วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 13/41


พระอาจารย์
13/41 (570406E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
6 เมษายน 2557


พระอาจารย์ –  ถนนลาดยางที่เห็นนี่ เรานี่มากินนอนกับถนนนี่สามเดือน หลวงปู่ให้มา เช้าขึ้นก็นั่งรถบด รถบดจอดที่ลานจอดรถนี่ ก็เกาะติดรถบดออกมา เย็นก็กลับมาพร้อมกับรถไถรถเกรด

อยู่อย่างนี้ ทำถนนอยู่อย่างนี้ ...ถ้ามองภาพ ภาวนาอะไร จะเอาเวลาที่ไหนไปภาวนา ขนาดที่เรียกว่า หลวงปู่บอกว่า ไม่ต้องมาฉัน เดี๋ยวจัดปิ่นโตไปให้ ไปกินเอาข้างทางนั่นแหละ (หัวเราะ)

เหล่านี้ มันไม่ได้ดูเป็นแพทเทิร์นหรือแบบฟอร์มของการภาวนาเลย มันกลับอยู่ด้วยการคละเคล้ากับทุกข์ ทั้งของตัวเองแล้วก็ของผู้อื่น ทุกข์ของกิเลสผู้อื่น มันจะต้องอยู่กับกิเลสคน

แล้วเราเป็นลักษณะที่ปฏิเสธต่อกิเลสของคนอยู่แล้ว...ซึ่งขัดใจๆๆ ขัดใจมากๆ ...ที่กูมาบวชนี่ กูไม่อยากเจอคนนั่นน่ะ ใช่ป่าว ไม่อยากเจอกิเลสของคน ไม่อยากเจอความเซ้าซี้ของคน

ไม่อยากเจอการมาเยิ่นเย้อไม่เลิก อะไรอย่างนี้ พูดไม่ฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง แกล้งทำเป็นไม่รู้เรื่อง อะไรอย่างนี้ แล้วต้องไปรองรับอารมณ์กับไอ้พวกนี้ ...สุดท้ายก็หนีไม่พ้น

หลวงปู่ก็ส่งมาอยู่กับสภาวะที่ต้องรองรับอารมณ์ของสัตว์โลกน่ะ ในสิ่งที่ทนได้ยาก ...แล้วท่านไม่ให้หนีอ่ะ คือตั้งแต่บวชมาวัดนี่ วันแรกหลวงปู่ท่านเห็นหน้าก็บอก...อยู่นี่ ไม่ให้ไปไหน ถ้าดอยเชียงดาวไม่แตก ไม่ต้องไป

คือมานี่จับขังคุกเลย วันแรกมา...นี่วันแรกเลย ไม่เคยเจอหน้าท่านมาก่อน ...แล้วก็ทุกข์จริงๆ น่ะ ตลอดเวลานี่ทุกข์ตลอดเลย เรียนรู้อยู่กับทุกข์ตลอดเลย แต่ไม่หนี

แล้วเรากับหลวงปู่นี่ หมายความว่าเราเคารพท่านมาก เคารพในขนาดที่ว่า ท่านว่าไงว่างั้นน่ะ สั่งยังไงก็อย่างงั้นน่ะ เรียกว่าครับ ขอรับ ครับๆ  คือไม่มีคำว่า “ไม่ครับ” เลย...ครับอย่างเดียว

เนี่ย หน้าด้านหน้าทน ทั้งๆ ที่ว่าใจจริงๆ ลึกๆ นี่ ปฏิเสธหมดเลยกับการข้องแวะ  เพราะอะไร...เพราะเรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับการภาวนาอย่างยิ่ง ..นี่ตามประสาโง่ๆ

กว่าที่มันจะมาปรับจูนอยู่ในคลื่นเดียวกันกับธรรมชาติ ธรรมดาโลก กับธรรมดาขันธ์ กับธรรมดารู้ กับธรรมดาในความเป็นไปของทุกสรรพสิ่ง

