วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 13/38


พระอาจารย์
13/38 (570406B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
6 เมษายน 2557


โยม –  พระอาจารย์คะ มันเหมือนกับจริงๆ ข้างนอก มันไม่ได้อะไร  แต่ที่เราเห็นเป็นอะไรต่างๆ มันคือมโนภาพที่จิตมันสร้างขึ้นเอง

พระอาจารย์ –  จิตน่ะเป็นผู้เข้าไปหมาย แล้วก็ไปให้ค่า ...จิตหรือเรานี่ในจิต เจตนานี่  มันเป็นตัวไปแบ่ง ไปแบ่งนั้นเป็นนี้ นี้เป็นอย่างนี้ นั้นเป็นอย่างนั้นไม่ใช่อย่างนี้...แตกต่างกันไปตามสมมติ 

แล้วมันเอาตัวสมมตินี่มาเป็นตัวแบ่งแยก คัดแยกออกจากกัน ...เมื่อมันแบ่งแยกเสร็จแล้วมันก็ให้ค่าจากที่มันแบ่งแยก...แล้วมันก็ยึด


โยม –  แล้วมันก็ไปงี่เง่ากับสิ่งที่มันสร้างขึ้นมาเอง

พระอาจารย์ –  อือ ก็บอกแล้ว มันสร้างเอง มันหลอกเอง แล้วมันก็ติดของมันเอง ...นี่คือความโง่ เข้าใจมั้ย...แล้วก็คนในโลกนี้โง่ทั้งหมด มันก็จึงเกิดการเชื่อตามๆ กัน

เพราะลักษณะของแต่ละชาติแต่ละภาษา มันก็จะมีธรรมเนียม สมมุติ ให้ค่าแตกต่างกันไป ...อย่างมีผู้หญิงมานั่งอยู่ แล้วมีผู้ชายสิบคนมานั่งดู แล้วถามว่าสวยไหม

ถามเรียงตัวเลยผู้ชายสิบคน ตอบไม่เหมือนกัน นี่...ผู้หญิงก็คนเดียวกันน่ะ ...แล้วก็ถามว่าความสวยมันอยู่ที่ไหน แล้วความไม่สวยมันอยู่ที่ไหน...มันอยู่ที่ผู้หญิงไหม


โยม –  อยู่ที่แต่ละคนตั้งขึ้นมา

พระอาจารย์ –  อือ อยู่ที่จิตให้ค่า หรือหมายว่า  mark ขึ้นว่าอย่างนี้เรียกว่าสวย อย่างนี้เรียกว่าไม่สวย ...ซึ่งแต่ละคนมันก็ mark ไม่เหมือนกัน


โยม –  ซึ่งจริงๆ แล้วเวลาภาวนา คือโยมเห็นเหมือนกับว่า ตอนแรกๆ มันจะไปสู้ๆ ...พอตอนหลังคือมันเห็นความจริงแล้ว มันสู้ไม่ได้ มันถอยออกมาเลย

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ มันเห็นแล้ว ถ้ามันเข้าใจอย่างนี้ มันก็จะเกิดคำว่าวาง ...วาง วางหรือปล่อย นี่เขาเรียกว่าจาโค ปล่อยให้เขาเป็นไปตามสภาพ

มันก็ค่อยๆ จากที่มันกำไว้นี่ มันก็คลายออก ไม่เข้าไปเกาะกุม ไม่เข้าไปหมายมั่น มันค่อยๆ คลายออก แล้วก็ปล่อย แล้วก็ถอยห่าง แล้วก็ดูสภาพมันเฉยๆ กลางๆ ...ก็จะเห็นความเป็นจริงของสภาพนั้นชัดขึ้น

ไอ้ที่มันไม่เห็นความเป็นจริงของสภาพต่างๆ เพราะเราเข้าไปยุ่งกับมัน...“เรา” ตัวเรานี่ เข้าไปยุ่งกับมัน เข้าไปมีเจตนากับมันทั้งกุศลทั้งอกุศล เจตนาดี เจตนาไม่ดี เจตนาที่ยินดีและเจตนาที่ยินร้าย ที่เรียกว่าเป็นกุศล อกุศล


