามขั้นตามลำดับ ...แต่ไอ้ลำดับที่จะยืนขึ้นนี่ เนี่ย ยากที่สุดๆ

เลือดตาแทบกระเด็น กว่าที่มันจะยืนอยู่ในมรรค ยืนอยู่ด้วยศีล ยืนอยู่ด้วยกำลังของสมาธิ ยืนอยู่ด้วยกำลังของปัญญา...ยาก มันจะต้องต่อสู้กับกิเลสทั้งหลาย

ภาษาสมัยนี้เขาเรียกว่า มวลมหาประชาชน มากมายเหลือเกิน ทั้งของตัวเอง แล้วก็ของคนอื่นด้วยนะ ไม่ใช่ของตัวเองถ่ายเดียวนะ ...ก็ต้องเรียกว่ากิเลสมวลมหาประชาชน

กว่าที่มันจะยืนแล้วก็ฝ่าฟันไปท่ามกลางมรสุมคลื่นลม ดงกิเลสทั้งนั้น จึงค่อยเดินได้เตาะแตะๆ ...ถ้ายืนไม่ได้ก็เดินไม่ได้  แล้วก็เดินได้แรกๆ ก็ไม่สามารถวิ่งได้ เพราะถ้าวิ่งน่ะล้มแน่

ก็ค่อยๆ เตาะแตะๆ ...ทุกอย่างมันจะเป็นแบบเรียบง่ายสมดุล ไม่ฮวบฮาบ กระโชกกระชาก เดี๋ยวเครื่องน็อค น็อคเมื่อไหร่ก็โอเวอร์โหลด ถ้าโอเวอร์โหลดแล้วก็เครื่องจะพัง

เดี๋ยวจะไปโดดตึก เดี๋ยวจะไป “ไม่เอาแล้ว ธรรมไม่มีจริง ศีลไม่มีจริง” ...วิปลาสเยอะ เยอะแยะ ขนาดเป็นพระ ที่เราเคยเล่าให้ฟังว่าเอามีดปาดคอ ก็ยังมี ...นี่ เข้มข้นเกินไป

เนี่ย อานิสงส์ของเรานี่ ที่พากเพียรนะ กระเพาะนี่ทะลุ ผ่ามา...อดข้าว ไม่รู้จะอดไปทำไม ...เนี่ย ผล ก็รับอานิสงส์ไป 

คือตอนนั้นก็นึกว่าเนี่ย สงเคราะห์ในธรรม สงเคราะห์ต่อมรรค สงเคราะห์ต่อศีลสมาธิปัญญา ...มันไม่สงเคราะห์โดยตรง มันโดยอ้อม แต่เข้าใจว่ามันเป็นหลักโดยตรงแค่นั้นเอง จึงรับอานิสงส์ไป เกือบตายน่ะ

แต่มาตายตอนนี้ก็ไม่มีปัญหา ก็คุ้มล่ะวะ ไม่กลัวตาย ไม่เสียดายความตาย ไม่เสียดายว่ามันจะตายตอนไหน ...ถ้ามันได้ถึงมรรคถึงใจ มันจะไม่เสียดายความตายเลย

ต่อให้ตายตรงนี้ ลุกขึ้นแล้วก็ตายเลย นี่ สามารถยอมรับกับความตายได้ด้วยความสมบูรณ์ แต่ถ้าพวกเรา ให้ตายตอนนี้...“อ๊ะ ยังไงๆ อยู่โว้ย”

ไอ้นั่นก็ยังค้าง ไอ้นี่ก็ยังไม่ถึง นิพพานก็ยังไม่แจ้ง ศีลอยู่ที่ไหนกูยังไม่แน่ใจเลย ...นี่ยังไม่ถึงพร้อม ความตายมาถึงซะก่อน ก็เลยตายแบบ...ตายตาไม่หลับ มันติดค้างข้องคาอยู่

แต่ให้เราตายตอนนี้ก็ตาย ตายดีตายร้าย ตายบนตายล่าง ตายบนฟ้า ตายในน้ำ ตายบนถนน ตายบนอากาศ ตายบนเตียง ก็ตายไปเถอะ ไม่ว่ากัน


โยม –  อย่าเพิ่งเจ้าค่ะ นิมนต์อยู่ก่อน

พระอาจารย์ –  ความตาย แต่ว่าทำยังไงถึงจะให้มันยอมรับกับความตายได้โดยที่ไม่ติดข้อง ทั้งทางโลกและในธรรม แค่นั้นเอง


โยม –  อย่างนั้นก็ให้แกเรียนรู้ไปก่อนนะคะ จนกว่าแกจะยอมรับ แล้วก็จนถึงความเป็นกลาง

พระอาจารย์ –  อือๆๆ คือเป็นเด็กนี่มันจะมองเวลาว่า โห นาน ช้า ...เท่าไหร่ สี่ปีห้าปีแค่นั้นเอง แป๊บเดียว โธ่เอ๊ย แล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้หายไปไหนเลย เวลาสี่ห้าปีนี่

แต่ว่ามันจะได้อะไรเยอะเลย ในการที่ต้องไปทนกับสิ่งที่ทนได้ยาก พออายุสักสี่สิบห้าสิบ ใกล้จะหกสิบแบบเราแล้วจะเห็นว่า หูย วันๆ หนึ่งมันไวจัง ปีสองปีสามปี อีกแระ

นี่เพิ่งปีใหม่แหม็บๆ จะสงกรานต์อีกแล้ว แป๊บเดียวเอง ไวปานกามนิตหนุ่ม เขาว่าอย่างงั้นเพราะนั้นแค่สี่ห้าปีอย่าคิดว่ามัน โหยนาน ...แป๊บเดียว


โยม –  อย่างนั้นโยมก็ขอกราบลาพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  อือ ไป ภาวนาไป ค่อยๆ เป็นไป แล้วมันจะมั่นคงกว่านี้


(ต่อแทร็ก 13/43)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น