มารวมอยู่ในคลื่นเดียวกัน ร่องเดียวกัน มรรคเดียวกัน เสมอกัน เท่ากัน ...มาเรียนรู้อย่างนี้ ไม่ใช่ไปเรียนรู้ในทางจงกรม ที่ภาวนาคนเดียว มันจึงจะมาจับคลื่นเดียวกันของทุกสิ่งทุกอย่าง

แล้วมันจะมีร่องอยู่ร่องหนึ่งตรงนั้น ซึ่งสามารถดำรงคงอยู่ท่ามกลางทุกสิ่งทุกสภาวะ ...นั่นแหละมรรคที่แท้จริง นั่นแหละมัชฌิมาปฏิปทา...ท่ามกลางดงกิเลสนั่นน่ะ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนคาดไม่ได้ของโลก...มันจะต้องไปเจอมรรค รู้จักมรรค แล้วก็ทรงมรรคให้ได้อยู่ตรงนั้นจริงๆ เสียก่อน ...เรียกว่าปากทาง นี่แค่ปากทาง

ทีนี้พอมันเข้าใจถึงจุดนี้แล้วนี่ ทีนี้การภาวนาโดยส่วนตัว มันไม่ได้เป็นไปแบบโง่เขลาแล้ว ...เพราะนั้น ช่วงเวลาที่หลวงปู่ท่านไม่อยู่ ไปนิมนต์ บางทีก็ไปทีเป็นเดือน เราก็ฝากวัดไว้กับพระ

แล้วก็ไปอยู่ตามร่องหลืบถ้ำคนเดียว ไปทำความรู้ความเห็นภายในเงียบๆ  ใกล้เวลาหลวงปู่กลับเราก็ชิงกลับมาก่อน มารับหน้า ...เริ่มฉลาดแล้ว เริ่มฉลาดขึ้น

เหล่านี้ เรียนรู้เอาเอง หาเก็บเอาอย่างนี้ ความรู้ในธรรม ความรู้ในขันธ์ ความรู้ส่วนตัว ...แต่อยู่ในร่องเดียวกัน อยู่ในร่องของมัชฌิมา

เพราะนั้นถ้าไปอยู่คนเดียวก็ทำได้เต็มที่ภายใน มาอยู่ข้างนอกก็ดำรงคงไว้ในองค์มรรคด้วยความเป็นกลาง แต่ไม่แจ้งในขันธ์โดยสมบูรณ์ แค่นั้นเอง

ทุกอย่างก็ค่อยๆ เป็นไป หนุนเนื่องกันไป  มรรคก็หนุนเนื่องไป ศีลสมาธิปัญญาก็หนุนเนื่อง ไม่มีคำว่าขาดตกหล่นหาย มหาสติปัฏฐานก็พอกพูนขึ้นๆ ท่ามกลางการไม่เลือกอะไร อย่างไร

มหาสติปัฏฐานก็เกิดได้ ท่ามกลางกิเลส ท่ามกลางโลก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ของบุคคล ...มันเริ่มเป็นเส้นคู่ขนานที่ไม่ยอมบรรจบกัน

มรรคนี่เริ่มเป็นเส้นคู่ขนานกับโลก ...มันเริ่มดีดออก ไม่บรรจบกับโลก ไม่บรรจบกับขันธ์แล้ว มันลอยตัว...คล้ายๆ กับมันลอยตัว

ซึ่งตอนแรกมรรคน่ะมันอยู่ในเส้นทางของโลก เส้นทางของขันธ์  แล้วมันก็ค่อยๆ ดีดตัวของมันออก  ...ไม่แก้ไม่หนี แรกๆ ทนอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ทนไปทำไม

แต่คราวนี้ว่ามันมีกฎเกณฑ์ของเราอยู่ว่า เราเคารพครูบาอาจารย์ เราไม่หนีครูบาอาจารย์ แค่นั้นเอง ...ตัวนี้เป็นเหมือนขอบขันธสีมาที่กั้นไว้ไม่ให้มันไปสำนักใหม่ อาจารย์อื่น

นี่คือความผูกพันแต่เก่าก่อนในอดีต เคยเป็นครูอาจารย์ลูกศิษย์กันมานาน มันคุ้นเคยกัน มันเข้าขากัน ...มีอาจารย์องค์เดียว ไม่มีสอง  แล้วก็ภาวนาหน้าเดียว ไม่มีหลายวิธี