โยม –  จริงแล้วมันออกไปด้วยความกลัว ความทุกข์

พระอาจารย์ –  ภยาคติ พวกนี้ มันออกไป  มันมีคติ ฉันทาคติ โมหะคติ ภยาคติ..กลัว ลึกๆ มันจะมีตัวมโนสัญเจตนาในตัวของมัน ในการให้ค่าในสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่า เป็นที่พึงพอใจ เป็นที่ไม่พึงพอใจอย่างยิ่ง

แล้วมันก็คาดเดาหมายว่า ถ้าอย่างนี้แล้วมันจะเกิดความรับไม่ได้ ทนไม่ได้ จึงกลัว ...มันมาร์คไว้ ลึกๆ เป็นอนุสัยสัญญาดั้งเดิม


โยม –  ตอนนั้นไม่ได้ทำอะไร ก็เห็นมันดับไป ตัวที่มันออกไปข้างนอก ก็เห็นมันดับไป แล้วเดี๋ยวมันก็จะค่อยๆ ห่างไป

พระอาจารย์ –  ก็แค่รู้ มันก็ค่อยๆ คลี่คลายในตัวของมันเอง เพียงแต่ว่าเราไม่ไปให้กำลังมัน หรือไม่เอามันกลับมาซ่องสุมอยู่ภายใน มันก็เกิดความคลายตัวของมันเอง

มันขึ้นมาแล้วมันก็ออกไปๆ  ก็เรียกว่าวาง ความอยาก ความไม่อยาก ...มันก็ขึ้นมา เมื่อมันกระทบกับสิ่งเร้า มันเริ่มจะคิดต่อ มันเริ่มจะปรุงต่อ มันเริ่มจะเข้าไปกระทำต่อ ก็วาง มันก็ไป สลายไป 

เมื่อมันสลายไป ความหมายมั่น ความยึดมั่นภายใน มันก็ค่อยๆ จางคลายไป


โยม –  เหมือนกับนักภาวนาทุกคนจะต้องผ่านความทุกข์กับการที่ไม่ได้ออกไป ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ธรรมดา ฝืน ทน ทวน ...การตามกิเลสก็เป็นทุกข์ การละกิเลสก็เป็นทุกข์


โยม –  แต่ตอนมันตามออกไป มันจะไม่เห็นทุกข์ชัดเหมือนตอนที่เรา...

พระอาจารย์ –  มันหลอกไง มันหลอกว่าเป็นสุขก่อน แล้วมันก็หลอกว่าไม่มีอะไร ไม่เป็นทุกข์อะไร แต่สุดท้ายมันจะตลบขึ้นมา...เป็นทุกข์มากกว่าเดิม  แล้วก็เก็บเป็นความยึดมั่นถือมั่นในการที่จะแก้ จะทำให้เป็น เปลี่ยนแปลงไปมา

แต่ในขณะที่ละมัน ไม่ตามมัน มันก็จะทุกข์...ทุกข์เพราะว่าไม่ได้ดั่งใจเรา ...มันทุกข์เพราะ “เรา”  เพราะเรามันเคย...ตามใจตัวเองจนเคย ...พอไม่ตามใจตัวเรา ตรงนี้มันรู้สึกว่าเกิดทุกข์ขึ้นมา


โยม –  แล้วอย่างนี้คนที่ไม่เอาแต่ใจจะภาวนาง่ายกว่าคนที่เอาแต่ใจไหมคะ

พระอาจารย์ –  ก็มันยังไงล่ะ...มันเป็นสันดานรึเปล่า มันเป็นนิสัย หรือมันเป็นโดยปัญญา ...ถ้ามันเป็นโดยนิสัยโดยสันดาน คือมันเป็นไอ้บื้อไอ้ทื่ออย่างนี้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับก้อนหินน่ะ


โยม –  ที่แบบเป็นคนไม่ค่อยคิดมาก

พระอาจารย์ –  เออ แต่มันไม่มีปัญญา ...คือไม่ได้หมายความว่ามันมีปัญญามันถึงเป็นอย่างนั้นนะ


โยม –  แต่ถ้าจะถอดถอนให้เห็นปัญญา เขาก็ต้องเห็นไอ้ความรู้สึกเสียดแทงตรงนี้เหมือนกัน

พระอาจารย์ –  ต้องเห็น เหมือนเอามีดมาเฉือนตัวเราน่ะ เข้าใจมั้ย ...ถ้าจะฆ่า “เรา” น่ะ เจ็บไหมล่ะ ...เพราะไอ้ความรู้สึกเป็นเรานี่คือความเป็นบุคคลนะ

เพราะนั้น เมื่อมันจะตาย เมื่อมันจะถูกทำลายนี่ มันก็มีความรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกัน ทรมานเหมือนกัน ...ซึ่งจริงๆ น่ะมันเป็นสภาวะติ๊งต่างขึ้นมาหมดเลย

แต่มันติ๊งต่างขึ้นมาเป็นสัตว์บุคคล เป็นความรู้สึกว่ามีชีวิตหรือชีวะ คือความมีชีวะขึ้นมา เพราะนั้นไอ้ความมีชีวิตจริงๆ ในขันธ์นี่ ในขันธ์ห้าน่ะ...ไม่มี

จำเพาะขันธ์ห้าไม่มีชีวิตนะ ไม่มีอะไรเป็นชีวะเลย ไม่มีอะไรเป็น live เลยนะ ...มันเป็นแค่ธาตุ ขันธ์ห้านี่เป็นแค่รูปธาตุกับนามธาตุ เท่านั้นเอง

เพราะนั้นไอ้ตัวชีวิตจริงๆ นี่ อยู่ที่ไหน ...ตัว alive จริงๆ น่ะคือตัวใจ ใจผู้รู้นี่ ตัวนั้นคือ alive ที่แท้จริง ...แต่เป็น alive ที่ไม่ใช่เป็นบุคคล เป็นธาตุรู้ ก็เป็นธาตุที่รู้

นั่นน่ะคือความรู้หรือตัวรู้นั่นแหละคือความเป็น alive หรือความมีชีวิต...แต่มันไม่ใช่บุคคล แต่ตอนนี้ไอ้ตัวอวิชชานี่ มันจะไปจำลองชีวิต หรือไปจำลองตัวบุคคลขึ้นมาแทนที่ใจ

มันเลียน เข้าใจมั้ย มันเลียนแบบหรือมันสร้างรูปแบบ หรือมันสร้างฟอร์มขึ้นมา...เป็นชีวิตหรือบุคคลขึ้นมาเป็น “เรา” ...ก็เลยเข้าใจว่า “เรา” นี่คือชีวิต

แล้วก็เลยเข้าใจว่าทั้งหมดนี่เป็นส่วนของเราที่มีชีวิต ...เพราะนั้นถ้าขาดตัวนี้พวกนี้ หมายความว่า “เรา” นี่ต้องตาย ใช่มั้ย ถ้ากายตายเมื่อไหร่ มันก็ว่าเราตาย

เนี่ย มันไปเชื่อมรวมกันหมดกับขันธ์ มันไปหมายครองขันธ์ว่าเป็นของเรา ถ้าขันธ์ตายก็เราตาย อันเดียวกัน


โยม –  เคยเดินจงกรมเยอะๆ น่ะค่ะ มันดิ้น ดิ้นสุดฤทธิ์เวลาที่เวทนาเกิด ...กว่าที่มันจะยอม คือว่ามันทำอะไรไม่ได้แล้ว