เพราะฟังแต่เทศน์หลวงปู่ ...ซึ่งแรกๆ ฟังแล้วก็งง เพราะฟังท่านเทศน์ไม่รู้เรื่อง คือท่านเทศน์รวม หลากหลาย วันนี้เทศน์เรื่องตาย พรุ่งนี้เทศน์เรื่องกระดูก มะรืนนี้เทศน์เรื่องพุทธกิจห้าประการ

มะเรื่องนี้เทศน์เรื่องพุทโธ ลมหายใจเข้าออก วันต่อไปเทศน์เรื่องสติปัฏฐาน ...แล้วกูจะภาวนาอะไร อีกวันก็พูดเรื่องดวงจิตผู้รู้ เห็นมั้ย งง ในอุบายธรรม

แล้วก็เข้าไม่ถึงหลักธรรม ฟังแบบทัพพีกับน้ำแกง ไม่ได้รับรสชาติอะไรหรอก ...แต่ก็ทู่ซี้ทำไป ถ้าว่าวันไหนพูดเรื่องความตาย กูก็ไปพิจารณาความตายล่ะวะ

วันไหนพูดเรื่องลมหายใจ ก็ไปพิจารณาลมหายใจเข้าออก พุทโธ  วันไหนพูดเรื่องอัฐิกัง กระดูกสามร้อยท่อน กูก็ไปนั่งเพ่งกระดูก ทำไปสะเปะสะปะน่ะ

แต่มันก็ไม่มีความมั่นใจแน่ใจวิธีการไหนเป็นวิธีการของเรา...ของเรานะ ไม่ใช่ของมรรคนะ ...ซึ่งตอนนั้นน่ะมันแยกแยะอะไรไม่ออกเลย

แล้วความห่างกันระหว่างครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์นี่สูง อายุก็ห่างมาก เราก็เด็ก ภูมิธรรมท่านก็ระดับอรหันต์นะ ...เพราะนั้นการไปพูดการไปถามแบบที่พวกโยมมาถามกับเรา หรือคุยกับเรานี่ ไม่มีหรอก

มันเป็นระดับคนละระดับ ด้วยความนอบน้อมอย่างยิ่ง ...แล้วหลวงปู่ท่านไม่ใช่คนช่างพูดช่างตอบ ไม่มีคำว่าสอนธรรมส่วนตัว ไม่มีคำว่าตอบให้กระจ่าง มีแต่พูดให้งงขึ้น อะไรอย่างนี้

เห็นมั้ยว่าการเรียนรู้ธรรมไม่ใช่ของง่ายนะ กว่าจะตั้งหลักตั้งฐาน กว่าจะจับหลักจับฐานได้น่ะ ถูลู่ถูกังนะ ...แต่มีอยู่อย่างหนึ่งคือไม่ถอย ไม่ท้อ ไม่หยุดทำ ไม่หยุดภาวนา

ทุกอย่างเอาหมด ถ้าท่านเทศน์บทไหนบาทไหนก็เอาหมด เอาเป็นพักๆ หนึ่ง พอไม่ได้ ดูเหมือนไม่ได้ผลก็เปลี่ยน ...โดยไม่เข้าใจหรอกว่าท่านจะให้ทำอะไรกันแน่เป็นหลัก

(บอกกับโยม) เพราะนั้นน่ะ เรียนไปก่อน ...เสาร์อาทิตย์มีวันหยุด เข้าใจมั้ย ตรงนั้นน่ะใช้เวลาให้เต็มที่ ไปอยู่กับพ่อ ก็แข่งกันรู้ตัวเงียบๆ ...แล้วก็มาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย

มันจะต้องเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ควบคู่กันไป ...แล้วมรรคจึงจะแข็งแกร่ง เป็นที่ไว้ใจได้จริงๆ เป็นที่ฝากผีฝากไข้ได้จริงๆ