พระอาจารย์ –  อือ


โยม –  แล้วก็เห็นว่ามันห่างจากกัน แล้วเดี๋ยวมันก็มารวมกันอีกค่ะ

พระอาจารย์ –  อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มันหน้าด้าน มันเข้าไปผสมรวมระหว่างธาตุขันธ์ รูปเสียงกลิ่นรส ...มันเข้าไปปุ๊บ มันรับรู้ปั๊บนี่ มันผสมรวมเป็นเราเป็นเขาทันที

มันเชื่อม มันเชื่อมกันแบบสนิทเลยน่ะ ...แม้กระทั่งขันธ์ห้านี่มันก็เชื่อมแบบสนิทเลยว่าเป็นเรา ไม่ว่าความคิด ไม่ว่าความจำ ไม่ว่าความรู้สึกเวทนาทางกาย ความรู้สึกทางจิต เป็นเราของเรา

มันรวมปุ๊บ...กระทบปุ๊บมันรวมปั๊บเลย เป็นเรื่องราวของเราเลย ทั้งหมดเลย แบบไม่มีรอยแยกรอยแตกเลย


โยม –  แต่สติเป็นตัวทำให้มันขาด

พระอาจารย์ –  ยังไม่ขาด ...หมายความว่าตัวสติและตัวปัญญานี่ เป็นตัวจำแนกธรรม หรือเป็นตัวสังเคราะห์ธรรม หรือเป็นตัวแยกธาตุแยกขันธ์ ...เนี่ย เขาเรียกว่าแยกธาตุแยกขันธ์ จำแนกธาตุจำแนกขันธ์ เป็นส่วนๆ

เพราะนั้นในเบื้องต้น สติขั้นต้นนี่ หรือสมาธิปัญญาขั้นต้นนี่ มันจะแยกในระดับหยาบๆ ก่อน...แยกกาย..แยกใจ ...นี่คือแยกในระดับหยาบ ออกมาเป็นสองลักษณะที่ต่างกัน

กายส่วนกายก็เป็นลักษณะหนึ่ง  ใจรู้ใจเห็นก็เป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ...นี่ถือว่าแยกในระดับหยาบ แยกกายใจออกจากกัน นี่เรียกว่าแยกธาตุ ธาตุกายกับธาตุรู้ออกจากกันก่อน

แล้วพอมีสมาธิตั้งมั่นขึ้นอยู่ที่ใจ จิตมันมารวมอยู่กับใจ ตั้งมั่น ...ทีนี้เวลาอะไรมันเกิดมา มากระทบ แล้วอวิชชามันแสดงอาการกำเริบ เกิดความอยาก ความไม่อยาก

เกิดความหมายมั่น เป็นถูกเป็นผิด เป็นดีเป็นร้าย เป็นคุณเป็นโทษอะไรขึ้นมา ...ด้วยจิตที่มันมีสมาธิตั้งมั่นนี่ มันจะมีความสว่างของใจ มันจึงเกิดอาการเห็นสภาพ

แต่ว่ามันเห็น...ไอ้ตัวที่มันเห็นสภาพนี่ มันเห็นอยู่ด้วยความเที่ยง คือรวมตัวเห็นตัวรู้...ไม่แตกออกไปเป็นเรา มีเรา ของเรา เป็นเจตนาของเราอะไร

ไอ้ตัวที่มันเห็นนี่ ด้วยความตั้งมั่น ในสิ่งที่มันมาเร้า...แล้วมันเกิดอาการของกิเลสขึ้น ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งขึ้นมา ว่าอันนี้เป็นเรื่องนั้นเป็นเรื่องนี้ขึ้นมา เป็นเรื่องสุขเป็นเรื่องทุกข์ขึ้นมานี่

ไอ้ตัวเห็นนี่มันจะเข้าไปวิจยะ วิจยะอาการ ที่เป็นเรื่องสุขบ้าง ทุกข์บ้าง  เป็นเรื่องรับได้บ้าง เป็นเรื่องรับไม่ได้บ้าง ไอ้ปัจยาการนี้มันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง


โยม –  โยมคิดว่าตอนมันพยายามดิ้น ยื้อกันไปยื้อกันมานี่ คือว่าไม่ตั้งมั่นอยู่ มันถึงเกิดทุกข์ขึ้นมาได้

พระอาจารย์ –  ใช่ นี่คือขั้นตอน นี่คือขั้นตอนของการทำสมาธิ เข้าใจมั้ย ...จิตมันยังไม่เป็นสมาธิ มันจึงชักคะเย่อกัน เพื่อให้มันมาลงฐานใจ ให้มันรวมหยุดอยู่ที่ฐานใจ

แต่พอมันหยุดที่ฐานใจแล้วนี่ ไม่ได้หมายความว่า มันจะหยุดแบบนิ่งสนิท ...มันจะหยุดแบบหลวมๆ เข้าใจมั้ย แบบธรรมดา หยุดอยู่แบบธรรมดา แต่มันพร้อมที่จะแสดงอาการ

แต่ถ้ามันหยุดด้วยอำนาจสมาธิอย่างนี้ แต่ว่าเป็นสมาธิที่พร้อมที่กิเลสจะแสดงตัวนี่ เวลากิเลสมันแสดงตัวนี่ มันจะไม่เกิดอารมณ์ ของเรา เป็นของเรา เข้าใจมั้ย ...ตรงเนี้ย มันจึงจะเกิดวิจยะขึ้นมาอีกทีหนึ่ง

แต่ถ้าลักษณะที่มันกำลังดิ้นรนออกไป แล้วมีเราสภาพที่อยากจะไป อย่างนี้เรียกว่ายังอยู่ในขั้นตอนของสมาธิ ...ต้องคอยดึงกลับๆ ดึงกลับมาอยู่กับกาย อยู่กับรู้ อยู่กับกาย

จนกว่ามันจะนิ่ง จิตมันอ่อนน้อม มันอยู่ มันอยู่กับรู้อยู่กับเห็นทีนี้ก็ทรงสภาวะนั้นไว้ แล้วในชีวิตปกติมันจะต้องมีการกระทบ ทีนี้มันจะเกิด...แต่ว่ามันจะเกิดอยู่ในฐานของสมาธิแล้ว ฐานของจิตที่มันตั้งมั่นแล้ว

ตรงนี้มันจะเกิดอาการเห็นพร้อมกับการเกิดของกิเลส หรือว่าเกิดเป็นเรากับเรื่องนั้น กับบุคคลนี้ เข้าใจมั้ย ...แต่ว่ามันจะไม่ทำตาม อารมณ์ หรือความอยาก หรือความไม่อยาก ที่มันกระโดดออกไป

แต่มันจะเกิดความแยกแยะ วิจยะในอาการ...ด้วยความละเอียด ด้วยความแยบคาย 

แล้วก็แยกแยะ...ว่ามันเกิดมายังไง อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด เรื่องราวนี้มันเกิดเพราะอะไร มันเป็นเรื่องทุกข์เรื่องสุขเพราะอะไร เพราะใคร ต้นตอของมันอยู่ที่ไหน

ตรงนี้ตัวสมาธิตัวสติ ตัวศีลนี่ จะเป็นตัววิจยธรรม เรียกว่าปัญญา ...เพื่ออะไร เพื่อทบทวน ทบทวนเหตุว่าอะไรเป็นเหตุที่แท้จริงของการเกิดกิเลสตัวนี้ขึ้นมา


โยม –  แล้วพอมันออกไป เมื่อก่อนออกไปไกล ต่อไปมันก็จะสั้นขึ้น

พระอาจารย์ –  สั้นขึ้น แล้วก็หยุดอยู่กับตัวเองได้มากขึ้น ...แล้วตรงนี้จะต้องทำให้แข็งแกร่งกับการหยุดอยู่กับตัวเอง หยุดอยู่กับกาย หยุดอยู่กับรู้นี่ ...แต่ว่าไม่ได้บังคับให้มันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