ถ้ามรรคมันแข็งแกร่งแล้วนี่ หรือว่าทางเดินของศีลสมาธิปัญญามันชัดเจนจริงๆ แล้วนี่ ...มันไม่กลัวแล้ว มันไม่มีคำว่าเสื่อม มันไม่มีคำว่าถอย

มันไม่มีคำว่าเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย มันไม่มีคำว่าชักเข้าชักออก มันไม่มีคำว่าจะล้มเลิกแล้วจะเสียดายในการล้มเลิกหรือไม่ทำ ...ไม่มี ถ้ามรรคมันชัดเจนจริงๆ

แต่ในระดับอย่างนี้ มรรคเรายังไม่ชัดเจน สภาวะที่รู้สภาวะที่เห็นมันเป็นเพียงแค่แย็บๆ เข้ามาเท่านั้น อย่าเพิ่งตายใจ อย่าเพิ่งมั่นใจ ว่ามันจะดำรงคงอยู่จนเป็นถึงระดับมหาสติ มหาสมาธิ มหาปัญญา

เราถึงบอกว่า อินทรีย์ของที่เราบ่มมาทำมานี่ ไม่ใช่เล็กน้อย ...ไม่ต้องพูดถึงอดีตนะ พูดถึงชาติปัจจุบันนี่ระหว่างบำเพ็ญเป็นนักบวช ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก ทนในสิ่งที่ทนได้ยากได้มาก

ทนจนเรียกว่าเกินกว่าคนจะทนได้ คนทั่วไปน่ะ ในการที่จะต้องมาเจอกับอารมณ์ เจอกับเจ้าแม่แห่งถ้ำ ...ไม่ใช่อย่างที่เราคิดเลย แล้วไม่คิดว่ามันจะมีคนอย่างนี้ในโลกด้วย 

บอกให้เลย เป็นอะไรที่ทนได้ยากที่สุดจริงๆ สามารถทำให้ขาวเป็นดำ ผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด แล้วยังมีหลวงปู่รับรองอีกต่างหาก บอกให้เลย ทนหมดน่ะ

แล้วเราต้องไปอยู่ในสภาพที่จะต้องเป็นหนังหน้าไฟน่ะ ทางพระก็มาลงกับเรา ไอ้ทางโยมนี่ก็มาลงกับเรา ...คือเป็นตัว communication ระหว่างพระกับหลวงปู่ ระหว่างพระกับโยม

ไอ้ทางพระก็ต่อรองมาอย่างนี้ ให้ไปต่อรองกับโยมให้หน่อย  ไอ้ทางโยมก็ต่อรองมาอย่างนี้เพื่อให้พระมาทำงานให้หน่อย แล้วหลวงปู่ก็สั่งมาอย่างนี้

ซึ่งแต่ละสามองค์ประกอบนี่ มันคนละเจตนากันเลย...อย่างเงี้ย อยู่ในสภาพอย่างเนี้ย กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่อย่างนี้ แล้วทุกคนก็...“ฝากไว้กับท่านนั่นแหละ” อะไรก็ฝากไว้กับท่านนั่นแหละ ช่วยด้วย

เวลาโยมจะเอาอะไร ไปบอกหลวงปู่ หลวงปู่ก็บอกว่า ไปถามกับเรา โยมก็บอกว่า จะทำได้เหรอ หลวงปู่ก็บอก มันทำได้ๆ ...แต่ได้แบบกล้ำกลืน แบกรับ เป็นหนังหน้าไฟ

แล้วก็เป็นทั้งมือทั้งเท้าให้ท่าน แทนท่าน อย่างเนี้ย จิตนี่มันไม่สามารถ ที่จะดำรงคงอยู่ ...เหล่านี้คือการอบรมอินทรีย์ทั้งหมดเลย ไม่มีผลการภาวนาใดๆ ปรากฏขึ้นมา ในระหว่างนั้น

แล้วต้องทนอยู่กับสภาพนี้ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทุกข์ หนีเสือปะจระเข้จริงๆ ...นึกเลยนะ ตอนที่ลาออกจากงานแล้วบวชนี่ ฝันเลยนะ ตัดคอ...กูคงสำเร็จ นึกว่าจะรวดๆๆๆ