มันก็จะทรงสภาพไปด้วยความปกติ แต่ว่ามันเป็นปกติที่พร้อม...เหมือนกับกิเลสมันเป็นเสือหมอบน่ะ มันพร้อมที่จะกระโจนออกไปตลอดเวลา แต่ว่ากระโจนมาเมื่อไหร่นี่...ทัน

ถ้าทันแล้วก็ดับ..ก็ดี ...ถ้าทัน เห็น...แต่ไม่ดับ...ตรงนี้มันจะวิจยะ  ทันแต่ยังมีอารมณ์ค้างอยู่..จะวิจยะ ทำไม ใคร ใครมีอารมณ์ อารมณ์คืออะไร ...มันก็แยกแยะ ทวนๆๆ มันก็จะเห็นต้นตอต้นเหตุ

พอมันเข้ามาถึง เห็นว่าต้นเหตุคืออะไรเป็นอารมณ์ ทำไมถึงมีอารมณ์ ทำไมถึงเป็นทุกข์กับอารมณ์ ...มันก็จะเห็นอยู่ตัวเดียวน่ะ


โยม –  แต่มันต่างกับเมื่อก่อนที่เวลาคิดแก้ปัญหา มันลึกเข้ามาอีกนิดนึง

พระอาจารย์ –  คนละเรื่องเลย


โยม –  เมื่อก่อนก็จะชอบคิดแก้ปัญหา คือเห็นว่ามันไม่เหมือนกัน ระหว่างคิดกับวิจยะ

พระอาจารย์ –  คิดน่ะเพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ปัญญา ...แล้วมันทบทวนอย่างนี้ วิจยธรรมภายใน เวลามันมีอารมณ์อะไรตกค้างอยู่ คล้ายๆ กับมันไม่เคลียร์

เข้าใจมั้ย เวลามันมีอารมณ์อยู่ในขันธ์นี่ มันเรียกว่ามันไม่เคลียร์ มันก็จะทบทวนหาสาเหตุ ...ไม่ใช่คิดนะ แต่มันไล่แยกแยะส่องดู เป็นทีละจุดๆๆ อย่างนี้


โยม –  มันเหมือนโปรแกรมที่เราตั้งไว้

พระอาจารย์ –  มันเออเร่อตรงไหนล่ะ ทีนี้มันก็มาเห็น ...แล้วทุกครั้งที่มันเห็น แล้วพอมันเห็นว่าจุดที่มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเออเร่อ...มีอยู่ที่เดียว คือ “เรา”

มี “เรา” เมื่อไหร่ มีอารมณ์เมื่อนั้น พอมันมาเห็นเหตุตรงที่เป็น "เรา" ผู้ครองอารมณ์ หรือว่าผู้ถืออารมณ์อยู่นี่ หรือว่าผู้กำลังซึมซาบกับอารมณ์

แล้วถ้ามันเห็น "เรา" ในขณะที่มันมีอารมณ์นั้นอยู่นะ ...เมื่อมันเห็น "เรา" ตรงนี้ แล้วมันก็จดหรือจ่ออยู่ที่ "เรา" หรือว่าควบคุมอยู่ที่ "เรา" หรือกำกับอยู่กับ “เรา” นี่

มันจะเห็นเลย อารมณ์นี่ เหมือนกับมันค่อยๆ fade away หรือว่าค่อยๆ ซาลง ...แล้วพอความรู้สึกเป็น “เรา” นี่ดับ อารมณ์นี่ดับ ทั้งสุขและทุกข์ดับ

แล้วมันดูไปกี่ครั้งๆๆ เวลามันมีเรื่อง มีอารมณ์ตกค้างนี่ แล้วมันทวนมาจนตัว "เรา" นี่...ทุกเรื่องเลย ดับหมด ...เนี่ย ที่ท่านเรียกว่ามรรคที่เจริญขึ้นแล้วมันเข้าไปเห็นสมุทัย คือเหตุ


(ต่อแทร็ก 13/39)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น