มันไม่รวดน่ะ มันมีแต่อะไรก็ไม่รู้  ยังนึกในใจ นิมิตกูหลอกอีกแล้วๆ ...นี่ หลายอย่างที่จะต้องเรียนรู้ ที่จะเป็นการอบรม ทุกข์นี่จะเป็นตัวบ่มอินทรีย์ ทุกข์อุปาทาน ทุกข์ของเรา

จนกว่ามันจะชัดเจนชัดแจ้งว่า ทุกข์ที่แท้จริงน่ะมันอยู่ที่ไหน เหตุของทุกข์ที่แท้จริงคืออะไร อะไรเป็นต้นเหตุของทุกข์ ...นั่นคือ “เรา”

ถ้ามันไม่ซ้ำๆๆๆ เป็นทุกข์ซ้ำซากจริงๆ นี่ ทั้งภาคบังคับ ทั้งภาคไม่เจตนานี่ ...มันไม่สามารถที่จะเข้าไปกล้าละกล้าเลิก กล้าเพิกกล้าถอนความเป็นเราได้เลย

จนมันเชื่อ จนมันมั่นใจ จนมันแน่ใจเลยว่า...เนี่ย ถ้ายังไม่เอาไอ้ตัวนี้ออกไป ยังไงเราจะต้องเป็นผู้ที่รับภาระอยู่ตลอดเวลา...ทั้งภายในและภายนอก

ภายในคือตัวขันธ์เอง ภายนอกคือเรื่องราวของคนในโลกและสัตว์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ...มันจึงเข้าไปตัดสินใจละที่ภายในตรงนั้น จริงๆ จังๆ

นี่ ทุกข์ทั้งนั้นน่ะมันบีบคั้นจนเห็นว่าต้นตอต้นเหตุของทุกข์ที่แท้จริง ...ไม่ใช่การกระทำคำพูดของสัตว์บุคคล ไม่ใช่เรื่องราวที่มันมา ที่มันมี ที่มันต้องเจอ...ไม่ใช่

แรกๆ ก็ไม่เชื่อ โดยตัวของมันเองนี่ ...แต่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ทุกข์...แก้ยังไงก็ไม่หาย หนียังไงก็หนีไม่พ้น มันก็ตามไปถึงกุฏิ ตามไปถึงที่ฉัน ตามไปถึงถนน ตามไป

มันมายังไง มันอยู่ที่ไหน...ก็ใคร่ครวญ ด้วยสติสมาธิ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นสติสมาธิปัญญา ...แต่ทุกข์น่ะมันเป็นตัว catalyze  

นี่ อาจารย์ท่านสอนธรรมน่ะ ท่านสอนกันโดยไม่มี pattern ของการนั่งสมาธิเดินจงกรม ...แต่ท่านให้ทุกข์มาเป็นการบ้าน 

และเป็นการบ้านที่ไม่ต้องส่งท่านนะ...ท่านไม่รับส่ง ท่านไม่รับพิจารณา ...ให้มึงทำให้ได้ โดยที่ไม่บอกว่านี่คือการบ้าน

นี่ ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านสอนกันจริงๆ สอนธรรมจริงๆ สอนทั้งธรรม และก็สอนทั้งให้กระทำ doing ...โดยที่ไม่ได้บอกว่านี่คือการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง

มันไม่ง่าย มันไม่ใช่อย่างที่พวกเรานึกฝันว่า จะต้องเป็นอย่างนี้...ถ้าได้อย่างนี้  ถ้าปรับสภาพแวดล้อม ปรับวิถีชีวิต แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ ...นั่น ล้มนะ จะล้มได้ง่าย

เคยเล่าให้ฟังแล้ว...มีแม่ชีที่มาหา เคยมาหา แล้วก็ไปภาวนาแบบอุกฤษฏ์ ในวัดในป่าทางอีสานทางไหนไม่รู้ แล้วก็สึกแล้วก็บวชๆ ...นี่ ตายแล้ว ตกตึกตาย เขาว่าพลัดตกตึกตาย หรือว่าโดดตึกตายก็ไม่รู้นะ

เนี่ย ภาวนาไม่แล้วไม่เลิก ตั้งใจสูงมาก สำรวม จบปริญญาโทเมืองนอกนะ ...ตายแล้ว เขาเรียกว่าตายก่อนวัยอันควร เพราะสะสม สึก-บวชๆ

ทั้งที่ว่าขนาดฟังธรรมแล้วนี่ แต่ใจมันติดข้องน่ะ...มันไม่รับ คล้ายๆ กับว่า...เหมือนกับเราแต่ก่อน มองว่ามันไม่เคร่งพอ เหมือนกับมันไม่ใช่รูปแบบของการปฏิบัติอย่างที่มันวาดไว้

พอเข้าไปในสู่จุดนั้นนี่...แล้วไม่ได้ ไม่ดั่งคาด...ก็สึก เอาใหม่อีก ...จนเกิดภาวะที่มันไปไม่ไหวแล้ว มันขัดแย้งในตัวของมันเองมาก มันหาทางออกไม่ได้ ...ถึงว่าเสียดาย เสียดายความเพียร เสียดายความตั้งใจ

แต่ว่ากรรมวิบากมันปิดบัง มันก็ให้เป็นไปอย่างนั้น จนกว่ามันจะก่อเกิดปัญญามองเห็น วิถีแห่งธรรม วิถีแห่งมรรค วิถีแห่งศีลสมาธิปัญญาที่สมดุลและเป็นกลาง ...ไม่ใช่อย่างที่ “เรา” ว่า

ถึงบอกไง “ตัวเรา” นี่สำคัญนะ ...ความคิดของเรา ความเชื่อของเรา ความเห็นของเรา ความอยากของเรา ความปรารถนาของเรา วิถีที่เราวาดๆ ขึ้นมา ...พวกนี้ น่ากลัวนะ

มันเหมือนสร้างวิมาน สร้างความ perfect สมบูรณ์ เป็นพวก perfectionist ...แต่จริงๆ น่ะ ตัวของมันคือ abstract เลอะเทอะ แต่มันเข้าใจว่านั่นน่ะคือความ perfectionist

ช่างฝัน แล้วก็น่าจะเป็นจริง เสมือนจริงอย่างยิ่งยวด ...แต่พอวัน ณ เวลา ณ ถือเวลาปัจจุบันเป็นตัววัด คนละภาคกันเลย จิตก็คนละดวง กิเลสก็คนละตัวกัน ไม่เป็นไปอย่างนั้น

ทีนี้มันจะเกิดความขัดแย้งภายใน ไอ้ที่ว่าจิตเคยดีเคยทรงสภาพได้นี่ มันทรงไม่ได้ จะทรงไม่ได้... แล้วมันจะต่อสู้กับความคิด ดึงดัน แล้วมันจะหาช่องที่จะเสมือนจริง  perfect กว่านั้น

นี่ มันจะเริ่มภาวะที่ว่า เริ่มดันทุรังแล้ว ...พอดันทุรังไป พากายพาจิตไปถึงเวลานั้น...ไม่เป็น ไม่ไป อย่างที่มันวาดไว้ ปรุงไว้ ...ถอยหลังอีก

เนี่ย เขาเรียกว่ายังจับประเด็นไม่เจอ ยังจับหลักไม่เจอ ยังจับจุดของมรรค จุดของศีล จุดของสมาธิคือหยุดอยู่ด้วยรู้ ด้วยเห็น ...มันจับไม่ได้

แต่ “เรา” มันก็คิดไว้แล้วว่า ทำอย่างนี้ๆ เรียกว่าทำเพื่อจะให้มันเกิดความหยุดอยู่แบบสมบูรณ์ที่สุด ...แต่หารู้ไม่ว่าไอ้ที่จะให้มันหยุดอยู่อย่างสมบูรณ์ที่สุด มันก็มาจากความคิด

เนี่ย มันเริ่มเฉแล้ว ...ตราบใดที่มี “เรา” หรือว่าไม่มีมรรคเป็นตัวนำ...ผลนี่คลาดเคลื่อนโดยไม่รู้ตัว หรือแทบไม่รู้ตัว


(ต่อแทร็ก 13/42)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น